การถ่ายภาพสำหรับคนตาดีนั้นถือเป็นเรื่องปกติ แต่สำหรับผู้พิการทางสายตาแล้ว อาจทำให้หลายคนต้องประหลาดใจว่า คนตาบอดจะสามารถถ่ายภาพได้..จริงรึ? แต่วันนี้สิ่งนั้นเป็นไปได้และเกิดขึ้นจริงแล้ว!! โดยผ่านภาพถ่ายทั้ง 84 ภาพในงาน“นิทรรศการ 84 ภาพ...ถ่ายด้วยหัวใจ ถวายในหลวง” นิทรรศการภาพถ่ายเทิดพระเกียรติโดยคนตาบอดครั้งแรกในประเทศไทย เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 84 พรรษา ภายใต้การสนับสนุนของบริษัท แคนนอน มาร์เก็ตติ้ง (ประเทศไทย) จำกัด, กลุ่ม Pict4all และสำนักงานอุทยานการเรียนรู้ TK park ระหว่างวันที่ 20-30 ธันวาคม 2554 ณ ลานสานฝัน อุทยานการเรียนรู้ TK park ชั้น 8 ศูนย์การค้าเซ็นทรัลเวิลด์
นิทรรศการ “84 ภาพ...ถ่ายด้วยหัวใจ ถวายในหลวง” ถือเป็นนิทรรศการภาพถ่ายฝีมือคนตาบอดครั้งแรกของประเทศไทย จัดแสดงภาพถ่ายฝีมือของน้องๆ ผู้พิการทางสายตาในโครงการ “สอนคนตาบอดถ่ายภาพ” เป็นโครงการที่กลุ่ม Pict4all ชุมชนผู้รักการถ่ายภาพริเริ่มขึ้น โดยได้รับแรงบันดาลใจจากอาจารย์ธวัช มะลิลา อดีตเลขาธิการสมาคมถ่ายภาพแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ ที่ได้มีโอกาสเข้าร่วมสัมมนาการถ่ายภาพของผู้พิการทางสายตาชาวอิสราเอล ทำให้อาจารย์ธวัชมีแรงปรารถนาที่จะนำการถ่ายภาพนี้มาให้ผู้พิการทางสายในประเทศไทยได้มีโอกาสสามารถนำภาพถ่ายนั้นไปเป็นเครื่องมือในการสื่อสารกับคนตาดีจึงเกิดการรวมกลุ่มของลูกศิษย์และจัดทำโครงการนี้ให้เป็นจริงขึ้นมา โดยมีบริษัท แคนนอน มาร์เก็ตติ้ง (ประเทศไทย) จำกัด ให้การสนับสนุนอุปกรณ์การเรียนการสอน พร้อมได้บริจาคอุปกรณ์และกล้องให้กับโรงเรียนสอนผู้พิการทางสายตาที่เข้าร่วมโครงการจำนวน 6 โรงเรียน และ TK park เป็นเวทีจัดแสดงผลงานถ่ายภาพในครั้งนี้
น้องเมธาวี ขุนพลเอี่ยม นักเรียนที่ได้เข้าร่วมโครงการจากโรงเรียนสอนคนตาบอดพระมหาไถ่ พัทยา จ.ชลบุรี ได้ถ่ายทอดถึงความรู้สึกว่า “ตื่นเต้นมาก คิดว่าเราจะทำได้อย่างไร เพราะการถ่ายภาพจะต้องใช้สายตา ในเมื่อเราพิการตาบอดสนิทไม่เห็นอะไรเลย ซึ่งก่อนหน้านี้ก็เคยลองพยายามถ่ายภาพเอง แต่ก็ทำไม่ได้ ถ่ายไม่ตรง แรกๆ จึงรู้สึกกลัวว่าตัวเองจะทำไม่ได้ สงสัยอยู่ว่าถ่ายแล้วจะติดหรือไม่ จะโดนคนอื่นดุหรือเปล่า แต่ก็ตัดสินใจเข้าร่วมโครงการ เพราะคิดว่าถ้ามีครูกล้าสอน เราก็กล้าเรียนค่ะ ตอนเรียนแรกๆ จะรู้สึกยากตรงที่ต้องมีการกะระยะ แต่สุดท้ายก็ออกมาได้ ต้องขอขอบคุณผู้ใหญ่ใจดีที่ทำให้ผู้พิการทางสายตาได้ค้นพบคุณค่าของตนเอง”
น้องโอ๊บ - นิติธร คำสี นักเรียนผู้พิการทางสายที่เข้าร่วมโครงการ กล่าวว่า ความรู้สึกครั้งแรกที่ได้จับกล้องนั้น ตื่นเต้นมาก รู้สึกแปลกเพราะไม่เคยจับกล้องมาก่อน และไม่เคยคิดว่าคนตาบอดจะสามารถถ่ายภาพได้ เพราะไม่เคยมีมาก่อน โดยเฉพาะปัญหาของการถ่ายภาพให้ตรงต้องทำอย่างไร ไม่รู้ว่าจะถ่ายถูกหรือเปล่า เมื่อพี่ๆ มาสอนให้คำแนะนำวิธีการ การจับกล้อง สอนว่าตรงไหนเป็นปุ่มอะไร ต้องทำอย่างไร รวมถึงสอนวิธีการถอดและใส่แบตเตอร์รี่ การ์ดความจำ การเปิดภาพ (พรีวิว) นอกจากนี้ยังสอนเทคนิคการถ่ายภาพให้ตรง ด้วยการเข้าไปจับคน วัตถุ หรือสิ่งของ โดยใช้วิธีการก้าวขาและถอยหลัง
“เริ่มต้นก็ยาก กว่าจะเรียนรู้ได้ เพราะในชีวิตไม่เคยจับกล้อง พอมาเจอจริงๆ ก็ไม่รู้ต้องทำอย่างไร มันเลยยาก แต่พอได้ถ่ายจริง รู้สึกภูมิใจมาก ถือเป็นการถ่ายภาพครั้งแรกในชีวิต และยิ่งภาคภูมิใจมากขึ้น เมื่อได้รู้ว่าภาพที่ตนเองถ่ายได้รับคัดเลือกเข้าร่วมจัดแสดงในนิทรรศการครั้งนี้ด้วย ถือเป็นภาพถ่ายที่มีความหมายกับผมมาก เพราะเกี่ยวกับในหลวง ซึ่งที่ผ่านมาตนเองได้รับฟังเรื่องราวเกี่ยวกับในหลวงและโครงการในพระราชดำริต่างๆ ของพระองค์ ที่ทรงทำให้กับคนไทยอยู่บ่อยๆ ทำให้ส่วนตัวแล้วรู้สึกซาบซึ้ง วันนี้การที่ได้มีส่วนร่วมในการถ่ายภาพด้วยหัวใจถวายในหลวง จึงรู้สึกดีใจมาก และคิดว่าเพื่อนๆ คนอื่นๆ จะดีใจเช่นเดียวกันที่ได้มีภาพถ่ายของเรามาจัดแสดงเป็นครั้งแรกในชีวิตนี้”
ส่วน คุณครูเนาวรัตน์ แคนติ คุณครูจากโรงเรียนสอนคนตาบอดพระมหาไถ่ ยอมรับว่า ตั้งแต่ทำงานกับเด็กผู้พิการทางสายตามาหลายปีไม่เคยมีใครคิดทำโครงการแบบนี้ พอได้รับการติดต่อจากกลุ่มฯ ก็คิดว่า จะทำได้หรือ เพราะขนาดคนตาดียังทำได้ไม่ค่อยดี ไม่ชัด หรือภาพเบลอบ้าง ยิ่งทางกลุ่มบอกว่าต้องการเฉพาะเด็กที่ตาบอดสนิทเท่านั้นก็ยิ่งกังวล
“ตอนแรกก็กังวลว่าจะทำได้จริงรึ แล้วจะทำอย่างไร นี่จึงถือเป็นครั้งแรกที่โครงการนี้เข้ามา ทางโรงเรียนจึงได้คัดเลือกเด็กโตระดับชั้นประถมถึงมัธยมเข้าร่วมโครงการเพื่อเป็นการนำร่องจำนวน 16 คนก่อนจะขยายเพิ่มขึ้นเพราะเห็นว่าโครงการนี้ถือเป็นโครงการที่ดีและยังเป็นประสบการณ์ใหม่กับคุณครูด้วย ซึ่งเราจะสานต่อโครงการดีๆ นี้ต่อไป”
ด้าน น้องเชษฐ์ - วรเชษฐ์ คนงาม นักเรียนผู้พิการทางสายตาที่เข้าร่วมโครงการอีกคนหนึ่ง บอกว่า “รู้สึกประทับใจกับโครงการนี้มาก เพราะทำให้ชีวิตเราเริ่มมีคุณค่าที่สามารถถ่ายภาพได้ และจะนำสิ่งที่เรียนรู้ไปใช้ประโยชน์ รวมถึงจะนำไปถ่ายทอดให้กับเพื่อนๆ และน้องๆ รุ่นต่อไปได้ถ่ายภาพเป็น พร้อมฝากทิ้งท้ายถึงเพื่อนผู้พิการทางสายตาว่า ชีวิตของคนตาบอดก็มีคุณค่าได้ อย่าทำตัวเองให้ไม่มีค่า และเราต้องไม่ควรเป็นผู้รับแต่ฝ่ายเดียว เราควรเป็นผู้ให้ด้วย”
คุณอัศรินทร์ นนทิหทัย หัวหน้าฝ่ายกิจกรรม สำนักงานอุทยานการเรียนรู้ TK park กล่าวถึงความร่วมมือและบทบาทการส่งเสริมกิจกรรมการเรียนรู้ว่า การเข้ามามีส่วนร่วมในครั้งนี้เป็นไปตามภารกิจของ TK park ในการเป็นพื้นที่ที่จะส่งเสริมการเรียนรู้ทุกรูปแบบให้กับทุกคนไม่ว่าเด็กปกติ หรือน้องๆ พิเศษ ทาง TK park จึงยินดีที่ได้เป็นส่วนหนึ่งและได้เป็นพื้นที่แสดงผลงานของน้องๆ ผู้พิการทางสายตาในครั้งนี้ และหวังให้เป็นพื้นที่ในการเรียนรู้ระหว่างคนตาดีและคนตาบอดอีกด้วย เพราะ..สิ่งสำคัญคือ แม้จะไม่สามารถมองเห็นได้ด้วยตา แต่เราสามารถมองเห็นกันได้ด้วยใจ
คุณนพดล ปัญญาวุฒิไกร ตัวแทนจากลุ่ม Pict4all ผู้ดูแลโครงการ “สอนนักเรียนตาบอดถ่ายภาพ ปี 2554” กล่าวว่า “เราทุกคนรู้สึกดีใจที่ได้เป็นส่วนหนึ่งในการทำสิ่งดีๆ เพื่อสังคม ซึ่งน้องผู้พิการทางสายตาทุกคนมีความมุ่งมั่นใจในการเรียนมาก แม้บางคนจะพิการโดยกำเนิด ทำให้ค่อนข้างยากในการถ่ายภาพแต่น้องๆ ก็มีความตั้งใจและมีความพยายามที่จะถ่ายภาพเพื่อถวายในหลวง
การจัดนิทรรศการครั้งนี้ นอกจากจะเป็นสะพานเชื่อมโลกระหว่างคนตาบอดและคนตาดีเข้าด้วยกันแล้ว ยังเป็นเวทีที่จะทำให้น้องๆ ผู้พิการทางสายตาเหล่านี้ได้ภาคภูมิใจและตระหนักถึงความมีศักยภาพของตัวเอง ที่สำคัญที่สุดคือ จะทำให้สังคมได้ฉุดคิดว่า “คนด้อยโอกาส ไม่จำเป็นต้องไร้โอกาส ขอเพียงให้โอกาสเขา เขาก็พร้อมจะแสดงศักยภาพให้เห็น และหวังว่านิทรรศการครั้งนี้ จะเป็นแรงผลักดันให้สังคมตอบรับในทางที่ดีขึ้นในการช่วยเหลือและเปิดโอกาสให้กับคนด้อยโอกาสในกลุ่มต่างๆ มากขึ้น”