วีดิทัศน์ เรื่อง “UNESCO GNLC: Empowering Civil Society, Strengthening Local Community” บรรยายโดย คริสตินา ดรูวส์ (Christina Drews) Programme Specialist, UNESCO Institute for Lifelong Learning (UIL) ประเทศเยอรมนี บันทึกในโอกาสการประชุม TK Forum 2022 หัวข้อ “Learning City and Lifelong Learning Ecosystem”
ความท้าทายเกี่ยวกับสภาพสังคมและการพัฒนาเศรษฐกิจ ที่มาพร้อมกับความเติบโตของเมืองต่างๆ ทั่วโลก จุดประกายให้องค์การยูเนสโกส่งเสริมเรื่องการพัฒนาที่ยั่งยืน โดยกำหนดคุณลักษณะและสร้างเครือข่ายระดับโลกด้านเมืองแห่งการเรียนรู้ (UNESCO GNLC) เพื่อเป็นกลไกขับเคลื่อนให้เกิดการแบ่งปันประสบการณ์และแนวปฏิบัติที่ดีระหว่างเมืองทั่วโลก
ทุก 2 ปี กำหนดให้มีการประชุมระดับนานาชาติด้านเมืองแห่งการเรียนรู้ ซึ่งเป็นวาระที่จะมีการมอบรางวัลให้กับเมืองที่โดดเด่นในด้านนวัตกรรมการเรียนรู้ที่เข้าถึงคนทุกเพศทุกวัย ตัวอย่างเมืองที่น่าสนใจ เช่น เมืองเอสโป (Espoo) ประเทศฟินแลนด์ ซึ่งริเริ่มแอปพลิเคชัน ‘The Wilma’ เพื่อเป็นสื่อกลางในการพูดคุยระหว่างครอบครัวและโรงเรียนในช่วงที่มีการแพร่ระบาดของ COVID-19 เมืองแกลร์มง-แฟร็อง (Clermont-Ferrand) ประเทศฝรั่งเศส ซึ่งใช้งบประมาณมากกว่าร้อยละ 43 ของงบประมาณทั้งหมดเพื่อการศึกษาและเยาวชน และมีการผสมผสานระหว่างกิจกรรมทางวัฒนธรรมและการเรียนรู้ เมืองฮิวจ็อตซิงโก (Huejotzingo) ประเทศเม็กซิโก ซึ่งโครงการส่งเสริมการเรียนรู้ได้ส่งผลให้อัตราประชาชนที่ไม่รู้หนังสือลดลงถึง 50% และเมืองเซี่ยงไฮ้ ประเทศจีน ที่เน้นการเรียนรู้สำหรับผู้สูงอายุ เป็นต้น
ปัจจุบัน UNESCO GNLC มีสมาชิกกว่า 200 เมือง จากกว่า 60 ประเทศทั่วโลก สำหรับประเทศไทย มีเมืองที่ได้รับการประกาศให้เป็นสมาชิกเครือข่ายระดับโลกด้านเมืองแห่งการเรียนรู้ ของยูเนสโก แล้ว 4 เมือง ได้แก่ เทศบาลนครเชียงราย เทศบาลนครภูเก็ต เทศบาลนครเชียงใหม่ และเทศบาลเมืองฉะเชิงเทรา
คริสตินา ดรูวส์ (Christina Drews) ได้สรุปบทเรียนในการทำงานว่า หัวใจสำคัญที่ทำให้เมืองแห่งการเรียนรู้แต่ละแห่งประสบความสำเร็จ คือการมีส่วนร่วมของผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ทั้งองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น สถาบันการศึกษา และผู้คนจากหลากหลายวิชาชีพในท้องถิ่น ซึ่งร่วมกันหารือ วางแผน และขับเคลื่อนโครงการต่างๆ จนบรรลุเป้าหมาย