Photo : ©de nieuwe bibliotheek • Public
แนวโน้มผู้ใช้บริการห้องสมุดเนเธอร์แลนด์มีจำนวนดำดิ่งลงเรื่อยๆ ทำให้ผู้บริหารห้องสมุดในเขตเมืองใหม่ของอัลเมียเร่อะ (Almere) พยายามหาหนทางเปลี่ยนแปลงห้องสมุดแบบถอนรากถอนโคน เพื่อให้ห้องสมุดยังคงอยู่รอดต่อไปในยุคเทคโนโลยีสารสนเทศ ในปี 2010 มีการเปิดตัว “ห้องสมุดใหม่” (De Nieuwe Bibliotheek) ซึ่งมีรูปลักษณ์คล้ายร้านหนังสือมากกว่าจะดูเหมือนห้องสมุด ทว่าห้องสมุดแห่งนี้ได้กลายเป็นจุดศูนย์รวมที่คึกคักของชุมชน สองเดือนแรกที่เปิดให้บริการมีผู้มาเยี่ยมชมห้องสมุดแบบทะลักทลายนับแสนคน อีกทั้งยังได้รับการกล่าวถึงว่าเป็นห้องสมุดที่มีนวัตกรรมยอดเยี่ยมที่สุดแห่งหนึ่งของโลก
Photo : ©Wim Ruigrok
เคยมีการสำรวจครั้งใหญ่เกี่ยวกับความคิดเห็นของประชากรที่มีต่อห้องสมุด พบว่าผู้ใช้บริการมองห้องสมุดเป็นสิ่งล้าสมัยและน่าเบื่อ คนร้อยละ 70-75 ที่มีความสนใจเฉพาะทางจะไม่เดินเข้าห้องสมุด พวกเขาเลือกใช้วิธีค้นคว้าทางอินเทอร์เน็ต สิ่งนี้ยืนยันว่าห้องสมุดจะต้องรู้จักวิธีการชักจูงลูกค้าเพื่อให้เข้ามาใช้บริการห้องสมุดมากขึ้นและใช้เวลาอยู่ในห้องสมุดนานขึ้น การปฏิรูปห้องสมุดในเมืองใหม่จึงยึดถือความต้องการของผู้ใช้บริการที่เปลี่ยนแปลงไปในปัจจุบัน รวมทั้งการให้ความสำคัญกับการออกแบบพื้นที่และบริการให้สอดคล้องและสามารถตอบสนองความต้องการที่แตกต่างหลากหลายของกลุ่มคนในสังคม
“ห้องสมุดใหม่” ลบล้างแบบแผนเดิมๆ ในการจัดการห้องสมุด แล้วออกแบบรายละเอียดปลีกย่อยเพื่อสร้างแรงบันดาลใจ โดยได้ไอเดียการปรับปรุงห้องสมุดมาจากโมเดลและเทคนิคของร้านค้า เช่น การหันปกหนังสือเข้าหาลูกค้า การออกแบบสัญลักษณ์ ภาพ และกราฟิกต่างๆ การตกแต่งโดยเติมสีสันห้องสมุดให้ดูดีมีสไตล์ รวมทั้งการอบรมเจ้าหน้าที่ให้เข้าใจเรื่องการตลาด รู้จักบริการเชิงรุก และเน้นความเป็นมิตรกับลูกค้า
Photo : ©de nieuwe bibliotheek • Public
ชั้นหนังสือที่นี่ไม่ได้จัดตามระบบทางบรรณารักษศาสตร์ แต่ได้รวมหนังสือ fiction และ non-fiction ไว้ด้วยกัน บรรณารักษ์อาจทำงานยากขึ้น แต่สำหรับผู้ใช้บริการแล้วพวกเขากลับหาหนังสือได้ง่ายขึ้น พื้นที่ในห้องสมุดมีหลายลักษณะ ทั้งคาเฟ่จอแจที่ให้บริการขนมและเครื่องดื่ม และมุมอ่านหนังสือในสวนรื่นรมย์ นอกจากให้บริการหนังสือแล้ว ห้องสมุดยังอัดแน่นไปด้วยกิจกรรมและการแสดงดนตรี มีนิทรรศการ เกม หรือแม้กระทั่งเปียโนไว้ให้บริการ
Photo : ©de nieuwe bibliotheek • Public
“ห้องสมุดใหม่” ได้ร่วมมือกับองค์กร Seat2meet เปิดพื้นที่คล้ายกับ co-working space เพื่อให้ลูกค้าเข้ามานั่งทำงานและแบ่งปันประสบการณ์ระหว่างกัน ติดตั้งเครื่อง S2M สำหรับบริการฐานข้อมูลบุคคลในด้านความรู้และทักษะอาชีพ โดยผู้ที่สนใจสามารถลงทะเบียนและใส่รายละเอียดของตนเองไว้ เพื่อช่วยให้ผู้คนที่มีความสนใจตรงกันสามารถพบปะกันและมีปฏิสัมพันธ์ได้ง่ายขึ้น รวมทั้งเพิ่มโอกาสในการจ้างงานที่ตรงกับความต้องการของผู้ว่าจ้างหรือเจ้าของกิจการด้วย
ในระยะเริ่มต้นของการริเริ่มห้องสมุดแบบแหวกแนวเช่นนี้ มีเสียงคัดค้านจากบรรณารักษ์แบบหัวชนฝา ทุกคนเคยชินกับระบบห้องสมุดแบบเดิมๆ มาหลายต่อหลายปี และไม่อยากเดินออกมาจากโลกใบนั้น แต่ “ห้องสมุดใหม่” ก็พยายามสร้างการมีส่วนร่วมของเจ้าหน้าที่ให้มากที่สุด เมื่อทุกคนได้เห็นผลตอบรับในทางบวกจากผู้ใช้บริการก็กระตือรือร้นในการทำงานมากขึ้น และการทำงานในสถานที่ที่ได้รับการตกแต่งอย่างมีสีสันสวยงามก็เปลี่ยนให้ทุกอย่างกลายเป็นเรื่องสนุก
ในอดีตผู้ใช้บริการเข้ามาห้องสมุดเพื่อยืมหนังสือ ซีดี หรือดีวีดี แล้วก็จากไป แต่วันนี้สิ่งที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างชัดเจนก็คือ ทั้งผู้ที่เป็นสมาชิกและไม่ได้เป็นสมาชิกต่างก็อยู่ในห้องสมุดนานขึ้นเพื่อพบปะกัน ค้นหาหนังสือและสื่อ จิบกาแฟ ปรึกษากัน นั่งทำงาน ค้นคว้าและเรียนรู้ ฯลฯ “ห้องสมุดใหม่” กลายเป็นพื้นที่ที่สาม (third place) ของชุมชนซึ่งคนมาแฮงก์เอาท์กัน
Photo : ©Wim Ruigrok
สำหรับก้าวต่อไปในอนาคต “ห้องสมุดใหม่” ได้วางแนวทางที่จะเป็นสะพานเชื่อมระหว่างเทคโนโลยีดิจิทัลและการยกระดับรายได้ของชุมชน ทั้งผู้ที่เป็นสมาชิกและไม่ได้เป็นสมาชิกสามารถใช้อุปกรณ์คอมพิวเตอร์และอินเทอร์เน็ตได้ฟรี ซึ่งช่วยให้ทุกคนสามารถเข้าถึงเทคโนโลยีสารสนเทศสมัยใหม่ได้อย่างไม่มีอุปสรรค ห้องสมุดให้บริการอีบุ๊คและสื่ออิเล็กทรอนิกส์ซึ่งมีการวางระบบเชื่อมโยงกับห้องสมุดทั่วประเทศเนเธอร์แลนด์ จัดกิจกรรมพิเศษเพื่อการอ่านออกเขียนได้อย่างมีประสิทธิภาพ เวิร์คช็อปและบริการให้คำปรึกษาเพื่อพัฒนาความรู้คอมพิวเตอร์พื้นฐาน รวมทั้งการพัฒนาทักษะดิจิทัล
เหนือสิ่งอื่นใดภารกิจที่สำคัญที่สุดก็คือ การยืนหยัดพิสูจน์ให้เห็นว่า แม้เทคโนโลยีดิจิทัลและเครือข่ายอินเทอร์เน็ตจะพัฒนาไปไกลแค่ไหน แต่ห้องสมุดยังคงเป็นสิ่งที่ควรมีอยู่ต่อไปและไม่มีวันที่จะสูญหายไปไหน
แปลและเรียบเรียงจาก
How a New Dutch Library Smashed Attendance Records เขียนโดย Cat Johnson,2014