ในสังคมศตวรรษที่ 21 สิ่งที่สำคัญกว่าความรู้ก็คือทักษะในการเรียนรู้ ทักษะในการทำงาน และทักษะการดำรงชีวิต โดยเฉพาะอย่างยิ่งการรู้จักคิดวิเคราะห์และแก้ไขปัญหา ซึ่งเป็นเครื่องมือที่ช่วยให้คนเราสามารถเผชิญกับสถานการณ์ที่ท้าทายและหลากหลาย
แต่ทว่า การเรียนการสอนของไทยส่วนใหญ่ยังคงเป็นกระบวนการที่เน้นท่องจำเนื้อหา แบ่งความรู้ออกเป็นสาระวิชา ซึ่งนักการศึกษาหลายฝ่ายต่างก็เห็นพ้องตรงกันว่าส่งผลเชิงลบต่อการคิดสร้างสรรค์ ผู้เรียนขาดความสามารถในการคิดวิเคราะห์ และไม่สามารถแก้ปัญหาที่ซับซ้อนได้ ระบบการศึกษาไทยจึงเดินมาถึงจุดที่ต้องเปลี่ยนกระบวนทัศน์ไปสู่ทางออกอื่นๆ ที่เป็นไปได้มากกว่าที่เป็นอยู่
ทฤษฎีการเรียนรู้เพื่อสร้างสรรค์ด้วยปัญญา (Constructionism) เป็นหนึ่งในแนวทางที่สอดคล้องกับการเรียนรู้ในบริบทแวดล้อมร่วมสมัย มูลนิธิไทยคมและมูลนิธิศึกษาพัฒน์นับเป็นหน่วยงานแรกๆ ที่เอาจริงเอาจังและเริ่มจุดประกายการเรียนรู้ตามแนวทางดังกล่าวในประเทศไทยมานานเกือบ 20 ปี แม้จะยังอยู่ในแวดวงจำกัดและมีลักษณะเป็นต้นแบบหรือกรณีศึกษา แต่ก็ได้รับความสนใจมากขึ้น มีการขยายผลนำไปใช้ในหลายโรงเรียน และยังประยุกต์ใช้กับการพัฒนาบุคลากรในองค์กรภาคอุตสาหกรรม รวมถึงการพัฒนาคุณภาพชีวิตของคนในชุมชนอีกด้วย
แนวคิด Constructionism มีแก่นความเชื่อสำคัญว่า ความรู้ไม่ได้มาจากการสอนของครูหรือผู้สอนเพียงอย่างเดียว แต่มนุษย์ทุกคนมีความสามารถสร้างความรู้ได้ด้วยตนเองภายใต้เงื่อนไขสภาพแวดล้อมที่เอื้ออำนวย ได้แก่
(1) การมีอิสระในการเลือกเรียนรู้ในสิ่งที่ตนเองสนใจหรือถนัด มิใช่การบังคับให้ต้องเรียนเหมือนๆ กัน มีพฤติกรรมแบบเดียวกันหรือบรรลุผลที่เหมือนกัน
(2) การมีกระบวนการเรียนรู้ที่มีความหมายกับผู้เรียน ด้วยการสนับสนุนให้ผู้เรียนได้ลงมือปฏิบัติหรือคิดแก้ไขปัญหาต่างๆ เอง ซึ่งจะนำไปสู่การสร้างความเชื่อมโยงระหว่างความรู้ที่มีอยู่กับประสบการณ์หรือความรู้ใหม่ เกิดเป็นองค์ความรู้ที่สร้างขึ้นด้วยตนเอง
(3) การสามารถเข้าถึงสารสนเทศที่สอดคล้องกับความต้องการได้อย่างสะดวก เช่น หนังสือ สารสนเทศอิเล็กทรอนิกส์ ผู้รู้หรือปราชญ์ชาวบ้าน และแหล่งเรียนรู้ต่างๆ
ผู้ทำหน้าที่อำนวยการเรียนรู้ หรือ Facilitator ที่มีประสบการณ์สูง เป็นปัจจัยสำคัญยิ่งต่อคุณภาพของกระบวนการเรียนรู้ บุคคลดังกล่าวมิได้มีหน้าที่สอนความรู้เหมือนครู แต่เป็นผู้ที่คอยจัดสิ่งแวดล้อมให้เอื้อต่อการเรียนรู้ เป็นผู้กระตุ้นให้ผู้เรียนเกิดการตั้งคำถามจนกลายเป็นโจทย์หรือโครงงานที่ตนสนใจ จัดกิจกรรมการเรียนรู้ที่มีผู้เรียนเป็นศูนย์กลางเพื่อจะนำไปสู่การแก้ปัญหาหรือการแสวงหาคำตอบของผู้เรียน แนะนำแหล่งสารสนเทศที่มีคุณภาพและรอบด้านเพื่อให้ผู้เรียนได้ศึกษาด้วยตนเอง รวมทั้งสนับสนุนผู้เรียนให้มีโอกาสนำเสนอความรู้หรือแลกเปลี่ยนเรียนรู้ซึ่งกันและกัน
อย่างไรก็ตาม การเผยแพร่และนำเอาทฤษฎีการเรียนรู้เพื่อสร้างสรรค์ด้วยปัญญามาใช้กับโรงเรียนในประเทศไทยเป็นเวลาเกือบสองทศวรรษ หากกล่าวอย่างถึงที่สุดก็ต้องยอมรับว่าแนวทางการเรียนรู้นี้ยังคงเป็นกระแสรองในระบบการศึกษา เหตุผลนั้นเนื่องมาจากอุปสรรคอย่างน้อย 3 ประการ คือ
1. โครงสร้างระบบการศึกษาไทยเปรียบเสมือนโรงงานผลิตทรัพยากรมนุษย์แบบเหมาโหล สังคมคาดหวังให้ผู้ที่จบการศึกษามีคุณลักษณะที่มีมาตรฐานแบบเดียวกัน คือมีความรู้ที่แม่นยำตามตำราที่เรียนมาเพื่อที่จะสอบเข้าศึกษาต่อในระดับที่สูงขึ้นไปได้ ซึ่งจะเป็นสะพานไปสู่การมีอาชีพการงานที่มั่นคงในอนาคต
ในขณะเดียวกันผู้เรียนที่เป็นไปตามมาตรฐานก็เป็นตัวชี้วัดถึงมาตรฐานของสถานศึกษาด้วย หนทางที่ผู้เรียนจะสามารถเลือกเรียนตามความสนใจของตนจึงถูกวางเงื่อนไขให้แคบลงเรื่อยๆ อีกทั้งการวัดประเมินนักเรียนไม่ได้คำนึงถึงพัฒนาการในมิติต่างๆ ของนักเรียนแต่ละคน แนวทางการศึกษาที่เชื่อมั่นในความหลากหลายของมนุษย์จึงเกิดขึ้นได้ยากในโครงสร้างการศึกษาที่ไม่ยืดหยุ่นเช่นนี้
2. วัฒนธรรมห้องเรียนของไทยอยู่บนความเชื่อที่ว่า ครูเป็นผู้รู้และมีหน้าที่ให้ความรู้ ส่วนนักเรียนเป็นภาชนะว่างเปล่าที่รอคอยการถ่ายเทความรู้ ทำให้ครูกลายเป็นผู้ผูกขาดความรู้แต่เพียงผู้เดียว ครูมีอำนาจในการตัดสินชี้ถูกชี้ผิดผู้เรียนด้วยการให้คะแนน รวมทั้งมีสิทธิขาดในการกำหนดกติกาในห้องเรียนและการลงโทษ
ภายใต้วัฒนธรรมดังกล่าวเด็กนักเรียนไม่ได้ถูกมองว่าพวกเขามีศักยภาพในการเรียนรู้เท่าเทียมกับผู้ใหญ่ และไม่ได้รับการสนับสนุนให้เกิดเงื่อนไขที่เหมาะสมกับการสร้างความรู้ด้วยตนเอง โดยเฉพาะอย่างยิ่งการมีประสบการณ์ที่มีความหมายซึ่งเชื่อมโยงพวกเขากับองค์ความรู้ต่างๆ
การปฏิรูปการศึกษาเป็นนโยบายที่ดำเนินการมานับสิบปีจึงยังอยู่ห่างไกลจากผลลัพธ์เป้าหมายที่คาดหวัง ตราบใดที่วัฒนธรรมในห้องเรียนยังยึดติดกับความเชื่อเดิมๆ และครูยังไม่เปลี่ยนบทบาทจากผู้สอนเป็นผู้เอื้ออำนวยให้เกิดกระบวนการเรียนรู้ ก็ไม่สามารถเกิดห้องเรียนที่มีนักเรียนเป็นศูนย์กลางได้
3. โดยทั่วไปแล้วการทำงานของครูในด้านการเรียนการสอน มักมีลักษณะเป็นการทำงานเพียงลำพัง สาระการเรียนรู้ที่ถูกจำแนกออกเป็นรายวิชาทำให้ครูแต่ละคนสามารถดูแลชั้นเรียนของตนเองอย่างอิสระและแยกส่วน
แต่กระบวนการเรียนรู้แบบใช้ปัญหาเป็นฐานหรือการเรียนรู้ด้วยการลงมือปฏิบัติซึ่งบูรณาการความรู้หลายศาสตร์ไว้ด้วยกัน ครูเพียงคนเดียวย่อมไม่สามารถจัดกระบวนการเรียนรู้ให้กับนักเรียนได้อย่างทั่วถึง และย่อมจะพบกับข้อจำกัดในการเชื่อมโยงความรู้ที่หลากหลายเกินกว่าประสบการณ์หรือความเชี่ยวชาญที่มีอยู่
ดังนั้นจึงจำเป็นอย่างยิ่งที่ครูจะต้องทำงานร่วมกันเป็นทีม และมีการวางแผนการสอนร่วมกันเพื่อให้นักเรียนสามารถบรรลุถึงเป้าหมายในการทำโครงงานต่างๆ ไปพร้อมกับการได้เรียนรู้เนื้อหาที่สัมพันธ์กับสาระวิชาตามหลักสูตร
ขณะที่ในด้านการบริหาร โรงเรียนจะต้องมีลักษณะเป็นชุมชนแห่งการเรียนรู้ ที่ทั้งผู้บริหารโรงเรียนและครูได้มีโอกาสแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ให้คำแนะนำซึ่งกันและกัน และร่วมกันแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นในชั้นเรียนอย่างสม่ำเสมอ
สำหรับองค์กรธุรกิจที่ต้องการนำทฤษฎีการเรียนรู้เพื่อสร้างสรรค์ด้วยปัญญาไปประยุกต์ใช้ในการยกระดับประสิทธิภาพในการทำงาน ก็จำเป็นต้องมีการเปลี่ยนแปลงวัฒนธรรมในการทำงานเช่นกัน ผู้บริหารระดับสูงขององค์กรจะต้องเปิดกว้างและยอมรับความคิดเห็นที่แตกต่างหลากหลาย ฝ่ายงานที่รับผิดชอบด้านการพัฒนาทรัพยากรบุคคลจะต้องปรับมุมมองที่มีต่อการอบรมให้ความรู้
มีการวิเคราะห์ว่าการเรียนรู้ของคนเรานั้นเกิดขึ้นจากการเรียนหรือการอบรมที่เป็นทางการเพียง 10% เท่านั้น ส่วนอีก 20% เป็นการเรียนรู้จากการปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่น และอีก 70% เกิดจากการเรียนรู้ด้วยการมีประสบการณ์หรือการลงมือปฏิบัติจริง
ดังนั้นการพัฒนาบุคลากรโดยการจัดหลักสูตรอบรมความรู้อาจแทบไม่ตอบโจทย์บริบทของธุรกิจในอนาคตซึ่งแข่งขันกันที่ความคิดสร้างสรรค์และนวัตกรรม องค์กรจึงจำเป็นต้องมองหารูปแบบการเรียนรู้ที่หลากหลายยิ่งขึ้น โดยมีหัวใจอยู่ที่การสร้างทักษะและคุณลักษณะบุคลากรที่สามารถนำพาองค์กรฟันฝ่าความท้าทายใหม่ๆ ที่จะผ่านเข้ามาได้
การศึกษาและการเรียนรู้นั้นเป็นกระบวนการที่มองเห็นผลได้ในระยะยาว แน่นอนว่าผลลัพธ์ในท้ายที่สุดนั้นมิได้ตกอยู่กับเหล่าผู้ริเริ่มลงมือเปลี่ยนแปลงกระบวนการเรียนรู้ หากย่อมตกอยู่กับผู้เรียนซึ่งจะเป็นกำลังในการพัฒนาสังคมและประเทศชาติในวันข้างหน้า กรณีตัวอย่างดังต่อไปนี้คือบทพิสูจน์ถึงการทลายอุปสรรคและข้อจำกัดของการเรียนรู้แบบเดิมๆ เป็นความสำเร็จที่ไม่ได้เกิดขึ้นชั่วข้ามคืน แต่เป็นผลมาจากความทุ่มเทและการทำงานหนักอย่างต่อเนื่อง
แหล่งข้อมูล
- เอกสาร ดรุณสิกขาลัย โรงเรียนนวัตกรรมแห่งการเรียนรู้เพื่อสร้างสรรค์ด้วยปัญญา (Constructionism) โดยโรงเรียนดรุณสิกขาลัย จัดทำเนื่องในโอกาสครบรอบ 50 ปี มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี ปี 2554
- ห้องเรียน Constructionism เว็บไซต์ https://sites.google.com/site/hxngreiynkhruhaemm
ภาพจาก
- เฟซบุ๊คโรงเรียนบ้านสันกำแพง https://www.facebook.com/bskonline/
- เฟซบุ๊คโรงเรียนบ้านสามขา https://www.facebook.com/BanSamkhaSchool/