Jef Staes ได้พัฒนาแนวคิดว่าด้วยการสร้างนวัตกรรมองค์กร ชื่อว่า “ลิงสีแดง” (Red Monkeys) โดยได้รับแรงบันดาลใจมาจากข้อค้นพบทางชีววิทยาที่ระบุว่า พื้นที่ป่าที่มีระบบนิเวศเอื้อต่อความหลากหลายทางชีวภาพมากที่สุดไม่ใช่บริเวณกลางป่าลึก ทว่ากลับเป็นพรมแดนระหว่างป่ากับพื้นที่ที่ไม่ใช่ป่า เขาอุปมาเปรียบเทียบว่า เมื่อลิงสีน้ำตาลธรรมดาๆ พบปะสังสรรค์กับปลาสีแดงที่แหวกว่ายอยู่ในทะเล วันหนึ่งมันอาจเปลี่ยนเป็นลิงสีแดงที่ไม่เหมือนใคร การสร้างนวัตกรรมขึ้นในองค์กรก็จำเป็นต้องอาศัยระบบนิเวศลักษณะเดียวกัน
ในความคิดของ Jef Staes นวัตกรรมเป็นผลมาจากการเผชิญหน้าของไอเดียที่พยายามจะอยู่รอดท่ามกลางความขัดแย้ง เริ่มต้นมาจาก “ลิงสีแดง” หรือ “นักสร้างสรรค์” ผู้ซึ่งขาข้างหนึ่งเหยียบอยู่ในองค์กร ส่วนขาอีกข้างหนึ่งก้าวออกไปอยู่นอกองค์กร ทำให้มีโอกาสแลกเปลี่ยนความคิดกับผู้คนที่หลากหลายและมองหาไอเดียที่ดีที่สุด ในขณะเดียวกันก็จำเป็นต้องมี “ผู้บุกเบิก” ซึ่งอาจมีเพียง 10% ในองค์กร คนกลุ่มนี้เปี่ยมไปด้วยไอเดีย รักในความคิดใหม่ๆ และพร้อมที่จะทุ่มเทเพื่อเปลี่ยนแปลง แต่ก็ต้องการได้รับการสนับสนุนเพื่อพัฒนาไอเดียให้กลายเป็นจริง
บ่อยครั้งการเปลี่ยนแปลงองค์กรเป็นไปแบบสั่งการจากเบื้องบน (Top-down) โดยการริเริ่มของคนเพียงไม่กี่คน ซึ่งไม่ใช่หนทางแห่งความยั่งยืน การสร้างนวัตกรรมองค์กรเป็นงานที่ต้องทำกับคนหมู่มาก ใช้กลยุทธ์หว่านล้อม “ผู้ตาม” อย่างค่อยเป็นค่อยไปโดยอาศัยการสื่อสารอย่างไม่เป็นทางการเพื่อกระชับความสัมพันธ์และสร้างการมีส่วนร่วม มีการยกตัวอย่างหรือแบ่งปันเรื่องราวที่เป็นรูปธรรม ทำให้พวกเขาเข้าใจว่าสิ่งใหม่จะดีต่อเขาอย่างไรและจะแปลงความคิดใหม่ให้เป็นการลงมือปฏิบัติได้อย่างไร ถ้าพวกเขามองไม่เห็นภาพที่ชัดพอก็อาจไม่ให้ความร่วมมือกับการเปลี่ยนแปลง
อย่างไรก็ตามหากยังไม่ได้มีการวางรากฐาน “แรงบีบทางนวัตกรรม” ที่เข้มแข็งพอ ไม่ควรปล่อยให้ลิงสีแดงกลับเข้าไปอยู่กลางป่า เพราะที่นั่นเต็มไปด้วย “ผู้ตั้งรกราก” ซึ่งพร้อมที่จะฆ่าไอเดียสร้างสรรค์ จนกระทั่งลิงสีแดงกลายเป็นเป็ดเชื่องๆ ตัวหนึ่ง
องค์กรนวัตกรรมที่แท้จริงในปัจจุบันมักเป็น “เครือข่าย” ที่มีคุณลักษณะแบบเปิด ซึ่งอาจมองในแง่การ เปิดองค์กรไปสู่โลกภายนอก หรือการเปิดหน่วยธุรกิจย่อยๆ ในองค์กรให้มีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้กัน ลิงสีแดงตัวเดียวไม่เพียงพอสำหรับการเปลี่ยนแปลง แต่ในเวลาเดียวกันองค์กรควรจะมีลิงสีแดง 20 ตัว หรืออาจจะถึง 100 ตัว โดยอาศัยกระบวนการวิวัฒนาการของสิ่งมีชีวิต คือเปิดโอกาสให้คนได้ก้าวไปอยู่ชายขอบขององค์กร ได้ลองคิดลองลงมือปฏิบัติตามความคิดริเริ่มใหม่ๆ อย่างเต็มที่ และหากล้มเหลวก็ไม่ใช่เรื่องคอขาดบาดตาย แต่ได้เรียนรู้ว่า ไอเดียที่ดีเหล่านั้นไม่เหมาะสำหรับการนำมาปฏิบัติจริง
แม้ว่าโลกนี้จะเชิดชูแนวคิดประชาธิปไตย แต่สำหรับเรื่องนวัตกรรมแล้ว Jef Staes ไม่เชื่อว่าเสียงส่วน ใหญ่ของสังคมจะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้นเสมอไป และเตือนให้พึงระวังพลังของคนโง่ในกลุ่มคนหมู่มาก บางไอเดียอาจเป็นที่ชื่นชอบของคนมากมายไปพร้อมๆ กับมีคนเกลียดชัง สิ่งสำคัญเหนืออื่นใดอยู่ที่การเคารพในความคิดที่แตกต่างหลากหลายของกันและกัน
อ่านเรื่องราวความคิดของ Jef Staes ว่าด้วยการเปลี่ยนผ่านของยุคสารสนเทศ ซึ่งส่งผลต่อการเรียนรู้และห้องสมุดได้จากบทความฉบับเต็ม หัวข้อ “การศึกษา 3D / คนฉลาด / หนังสือที่เติบโต / ห้องสมุด 3D การเปลี่ยนแปลงคือปีศาจของกาลเวลา” ที่นี่
รวบรวม แปล และเก็บความโดย นางทัศนีย์ แซ่ลิ้ม ฝ่ายวิชาการ สำนักงานอุทยานการเรียนรู้, กรกฏาคม 2560
ที่มาเนื้อหา
https://www.youtube.com/watch?v=BFk4dCCwlRg
ที่มาภาพ
http://informalcoalitions.typepad.com/informal_coalitions/2008/04/fostering-innov.html
http://www.reply-mc.com/2009/01/12/a-conflict-isn%E2%80%99t-always-a-bad-thing-part-5/