เคยมีคำคมหนึ่งกล่าวไว้ว่า “แรงบันดาลใจ” สามารถเกิดขึ้นจากสองสิ่ง
หนึ่ง คือ “การเดินทาง”
และสอง คือ “การอ่านหนังสือ”
เหตุเพราะหนังสือ ไม่ใช่แค่กระดาษปึกหนึ่งที่ไร้ชีวิต ทว่ากลับเต็มไปด้วยเรื่องราวของผู้คน ธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อมมากมาย ซึ่งทำให้เราสามารถเรียนรู้โลกกว้างผ่านความคิดที่ถูกถ่ายทอดลงในหน้ากระดาษ
ดังนั้นจึงไม่ใช่เรื่องแปลกนัก หากหนังสือเล่มหนึ่งจะสามารถเปลี่ยนชีวิตคนได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง นักอ่านที่เป็นเด็ก ซึ่งจะเติบโตขึ้นเพื่อเป็นบุคคลของสังคมต่อไปในอนาคต พวกเขาเหล่านั้นจึงจำเป็นที่จะต้องได้รับการปลูกฝังการอ่านอย่างมีประสิทธิภาพ
และเนื่องจากการตระหนักเห็นถึงความสำคัญจากการอ่านนี่เอง ทางอุทยานการเรียนรู้ TK park จึงได้จัดกิจกรรม “Book Clinic หนังสือต่อการสร้างแรงบันดาลใจ” ในวันอาทิตย์ที่ 3 เมษายน 2554 ณ ห้อง Mind Room โดยมีวิทยากรรับเชิญมากคุณวุฒิ
คุณระพีพรรณ พัฒนเวศน์ อดีตบรรณาธิการสำนักพิมพ์แพรวเพื่อนเด็ก และ คุณลำพู แสงลภ นักเขียนและนักวาดภาพประกอบ เจ้าของผลงาน “เพื่อนใหม่ของลุงหมี” ซึ่งได้รับรางวัลนายอินทร์อะวอร์ด สาขาหนังสือภาพสำหรับเด็กยอดเยี่ยมประจำปี 2544 รวมถึงรางวัลอื่นๆ การันตีอีกมากมาย นอกจากนี้ คุณลำพูยังได้มาแบ่งปันประสบการณ์ในฐานะคุณแม่ของลูกชายคนหนึ่งอีกด้วย
Book Clinic หนังสือต่อการสร้างแรงบันดาลใจ
“พอเราเริ่มหัดอ่านหนังสือให้ลูกชายฟังตั้งแต่เล็กๆ เราจะเห็นได้ชัดว่า ลูกของเรามีทักษะที่เพิ่มขึ้น และสามารถพัฒนาไปได้ไกล เมื่อเขาโตขึ้นนิสัยรักการอ่านก็จะอยู่ติดตัวเขา”
คุณลำพูบอกเล่าวิธีการที่ตนเองใช้ในการสอนลูกชายได้อย่างน่าสนใจ โดยจะเลือกสรรหนังสือที่อ่านง่ายเหมาะกับช่วงวัย เพื่อที่จะให้เด็กได้เรียนรู้อย่างเป็นขั้นตอน และทำให้คุ้นชินเสมือนมีหนังสือเป็นเพื่อน
ทว่า ในปัจจุบันพ่อแม่หลายคนอาจละเลยการอ่านหนังสือให้ลูกฟัง โดยมักจะปล่อยลูกให้อยู่กับโทรทัศน์ ซึ่งดึงดูดความสนใจของเด็กมากกว่า แต่แท้จริงแล้ว วิธีการเช่นนี้นับเป็นการปิดกั้นโอกาสดีๆ ที่จะทำให้เด็กไม่สามารถต่อยอดความรู้และจินตนาการของตนเองได้ ดังที่คุณระพีพรรณได้วิเคราะห์ไว้ว่า
“โทรทัศน์เป็นสื่อที่คัดกรองข้อมูลได้ยาก เพราะหลายครั้งเนื้อหาอาจเต็มไปด้วยเรื่องเพศ และความรุนแรง ซึ่งยังไม่เหมาะสมต่อการเรียนรู้ของเด็กในวัยที่ไม่สามารถแยกแยะระหว่างเรื่องจริงหรือเรื่องแต่งได้”
ดังนั้น การอ่านหนังสือจึงเป็นทางเลือกหนึ่งที่พ่อแม่สามารถคัดกรองเนื้อหา ทำให้เด็กได้เรียนรู้อย่างมีคุณภาพ อีกทั้งยังเป็นการส่งเสริมความสัมพันธ์ในครอบครัวทำให้เด็กรู้สึกอบอุ่น ปลอดภัย และถือเป็นการสร้างบรรยากาศแห่งการเรียนรู้ได้ดีที่สุด
การเสวนาที่อัดแน่นด้วยความรู้จากประสบการณ์ของทั้งสองวิทยากร
ส่วนวิธีการเลือกสรรหนังสือสำหรับอ่านให้เด็กฟังนั้น คุณระพีพรรณได้มีคำแนะนำอย่างง่ายๆ ว่า ควรเลือกหนังสือให้เหมาะกับช่วงวัย ซึ่งหนังสือนิทานสำหรับเด็กแต่ละเล่มก็มักจะมีข้อแนะนำบ่งบอกอายุของวัยที่เหมาะกับการอ่านไว้อยู่แล้ว เช่น หนังสือสำหรับเด็ก 0-3 ปี ก็จะเป็นประเภทหนังสือที่มีลักษณะปิด-เปิด มีภาพสวยงาม ข้อความน้อย และเป็นเรื่องราวเกี่ยวกับสิ่งของรอบๆ ตัว เพื่อดึงดูดความสนใจของเด็กเล็ก แต่หากเด็กมีอายุมากขึ้น จึงค่อยเลือกหนังสือที่มีเนื้อหาซับซ้อนเพิ่ม เพื่อสอนให้เด็กเรียนรู้จักโลกที่กว้างกว่าเดิม กระนั้นสิ่งเหล่านี้ก็ไม่ใช่กฎเกณฑ์ที่ตายตัว
“การเลือกหนังสือสิ่งสำคัญคือต้องวิเคราะห์ตัวเด็กเอง หากเด็กมีอายุมากแต่ไม่เคยเริ่มหัดอ่านหนังสือ ก็ควรเริ่มต้นจากหนังสือลักษณะง่ายๆ อย่าไปยึดติดกับกฎเกณฑ์ แต่ต้องพัฒนาอย่างอดทนและค่อยเป็นค่อยไป”
ซึ่งผลลัพธ์ที่ได้จากการฝึกให้เด็กเรียนรู้การอ่านหนังสือนั้น คุณลำพูผู้เฝ้าดูแลลูกชายอย่างใกล้ชิดเอ่ยอย่างภาคภูมิใจว่า
“หนังสือช่วยฝึกให้ลูกมีจินตนาการ มีสมาธิ และสร้างแรงบันดาลใจ ทำให้เขาอยากวาดรูป อยากเรียนรู้เรื่องรอบๆ ตัว โดยทั้งหมดนี้เริ่มต้นมาจากการสั่งสมการอ่านอย่างต่อเนื่อง”
ยังไม่หมดเพียงเท่านั้น เพราะประโยชน์จากการอ่านหนังสือยังช่วยฝึกเด็กให้เรียนรู้จักศาสตร์ต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น วิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ และที่สำคัญคือการสอนให้เด็กได้เข้าใจถึงสิ่งที่เป็น “นามธรรม” เช่น ความเสียสละ ความสามัคคี ความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ ซึ่งเด็กจะได้เรียนรู้คุณธรรมจริยธรรมเหล่านั้นจากภาพนิทานโดยอาศัยตัวละครเป็นสื่อ ทำให้เรื่องยากสำหรับเด็กกลายเป็นเรื่องที่เข้าใจง่ายและสามารถนำไปใช้ได้จริงในชีวิตประจำวัน
ตัวอย่างหนังสือนิทานภาพแนะนำสำหรับเด็ก
อย่างไรก็ตาม แม้จะมีการสนับสนุนการปลูกฝังนิสัยรักการอ่านอย่างต่อเนื่อง แต่ก็ยังมีผลสำรวจออกมาว่า คนไทยเป็นชาติที่อ่านหนังสือน้อย และจากการพูดคุยเสวนาทำให้พบถึงปัญหาที่คุณระพีพรรณได้แลกเปลี่ยนความเห็นไว้ว่า
“ทุกวันนี้เราวัดผลการอ่านที่ปริมาณไม่ใช่คุณภาพ ทำให้เกิดการบังคับให้เด็กต้องอ่านหนังสือจำนวนมากเสมือนการลงโทษ โดยไม่เคยใส่ใจว่าเด็กอ่านหนังสือแล้วสามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้จริงๆ หรือไม่”
ด้วยเหตุนี้ บรรยากาศแห่งการยัดเยียดจึงเกิดขึ้น ซึ่งกลายเป็นผลร้ายให้เด็กเกลียดการอ่าน โดยรวมไปถึงการตั้งความคาดหวังของพ่อแม่ที่อาจสร้างความกดดันให้กับเด็ก ดังที่คุณลำพูได้กล่าวเสริมไว้
“อย่าได้คาดหวังกับตัวลูกว่า หากอ่านหนังสือให้ลูกบ่อยๆ ลูกจะต้องเก่ง ต้องเรียนดีกว่าคนอื่นๆ หรือกลัวลูกจะได้รับความรู้น้อยจากการอ่านหนังสือซ้ำๆ โดยลืมจุดประสงค์ที่แท้จริงว่า เราอ่านหนังสือให้ลูกฟัง เพราะอยากให้ลูกรู้สึกสนุกกับการอ่าน และให้ลูกได้เรียนรู้อย่างมีความสุข”
“ขอให้เริ่มจากการคิดว่า การอ่านหนังสือเป็นเรื่องง่ายๆ ของชีวิต เพราะหนังสือเป็นสิ่งที่ให้ประโยชน์กับเราอย่างมากมาย จนอาจพูดได้ว่า ถ้าโลกปราศจากหนังสือ โลกก็อาจจะไม่ได้พัฒนามาเป็นเช่นทุกวันนี้” คุณระพีพรรณฝากคำทิ้งท้ายอย่างน่าคิด ทำให้ทุกคนได้รับความรู้ไปอย่างเต็มอิ่ม
หากวันใดเราเดินไปพบกับเส้นทางตันที่สุดปลายถนน ลองเหลียวมองรอบกาย แล้วเลือกหยิบหนังสือดีๆ สักเล่ม เพื่อสร้างแรงบันดาลใจให้กับตนเอง ไม่แน่ว่า คุณอาจจะพบกับทางออกที่สามารถแก้ปัญหาหรือเปลี่ยนชีวิตของคุณ
และอย่าลืมส่งต่อความสุขจากการอ่านไปให้คนอื่นๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับเด็กๆ เพราะเมื่อคุณอ่านหนังสือให้เด็กฟัง สิ่งที่คุณให้เด็กคนนั้นคือข่าวคราวของธรรมชาติชีวิตที่หลากหลาย และยังถือเป็นการปลูกฝังเมล็ดพันธุ์รักอ่านเล็กๆ เพื่อสักวันเมล็ดพันธุ์นี้จะได้เติบโตกลายเป็นต้นไม้ใหญ่ที่มีคุณภาพให้กับสังคมในอนาคตต่อไป
พลอยบุษรา