
โครงการ “พัฒนาทักษะนักแปลเผยแพร่วรรณกรรมไทยสู่สากล” โดยสถาบันอุทยานการเรียนรู้ (TK Park) ร่วมกับสมาคมนักแปลและล่ามแห่งประเทศไทย และสมาคมผู้จัดพิมพ์และผู้จำหน่ายหนังสือแห่งประเทศไทย ได้จบหลักสูตรการอบรมลงไปแล้วเมื่อวันเสาร์ที่ 21 มิถุนายน 2568 ด้วยความหวังเต็มเปี่ยมว่าผลงานการแปลวรรณกรรมไทยของผู้เข้าอบรมรวมกว่า 130 คน จะทยอยปรากฏสู่สาธารณะในไม่ช้า
แต่สิ่งที่ยังคงดำเนินต่อไปหลังจบโครงการฯ คือการผนึกกำลังกันระหว่างภาครัฐและภาคเอกชน เผื่อผลักดันให้เกิดอุตสาหกรรม “แปลออก” วรรณกรรมไทยอย่างเป็นรูปธรรมและยั่งยืน
ที่วงเสวนาเช้าและบ่ายเพื่อปิดท้ายโครงการฯ มีข้อสังเกตและข้อคิดเห็นที่ TK Park บันทึกตัวหนาไว้หลายข้อ เพราะจะเป็นประโยชน์ในการผลักดันอุตสาหกรรมหนังสือเพื่อการส่งออกของไทยในอนาคตไม่มากก็น้อย

การแปลวรรณกรรมออกไม่ใช่สิ่งที่จะเกิดขึ้นได้ข้ามคืนด้วยการอัดฉีดงบประมาณ แต่ต้องการการสนับสนุนอย่างต่อเนื่อง และระบบนิเวศการส่งออกวรรณกรรมที่เข้มแข็ง นี่คือประเด็นหลักที่คุณกิตติศักดิ์ คงคา คุณอนุรักษ์ กิจไพบูลทวี และคุณณัฐกร วุฒิชัยพรกุล นักเขียน นักแปล และกรรมการผู้จัดการสำนักพิมพ์ มาร่วมแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกันในวงเสวนาช่วงเช้า ภายใต้หัวข้อ “การเผยแพร่วรรณกรรมไทยไปสู่สากล จากมุมมองของนักเขียนและสำนักพิมพ์”
วิทยากรทั้ง 3 ท่าน ยังเห็นพ้องว่าปัจจัยที่สำคัญที่สุดก็คือ ผลงานต้องมีคุณภาพและมีฐานนักอ่านที่ชื่นชอบจริง ๆ เพราะการแปลออกจะเป็นไปอย่างธรรมชาติก็ต่อเมื่อวัฒนธรรมการอ่านของคนในประเทศเข้มแข็ง เมื่อบวกกับกระบวนการช่วยส่งออกที่เป็นระบบ ผลงานดี ๆ เหล่านั้นก็จะมีโอกาสเผยโฉมบนเวทีโลก

ในช่วงบ่าย อาจารย์กฤตยา อกนิษฐ์ คุณก้อง ฤทธิ์ดี ผศ.ดร. อรองค์ ชาคร นักแปลคนสำคัญของวงการ และคุณเมธิส โลหเตปานนท์ นักแปลบทกวีเลือดใหม่ มาร่วมแชร์ประสบการณ์และแสดงความคิดเห็นกันที่วงเสวนา “เล่าเรื่องการแปลออก: ประสบการณ์และบทเรียนจากนักแปลมืออาชีพ” ว่าการแปลวรรณกรรมไทยเป็นภาษาต่างประเทศ ซึ่งมีประเด็นทางวัฒนธรรมให้ขบคิดมากมาย แต่ทุกปัญหาสามารถหาทางออกได้ด้วยการพูดคุยและตกลงกันระหว่างนักเขียน นักแปล และบรรณาธิการ โดยบรรณาธิการภาษาปลายทางเป็นบุคคลสำคัญที่จะกำหนด mood and tone ของผลงานก่อนที่จะออกสู่สายตานักอ่าน ประเด็นที่ควรให้ความสนใจและริเริ่มดำเนินการ คือการเชื่อมโยงนักแปลกับองคาพยพอื่น ๆ ในกระบวนการส่งออก ไม่ว่าจะเป็นนักเขียน สำนักพิมพ์ และเอเจนซี ที่ผ่านมา การแปลหนังสือไทยเกิดขึ้นนาน ๆ ครั้ง ตามวาระพิเศษ ยังไม่เกิดกลไกตลาดที่แท้จริง โจทย์สำคัญต่อจากนี้ก็คือ จะทำอย่างไรให้ผลงานดี ๆ ของคนไทยเริ่มเป็นที่รู้จัก มีสำนักพิมพ์ต่างชาติสนใจได้เองโดยไม่ต้องใช้พลังขับเคลื่อนหรือโอกาสใดเป็นพิเศษ

สำหรับโครงการ “พัฒนาทักษะนักแปลเผยแพร่วรรณกรรมไทยสู่สากล” ย้อนไปเมื่อเดือนพฤษภาคม 2568 โดยเริ่มจากการปูพื้นฐานและให้ความสำคัญกับการทำความเข้าใจบริบทวัฒนธรรม เพื่อวิเคราะห์ต้นฉบับ ถ่ายทอดอารมณ์ และน้ำเสียงของภาษาไทยไปยังภาษาอังกฤษอย่างมีศิลปะ การบรรยายหัวข้อแรก “พื้นฐานและหลักการแปลจากภาษาไทยเป็นภาษาอังกฤษ” ได้รับเกียรติจาก อาจารย์กฤตยา อกนิษฐ์ ผู้เชี่ยวชาญด้านการแปลเป็นภาษาต่างประเทศ เจ้าของผลงานการแปลการ์ตูนสุดสาคร และภาพยนตร์เรื่องโหมโรง มาถ่ายทอดประสบการณ์ และฝึกแปลอย่างเข้มข้น

สัปดาห์ต่อมา โครงการฯ ขยับมาเน้นการฝึกฝนเครื่องมือให้นักแปลทำงานได้คล่องขึ้น ผ่านการอบรมเรื่อง “เครื่องมือและทรัพยากรช่วยในการแปล” โดยได้รับเกียรติจากคุณปกรณ์ กฤษประจันต์ นายกสมาคมนักแปลและล่ามแห่งประเทศไทย มาร่วมแบ่งปันประสบการณ์ในการใช้เครื่องมือใกล้ตัว ทั้ง Search Engine, MS Word, MS Excel หรือแม้กระทั่ง AI ของค่ายต่าง ๆ ในกระบวนการตั้งแต่การค้นคว้าหาข้อมูล สร้างคลังคำส่วนตัว ไปจนถึงการเกลาสำนวน โดยไม่ลืมแสดงทัศนะต่อการใช้ AI ช่วยแปล ว่าอยากให้นักแปลใช้เป็นเครื่องมือช่วยเหลือการแปล อย่าใช้เป็นวิธีการหลัก

สัปดาห์ที่สาม โครงการฯ เน้นที่ความเข้าใจในบริบทมากขึ้น กับการบรรยายในหัวข้อ “การทำความเข้าใจวรรณกรรมไทยเพื่อการแปล” โดย อาจารย์ ดร.รังสิมา นิลรัตน์ มาร่วมชี้ชวนให้เห็นว่าการแปลข้ามภาษา ข้ามวัฒนธรรม มีประเด็นอะไรบ้างที่ต้องระวังมากเป็นพิเศษ และควรถ่ายทอดอย่างไร เพื่อให้ผู้อ่านสามารถเข้าถึงความงดงามของวรรณกรรมได้มากที่สุด

ต่อมาในสัปดาห์ที่สี่ คุณก้อง ฤทธิ์ดี รองผู้อำนวยการหอภาพยนตร์ และผู้แปล ‘ไส้เดือนตาบอดในเขาวงกต’ และ ‘พุทธศักราชอัสดงกับทรงจำของทรงจำของแมวกุหลาบดำ’ ผลงานรางวัลซีไรต์ของคุณวีรพร นิติประภา เป็นภาษาอังกฤษ ได้ให้เกียรติมาเป็นวิทยากรบรรยายในหัวข้อ “เทคนิคการแปลจากภาษาไทยเป็นภาษาอังกฤษ” โดยได้แบ่งปันประสบการณ์ ‘การแปลออก’ ที่สั่งสมมาจากการทำงานหลายสิบปี และนำเคล็ดลับการทำงานมาฝากนักแปลรุ่นน้องมากมาย อาทิ การใช้ชีวิตกับภาษาอังกฤษจนคุ้นเคยและถ่ายทอดออกไปอย่างเป็นธรรมชาติ แม้จะรู้ว่านั่นคือการ ‘แสดง’ เพราะถึงอย่างไรเราก็ไม่ใช่เจ้าของภาษาปลายทาง รวมถึงการค้นหาทางเลือกในการแปลที่ดีที่สุด และสะท้อนน้ำเสียงของผู้เขียนได้ดีที่สุดอีกด้วย

สัปดาห์ที่ห้า ผศ.ดร. อรองค์ ชาคร บรรณาธิการหนังสือแปลหลายเล่ม เช่น ผลงานวรรณกรรมของ มาลา คำจันทร์ มาให้เคล็ดลับเกี่ยวกับการนำความรู้ด้านโครงสร้างของภาษาอังกฤษมาใช้ในการแปลวรรณกรรมให้สละสลวย รวมถึงหยิบยกตัวอย่างการแปลมาให้ผู้เรียนร่วมทดลองแปล ถก วิพากษ์ เพื่อสำรวจความแตกต่างของพื้นฐานภาษาไทยและอังกฤษ ซึ่งอาจเป็นอุปสรรคในการแปล

นี่เป็นเพียงก้าวแรก ๆ ของการผลักดันส่งเสริมการส่งออกวรรณกรรมไทย เพราะนักแปลคือองค์ประกอบพื้นฐานแต่สำคัญของการเปิดประตูสู่โลกสากล ในขั้นต่อไป หน่วยงานที่เกี่ยวข้องวางแผนที่จะต่อยอดความรู้และทักษะเพื่อผลักดันการส่งออกหนังสือไทยอย่างไม่หยุดยั้ง โดยทุกวันศุกร์ในเดือนกรกฎาคม 2568 คณะอนุกรรมการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมด้านหนังสือ ร่วมกับ สำนักงานบริหารและพัฒนาองค์ความรู้ (องค์การมหาชน) – OKMD, สถาบันอุทยานการเรียนรู้ (TK Park) และ สมาคมผู้จัดพิมพ์และผู้จำหน่ายหนังสือแห่งประเทศไทย (PUBAT) จะจัดโครงการอบรมพัฒนาศักยภาพการจัดจำหน่ายลิขสิทธิ์วรรณกรรมไทยในตลาดโลก เพื่อเสริมทักษะให้นักเขียนและเจ้าของลิขสิทธิ์วรรณกรรมไทย ขายลิขสิทธิ์อย่างมืออาชีพ ถ่ายทอดโดยทีมวิทยากรผู้เชี่ยวชาญ ที่มีประสบการณ์จริงในเวทีเจรจาระดับนานาชาติ และยังมีแผนการที่จะดำเนินการต่อเนื่อง เพื่อเสริมความเข้มแข็งของระบบนิเวศของการส่งออกหนังสือไทยในภาพรวม