ทุกที่ที่มีผู้คนอาศัย ย่อมมีเรื่องราวที่คนในพื้นที่ต่างคุ้นชินและเล่าขานกันอยู่เนือง ๆ
หาดใหญ่เป็นอำเภอที่มีประชากรอาศัยอยู่กว่า 400,000 คน ซึ่งหนาแน่นที่สุดในจังหวัดสงขลา ทิ้งห่างอำเภอเมืองสงขลากว่าเท่าตัว↗ และยังไม่รวมประชากรแฝงอีกไม่ทราบจำนวน
นี่คือสาเหตุสำคัญที่คุณโตมร อภิวันทนากร กระบวนกรผู้ก่อตั้งกลุ่มละครการศึกษามานีมานะ ซึ่งได้ร่วมงานกับสถาบันอุทยานการเรียนรู้ TK Park ในฐานะบรรณาธิการดำเนินงาน ของโครงการสร้างสรรค์สื่อการเรียนรู้สาระท้องถิ่นหาดใหญ่ เปิดประเด็นนี้ตั้งแต่เริ่มบทสนทนากับเราในวันนี้ ว่าภาพความเข้าใจต่อเมืองหาดใหญ่ของตัวเขา ไม่ค่อยเหมือนกับของคนหาดใหญ่คนอื่น ๆ นัก ทั้งที่ต่างก็เกิดและเติบโตที่นั่นมาเหมือน ๆ กัน
โตมรได้ค้นพบเรื่องนี้ก็ตอนเริ่มจับงานกระบวนกร ที่มีเป้าหมายเพื่อเปลี่ยนแปลงสังคมและวัฒนธรรมในพื้นที่เมืองหาดใหญ่ด้วยศิลปะการละคร จึงทำให้เขาต้องออกสำรวจเมืองที่เขาเคยเข้าใจว่ารู้จักดีแล้วอย่างจริงจัง
เมืองเดินได้ แต่ก็ยังเดินไม่ดี
เมื่อเมืองประกอบด้วยผู้คน วิธีที่ดีในการทำความรู้จักกับเมือง ก็คือวิธีเดียวกับการทำความรู้จักกับคน โตมรจึงแนะนำการสร้างปฏิสัมพันธ์ผ่านการ ‘เดินเมือง’ เอาสองเท้าของเราย่ำ กวาดตาสำรวจ เปิดหูรับฟัง หายใจสูดกลิ่นโชย ให้ตัวเองเป็นส่วนหนึ่งของความเคลื่อนไหวในเมือง
“แปลว่าหาดใหญ่เป็นเมืองเดินได้?” คำถามนี้จากทีมงาน TK Park เปิดไปสู่เรื่องราวของเมืองหาดใหญ่ที่โตมรพูดคุยให้ฟังอีกมาก ดังที่เราจะสรุปไว้ต่อจากนี้
หาดใหญ่ไม่ได้เหมาะกับการเดิน หรืออย่างน้อยไม่ใช่ทุกคนที่จะเดินสะดวก แม้ผังเมืองของที่นี่จะดูไม่ได้ซับซ้อน เพราะถนนใจกลางเมืองเกิดจากแนวตรงของตึกแถวร้านค้า จึงไม่ค่อยมีซอกซอยเขาวงกตเหมือนเมืองค้าขายอื่น แต่ด้วยทางเท้าที่ไม่สม่ำเสมอและแนวหลังคาที่ไม่เป็นมาตรฐานเดียว มักก่อความท้าทายให้กับนักเดิน และเป็นอุปสรรคยิ่งต่อผู้ที่สัญจรโดยรถเข็น
ในแง่หนึ่ง นี่คือธรรมชาติของเมืองที่โตขึ้นมาได้เพราะประชากรในพื้นที่ต่างคิดและขยับขยายกันเองโดยไม่ได้มีอำนาจรัฐมากำกับนัก ทำเลที่ตั้งที่เป็นชุมทางรถไฟ กลายเป็นจุดแวะพักของนักการค้าที่มาแวะพักแรมก่อนเดินทางไปยังจุดหมาย หาดใหญ่จึงเป็นศูนย์รวมสินค้าและบริการที่คนอาจมองว่าถูกต้องตามครรลองคลองธรรมบ้าง ก้ำกึ่งบ้าง แต่ก็ล้วนแล้วแต่ดึงดูดผู้คนมากหน้าหลายตาเข้ามา ทำให้ชุมชนเมืองขยายตัวและขับเคลื่อนไป
ของดีเลื่องชื่อและสถานที่สำคัญของเมืองหาดใหญ่จึงมักเกี่ยวกับวิถีการกิน การอยู่ และการค้า ซึ่งไม่ค่อยอ้างอิงกับสถานที่ราชการเท่าไรนัก ทั้งตลาดกิมหยง สถานีชุมทางหาดใหญ่ ไก่ทอดหาดใหญ่ มันเดือย เกาลัด หอนาฬิกากลางเมือง และย่านตึกเก่า โดยทุกชื่อนี้ ถูกพูดถึงอย่างเข้มข้นระหว่างกระบวนการสร้างสรรค์สื่อการเรียนรู้สาระท้องถิ่นหาดใหญ่ ที่โตมรเข้ามาร่วมเป็นโค้ชให้กับทีมนักสร้างสรรค์นิทานภาพ ซึ่งก็เป็นเยาวชนคนหาดใหญ่เช่นกัน
นักทำนิทานมือสมัครเล่น แต่ผลิตจริง
TK Park วางเป้าหมายสำคัญสำหรับงานจัดทำสื่อการเรียนรู้สาระท้องถิ่นหาดใหญ่ ว่าไม่ใช่แค่การแต่งนิทานภาพที่มีเรื่องราว ผลิตภัณฑ์ หรือตัวละครจากท้องถิ่นอยู่ในนั้น แต่เราคาดหวังการมีส่วนร่วมของคนในท้องถิ่นในกระบวนการตั้งแต่ต้นร่าง การผลิต และการนำสื่อไปใช้ในกระบวนการเรียนรู้อย่างมีประสิทธิภาพ
ทีมเหล่านักสร้างสรรค์จากท้องถิ่นหาดใหญ่ ประกอบด้วยกลุ่มเยาวชน ที่เป็นทั้งนักเรียนชั้นมัธยมปลาย นักศึกษา และคนรุ่นใหม่ ที่ต่างก็พกความตั้งใจมาเข้าร่วมโครงการ ตั้งแต่เริ่มต้นกระบวนการคิด การถ่ายทอดแรงบันดาลใจ การเรียนรู้จากผู้มีประสบการณ์ และทดลองผูกเรื่องราวด้วยตนเอง จนเกิดเป็นนิทานภาพ “เที่ยวสามวันกับไก่ทอดสามกระทะ” (ผลงานของทีมสาระหาดใหญ่) “เพื่อนกันมันเดือย” (ผลงานของทีม The Three Musketeers) และ “นักสืบหมวกใหญ่” (ผลงานของทีม Hi-Hat)
กว่าจะเป็นนิทานภาพทั้งสามเล่มนี้ เหล่านักสร้างสรรค์ได้ผ่านกระบวนการพูดคุยหารือกับตัวแทนกลุ่มคนต่าง ๆ และไปสำรวจเมืองตามคำแนะนำของบรรณาธิการ เพื่อสกัดเรื่องเล่าและรายละเอียดที่บ่งบอกความเป็นหาดใหญ่ ก่อนที่เรื่องราวเหล่านี้จะถูกเลือกสรร ตัดทอน นำมาจัดวางในโครงเรื่องและพัฒนาเนื้อหาต่อไป
ในฐานะบรรณาธิการ โตมรเล่าถึงประสบการณ์ส่วนตัวในงานนี้ ที่เขามองความท้าทายของงานดูแลการผลิตนิทานโดยกลุ่มคนที่ไม่ใช่นักทำนิทาน ว่าเป็นโอกาสในการนำเสนอสื่อนิทานภาพและความเข้าใจต่อท้องถิ่นในแบบที่แตกต่างออกไป และหัวใจของงานบรรณาธิการในสนามนี้ ก็คือการดูแลงานของนักสร้างสรรค์แบบเว้นระยะห่าง ให้งานยังคงเค้าความเป็นนักสร้างสรรค์มือใหม่ เพื่อให้เกิดผลลัพธ์ตามที่โครงการคาดหวังไว้ ไม่ใช่ปรับแก้ไขจนกลายเป็นผลงานของตัวบรรณาธิการเสียเอง
เพราะท้ายที่สุดแล้ว เราอาจไม่ได้ต้องการสื่อนิทานภาพที่ร้อยเรื่องอย่างกระชับและประณีตแบบมืออาชีพ มากเท่ากับการที่ท้องถิ่นได้สำรวจศักยภาพของตนเอง และส่งเสริมให้เยาวชนจากท้องถิ่นได้พัฒนาสื่อการเรียนรู้เพื่อส่งผ่านมือต่อมือไปยังคนรุ่นเล็กลงไปอีก และอีกหนึ่งประการสำคัญก็คือ เกร็ดเล็กเกร็ดน้อย ภาษาถิ่น มุกตลกภายใน หรือรายละเอียดที่ปรากฏในเล่ม สิ่งเหล่านี้อาจสะท้อนถึงอัตลักษณ์ของเมืองหาดใหญ่ในอีกแง่มุมหนึ่ง
ติดตามอ่าน เที่ยวสามวันกับไก่ทอดสามกระทะ↗ เพื่อนกันมันเดือย↗ และ นักสืบหมวกใหญ่↗ แบบออนไลน์ได้ทางแอปพลิเคชั่น TKRead