หากมนุษย์คนหนึ่งมีการเตรียมทักษะความพร้อมด้านสมอง ร่างกาย อารมณ์ และจิตใจ ผ่านการปูพื้นฐานในช่วงแรกเริ่มวัยได้ดี มนุษย์คนจะเติบโตมาด้วยพัฒนาการที่สมบูรณ์ มีความพร้อมในการคิด วิเคราะห์ และเรียนรู้สิ่งต่าง ๆ ได้ดีตามไปด้วย
“สำหรับเด็กเล็กแล้ว ร่างกายเป็นพื้นฐานการเรียนรู้ที่สำคัญ ถ้าร่างกายมีการเคลื่อนไหวที่ดี สมองของเด็ก ๆ ก็จะพัฒนา และเตรียมพร้อมต่อการเจริญเติบโต และเรียนรู้ในระดับต่อไปอีกไม่รู้จบ”
ครูเต้ – ภพ พาณิชดำรงธรรม คุณครูฝึกสอนจากสถาบัน Junbi Taekwondo Studio กล่าวถึงเป้าประสงค์หลักของ ‘Junbi Taekwondo Play for EF (Kiddie Class)’ กิจกรรมที่ชวนเด็ก ๆ อายุ 4 - 6 ขวบมาออกกำลังกายด้วยกีฬาเทควันโด การล้อมวงฟังนิทาน และการสร้างชิ้นงานศิลปะ โดยใช้แนวคิด “อ่าน - เล่น - ทำงาน” ตามหลักการกระตุ้น EF หรือ Executive Function ของนายแพทย์ประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์ ซึ่งเป็นหนึ่งในกิจกรรมจากงาน ‘Play Matters : Circle of Play’ จัดโดย TK Park เมื่อเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา
งานนี้ เด็ก ๆ ต่างมาเข้าร่วมกิจกรรมด้วยพลังของความอยากรู้อยากเห็น หัวใจที่พองโต และรอยยิ้มเต็มเปี่ยมด้วยความสนุกสนาน สิ่งเหล่านี้น่าจะเป็นจิ๊กซอว์สำคัญชิ้นแรก ๆ ที่จะเปิดการรับรู้ของเด็ก ๆ จนบรรลุไปถึงขั้นเป้าหมายของการเรียนรู้สำหรับกิจกรรมนี้
ครูเต้ใช้ทักษะ EF มาเชื่อมโยงกับการเล่นกีฬาเทควันโด ซึ่งนับว่าเป็นแนวคิดตั้งต้นที่น่าสนใจ คราวนี้ลองมาฟังแนวคิด Junbi Studio พร้อมทำความรู้จักกับเรื่องทักษะสมองส่วนหน้าผ่านกิจกรรม EF ครั้งนี้ไปด้วยกัน
Junbi หรือ จุนบิ เดิมเคยเป็นโรงเรียนฝึกสอนกีฬาเทควันโด โดยอิงหลักสูตรเนื้อหาการฝึกฝนของประเทศเกาหลี เพื่อส่งนักเรียนของจุนบิเข้าแข่งขันกีฬาเทควันโดทั้งระดับสโมสร ระดับมหาวิทยาลัย และระดับชาติ แต่ตลอดหลายปีที่คลุกคลีอยู่กับเด็กนักเรียน จุนบิเล็งเห็นว่า ไม่ใช่ทุกคนที่จะผันตัวเดินทางสายกีฬาและประสบความสำเร็จ
“ยังมีเรื่องของรอยแตกโครงสร้างเก่า หรือเทควันโดแบบ Traditional ด้วยความที่ในบ้านเรากีฬานี้บูมมาก เขาเลยเน้นปั้นนักกีฬากันตั้งแต่เด็กเล็ก แต่ตัวหลักสูตรที่เรานำมาจากเกาหลีนั้นเหมาะสมกับเด็กวัย 7 ขวบขึ้นไป ที่พร้อมจะเริ่มเรียนเชิงเทคนิคมากกว่า”
ขณะเดียวกัน จุนบิก็มองเห็นถึงพัฒนาการด้านอื่น ๆ ของเด็ก ทั้งเรื่องของสมาธิที่ดี การเคลื่อนไหวร่างกายที่พัฒนาเป็นระยะ ทักษะการเข้าสังคมจากการทำงานเป็นทีม และพลังของความอยากเรียนรู้สิ่งใหม่ ๆ สังเกตได้จากการพาเด็ก ๆ วิ่งออกกำลังกายในช่วงเช้า หรือทำกิจกรรมนอกห้องเรียน ซึ่งหลังจบกิจกรรม เด็กๆ จะชวนกันไปดูต้นไม้ เล่นสนุกกับธรรมชาติ หรือพากันสนใจสิ่งมีชีวิตรอบตัว
จุนบิจึงตระหนักถึงศักยภาพรอบด้านที่มีในตัวเด็ก แล้วริเริ่มสร้างพื้นที่แห่งการเรียนรู้ขึ้นมาโดยใช้ฐานคิดแบบใหม่ ครูฝึกของจุนบิรวมไปถึงครูเต้ได้ไปศึกษากระบวนการเรียนรู้ แนวคิดวิชาพลศึกษาที่ประเทศฟินแลนด์ เพื่อนำองค์ความรู้มาต่อยอดให้หลักสูตรเดิมของจุนบิ อย่างไรก็ตาม ครูเต้บอกเราว่า ตนเองยังรู้สึกเหมือนว่ากระบวนการการเรียนรู้บางอย่างยังขาดหายไป
“จุนบิมีโอกาสไปฟังอบรมห้องเรียนพ่อแม่ของนายแพทย์ประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์ ทำให้เรารู้ว่า ช่วงที่เด็กฝึกซ้อมเทควันโดจนเกิดการใช้สมาธิและการจดจ่อ มันคือสิ่งเดียวกันกับตอนที่เด็ก ๆ ได้รับเมื่อทำโปรเจ็กต์ หรือออกไปเรียนรู้นอกห้องเรียน เหมือนคุณหมอช่วยสรุปอีกทีว่า สิ่งเหล่านั้นเรียกว่าทักษะ EF หรือ Executive Function” ครูเต้เล่าถึงการค้นพบจิกซอว์ชิ้นสำคัญให้ฟัง
ปัจจุบัน โรงเรียนฝึกสอนเทควันโดได้เปลี่ยนนิยามเรียกตนใหม่ว่า เป็น Junbi Taekwondo Studio สถาบันพัฒนาทักษะสมองส่วนหน้า EF ด้วยศิลปะป้องกันตัวเทควันโด เป้าหมายหลักคือการเตรียมร่างกายเด็กให้พร้อมต่อการเจริญเติบโต และพร้อมที่จะเรียนรู้ต่อไปในอีกขั้นระดับ โดยนำ 2 องค์ความรู้ คือ ทักษะ EF ที่ได้จากคุณหมอประเสริฐ มาเชื่อมโยงกับเนื้อหากีฬาเทควันโด เรียบเรียงใหม่เป็น 3 หลักสูตรหลักของจุนบิ ได้แก่ Taekwondo EF สำหรับเด็กอายุ 3 - 4 ขวบ Taekwondo EF สำหรับเด็กอายุ 5 - 8 ขวบ และ Taekwondo EF สำหรับเด็กอายุ 9 ขวบขึ้นไป และเน้นการเรียนรู้ผ่านการทำกิจกรรมหลากหลายรูปแบบ
EF หรือ Executive Function คือ ความสามารถที่เกิดจากการทำงานของสมองส่วนหน้า (Frontal Lobe) ซึ่งใช้ควบคุมและยับยั้งทักษะด้านความคิด (Cognition) อารมณ์ (Emotion) และการกระทำ (Action) เป็นทักษะที่มีอิทธิพลต่อการใช้ชีวิต เพื่อไปให้ถึงเป้าหมาย (Goal) หรือสิ่งที่มนุษย์ต้องการทำให้สำเร็จ ไม่ว่าจะเป็นการเรียน การงาน รวมไปถึงความจำที่เก็บไว้ใช้งาน และความยืดหยุ่นในการคิดวิเคราะห์ตามพัฒนาการในแต่ละช่วงวัย (อ้างอิงจากนายแพทย์ประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์)
มนุษย์เริ่มรู้จักตัวตนตั้งแต่ 3 ขวบ และมีพัฒนาการต่อเนื่องไปจนถึงอายุ 20 - 25 ปี ตามประสบการณ์การใช้ชีวิต การกำหนดเป้าหมายที่จะทำสิ่งต่าง ๆ ด้วยตนเอง เช่น อ่านหนังสือ เล่นวิ่งไล่จับกับเพื่อน เล่นดนตรี สร้างสรรค์ชิ้นงานศิลปะ ประดิษฐ์สิ่งของ เล่นเกมให้ชนะ กิจกรรมเหล่านี้ก่อให้เกิดความพยายามที่จะคิดวางแผน ทดลอง ลงมือทำซ้ำเพื่อที่จะได้บรรลุเป้าหมาย ซึ่งถือเป็นการกระตุ้นทักษะทางด้านสมองส่วนหน้า EF และเมื่อได้รับการฝึกฝนอย่างต่อเนื่อง EF ก็จะถูกพัฒนาได้ดียิ่งขึ้น
EF จะหยุดพัฒนาการในช่วงวัยผู้ใหญ่ ดังนั้น จึงเป็นทักษะสำคัญที่ควรได้รับการฝึกฝนเตรียมความพร้อมตั้งแต่วัยเด็ก ช่วงอายุที่เหมาะแก่การพัฒนาทักษะ EF ที่ดีคือช่วง 4 - 6 ปี เพราะเป็นช่วงที่สมองส่วนหน้ามีการพัฒนาได้มากที่สุด นั่นหมายถึง เด็กวัย 0-3 ขวบ ควรได้รับการเลี้ยงดูอย่างใกล้ชิดจากพ่อแม่และผู้ปกครอง เพื่อปูพื้นฐานความพร้อมที่จะเรียนรู้ทักษะ EF ในช่วงวัยถัดมา
โดยปกติแล้ว หลักสูตรของจุนบิจะมุ่งเน้นไปที่กลุ่มเด็ก ๆ ที่มีความสนใจด้านกีฬาเป็นหลัก แต่สำหรับคลาสกิจกรรมที่จัดใน TK Park ครั้งนี้ จุนบิต้องการจะขยายกลุ่มเป้าหมายให้ครอบคลุมไปถึงเด็กช่วงวัย 4 - 6 ขวบ ที่ไม่มีพื้นฐานด้านกีฬา แต่อยากมาร่วมเล่นสนุกไปกับกิจกรรม ครูเต้จึงได้ปรับเปลี่ยนโครงสร้างกิจกรรมให้ออกมาในรูปแบบ ‘อ่าน - เล่น - ทำงาน’ ตามหลักกระตุ้นทักษะทางสมอง EF ไปพร้อมกับเสริมสร้างทักษะด้านร่างกายที่ดีให้กับเด็ก
เมื่อจำลองห้องเรียนกิจกรรมเป็นดวงดาวจุนบิ ครูฝึกก็ชวนเด็ก ๆ มาล้อมวง
‘อ่าน’ นิทานเรื่อง “มีใครบนดาวอังคารนะ” เพื่อพาเข้าสู่โลกแห่งจินตนาการหรือโลกของดาวจุนบิไปด้วยกัน เด็กในช่วงวัยนี้มีสมาธิจดจ่อในกรอบเวลาที่จำกัด การใช้นิทานเพื่อเชื่อมโยงกิจกรรมทั้งหมดจึงช่วยให้เด็กจดจ่อได้นานขึ้น และยังเสริมสร้างความสนุกได้มากยิ่งขึ้น
‘เล่น’ ครูผู้ฝึกพาเด็ก ๆ เคลื่อนไหวร่างกายด้วยการเล่นที่อิงไปกับเนื้อเรื่องในนิทาน ทั้งการวิ่งลอดจรวดของเล่น การออกวิ่งไปสำรวจดาวเคราะห์เพื่อค้นหาสมบัติบนนั้น จุนบิใช้เนื้อหาเทควันโดแบบง่ายโดยพื้นฐาน เช่น เตะ ต่อย กระโดด วิ่ง ไปกับอุปกรณ์ต่าง ๆ โดยใช้จินตนาการมาเชื่อมโยง “เรามาฝึกต่อสู้ป้องกันตัวเพื่อไปช่วยเหลือเอเลียนบนดวงดาวกัน” ซึ่งเรียกเสียงหัวเราะและเสียงตะโกน “ย้า!” ดังสุดใจ (การออกเสียงขณะต่อสู้ตามแบบเทควันโด)
‘ทำงาน’ พาเด็กมาประดิษฐ์จรวดของเล่นเพื่อสร้างสรรค์จินตนาการ ฝึกการใช้ความคิดสร้างสรรค์ ซึ่งเป็นการรวมแนวคิด ‘อ่าน - เล่น - ทำงาน’ มาเข้าสู่กระบวนการสร้างงานประดิษฐ์เพื่อกระตุ้น EF โดยตรง
ดูเหมือนว่า กิจกรรมนี้จะเข้ามาช่วยส่งเสริมให้เด็ก ๆ ได้ขยับเคลื่อนไหวร่างกายในทุกส่วน ช่วยกระตุ้นกล้ามเนื้อมัดเล็กและกล้ามเนื้อมัดใหญ่ให้เกิดการเจริญเติบโตได้ดี และที่สำคัญ การเล่นยังเข้าไปช่วยกระตุ้นและปลูกฝัง Critical Thinking หรือทักษะการคิดวิเคราะห์เพื่อเชื่อมโยงความรู้ผ่านการลงมือทำ ครูฝึกยังสร้างบรรยากาศในห้องเรียนด้วยจิตวิทยาเชิงบวก โดยสร้างความรู้สึกปลอดภัยทั้งกายและใจให้กับเด็ก ๆ พวกเขาจึงสามารถสร้างปฏิสัมพันธ์ที่ดีกับคุณครูและเพื่อนร่วมกิจกรรมได้ ต่อยอดไปสู่พัฒนาการในการเข้าสังคม ซึ่งเป็นอีกหนึ่งทักษะที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิตในภายภาคหน้า
“เมื่อร่างกาย อารมณ์ สังคม จิตใจ ถูกพัฒนา EF ก็จะถูกกระตุ้นและเติบโตมาจากพัฒนาการทั้ง 4 ด้านนี้” ครูเต้กล่าวกับเราเป็นการทิ้งท้าย และเสริมเกร็ดเล็ก ๆ ว่า “เด็กเล็กจะเริ่มรู้สึกว่าร่างกายเขาใหม่ สิ่งรอบตัวเขาคือเรื่องใหม่ เวลาที่เขาออกกำลังกาย เขาจะเล่น หยิบจับสิ่งของ มันจะไม่มีความพอดีกับโลกของผู้ใหญ่ บางอย่างเขาปาแรงไป ปาเบาไป ผู้ใหญ่ก็จะห้ามทำ แต่สิ่งนั้นมันกำลังตัดโอกาสพัฒนาการของเด็ก ดังนั้น เปิดโอกาสให้น้อง ๆ ได้เล่น ได้ทดลอง สิ่งเหล่านั้นจะช่วยให้เขาเกิดการเรียนรู้และสามารถพัฒนา EF ได้ด้วยตัวเอง”