ในโลกปัจจุบันเราไม่อาจหนีการเปลี่ยนแปลงไปได้ ในวงการ Publishing ก็เช่นกัน เพราะตอนนี้ความหมายการเผยแพร่เนื้อหาของ Publishing ได้ขยายวงกว้างมากกว่าสิ่งพิมพ์แล้ว เพราะได้รวมไปถึงการเผยแพร่และการกระจายเนื้อหาข้อมูลข่าวสารผ่านแพลตฟอร์มต่าง ๆ มากมาย แนวโน้มที่เกิดขึ้นในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมานี้ วงการสิ่งพิมพ์ เกิดการเปลี่ยนแปลงที่เร็วที่สุด และได้รับผลกระทบมากที่สุด ด้วยการเกิดขึ้นของสิ่งพิมพ์ดิจิทัล ไม่ว่าจะเป็น พอดแคสต์ อีบุ๊ก และหนังสือเสียง ซึ่งมองได้ว่าเป็นทั้งความท้าทายและโอกาสของวงการนี้
ตามมาดู 7 ปรากฏการณ์ที่เรามองว่าเป็นเทรนด์ในแวดวง Publishing ที่กำลังจะมาแรงในปีนี้กัน
1. ธุรกิจอีบุ๊กและหนังสือเสียง ยอดพุ่งสูงลิบ
เห็นได้ชัดว่าตลาดหนังสือและสิ่งพิมพ์ลดลงอย่างมีนัยยะสำคัญในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา โดยความต้องการหนังสือเสียงและอีบุ๊กพุ่งสูงขึ้น แม้ว่าจากการสำรวจที่สหรัฐอเมริกาในปี 2562 พบว่าหนังสือเล่มยังคงมียอดการพิมพ์สูงมาก และมีคนอ่านถึง 65% ในปีเดียวกันนั้นมีรายงานว่ามีคนอ่านนิยมอีบุ๊กไปแล้ว 25% ในปี 2565 ที่ผ่านมานี้เอง พบว่าคนอเมริกัน 20% สนใจฟังหนังสือเสียง ในรายงานธุรกิจสิ่งพิมพ์ของอเมริการะบุว่ายอดขายหนังสือเสียงเติบโตอย่างต่อเนื่องมาตลอด 10 ปี ส่วนยอดขายอีบุ๊กนั้นสูงกว่าหนังสือเสียงเยอะมาก เพราะตลาดถูกขับเคลื่อนโดยรายใหญ่คือ Kindle ของ Amazon (ครองตลาดอีบุ๊กเกือบ 50% และให้บริการหนังสือเสียงกว่า 200,000 เล่มบน Audible อีกด้วย) ความเคลื่อนไหวที่น่าสนใจอีกเรื่องหนึ่งนั่นคือการที่บริษัท ByteDance ที่เป็นเจ้าของแพลตฟอร์มยอดนิยมอย่าง TikTok มองเห็นศักยภาพของอุตสาหกรรมสิ่งพิมพ์ดิจิทัล และลงเงินทุน 170 ล้านดอลลาร์ในบริษัทจางเยว่ที่เป็นหนึ่งในผู้จัดพิมพ์อีบุ๊กรายใหญ่ที่สุดของจีน
2. มีแพลตฟอร์มสรุปเนื้อหาหนังสือมากขึ้น
เราเห็นแพลตฟอร์มและบริการที่ออกแบบมาเพื่อสรุปเนื้อหาหนังสือประเภท Non-fiction จำนวนมากขึ้น เช่น Blinkist สตาร์ทอัพดาวรุ่งที่เกิดขึ้นในกรุงเบอร์ลินซึ่งมีผู้ใช้ 18 ล้านคน Blinkist ทำขึ้นสำหรับนักอ่านยุคใหม่ที่มีเวลาน้อยให้เข้าถึงเนื้อหาได้สะดวกรวดเร็ว มีการย่อยเนื้อหาสาระในหนังสือเป็นบทสรุปเสียงและข้อความที่พวกเขาเรียกว่า "blinks" และธุรกิจนี้สามารถระดมทุนจาก Venture Capital ทั่วโลกจำนวนถึง 34.8 ล้านเหรียญสหรัฐ และในสายสรุปนี้ ยังมีแพลตฟอร์ม MentorBox ที่ร่วมมือกับนักเขียนเพื่อสรุปเนื้อหาของหนังสือออกมาให้อยู่ในรูปวิดีโอ เหมาะสำหรับคนที่อาจจะไม่มีเวลามาอ่านหนังสือ โดยมีนักเขียนบนแพลตฟอร์ม ได้แก่ Donald Miller, Jonah Berger และ Reid Hoffman
3. บทบาทใหญ่ของเทคโนโลยี AI
เทคโนโลยีจะเป็นตัวขับเคลื่อนสำคัญของการเปลี่ยนแปลงในอุตสาหกรรมการพิมพ์หนังสือในปีนี้และปีต่อ ๆ ไป หนึ่งในเรื่องที่เป็นประเด็นกันอยู่ตอนนี้ คือผู้จัดพิมพ์จะหันมาใช้ปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence หรือ AI) ในการเขียนหนังสือ นับตั้งแต่ OpenAI เปิดตัวบริการ ChatGPT ในเดือนพฤศจิกายน 2565 โดยผ่านไป 5 วัน มียอดผู้ใช้งานพุ่งถึง 1 ล้านคนอย่างรวดเร็ว เป็นเพราะ ChatGPT สามารถสร้างเนื้อหาใหม่ๆ ขึ้นมาได้ดีกว่าแชตบอตอื่นๆ ที่ผ่านมา และยังมีอีกหลายๆ ค่ายที่กำลังพัฒนา อย่าง Blender Bot ของค่าย Meta หรือ Google Bard หรือ Midjourney ที่สามารถสร้างผลงานภาพจากคีย์เวิร์ดที่เราป้อนเข้าไปให้
มองกันว่าปี 2566 นี้แหละคือยุคเฟื่องฟูของนักเขียน AI เพราะใน Amazon ตรวจพบว่ามีหนังสือที่เขียนโดย AI มากกว่า 200 เล่มในช่วง 2 เดือนแรกของปี ในกลุ่มนี้มีทั้งหนังสือสำหรับเด็กที่ AI ทั้งเขียนและวาดภาพประกอบด้วย และแนวโน้มน่าจะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ในด้านคุณภาพ วันนี้ AI อาจจะยังไม่ได้ระดับนักเขียนมือโปร แต่อีกไม่นานนักเราอาจได้เห็น AI เขียนนิยายเบสท์เซลเลอร์ได้จริงๆ แบบที่นักเขียนต้องยอมศิโรราบก็เป็นได้
มองไปข้างหน้า นอกจากเรื่องการเขียนแล้ว บรรดาผู้จัดพิมพ์หนังสือก็ยังคงใช้ประโยชน์จาก AI ได้หลากหลายช่องทาง ไม่ว่าจะเป็นการจัดหมวดหมู่เนื้อหา การตรวจสอบการคัดลอกผลงาน รวมทั้งจัดการงานที่เกี่ยวข้องกับการตลาดดิจิทัล ไม่ธรรมดาใช่ไหม
ข่าวล่าสุดในช่วงปลายเดือนกุมภาพันธ์ ก่อนจะลงบทความนี้ แชทบอทอย่าง ChatGPT ถูกสั่งห้ามใช้งานจากหลายหน่วยงานทั่วโลก ไม่ว่าจะเป็น รัฐบาล โรงเรียน มหาวิทยาลัย และบริษัทข้ามชาติที่ใหญ่ระดับโลกมากมาย เราต้องมาจับตาเรื่องนี้กัน ว่าโลกจะรับมือ AI กันต่อไปอย่างไร
4. ประเด็นร้อนระหว่างห้องสมุดกับสำนักพิมพ์
เมื่อความต้องการอีบุ๊กเพิ่มสูงขึ้น ห้องสมุดและสำนักพิมพ์จึงมีผลประโยชน์ที่ไม่ตรงกันสักเท่าไรนัก เพราะห้องสมุดเป็นพื้นที่ที่สนับสนุนการอ่านและเผยแพร่เนื้อหาอย่างเสรี ในขณะที่สำนักพิมพ์ยังคงต้องหารายได้เพื่อความอยู่รอดทางธุรกิจ
หลายปีที่ผ่านมา สำนักพิมพ์หลายแห่งในโลกก็มีการกำหนดข้อจำกัดการบริการอีบุ๊กของห้องสมุด ส่งผลให้เกิดข้อกำหนดการซื้อสิทธิ์ เช่น การกำหนดมีอายุการใช้งานไม่เกิน 2 ปี หรือกำหนดจำนวนสิทธิ์การยืมได้ 52 ครั้ง เป็นต้น
ในช่วงปลายปี 2562 Macmillan ซึ่งเป็นสำนักพิมพ์ใหญ่ 1 ใน 5 ของโลก ได้ออกนโยบายขายหนังสือที่ออกใหม่ในช่วง 2 เดือนแรกในรูปแบบอีบุ๊กให้ห้องสมุดเพียง 1 เล่มเท่านั้น เนื่องจากบริษัทพบว่า 45% ของยอดการอ่านหนังสือใหม่มาจากการยืมอ่านจากห้องสมุด แนวทางของ Macmillan ถูกต่อต้านจากห้องสมุดทั่วสหรัฐอเมริกา สมาคมห้องสมุดแห่งประเทศสหรัฐอเมริกาถึงขั้นออกแคมเปญ #ebooksforall ออกมาคัดค้านนโยบายนี้ สำนักพิมพ์ได้ลองใช้นโยบายนี้ได้เพียง 6 เดือนก็ยกเลิกไป
5. หนังสือที่จัดพิมพ์เองได้รับความนิยมมาขึ้นเรื่อยๆ
หนังสือที่จัดพิมพ์เองโดยไม่ผ่านสำนักพิมพ์ได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นตั้งแต่ปี พ.ศ. 2553 ซึ่งในปีนั้นมี ISBN ประมาณ 153,000 รายการของหนังสือที่จัดพิมพ์เอง ภายในปี พ.ศ. 2561 ยอดของหนังสือกลุ่มนี้เพิ่มขึ้นเป็นมากกว่า 1.6 ล้านเล่ม เมื่อ พ.ศ. 2563 ที่เกิดการแพร่ระบาดของโควิด-19 และความนิยมอ่านอีบุ๊กมีเพิ่มสูงขึ้น ก็ยิ่งผลักดันเทรนด์นี้ขึ้นไปอีก นักเขียน โดยเฉพาะบรรดาคนรุ่นใหม่ ชอบที่จะลงมือผลิตหนังสือเองเพราะพวกเขาได้ทำอย่างที่ใจต้องการจริงๆ แทนที่จะให้สำนักพิมพ์เลือกแบบปก จัดการแก้ไข และตั้งราคา ผู้เขียนก็ดูแลรับผิดชอบเองทั้งหมด
ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา นักเขียนระดับโลกที่ประสบความสำเร็จในการตีพิมพ์ร่วมกับสำนักพิมพ์ก็หันมาตีพิมพ์ผลงานด้วยตนเอง เช่น Adam Nevill นักเขียนแนวสยองขวัญที่มีผลงานนวนิยายไปแล้ว 19 เล่ม หลังจากที่ตีพิมพ์หนังสือเล่มแรกของเขาเองเมื่อปี พ.ศ. 2562 เหตุผลของเขาคือรายได้ที่ดีกว่า รวมถึงสามารถออกแบบปก รูปเล่มและการตลาดของหนังสือได้เอง
นอกจากนี้ยังมีช่องทางเช่น Wattpad แพลตฟอร์มการเล่าเรื่องทางโซเชียลที่ได้รับความนิยมสูงมากไปทั่วโลก เว็บไซต์และแอป Wattpad นี้เปิดตัวในปี พ.ศ. 2549 สร้างสังคมออนไลน์แห่งการเล่าเรื่อง พื้นที่มีผู้เขียนโพสต์เรื่องราวต่างๆ และมีผู้ติดตามจะอ่านเรื่องราวที่ชอบและแสดงความคิดเห็น เนื้อหาส่วนใหญ่บน Wattpad นั้นฟรี และส่วนอีกส่วนหนึ่งคือแบบที่ต้องจ่ายเงินเพื่อติดตามอ่าน ปีที่ผ่านมา Wattpad มียอดผู้ใช้งานถึง 94 ล้านคน และมีเรื่องราวถ่ายทอดในนี้ถึง 50 ภาษาจากทั่วโลก เรื่องราวที่ได้รับความนิยมสูงมากก็ได้กลายมาเป็นอีบุ๊ก ของ Wattpad รวมทั้งทำเป็นภาพยนตร์ผ่าน Wattpad Studios สำหรับนักเขียนบางคน Wattpad เป็นจุดเริ่มต้นในการทำงานต่อในช่องทางอื่นๆ ตัวอย่างเช่น ซีรีส์ After ได้รับการเผยแพร่ครั้งแรกโดยผู้เขียน Anna Todd บน Wattpad เรื่องราวของเธอถึง 5 เล่มได้รับการตีพิมพ์โดยสำนักพิมพ์ Simon & Schuster
Wattpad เพิ่งถูกซื้อโดยบริษัทเกาหลีใต้ในราคากว่า 600 ล้านดอลลาร์ ก่อนดีลนี้จะเกิดขึ้น มีรายงานว่าบริษัทอินเทอร์เน็ตยักษ์ใหญ่รายอื่น ๆ เช่น Facebook, TikTok และ Netflix ต่างก็สนใจ Wattpad
ในประเทศไทยก็มีแพลตฟอร์มแบบนี้เกิดขึ้น เช่น Readawrite Fictionlog จอยลดา และธัญวลัย ที่ต่างก็กำลังเติบโตในบ้านเรา จับตาต่อไปว่าอุตสาหกรรมนี้จะไปต่อได้ไกลแค่ไหน
6. เรียกร้องความหลากหลายในเนื้อหามากขึ้น
ในปี พ.ศ. 2562 ศูนย์เด็ก CCBC ได้วิเคราะห์หนังสือสำหรับเด็กและรายงานสถิติความหลากหลายของเนื้อหาในหนังสือเหล่านั้น พบว่าจากหนังสือ 3,700 เล่ม จำนวน 42% มีตัวละครหลักที่เป็นคนผิวขาวอย่างน้อยหนึ่งตัว อีกองค์กรหนึ่งคือ Diverse BookFinder ได้วิเคราะห์หนังสือเด็กมากกว่า 3,000 เล่ม ตั้งแต่ปี 2545 และพบว่ามีหนังสือเพียง 29% เท่านั้นที่มีตัวละครผิวสี และหนังสือเหล่านี้มักเกี่ยวกับการกดขี่และความยืดหยุ่น หรือเป็นชีวประวัติ การสำรวจหลาย ๆ สถาบันชี้ว่าผู้ที่ทำงานในอุตสาหกรรมสิ่งพิมพ์ขาดความหลากหลาย Lee & Low Books รายงานว่าตัวละครในหนังสือ 76% เป็นคนผิวขาวและ 74% เป็นผู้หญิง ข้อมูลเหล่านี้ทำให้หลาย ๆ ฝ่ายเรียกร้องให้เกิดเนื้อหาที่มีความหลากหลายมากขึ้น
มีการใช้แฮชแท็ก #weeeddiversebooks บนโซเชียลมีเดียเพื่อเรียกร้องความสนใจไปที่ประเด็นนี้ แฮชแท็กนี้โด่งดังบน Instagram ต่อมาก็มีแฮชแท็ก #PublishingPaidMe ก็กลายเป็นไวรัลเช่นกัน เช่นเดียวกับความเคลื่อนไหวบนทวิตเตอร์ หลังจากที่แฮชแท็กแพร่ระบาด The New York Times ได้วิเคราะห์หนังสือมากกว่า 7,000 เล่ม พวกเขาพบว่า 95% ของหนังสือเขียนโดยนักเขียนผิวขาว
วิธีหนึ่งที่สำนักพิมพ์ตอบสนองต่อคำวิจารณ์คือการจ้างบรรณาธิการที่มุ่งเน้นเฉพาะการจัดหาหนังสือโดย Latinx และ BIPOC (คนผิวดำ คนพื้นเมือง และคนผิวสี)
ผู้เผยแพร่โฆษณาบางรายยังได้จัดทำแผนการมีส่วนร่วมและบริจาคให้กับองค์กรต่อต้านการเหยียดเชื้อชาติ
แต่ในช่วงต้นปี พ.ศ. 2566 นี้เอง ก็ได้เกิดเหตุการณ์ร้อนแรงในวงการ เมื่อสำนักพิมพ์ Puffin กับ บริษัท Roald Dalh Story Company เจ้าของลิขสิทธิ์งานเขียนของโรอัลด์ ดาห์ล เตรียมพิมพ์งานของโรอัล ดาห์ล โดยจ้างคนทำงานวรรณกรรมกลุ่มหนึ่งที่มีชื่อว่า Inclusive Mind ให้มาทำหน้าที่ปรับแก้งานวรรณกรรมเยาวชนของโรอัล ดาห์ล ใหม่ โดยเปลี่ยนหรือตัดคำที่มีความหมายในทางละเมิดหรือมีนัยยะของการดูถูกกลุ่มคนที่แตกต่างออกไป เช่น คำที่ส่งไปในทางเหยียดสีผิว ซึ่งเรื่องนี้ถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างรุนแรงจากคนในวงการวรรณกรรมจากทั่วโลก
7. นักเขียนหันมาทำการตลอดผ่านช่องทางดิจิทัลและอีเมล
นักเขียนและผู้จัดพิมพ์จำเป็นต้องสร้างความสัมพันธ์กับผู้อ่านอย่างต่อเนื่องยาวนาน เพื่อสานสัมพันธ์กับลูกค้านักอ่านให้ติดตามอ่านและซื้อผลงานต่อไปในอนาคต ว่ากันว่าการตลาดผ่านอีเมลกำลังมาแรง และจะกลายเป็นหนึ่งในช่องทางขายหนังสือที่ได้รับความนิยมมากที่สุดในปี พ.ศ. 2566 มีผู้เชี่ยวชาญบางคนถึงกับมองว่า ในเรื่องการขายหนังสือนั้น อีเมลมีประสิทธิภาพมากกว่าโซเชียลมีเดียถึง 100 เท่า
นักเขียนบางคนเปิดให้ผู้ติดตามได้อ่านเรื่องใหม่แบบฟรีๆ ผ่านทางอีเมลก่อนคนอื่น และบางคนยังสามารถสร้างรายได้จากการสมัครรับเนื้อหาระดับพรีเมียมผ่านทางอีเมล นักเขียนอย่าง Seth Godin ที่เขียนหนังสือด้านการตลาดระดับเบสท์เซลเลอร์มากกว่า 20 เล่ม ใช้วิธีการตลาดผ่านอีเมลเพื่อดึงดูดคนอ่าน มีการโพสต์เนื้อหาจากบล็อกส่งให้คนอ่านที่ติดตามทางอีเมลของเขาในทุกๆ วัน
แม้ว่าอีเมลจะเป็นเทรนด์การตลาดที่มาแรงและไปต่อได้อีกไกล นักเขียนมีมากมายยังได้ทดลองโปรโมตหนังสือบนโซเชียลมีเดียด้วย มีการโพสต์บน TikTok ซึ่งเป็นแพลตฟอร์มใหม่ที่ได้กลายมาเป็นหมัดเด็ดทางการตลาดของนักเขียนหลายต่อหลายคน โดยในแพลตฟอร์มนี้ มีแฮชแท็ค #BookTok มีผู้ชมมากกว่า 100 พันล้านครั้ง
บทสรุป
ไม่ว่าวงการ Publishing จะเปลี่ยนไปอย่างไร แนวโน้มของอุตสาหกรรมสิ่งพิมพ์เหล่านี้ ก็น่าสนใจไม่น้อย และยังมีคนอ่านที่จะรออ่านหรือรับฟังคอนเทนต์ที่ดี ไม่ว่าจะมาในรูปแบบใดก็ตาม ผู้ผลิตและผู้พิมพ์ก็ต้องหมุนและปรับตัวให้ทันตามโลก
อ้างอิง:
https://explodingtopics.com/blog/publishing-trends
https://www.writtenwordmedia.com/the-top-10-publishing-trends-for-2023/
https://www.forbes.com/sites/forbesagencycouncil/2023/02/03/8-big-trends-in-publishing-in-2023-and-how-marketers-can-leverage-them/?sh=5dc6a93c1882
https://linchpinseo.com/trends-in-the-publishing-industry/