ในปีค.ศ. 1937 วอลต์ ดิสนีย์ เขียนจดหมายถึงบรรณารักษ์ห้องสมุดประชาชนแคนซัส ซิตี้ เล่าถึงความผูกพันที่เขามีต่อห้องสมุดแห่งนั้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งหนังสือ Animated Cartoons: How They Are Made, Their Origin and Development (1920) โดยอี.จี. ลุทซ์ (E.G. Lutz) ที่สอนให้เขาเรียนรู้เทคนิคแอนิเมชัน และนั่นก็คือจุดเริ่มต้นของอาณาจักรดิสนีย์ ที่จะมีอายุครบศตวรรษในปีนี้...
วอลเตอร์ เอเลียส ดิสนีย์ (Walter Elias Disney) ผู้สร้างมิกกี้เม้าส์ ดิสนีย์แลนด์ และดิสนีย์แอนิเมชันสตูดิโอ เกิดเมื่อวันที่ 5 ธันวาคม ปีค.ศ. 1901 ในครอบครัวที่ไม่ร่ำรวยนัก และมีพี่น้องถึงสี่คน เขาได้เรียนศิลปะมาบ้างแต่ไม่ต่อเนื่องนักเพราะเกิดสงครามโลกครั้งที่ 1 ทำให้ต้องออกจากโรงเรียนมัธยมเมื่ออายุเพียง 16 ปีเพื่ออาสาไปรบ แต่ทางกองทัพไม่รับเพราะอายุน้อยเกินไป ดิสนีย์จึงเข้าเป็นพนักงานขับรถพยาบาลให้กาชาดอเมริกันที่ฝรั่งเศสและเยอรมนี หลังสงครามเขากลับมาทำงานวาดเส้นลงสีหมึกที่สตูดิโอพาณิชย์ศิลป์แห่งหนึ่งในแคสซัส ซิตี้ ก่อนจะออกมาบุกเบิกงานด้านแอนิเมชัน โดยศึกษาด้วยตนเองจากหนังสือ
“ตลอดชีวิตวัยรุ่น ตั้งแต่ยังไม่คิดวางแผนเรื่องอาชีพ ผมก็สนใจห้องสมุดประชาชนเสมอมา บัตรสมาชิกห้องสมุดของผมเต็มไปด้วยชื่อหนังสือเกี่ยวกับการวาดรูป และค่าปรับส่งคืนช้าก็ทำให้บัญชีธนาคารของผมลดลงไปมาก ช่วงที่ผมอยู่ในแคนซัสซิตี้ ผมสนใจการเขียนการ์ตูนอย่างจริงจัง และได้เรียนรู้แอนิเมชันขั้นต้นจากหนังสือซึ่งผมขอยืมมาจากห้องสมุดแคนซัส ผมรู้สึกว่าห้องสมุดช่วยผมได้มากเหลือเกินตลอดชีวิตการทำงานของผม” ดิสนีย์กล่าวไว้ในจดหมายถึงบรรณารักษ์
บทสุดท้ายในหนังสือเล่มที่ยืมมาเล่มหนึ่ง ได้แนะนำ Alice in Wonderland ให้เป็นตัวอย่างเรื่องราวที่เหมาะจะทำเป็นการ์ตูนสำหรับเด็ก และดิสนีย์ก็ประสบความสำเร็จกับเรื่องแนวนี้ในเวลาต่อมา
นอกจากนั้น ดิสนีย์ ยังชอบอ่านหนังสือเกี่ยวกับอับราฮัม ลินคอล์นด้วย “ผมชอบอ่านประวัติศาสตร์อเมริกันและชีวประวัติ ยังคงชอบแนวนี้มากที่สุด” ดิสนีย์บอก “ห้องสมุดในบ้านที่มิสซูรี่มีหนังสือเกี่ยวกับสงครามกลางเมืองและเรื่องเล่าจากแนวหน้า ทั้งเรื่องจริงและนวนิยาย หนังสือเกี่ยวกับการผจญภัย, สืบสวนสอบสวนและเรื่องลึกลับที่เกี่ยวกับคนจริงหรืออิงชีวิตจริงจะดึงดูดใจผมเป็นพิเศษเสมอ”
สมัยยังเด็กดิสนีย์ชอบอ่านงานของมาร์ค ทเวน (Mark Twain) เพราะเขาเติบโตมาในมิสซูรี่ ไม่ไกลจากบ้านในวัยเด็กของมาร์ค จึงมีประสบการณ์ร่วมกับเรื่องราวเหล่านั้น
ดิสนีย์เล่าว่าฟลอร่า มารดาของเขาที่เป็นครูมักจะอ่านหนังสือกลางแสงเทียนให้ลูกฟังก่อนนอน ส่วนเอเลียส บิดาของเขามักจะอ่านพระคัมภีร์ไบเบิล
ในวัยประถมที่โรงเรียนเบนตั้น ดิสนีย์ชอบเรื่อง Ivanhoe เขียนโดย เซอร์วอลเตอร์ สก๊อตต์ (Sir Water Scott), A Tale of Two Cities ของชาร์ลส์ ดิคเค่นส์ (Charles Dickens) และ Treasure Island เขียนโดย โรเบิร์ต หลุยส์ สตีเวนสัน (Robert Louis Stevenson) เขายังชอบเรื่องของเชคสเปียร์ด้วยโดยเฉพาะฉากต่อสู้
นักเขียนที่ดิสนีย์ชอบส่วนใหญ่อยู่ในหนังสือสำหรับเด็กนักเรียนชุดแม็คกัฟฟี่ อีเคลคติค รีดเดอร์ส (Mcguffey Eclectic Readers) ที่รวบรวมผลงานนักเขียนผู้ยิ่งใหญ่ไว้มากมาย อย่างในชุดที่สองมีเรื่องย่อจากผลงานของจอห์น มิลตัน (John Milton), เชคสเปียร์ (Shakespear), โพ (Poh), เซอร์วอลเตอร์ สก๊อตต์ (Sir Water Scott) และลุยซา เมย์ อัลคอตต์ (Louisa May Alcott) เรื่องแต่ละชุดจะยากขึ้นตามลำดับและให้ความรู้เกี่ยวกับหลักภาษาด้วย
เรื่องที่ดิสนีย์ประทับใจเป็นพิเศษในวัยเด็กคือผลงานของโฮราชิโอ อัลเจอร์ (Horatio Alger)เกี่ยวกับเด็กชายยากจนที่ประสบความสำเร็จจากความมุ่งมั่นกล้าหาญ ทำงานหนักและซื่อสัตย์ แล้วดิสนีย์ก็ยังชอบอ่านนิยายชุดการผจญภัยของทอม สวิฟท์ (Tom Swift) ที่ใช้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีช่วยแก้ปัญหา รวมทั้งชอบชุดจิมมี่ เดลของแฟรงค์ แอล. แพคการ์ด (Jimmy Daleand the Missing Hour – Frank L. Packard)
ตอนที่สร้างสวนสนุกเอปคอตในดิสนีย์เวิลด์ ฟลอริดา ดิสนีย์อ้างอิงจากหนังสือของวิคเตอร์ กรูเอน (Victor Gruen) ผู้ออกแบบศูนย์การค้าแห่งแรกๆ ในอเมริกา หนังสือเล่มนี้ช่วยให้ดิสนีย์เข้าใจในการสร้างศูนย์กลางที่ผู้คนจะมาพบปะและสร้างประสบการณ์ทางวัฒนธรรมด้วยกัน
ห้องสมุดที่บ้านของดิสนีย์มีทั้งหนังสือสารคดี, นวนิยาย, เทพนิยาย, เรื่องสำหรับเด็ก, หนังสือประวัติศาสตร์, ธรรมชาติและสัตว์ ฯลฯ เขาวางหนังสือเรื่องแมรี่ ป๊อปปินส์ ไว้ข้างเตียงลูกสาว เมื่อเธออ่านแล้วหัวเราะ เรื่องนั้นก็กลายเป็นภาพยนตร์ดิสนีย์เรื่องดัง
“ผมหวังเสมอว่าภาพยนตร์เทพนิยายของเราจะทำให้ผู้ชมอยากอ่านหนังสือเรื่องดั้งเดิมและตำนานต้นฉบับที่น่าหลงใหลจากชั้นหนังสือในบ้านหรือห้องสมุดโรงเรียน” ดิสนีย์กล่าว “ภาพยนตร์ของเราออกแบบมาเพื่อส่งเสริมเรื่องราว ไม่ใช่ทดแทน”
หนึ่งในเคล็ดลับความสำเร็จของดิสนีย์ที่ยืนยงมานับร้อยปีคือความทุ่มเทในการอ่าน เขาอ่านทุกอย่าง ทุกวัน และความอยากรู้อยากเห็นนั้นก็ส่งให้เขากลายเป็นผู้สร้างอาณาจักรบันเทิงที่ยิ่งใหญ่ได้ในที่สุด ดังที่เขากล่าวไว้ว่า “มีทรัพย์สินมากมายในหนังสือ มากยิ่งกว่าที่โจรสลัดซ่อนไว้บนเกาะมหาสมบัติ และคุณสนุกกับความร่ำรวยนี้ได้ทุกวันตลอดชีวิต”
ข้อมูลอ้างอิง
https://www.mouseplanet.com/12803/Books_That_Influenced_Disney
https://allears.net/wp-content/uploads/2021/01/kansas-city-missouri-walt-disney-letter-to-public-library.jpeg
https://www.quotesgeeks.com/walt-disney-reading-and-books-quotes
https://www.quotesgeeks.com/walt-disney-reading-and-books-quotes