ทักษะหนึ่งของนักออกแบบการเรียนรู้คือคนที่พาคนข้าม Knowledge gap หรือ ‘ช่องว่างของความรู้’ ซึ่งในอดีตการข้ามช่องว่างนี้คือการเติมความรู้เข้าไปแต่ในยุคปัจจุบันช่องว่างนี้ไม่ใช่การขาดความรู้ แต่กลับกลายเป็นความรู้และข้อมูลล้นทะลักมากมายจนสับสนและไม่สามารถแยกแยะได้ว่าข้อมูลไหนเป็นข้อมูลที่ถูกต้อง ข้อมูลไหนควรเชื่อ ข้อมูลไหนจะช่วยแก้ปัญหาหรือจะเพิ่มปัญหาให้กับชีวิตกันแน่
อู๋ ธวัชชัย แสงธรรมชัย ผู้ก่อตั้ง WHY NOT Social Enterprise ครีเอทีฟและผู้ผลิตสื่อที่ผ่านร้อนผ่านหนาวในสมรภูมิวงการโฆษณามาอย่างยาวนาน อู๋ชักชวนเพื่อนฝูงในวงการมาอาสาผลิตสื่อที่พาคนออกจากความงุนงงโกลาหลของข้อมูลที่ท่วมท้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งภายใต้ภาวะตื่นตระหนกอย่างสถานการณ์น้ำท่วม หรือช่วงโควิด-19 แพร่ระบาดที่ผ่านมา
รู้ สู้ Flood และ รู้ สู้โควิด ใช้เจ้า ‘วาฬ’ และ ‘วัว’ พาคนข้ามมหาสมุทรของข้อมูลในช่วงเวลาที่คนต้องการการเรียนรู้มากที่สุดคือ วิกฤติครั้งใหญ่ที่เกิดขึ้นกับประเทศไทยทั้งสองครั้ง และได้พาวงการสื่อข้ามเส้นแบ่งระหว่าง ‘สื่อการเรียนรู้’ และ ‘สื่อบันเทิง’ เพิ่มมุมมองใหม่ๆ ว่า สื่อบันเทิงก็สร้างการเรียนรู้ได้ และการเรียนรู้ก็ไม่ได้ต้องเคร่งเครียด แต่สนุกสนานได้
การเกิดขึ้นของ รู้ สู้ Flood จึงไม่ใช่การเกิดขึ้นของสื่อน้ำดี แต่ยังทำหน้าที่ชวน ‘ผู้ผลิตสื่อ’ เปิดประตูใหม่ๆ ในการใช้ทักษะและพลังของสื่อมวลชนขับเคลื่อนการเรียนรู้ของผู้คนและสังคมไทยด้วยกุญแจที่ อู๋ ธวัชชัย ถอดบทเรียนจากประสบการณ์ 10 ปีที่เขาสร้าง รู้ สู้ Flood ขึ้นมา
ส่วนกุญแจจะอยู่ตรงไหน
ชวนอ่านได้ในบทความด้านล่างนี้
เริ่มต้นจากรู้ว่าตัวเองชอบอะไร
ตั้งแต่เด็กๆ นะ สัก 10 กว่าขวบชอบดูโฆษณามากกว่าทีวี เวลาละครตัดเข้าโฆษณาแล้วที่บ้านจะเปลี่ยนช่อง ก็ไม่ให้เปลี่ยน จะดู (หัวเราะ) คือสมัยนั้นเป็นยุครุ่งเรืองของโฆษณาไทย มันเฟื่องฟูมาก สมัยก่อนโฆษณาตัวหนึ่งที่ออกในช่วงหลังข่าวภาคค่ำมันเป็นเรื่องใหญ่มาก วันรุ่งขึ้นคนจะ มึงๆ มึงดูโฆษณานี้ยัง แล้วยิ่งถ้าแบรนด์ใหญ่ๆ ออกโฆษณาใหม่คือเป็นเรื่องที่คนต้องพูดถึง ไม่ได้มีทั่วไปแบบทุกวันนี้ ทุกวันนี้เราเห็นกันดาษดื่นมากเป็นเรื่องธรรมดามาก อย่างที่ชอบก็แบบ เม้ง ป.ปลา ที่ท่อง ป.ปลานั้นหายาก... เกิดไม่ทันล่ะสิ (หัวเราะ) หรือสมัยก่อนมันมีโฆษณามนุษย์ตะกั่วที่เป็นแบบตัวสีเงินๆ แล้วมาเกาะรถ เออ คนพูดถึงกันเป็นอาทิตย์เลย ก็เป็นจุดเริ่มต้นที่อยากทำ รู้สึกสนุก และรู้สึกว่าคงรู้สึกดีมากถ้าได้เห็นเรื่องที่เราอยากเล่าไปสู่สายตาคนเยอะๆ
แต่แม้จะรู้ว่าตัวเองชอบทำอะไรก็ยังพาตัวเองไปสู่ ‘ความไม่รู้’
จริงๆ การทำงานในวงการโฆษณามันเป็นเรื่องที่น่าตื่นเต้นมาก ชีวิตมันเคลื่อนไหวเร็ว โจทย์ไม่เคยซ้ำกันเลย เหมือนได้สำรวจเรื่องใหม่ๆ ทุกครั้งที่มีโจทย์เข้ามา และเหมือนได้ทดสอบขอบของลิมิตของตัวเองอยู่ตลอดเวลาว่าไหวแค่ไหน มันพาให้ตัวเราเองไปอยู่ใน ‘ขอบของความไม่รู้’ อยู่ตลอดเวลา บางคนเขาก็ไม่ชอบ มันไม่ปลอดภัย ไม่มั่นคง แต่ผมรู้สึกสนุก เพราะพอเราไปอยู่บนขอบนั้น พื้นที่ที่เคยเป็นความไม่รู้ก็กลายเป็นความรู้ ก็เท่ากับเราได้ขยายดินแดนของความรู้ไปเรื่อยๆ
แต่ทำไปสักพักก็รู้สึก ‘ตกขอบ’ คือการอยู่บนขอบมันเหนื่อย และท้าทาย แต่มันมาถึงจุดที่ถามตัวเองถึงผลลัพธ์ของสิ่งที่เราทำว่า ที่เราไปอยู่บนขอบนั้นมันมีคุณค่ากับชีวิตคนจริงๆ ไหม คือตอนนั้นไม่เห็นว่ามี ก็เป็นช่วงชีวิตที่หลุดเลย หลุดไปอยู่ดอยหลายๆ เดือน ไปเป็นอาสาสมัคร เป็นเอ็นจีโอ ซึ่งก็เป็นช่วงที่ดีเพราะมันทำให้เราได้เปิดตัวเองออกไปสู่โลกอื่นที่ไม่คุ้นเคยอีกครั้ง แล้วพบว่า มันมีจักรวาลที่ใหญ่กว่างานโฆษณาเยอะมาก เราเคยคิดว่าเราอยู่บริษัทท็อปสุด เคยรู้สึกสุดเจ๋งชีวิตสุดยอด สักพักก็ อ้าว ไม่นิ ลุงขายลูกชิ้นข้างบ้านก็ไม่ได้ใส่ใจว่าบริษัทนี้ชื่ออะไร แล้วงานที่เราทำไม่ได้มีประโยชน์อะไรกับลุงเขาเลย
งานภาคสังคม งานอาสาสมัคร มันเติมเต็มเราค่อนข้างมาก เพราะเมื่อก่อนการทำงานทุกวันมันทำไปเพื่อยอดขายสำหรับสินค้าของใครสักคน แล้วบางทีเราก็ไม่ได้เชื่อในสินค้านั้นขนาดนั้น การออกมาเจองานอาสาสมัคร มันเปิดโลกใหม่ ที่มีคุณค่ามากขึ้น แต่ก็ไม่ใช่เหวี่ยงเลิกทำงานโฆษณา แต่ตกผลึกกับตัวเองว่าจริงๆ ทักษะและสิ่งที่เรามีอยู่มันไม่ใช่เรื่องแย่ การชวนคนออกจากบ้านแล้วไปซื้อของของได้ไม่ใช่เรื่องแย่ จริงๆ แล้วเป็นทักษะที่โคตรมีประโยชน์ แปลว่าเราเหมือนมีเวทมนตร์ทำให้คนเชื่อเราได้ แต่เราใช้มันในทางไหนนั้นเป็นอีกเรื่อง ก็คิดเลยว่าจะเอาทักษะในการโน้มน้าวคน หรือทักษะที่ทำเรื่องยากให้เข้าใจง่ายมาใช้ในทางที่เกิดประโยชน์ คือถ่ายทอดงานที่มีความซับซ้อนแบบงาน เอ็นจีโอ งานชุมชน หรืองานพัฒนาการศึกษาให้รู้เรื่อง อธิบายให้คนเข้าใจง่ายๆ ทำเรื่องที่เป็นประโยชน์กับสังคม ถ้าเราทำให้คนยอมจ่ายเงินเพื่อให้รักแร้ขาวได้ เราน่าจะทำให้คนยอมสละเงินตัวเองไปช่วยเด็กกลุ่มที่เขากำลังลำบากอยู่ได้ ก็เลยเป็นที่มาของ WHY NOT Social Enterprise ที่ให้บริการเหมือนงานโฆษณาแต่โฟกัสกับกลุ่มพัฒนาสังคม
แล้วมาเป็น รู้ สู้ Flood ได้ยังไง
ตอนนั้นน้ำท่วมพอดี ทุกคนไม่มีงานทำ (หัวเราะ) งานทุกอย่างหยุดหมด ถ่ายหนังไม่ได้ งานที่เริ่มต้นจะทำกับลูกค้าไว้ก็โดนฟรีซ แล้วเริ่มจากผมมีเครือข่ายที่ทำงานภาคประชาชนที่ ThaiPBS ทีแรกก็ไปช่วยเขาก่อน ไปเป็นทีมหลังจอเพื่อเชื่อมข้อมูลพื้นที่ว่าตรงไหนสถานการณ์น้ำเป็นยังไง ต้องการความช่วยเหลืออะไร ตอนนี้ถึงไหน ตาตุ่มหรือเข่า หรือเอว ข้าวมีกี่กล่อง อาหารมีไหม ครัวกลางมีไหม เป็นคนทำข้อมูลที่จำเป็น สำคัญในช่วงนั้น แล้วก็พบว่าข้อมูลเยอะฉิบหาย องค์ความรู้ที่คนควรต้องรู้มันเยอะมาก นักข่าวเล่าอย่างเดียวไม่พอ ก็เลยโทรหาเพื่อนในแวดวงนี้มาคุยกัน ก็ได้เป็นข้อสรุปว่าอยากทำวิดีโอสั้นๆ เป็น motion graphic ง่ายๆ ที่อธิบายข้อมูลเยอะๆ และมีความซับซ้อนให้คนเข้าใจ
ประเด็นสำคัญในสถานการณ์นั้นคือ ความตื่นตระหนก ช่วงนั้นมันเป็นยุคเริ่มต้นของโซเชียลมีเดีย สังคมเรายังไม่ได้เรียนรู้และมีภูมิต้านทานต่อข่าวลือ ก็เป็นยุคที่มีข้อความส่งต่อแบบมากมาย มากจริงๆ แล้วคนก็กลัวไปหมด เราพบว่าคนอยู่ในภาวะแพนิกสุดๆ สิ่งที่คนต้องการคือความรู้ความเข้าใจ แต่พอเปิดทีวีที่รัฐบาลแถลงตอนสองทุ่ม พบว่าไม่เข้าใจอะไรเพิ่มขึ้นเลย (หัวเราะ) ก็เลยชวนกันมาทำคลิปสั้น ให้คนเก่งๆ มาช่วยเรียบเรียงเนื้อหาดีๆ ใช้โทนน้ำเสียงที่มันน่าฟัง ใช้ความรู้สึกเหมือนเพื่อนที่ขยันหาข้อมูลแล้วก็มาเล่าให้เพื่อนฟัง บอกว่า ‘มึงใจเย็นๆ มึงอย่าเพิ่งเชื่อข้อความที่ส่งต่อกันมา ดูอันนี้ก่อน เข้าใจอันนี้’ (หัวเราะ)
เริ่มต้นก็เลยโทรหาเพื่อน เพื่อนก็คือ ปิง - เกรียงไกร วชิรธรรมพร ตอนนี้เป็นผู้บริหารของนาดาวที่ทำซีรีส์ฮอร์โมน ปิงมาช่วยทำบท เรียบเรียงข้อมูลให้มันน่าสนใจ แล้วก็โทรหาไก่ - ณฐพล บุญประกอบ ไก่เป็นผู้กำกับที่เก่งมากอยู่แล้ว เขาก็มาช่วยงานภาพ แล้วก็โทรหาบอม เขาก็เป็นผู้บริหารเครือบริษัททำซีรีส์ออกทีวีช่องต่างๆ ก็มาช่วยจัดแจงสถานที่ เอาสตูดิโอของพ่อเพื่อนมาใช้ เขาให้ห้องที่ไม่ได้ใช้มาห้องหนึ่ง แล้วก็ขอบริจาคคน ขอบริจาคคอมฯ ใครเอาคอมฯ มาได้ก็เอามาช่วยกันทำ แล้วก็เกิดเป็นรู้ สู้ Flood โดยที่ทั้งหมดรันบนอาสาสมัครล้วน มีเป้าหมายที่ชัดเจนว่า ทำบนน้ำเสียงที่เป็นเพื่อนกับผู้ฟัง ดังนั้นไม่รับตังค์ใครเลย ไม่ให้ใครมามีอิทธิพลเหนือเนื้อหาที่เราจะเล่า กระทรวงอะไรติดต่อมาก็บอกว่า เอาข้อมูลมาแต่เราไม่ให้คุณคอมเมนต์นะ เราจะเอามาเล่าในแบบของเราเอง
นั่นเป็นช่วงเวลาที่ magical มาก เกิดขึ้นเร็วมาก แล้วก็ประสบความสำเร็จ คนชอบ คนตื่นเต้น กลายเป็น talk of the town ผู้คนเอาปลาวาฬไปเป็นสัญลักษณ์ของน้ำท่วมครั้งนั้น เราทำกันจนได้ 10 ตอน ตอนแรกคิดว่า 3 ตอนก็หมดแรงแล้ว ปรากฏทำไปทำมาแล้วมัน ทำจนสตูดิโอน้ำท่วม จำได้ว่าทำถึงตอนที่ 6 หรือตอนที่ 7 มั้ง ที่แบบ น้ำท่วมแล้วพวกเราต้องหนีไปอยู่ที่อื่นแล้ว (หัวเราะ)
คนเลยจดจำสื่อ ‘รู้ สู้ Flood’ เป็นสื่อที่ทำให้สังคมเข้าใจข้อมูลยากๆ
ใช่ หลังจากงานนั้น WHY NOT ก็มีโอกาสเข้าไปทำงานภาคสังคมชิ้นอื่นๆ ได้ไปจัดงาน Good Society Expo ได้ไปทำงานให้สสส. แล้วมันก็ไปพิสูจน์ความเชื่อ ย้ำทุกครั้งที่เราทำงานว่ามันมีนะ งานที่ทำแล้วมีประโยชน์ ตอบโจทย์ทางสังคมจริงๆ มันมีสื่อที่ทำให้คนเข้าใจประเด็น เข้าใจเรื่องราวที่อยู่ใกล้ตัวเขา เลยทำให้เราทำมาเรื่อยๆ จนถึงทุกวันนี้
มาถึง รู้ สู้ covid ก็ 10 ปีพอดีเลย อย่างกับเดบิวต์วงใหม่ (หัวเราะ) หลังจาก รู้ สู้ Flood มันมีเงื่อนไขที่เราวางไว้ว่าเราจะไม่รับตังค์ใครเลยแล้วก็ไม่จ่ายตังค์ใครด้วย โครงสร้างนี้ทำให้เรารับงานชิ้นอื่นยากมาก เพราะหมายความว่ามันจะต้องมีวาระที่ทุกคนจะมีภัยพิบัติอะไรสักอย่าง แล้วต้องหยุดงานพร้อมๆ กัน ว่างงานพร้อมๆ กัน มาอาสาสมัครได้ เคยพยายามทำตอนแผ่นดินไหวที่เชียงราย หรือตอน PM 2.5 มันเกิดยากมากเพราะคนไม่ว่าง อาสาสมัครไม่มี แต่พอช่วงโควิด มันกลับไปเป็นภาวะเหมือน รู้ สู้ Flood คือทุกคนว่าง ทุกคนทำงานที่บ้านมีเวลามากขึ้น มีอาสาสมัครได้ และครั้งนี้ไม่ต้องไปไหน ทำจากที่บ้านได้เลย
เงื่อนไขในการผลิตและเงื่อนไขทางสังคมลงตัวเหมือนช่วงน้ำท่วม แล้วประเด็นคล้ายกันคือมันเป็นภาวะที่เต็มไปด้วยข่าวลือและความไม่รู้ สรุปยังไงนะ หน้ากากกันได้ไม่ได้ หน้ากากผ้าได้ไหม ออกจากบ้านได้รึเปล่า แล้วมันติดทางไหน หรือตอนนี้ติดกันไปแล้วหรือยัง มันมีแต่ข่าวลือ ความไม่แน่ใจ ความไม่รู้เต็มไปหมด ซึ่งทำให้คนไม่มั่นคง เพราะไม่รู้ว่าอะไรจริง อะไรไม่จริง คนกักตุน ซื้อของ ซื้อบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปทีละ 4-5 ลัง อยากจะสะกิดบอกว่าพี่ๆ กินขนาดนี้ พี่จะตายจากบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปก่อนโควิดนะ นี่คือเงื่อนไขเดียวกับน้ำท่วมเลยรวมตัวกัน กลับมาทำกันใหม่อีกรอบ คือกลับมาทำสื่อที่ทำให้คนเข้าใจสถานการณ์ เปลี่ยนความไม่รู้เป็นความรู้
รู้ สู้ Flood และ รู้ สู้ โควิด สร้างการเรียนรู้อะไรให้สังคม
ประเด็นหนึ่งนะที่ผมรู้สึกตั้งแต่ รู้ สู้ Flood คือการเกิดขึ้นของมันไประเบิดเส้นที่เคยแยกอย่างชัดเจนว่านี่คือ ‘สื่อการเรียนรู้’ นี่คือ ‘สื่อบันเทิง’ มันไปทำให้เส้นแบ่งนี้มันนัวๆ หลังจาก รู้ สู้ Flood ผมก็จะมีคนติดต่องานประเภท ‘ช่วยทำเป็นแอนิเมชันแบบนี้ให้หน่อยได้มั้ย’ เยอะมากเลย พอเราไปดูว่าก่อนหน้ามี รู้ สู้ Flood เขาทำอะไรกัน อ๋อ เขาทำเป็นสารคดี กล้อง ค่อยๆ ซูม เข้าไปแล้วแบบ โห คุณยายเดินขึ้นเขาอย่างเหนื่อยล้ายากลำบาก ไม่ได้บอกว่าไม่ดีนะ แต่มันก็เป็นแค่แบบเดียว พอรู้ สู้ เกิด มันทำให้คนเข้าใจว่าความรู้สนุกได้ มีการ์ตูน มีอาจารย์มาเล่นมุก มีจระเข้โผล่มาในซุปเปอร์มาเก็ต สื่อการเรียนรู้มันบันเทิงได้ และสื่อบันเทิงก็ได้เข้าใจด้วยว่า บันเทิงไม่ได้แปลว่าตลกตีหัวอย่างเดียว แต่การทำสื่อบันเทิงก็เป็นเรื่องการเรียนรู้ได้
แล้วการเรียนรู้คืออะไร
นี่คำถามแบบแพลตตินั่มเลย คิดก่อน ผมขอเล่าอย่างนี้ ผมพบว่าการเลี้ยงลูกและการอยู่กับเด็กโดยเฉพาะกับเด็กเล็กเลยนะ มันเป็นการฝึก empathy ทั้งภายในและภายนอกอย่างน่าอัศจรรย์ อยู่ดีๆ มีก้อนเนื้อก้อนหนึ่งที่เราอุ้มอยู่ ทำหล่นไม่ได้ บอบบางมาก แล้วก็ร้องไห้ด้วย หงุดหงิดด้วย ฉี่เหม็นด้วย เราต้องเรียนรู้ว่าทางกายภาพต้องตอบสนองยังไง แล้วก็ต้องจัดการความรู้สึกตัวเองภายในที่แบบลูกค้าโทรตาม ลูกร้อง โอ๊ย อึเลอะเสื้อ ข้าวลูกหกเต็มพื้น มันมีความรู้สึกภายในที่เกิดขึ้น ที่ต้อง empathy ตัวเอง และเยอะมากด้วย สิ่งที่อาจจะเชื่อมโยงกับคำถามว่าการเรียนรู้คืออะไร ผมว่าการเรียนรู้คือ ทุกขณะลมหายใจของมนุษย์ ถ้าเราไม่เหี่ยวแห้งตาย เรากำลังเรียนรู้สิ่งใหม่อยู่เสมอ
ปัญหามันอยู่ที่ว่าเราแค่ไม่คิดว่าหลายๆ เรื่องที่เราพบเจอเป็นการเรียนรู้ เราแค่ไม่อดทนกับที่ลูกฉี่เลอะกางเกงเราแล้วคุยงานกับลูกค้าไปด้วยเป็นเรื่องที่มีการเรียนรู้เกิดขึ้น แล้วไปสรุปแค่ว่ามันคือความทุกข์ของชีวิต แต่ถ้าเราปรับเป็นมองสถานการณ์นี้ว่ามันคือการเรียนรู้ที่จะรับมือกับความรู้สึกและอารมณ์ของตัวเอง และเรียนรู้วิธีการทำหลายๆ อย่างพร้อมกันไปให้ได้ ถ้าคิดมุมนี้ปั๊บ มันก็ไม่ใช่ความทุกข์ แต่มันเป็นเรื่องใหม่ที่เราเรียนรู้ พอเรามีทัศนคตินี้เราก็สร้างการเรียนรู้ให้ตัวเองได้ต่อเนื่อง สม่ำเสมอ คราวนี้ก็ไม่หยุดละ ผมคิดว่าอันนี้เป็น ‘กุญแจดอกแรก’
คิดว่าตัวเองเป็นนักออกแบบการเรียนรู้ไหม
ไม่เคยคิด เพราะว่าไม่เคยได้ยินคำนี้มาก่อน (หัวเราะ) นี่เป็นคนแรกที่มาบอก แต่ว่าถ้าลองเอานิยามมาแล้วถามว่าใช่มั้ย ก็ต้องตอบว่า ‘ใช่’ เพราะว่าที่เล่ามาทั้งหมดมันก็เป็นการออกแบบ ตัวเนื้องานที่เราทำมันก็คือการถ่ายทอดสื่อสารเรื่องราวที่คนไม่รู้ให้ได้เข้าใจใหม่ ถ่ายทอดเรื่องราวที่คนไม่เคยเห็นว่าตัวเองสามารถทำได้ให้ทำได้ เป็นการสร้างให้ผู้ดูงาน ดูวิดีโอ ดูโฆษณาในเฟซบุ๊ก หรือไปร่วมงานอีเวนต์ที่เราจัด ได้เรียนรู้เรื่องใหม่ที่ไม่เคยได้รู้มาก่อน มันก็กลับไปที่เรื่องเส้นแบ่งของคำว่า ‘สื่อการเรียนรู้’ กับ ‘สื่อบันเทิง’ คนสามารถเรียนรู้บางอย่างจากการดูโฆษณาได้เหมือนกัน ไม่ใช่ว่าเรียนรู้แปลว่าต้องไปนั่งเรียนในห้องเรียน
2 ปีที่แล้วก่อนโควิด ผมทำโปรเจกต์ที่ชื่อว่า ‘โพธิเธียเตอร์ (BODHI THEATER)’ จัดตรงวัดสุทธิวราราม มันเกิดจากความที่ผมเป็นเด็กที่อินเรื่องศาสนาพุทธในวัยที่คนรุ่นเดียวกันมันไม่มีใครเขาเชื่อกันหรอก (หัวเราะ) ผมเติบโตมากับหนังสือท่านพุทธทาส สมัยเรียนจบใหม่ๆ เราไปอยู่ที่นู่นแบบนาน ไปทำตัวเป็นเด็กวัด (หัวเราะ)
ตอนนั้นพบเรื่อง ‘เปลือก’ กับ เรื่อง ‘แก่น’ เปลือกนอกมันคืออะไร อย่างคำว่า ‘ศาสนา’ ก็มีเปลือก ภายนอกที่ดูเสื่อมจริงๆ เสื่อมที่เปลือก แต่มันมีคุณค่าบางอย่างที่เป็น ‘แก่น’ อยู่ในคำสอนของศาสนา ส่วนที่ปัจจุบันมันเสื่อม หรือคนรู้สึกว่าไม่ชอบกัน มันคือเปลือกทั้งนั้นเลย เดี๋ยวนี้ที่เด็กรุ่นใหม่ๆ แชร์คำคมจากโค้ช จาก Elon Musk หรือ Steve Jobs โอ้โห สร้างแรงบันดาลใจมาก แต่เอาเนื้อหามานั่งดู มันเป็นเรื่องเดียวกับพระพุทธเจ้าสอนเลย แต่พอเป็นรูปพระพุทธเจ้ามันไม่เท่ เป็น Steve Jobs แล้วดูดี
ปัญหาก็คือ ‘เปลือก’ ไม่ใช่ ‘แก่น’ ก็เลยอยากลองทำงานอะไรสักอย่างที่ถ่ายทอดความคิดนี้ออกไป ได้ไอเดียจากคลิปอันหนึ่งที่ญี่ปุ่น เป็นพระญี่ปุ่นมาบีตบ็อกซ์ เป็นดีเจ เอาบทสวดมามิกซ์เป็นเพลง EDM (Electronic Dance Music) ตอนนั้นแบบ โห ทำในวัดแบบนี้เลยเหรอ โคตรมัน ก็เลยอยากลองทำในวัดไทย ถ้าเอาบทสวดมาแปลความหมายออกมาเป็นโชว์สักโชว์หนึ่ง แล้วไม่ใช่แค่แสงสีเสียง เอาโปรเจกเตอร์ไปฉายบนผนังวัดเหมือนภาพวาดฝาผนัง ภาพวาดฝาผนังสมัยก่อนก็คือแบบนี้แหละ คือต้องการเอาเรื่องจากตำนานจากคำสอนมาถ่ายทอดเป็นศิลปะ แต่เครื่องมือสมัยนั้นมันคือสีกับปูนไง ก็เลยเป็นภาพวาดฝาผนัง แต่ยุคนี้ไม่ได้มีแค่สีกับปูน เราทำภาพวาดฝาผนังเป็นแบบ 3D ได้ เคลื่อนไหวได้ วิ่งได้ ตื่นเต้น เร้าใจได้ ก็เลยว่าไอเดียนี้แหละเวิร์ก เราก็เลยคุยกับเจ้าอาวาส คุยกับพระ เลยมาลงตัวที่บทสวดพาหุง
เราก็เลยเอาพาหุงมาแปล แปลแบบให้ถูกต้องเลย เคารพเลย ไม่ได้เอามาตีความแบบกะโหลกกะลา แล้วก็เอาเรื่องราวจากบทสวดมาเล่าในรูปแบบ digital art อยู่ในอุโบสถวัดสุทธิวราราม โห ตื่นตาตื่นใจมาก คนจองตั๋ววันแรกเต็ม 5-6 พันคนในวันเดียว ทุกรอบเต็มหมดจนต้องขยายรอบเพิ่ม โปรเจกต์แบบนี้มันก็เป็น ‘การเรียนรู้’ หัวข้อน่าเบื่อ ที่คนไม่อ่าน ไม่ฟัง ไม่สวด แต่พอเอามาออกแบบทำใหม่แล้วทำไมคนถึงอยากดู ผมว่านี่เป็นกุญแจดอกที่ 2 คือ การทำให้คนรู้ว่าการเรียนรู้เป็นเรื่องสนุก เป็นเรื่องที่คนหลากหลายเข้าถึงได้ มันคงมีคนไม่กี่ประเภทมั้งที่พร้อมจะเรียนรู้บทสวดพาหุงแบบเดิม ไม่ได้แปลว่าการศึกษาหรือวิธีการแบบเดิมมันล้มเหลวนะ แต่มันอาจจะเหมาะกับแค่คนบางคนหรือบางกลุ่ม แต่ถ้าทำให้มันหลากหลายได้ และทำให้คนเข้าถึงความรู้ชุดนี้ได้อย่างหลากหลายขึ้น ผมว่ามันคือกุญแจดอกที่สอง
ถ้าใส่แว่นของ Learning Designer คุณคิดว่าสังคมไทยควรจะเรียนรู้เรื่องอะไร
ประเทศไทยนี่เศรษฐกิจหมุนเวียนได้ด้วยการเข้าถึงแหล่งอำนาจและ คอนเนคชั่น มันไม่ได้เป็นประเทศที่ขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรม การทดลอง การสร้างคุณค่าใหม่ หรือทะลายข้อจำกัดเดิม มันเป็นสังคมที่ใครอยากรวยคือการเข้าถึงอำนาจและความศักดิ์สิทธิ์ เราเลยไม่เชื่อในเรื่องการเลือกตั้ง เราเลยเชื่อว่านักการเมืองคือผู้มีบุญญาธิการเหนือเราที่เราต้องไปกราบไหว้ขอโปรเจกต์ลงมาช่วยดูแลท้องถิ่นเราหน่อย ทั้งๆ ที่จริงโดยหลักการแล้ว นักการเมืองคือผู้ที่เราจ้างเขาด้วยภาษีที่เราจ่ายให้ไปเป็นเงินเดือนเขา แต่เราไปอยู่ภายใต้กรอบความคิดอำนาจและความศักดิ์สิทธิ์ ตำแหน่งนี้มันก็ยกลอยอยู่เหนือเราขึ้นมาทันที
ความท้าทายที่สำคัญที่สุดของสังคมไทยคือการที่เราต้องทำให้คนเรียนรู้ร่วมกัน คือการเปลี่ยนแปลงความเชื่อในอำนาจและความศักดิ์สิทธิ์ที่มีอยู่ในระบบสังคมด้วยความเข้าใจใหม่ ว่าการตั้งคำถาม การท้าทายกรอบความเชื่อเดิม การให้อำนาจทุกคนเป็นผู้เรียนรู้อย่างเท่าเทียมกัน มันจะนำไปสู่คำตอบที่ดีกว่า มันจะนำไปสู่การแก้ปัญหาที่ประหยัดทรัพยากรกว่าเดิม และนำไปสู่แนวคิดใหม่ๆ ที่เราไม่เคยคิดมาก่อน คิดว่าสิ่งนี้เป็นสิ่งที่สำคัญมากกับสังคมไทยในปัจจุบันนี้ ซึ่งถ้าทำได้มันจะเปลี่ยนการเรียนรู้และปลดล็อกได้อย่างมากมาย
บทสัมภาษณ์นี้เป็นส่วนหนึ่งของกิจกรรม Learning Designer โดยความร่วมมือระหว่างอุทยานการเรียนรู้ TK Park ร่วมกับ Deep Academy |