“ไม่ต้องไปไกลถึงต่างดาว โลกเราก็มีสัตว์ประหลาดเยอะแยะไปหมดเลย”
จุดเริ่มต้นที่ทำให้แทนไท ประเสริฐกุล หลงใหลใน ‘เรื่องเล่า’ ‘คำอธิบายทางวิทยาศาสตร์’ ถึงเบื้องหลังพฤติกรรมของสิ่งมีชีวิตทั้งหลาย จนทำให้ไปศึกษาต่อในหลักสูตร Neurobiology and Animal Behavior ที่มหาวิทยาลัย Cornell สหรัฐอเมริกา
ในขณะที่นักวิทยาศาสตร์ส่วนใหญ่เมื่อร่ำเรียนด้านนี้มาจะศึกษาลึกลงไปเรื่อยๆ แบบเข้าป่าแล้วไปลับ แต่แทนไทกลับสนุกกับการเข้าไปในป่า หาความ ‘ว้าว’ แล้วหยิบใส่ย่ามออกมา ปรุงรสให้ง่ายและสนุก เพื่อเล่าให้ผู้คนได้ ‘ว้าว’ ไปกับเขา
นั่นคือจุดเริ่มต้นของ WiTcast และอาชีพ ‘นักสื่อสารวิทยาศาสตร์’ ที่เขาใช้นิยามตัวเอง
เพราะส่วนหนึ่งของวิทยาศาสตร์ควรป็นเรื่องสนุก มีการอัปเดต มีทฤษฎีหักล้าง มีการผิดพลาดและย้อนทบทวน มีการตั้งคำถามและกลับไปแก้ไขใหม่ การเรียนวิทยาศาสตร์จึงไม่ควรจำกัดแค่การท่องจำความรู้ในตำราที่เขียนต่อๆ กันมาอย่างแห้งๆ โดยมีเป้าหมายแคบๆ เพียงแค่การสอบ แต่วิทยาศาสตร์ควรตอบข้อสงสัย นำทางความอยากรู้ของคนเรียนไปให้สุดขอบจักรวาล สุดขอบกาลเวลา จากอณูถึงอนันต์ ไปได้ทั้งโลกของพืช โลกของสัตว์ หรือโลกของสิ่งมีชีวิตขนาดเล็กที่สุดเท่าที่จะเล็กได้
เพราะการเรียนรู้คือธรรมชาติของมนุษย์นานมาตั้งแต่สมัยยังอยู่ในถ้ำ ความสงสัยอยากรู้เป็นสัญชาตญาณที่พามนุษย์ออกนอกชีวิตประจำวันไปสำรวจนอกถ้ำ บนฟ้า และใต้น้ำ สปิริตความไม่จำกัดกรอบความอยากรู้เอาไว้แค่เรื่องการทำมาหากินของตัวเองล้วนเป็นธรรมชาติที่เราทุกคนล้วนมี และไม่ควรถูกทำลายด้วยระบบใดระบบหนึ่ง
บทสนทนากับแทนไทในวันนี้จะพาคุณออกไปสำรวจเรื่องราวอื่นๆ นอกกรอบความรู้ที่มี และแม้เขาจะเริ่มต้นด้วยเรื่องเล่าธีม ‘ขี้’ แต่เขาจะพาคุณไปไกลแสนไกลถึงสุดขอบจักรวาล
คุณพร้อมจะไปกับเขาหรือยัง
ทำไมถึงสนใจวิทยาศาสตร์
ต้องย้อนกลับไปตั้งแต่เด็กๆ ผมเป็นเด็กที่ถิ่นอาศัยจำกัด อยู่แต่ในบ้านในเมืองเล็กๆ แล้วผมชอบตื่นเต้นกับเรื่องอะไรก็ตามที่มันพาผมออกไปไกลๆ เช่น โลกใต้น้ำ โลกดึกดำบรรพ์ โลกอวกาศ หรือโลกที่เล็กจนมองไม่เห็นต้องส่องกล้องดู รู้สึกว่ามันน่าตื่นตาตื่นใจ รู้สึกว่าความรู้ของสรรพสิ่งมันช่างใหญ่กว่าแค่ห้องเล็กๆ ของเราที่บ้าน อันนี้คือจุดเริ่มต้นที่ให้สนใจวิทยาศาสตร์ เพราะวิทยาศาสตร์มันพาเราไปสู่โลกที่อยู่นอกเหนือโลกอันจำกัดของเรา
แล้วทำไมต้องชีววิทยา
อันนี้เป็นความชอบส่วนตัว (หัวเราะ) บางคนก็ชอบแมว บางคนก็ชอบหมา ผมชอบไปทางสิ่งมีชีวิตประหลาด สัตว์ประหลาด ต้นไม้ประหลาด พอเรียนวิชาชีวะตอนมัธยม ครูเริ่มให้ดูว่าในโลกเรามีสัตว์อะไรบ้าง แบ่งเป็นไฟลัมอะไรบ้าง ในขณะที่คนอื่นอาจจะรู้สึกว่าให้มาเรียนมาท่องอะไรวะเนี่ย แต่ผมกลับรู้สึกว่า เฮ้ย นี่มันไม่ต้องไปหาที่ต่างดาวนะเนี่ย ในโลกเรามีสัตว์ประหลาดอยู่เยอะแยะเต็มไปหมด รู้สึกมหัศจรรย์กับแมลงแปลกๆ ปลาแปลกๆ หนอนแปลกๆ และมันไม่ได้แปลกแบบสุ่มๆ พอค้นไปลึกๆ มันมีคำอธิบายอยู่ด้วยว่า ทำไมสัตว์ตัวนี้ถึงหน้าตาแบบนี้ ทำไมสัตว์เพศผู้ถึงไม่เหมือนสัตว์เพศเมีย ทำไมสัตว์น้ำลึกไม่เหมือนสัตว์น้ำตื้น ทำไมสัตว์ในป่าไม้ไม่เหมือนสัตว์ในทะเลทราย มันมีคำอธิบายอยู่หมดเลย แล้วก็เป็นคำอธิบายเชิงวิวัฒนาการ เชิงการปรับตัวของธรรมชาติ มันทำให้ผมรู้สึกว้าวว่า โลกที่เราอาศัยอยู่มันมีกฎเกณฑ์อยู่นะ มีอะไรบางอย่างที่ปกติชีวิตประจำวันเราเดินไปเดินมาเราไม่เห็น แต่เราจะได้เห็นตอนที่เรียนวิทยาศาสตร์
แล้วทำไมต้อง Neurobiology กับ Animal Behavior
จริงๆ ก็ยังสนใจหลากหลาย แต่พอตบๆ เข้ามามันจะเหลืออยู่สองสาขาที่สนใจจนกระทั่งอยากไปเรียนเลย คือด้านสมองกับพฤติกรรมมนุษย์ ความรับรู้ของมนุษย์ กับกระเถิบไปอีกนิดหนึ่งก็คือพฤติกรรมสัตว์กับเรื่องที่มาของมันว่ามันวิวัฒนาการมายังไงถึงได้กลายเป็นพฤติกรรมต่างๆ แบบนั้นแบบนี้
ความสนใจเรื่องสมองนี่ต้องย้อนกลับไปตอนเรียนม.ปลายในโครงการโอลิมปิก จู่ๆ ก็เกิดความตระหนักขึ้นมาว่าโลกที่เรารับรู้อยู่นี่มันผ่านสมองเราหมดเลยนะ ร้อน หนาว เห็นสีแดง สีเขียว ความคัน ความสุข ความทุกข์ ความอะไรก็ตามเนี่ย มันผ่านเนื้อก้อนนี้หมดเลย แม้กระทั่งคนที่มือขาด แขนขาดไปแล้ว ถ้ายังมีสมองส่วนนั้นอยู่ก็ยังรับรู้ว่าตัวเองมีมือได้ หรือว่าคนที่ตาบอดไปแล้วก็ยังมองเห็นภาพได้ เพราะสมองมันยังทำงานอยู่ ในทางกลับกันถ้าคนที่ยังมีมืออยู่แต่สมองส่วนรับรู้มือมันเจ๊งไป กลับไม่รู้ว่าตอนนี้มือตัวเองกำลังทำอะไร มันก็ควบคุมมือไม่ได้ มันมีโรคอยู่โรคหนึ่งชื่อ Alien Hand ที่ผมเคยเขียนในหนังสือโลกจิต ประมาณว่านั่งๆ อยู่ แล้วอยู่ดีๆ มือไปคลำชาวบ้าน ไปจับอวัยวะอะไรต่างๆ โดยไม่รู้ตัว พอหันมาดูอีกที ต้องรีบดึงกลับมา
หรืออีกตัวอย่างหนึ่งที่ผมรู้แล้วรู้สึกอยากเรียนต่อด้านนี้มากคือ กรณีที่สมองส่วนที่มันรับรู้สัมผัสต่างๆ เช่น การเห็นสี การได้ยินเสียง การได้กลิ่น สามารถปลุกกระตุ้นตัวเองขึ้นมาได้โดยไม่ต้องมีสิ่งเหล่านั้นอยู่ในสิ่งแวดล้อม แล้วในสมองมันจะมีสายไฟที่ไปเชื่อมโยงวงจรต่างๆ ภายใน เช่น บางคนอ่านตัวหนังสือ กอไก่ ขอไข่ คอควาย แล้วมันดันไปเชื่อมโยงกับเรื่องสี เขาจะมีสีประจำอักษรเขาทันที เช่น กอไก่สีแดง ขอไข่สีเหลือง คอควายสีน้ำเงิน แล้วมันจะเห็นเป็นสีขึ้นมาจริงๆ ซ้อนอยู่กับสีดำของหมึกบนหน้ากระดาษ แล้วเขาจะคิดว่าทุกคนที่อยู่รอบตัวเห็นเป็นแบบนี้เหมือนกันหมด เพราะว่าเป็นตั้งแต่เกิด ทำให้เขาไม่เคยรู้ว่าเพื่อนเห็นต่างจากเขา จนวันหนึ่งเขาอาจจะมาอ่านเจอบทความวิทยาศาสตร์ “รู้หรือเปล่าว่ามีเห็นสีที่คนอื่นไม่เห็นบนโลกนี้” สิ่งนี้มีอยู่จริง เรียกว่าปรากฏการณ์ข้ามสัมผัสหรือว่า Synesthesia ก็จะแบบ อ้าว ตกลงเราเป็น Synesthesia เหรอเนี่ย
แล้วมันจะมีคนที่ประหลาดกว่านั้นอีก เช่น ทุกครั้งที่ได้ยินโน้ตดนตรีอะไรบางอย่างอาจจะได้กลิ่นหรือเห็นภาพ สมมติโน้ต C ขึ้นมา อาจจะเห็นเป็นก้อนสีฟ้าลอยมา หรือว่าได้กลิ่นข้าวมันไก่ลอยมา ถ้าเป็นคำอีกคำหนึ่งอาจจะได้กลิ่นแกงกะหรี่ หรือแม้กระทั่งสัมผัสความร้อน ความเย็น ความแหลม ความสาก ความทู่ ก็จะมีอยู่เหมือนกัน เช่นแบบว่า บางคนลูบกางเกงยีนส์แล้วรู้สึกขมในปาก มันจะมีคนที่มีเซ้นส์เหล่านี้เชื่อมโยงกันอยู่ แล้วทั้งหมดนี้อธิบายได้ด้วยการทำงานของวงจรในสมอง พอได้รู้มันว้าวไปหมด
คนจบภาควิชานี้แล้วเขาไปทำงานอะไรกัน
คนจบวิทยาศาสตร์อะไรก็ไปเป็นนักวิทยาศาสตร์หมด (หัวเราะ) นักวิทยาศาสตร์คือคนที่สนใจ ลงลึก อุทิศชีวิตเพื่อหัวข้ออะไรสักหัวข้อหนึ่งแล้วลงลึกไปเรื่อยๆ ก็จะไปเป็นนักวิชาการหรือนักวิจัย ส่วนผมกลับสวนทางกับคนอื่นเขา พอผมไปเจออะไรที่มันรู้สึกสนุกขึ้นมา ผมจะอยากเอาเรื่องนั้นมาเล่าให้ชาวบ้านฟัง กลายเป็นว่า ในขณะที่คนอื่นเขาเข้าป่าลึกไปเรื่อยๆ พอผมเจอเรื่องในป่า ผมจะอยากออกจากป่ามาแล้วก็มาเขียนให้คนอ่านหรือจัดรายการให้คนฟัง
นั่นคือจุดเริ่มต้นของ WiTcast?
คือมันจะมีอยู่เรื่องหนึ่งที่ผมเขียนแบบรัวๆ มาก ยุคประมาณสักช่วงวัย 25-30 ก็จะออกหนังสือปีละเล่ม แต่พอไปสัก 4-5 เล่มแล้วก็จะเริ่มรู้สึกว่าไม่รู้จะเขียนอะไร (หัวเราะ) เริ่มขี้เกียจส่งต้นฉบับ เริ่มไม่ทันเดดไลน์ ก็จะหักมุมมาเป็นหนังสือแปลบ้าง พอสักพักหนึ่งก็เริ่มอิ่มตัวกับการแปล แล้วตอนเรียนปริญญาเอกช่วงนั้นก็กำลังท้อใจ คืออยากทำอะไรให้มันรู้สึกได้ทำตามใจตัวเอง จะได้กระชุ่มกระชวยขึ้นมา เลยนึกถึงไอเดียหนึ่งคือ พอดแคสต์ จริงๆ ผมเป็นแฟนรายการพอดแคสต์อยู่แล้วหลายรายการ ส่วนใหญ่เป็นรายการที่เป็นภาษาอังกฤษ บรรยากาศมันจะแบบว่ามีเพื่อนๆ ที่สนใจคล้ายๆ กัน มานั่งคุยกันแบบเม้าท์มอย ไม่เป็นทางการ ความยาวก็ไม่จำกัด เน้นคุยเป็นกันเองสนุกสนาน ผมก็เลยทดไว้ในใจตั้งนานแล้วว่าอยากให้มีรายการที่มีบรรยากาศแบบนั้นในบ้านเราบ้าง
โดยเฉพาะเรื่องวิทยาศาสตร์ อย่างในบ้านเราคุยกันทีหนึ่งถ้าไม่ใช่การนำเสนอทางวิชาการที่คนทั่วไปฟังไม่รู้เรื่อง ก็จะเป็นรายการติวนักเรียนมัธยม หรือไม่ก็รายการสำหรับเด็กๆ ไปเลย คือ “น้องๆ หนูๆ เคยทราบกันไหมคะว่า…” อะไรอย่างเนี้ย หรือไม่ก็ต้องเกิดเหตุดราม่าอะไรสักอย่างแล้วเชิญผู้เชี่ยวชาญมาคุย มาเถียง มาตีความกันให้แตก มันจะไม่มีบรรยากาศสบายๆ คุยกันแบบผู้ใหญ่นี่แหละ แต่สนุกสนาน เป็นกันเอง
ตอนนั้น พอเว้นว่างจากการเขียนการแปลก็เลยทดลองชวนเพื่อนๆ สองสามคนที่น่าจะมีมุมมองที่หลากหลาย คนหนึ่งเรียนฟิสิกส์ คนหนึ่งเรียนชีวะก็คือผม อีกคนหนึ่งเป็นตำแหน่งสามัญชน (หัวเราะ) ก็คือเป็นคนที่ไม่ได้เรียนวิทยาศาสตร์มาเลย มานั่งคุยกัน นั่งอัปเดตข่าวสารวิทยาศาสตร์
ไอ้เรื่องอัปเดตข่าวสารนี่ก็เป็นอีกเรื่อง เพราะเมืองไทยคนเรียนวิทยาศาสตร์ก็คือเรียนเนื้อหาที่อยู่ในตำราเรียน แต่จริงๆ มันมีข่าววิจัยค้นพบใหม่ๆ ออกมาตลอดเวลาแทบทุกวัน ซึ่งอาจารย์ก็ไม่ได้เอามาคุยในห้องเรียน แต่ถ้าฟังพอดแคสต์เขาก็คุยเรื่องพวกนี้ตลอด เขาอัปเดตกันทุกอาทิตย์ ผมอยากให้มันมีบทสนทนาแบบนี้เกิดขึ้นในสังคม ก็เลยทดลองเริ่มทำดู อันนี้คือเล่าอดีตที่ผ่านมา ถ้าพูดถึงทุกวันนี้มันก็เริ่มมีเยอะขึ้นแล้ว แต่ว่ายุคที่ผมเริ่มทำพอดแคสต์ใหม่ๆ ตอนปี 2012 มันยังมีคนคุยข่าววิทยาศาสตร์กันน้อยมาก
WiTcast คือรายการอะไร
ถ้าสโลแกนรายการมันก็สั้นๆ ‘รายการคุยวิทย์ติดตลก พกไว้ฟังยามเปลี่ยวสมอง’ มันก็คือเอาเรื่องวิทยาศาสตร์มาคุยกันอย่างสนุกสนาน ตลก เฮฮา เหมือนกลุ่มเพื่อนนั่งคุยกัน และด้วยความเป็นพอดแคสต์คือคุณเอาไว้ฟังเวลาคุณว่างหรือคุณพร้อม คือเราไม่ได้บังคับว่าต้องมานั่งเรียนตั้งแต่กี่โมงถึงกี่โมง แต่คุณจะฟังตอนไหนก็ได้ เช้ามาขับรถไปทำงาน 1 ชั่วโมงก็ฟังในรถ 1 ชั่วโมง ลงจากรถก็ปิดมันไว้ก่อน พอตอนเย็นขับรถกลับอีก 1 ชั่วโมงก็มาฟังต่ออีกชั่วโมงหนึ่ง มันจะสอดคล้องกับวิถีชีวิตมากกว่า อย่างผมตื่นมาปุ๊บออกไปหาไรกิน ช่วงกินข้าวคนเดียวก็จะเป็นเวลาฟังพอดแคสต์ คือจะขาดไม่ได้ วันไหนลืมเอาหูฟังติดตัวไปจะเซ็งมาก ถึงขั้นต้องเอามือถือมาจ่อหู เปิดเสียงเบาๆ เพราะว่าขี้เกียจกลับไปเอาหูฟังที่บ้าน
เป้าหมายส่วนตัวของแทนไทใน WiTcast คือ
คือผมอยากทำไปจนแก่จนเฒ่า (หัวเราะ) หมายถึงให้มันเป็นกลุ่ม เป็นชุมชนอะไรสักอย่างที่ปล่อยให้มันเติบโตแบบออร์แกนิกไปเรื่อยๆ แล้วการทำ WiTcast ก็เป็นที่พักใจของผมเองด้วย คือ ไม่ว่าชีวิตการงานด้านอื่นของผมจะเป็นยังไง อย่างน้อยผมก็ยังกลับมาทำ WiTcast ได้เรื่อยๆ และก็มีคนที่พร้อมจะติดตามฟังอยู่เรื่อยๆ คือเป้าหมายไม่ได้ยิ่งใหญ่ขนาดจะเปลี่ยนแปลงประเทศหรือเปลี่ยนแปลงโลก แค่รักษาคอมมูนิตี้อันนี้ที่มีอยู่ตอนนี้ให้มันเติบโตอย่างมีความหมายและมี impact ประมาณหนึ่ง รักษาการเติบโตไว้ทีละนิด แต่ยั่งยืนไปเรื่อยๆ
คุณบอกว่าคุณกำลังจะเป็นอาจารย์ ตอนนี้ได้เริ่มสอนหรือยัง
เป็นแล้ว ตอนนี้เป็นอาจารย์ที่คณะสิ่งแวดล้อม มหิดล เพิ่งเริ่มจริงๆ คือเป็นได้เดือนเดียวและยังไม่ได้สอนนักเรียนเลย จริงๆ แล้วยังไม่เห็นนักเรียนสักคนเลย (หัวเราะ) เพราะว่าเป็นช่วงโควิดพอดี นักเรียนอยู่บ้านกันหมด ผมก็จะไปออฟฟิศแบบเหงาๆ นั่งอยู่คนเดียวอะไรอย่างนี้ แต่คิดว่าน่าจะได้เริ่มสอนเทอมหน้า แต่ในชีวิตนี้เคยสอนอย่างจริงจังต่อเนื่องมา 4 ปี ตอนสมัยเป็นครูมัธยม ม.4-6 ที่โรงเรียนอัสสัมชัญศึกษา
ครูแทนไทสอนแบบไหนกับเด็ก
ก็เอาตำราเป็นโครงกระดูก คือเรารู้ว่าเราต้องมีแตะหัวข้อนี้ บทนี้ แต่ว่าเรื่องที่เราหยิบมาเล่า ถ้ามันเป็นเรื่องที่ต้องรู้ไปตามหลักสูตรอยู่แล้วเราก็จะสอนตามนั้น เพียงแต่ว่าด้วยภาษาของเรา ด้วยวิธีถ่ายทอดของเรา มันก็จะใส่ความสนุก แล้วก็ความพยายามทำให้เด็กเข้าใจลึกถึงแก่น คือไม่ได้แห้งๆ แต่ให้สัมผัสได้ว่าความรู้เรื่องนี้มันน่าสนใจยังไง แล้วก็จะได้เข้าใจอย่างเป็นสเต็ป จัดเก็บความรู้ในหัวได้อย่างไม่งงด้วย
สอนวิชาอะไร
ชีวะนี่แหละครับ ชีวะม.ปลาย
แก่นของชีวะคืออะไร
คือถ้าสมมติยุคที่ผมสอนเนี่ย เทอมแรกเรียนเรื่องเซลล์ก่อน เทอมถัดมาเรียนเรื่องว่าโมเลกุลต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับชีวิต เช่น น้ำตาล ไขมัน DNA โปรตีน มันก็จะเป็นไปตามหลักสูตร เพียงแต่ว่าแม้กระทั่งในหลักสูตร เราก็พยายามสอนให้มันสนุกแล้วก็ให้มันเข้าใจอย่างจริงจัง เราก็โรยท็อปปิ้งด้วยการชอบไปเอาอะไรนอกตำรานอกหลักสูตรมาแถมไปด้วย ให้มันโยงกับโลกที่อยู่นอกห้องเรียนได้ เช่น ถ้าเรียนเรื่องทะเล เราก็จะไปหาหนังสารคดีที่เจ๋งสุดๆ ของ BBC แบบ The Blue Planet มาฉายประกอบให้เด็กได้ทึ่งด้วย
ผมชอบยกตัวอย่างว่า “รู้มั้ย จิงโจ้มันคลอดลูกต่างกับคนเรายังไง” คนเราลูกต้องโตก่อนแล้วค่อยคลอดออกมา แต่จิงโจ้เนี่ยลูกยังเป็นตัวอ่อน ตายังไม่เปิด ตัวแบบเล็กมากๆ ขายังไม่งอกดี มีแค่มือ มันก็คลานออกมาจากแม่มันละ ไม่รู้มันยังไง แต่มันสามารถหาทางเข้าไปโตต่อในกระเป๋าหน้าท้องได้ จิงโจ้มันจะเป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมอีกแขนงหนึ่งที่ไม่ได้มีมดลูกเหมือนคน แต่มันมีกระเป๋าหน้าท้องแทนมดลูก ความไม่สะดวกก็คือมันต้องให้ลูกออกจากท้องเพื่อคลานเข้ากระเป๋า แต่การเดินทางตรงนั้นมันมหัศจรรย์มาก
แต่สอนแค่อ่านในชีต ให้ท่องความรู้มันเรียก marsupial นะ สัตว์มีกระเป๋าหน้าท้องนะ มันไม่ได้ รู้สึกว่ามันต้องไปหาช็อตนี้ให้เด็กดูดิวะ ก็จะไปหาพวกคลิปจิงโจ้ให้กำเนิดลูกมาให้เด็กดู ก็เป็นที่ตราตรึงใจอะไรกันไป หรือว่าสไลด์ก็จะหามาให้เยอะที่สุดให้เด็กเห็นภาพมากที่สุดเท่าที่จะเห็นได้ ซึ่งเป็นยุคก่อนด้วย สมัยนั้นผมสอน YouTube ก็ยังหายาก รูปประกอบอะไรต่างๆ ยังหายากอยู่ก็ต้องดั้นด้นเสาะหามาให้เด็กเรียน
รวมทั้งอย่างที่เล่าไปแล้วด้วยว่า มันมีอะไรที่อัปเดตใหม่ๆ อยู่ตลอด เราก็จะพยายามแบบว่า “รู้ไหมว่าเรื่องที่เราเพิ่งเรียนไปเนี่ย มันเพิ่งมีข่าวออกมาอาทิตย์นี้เลยนะ DNA มนุษย์เขาเพิ่งจะมีวิจัยอย่างนู้นอย่างนี้ออกมา” เอามาเป็นท็อปปิ้งให้เด็กประกอบกับหลักสูตรหลัก จะได้รู้ว่าที่เรียนอยู่เนี่ย มันมีความเคลื่อนไหวอัปเดตก้าวหน้า และผู้คนชาวโลกเขาติดตามกันอยู่ตลอด ห้องเรียนไม่ได้เป็นสิ่งแวดล้อมที่อยู่แยกออกมาจากโลกข้างนอก
ไม่ใช่ไปเรียนวิชาที่ตายแล้ว แต่เรียนในสิ่งที่กำลังเคลื่อนไหวอยู่ในโลกใบนี้
เรียนแบบสปาร์กให้เกิดคำถาม สปาร์กความสนใจในธรรมชาติ ตั้งคำถามเกี่ยวกับโลก เกี่ยวกับตัวเอง เมื่อกี้ผมเน้นไปพวกชีวิตไม่ประจำวันใช่ไหม แบบอวกาศบ้าง ดึกดำบรรพ์บ้าง แต่ว่าชีวิตประจำวันก็จะมีคำถามเยอะ คำถามเชิงสุขภาพนี่เยอะไปหมด อะไรเชื่อได้ เชื่อไม่ได้ แม้กระทั่งการกิน การออกกำลัง การนอน อะไรทั้งหลาย คือเรียนไปก็พยายามโยงไปกับไลฟ์สไตล์ต่างๆ ของเด็กด้วย
เด็กส่วนใหญ่ในสังคมบอกว่าวิทยาศาสตร์ไม่เห็นสนุกเลย ชีววิทยาเป็นเรื่องน่าเบื่อ ถ้าแทนไทได้โอกาสเล่าเรื่องวิทยาศาสตร์หนึ่งเรื่องเพื่อทำให้เขาเปลี่ยนมุมมอง จะเล่าเรื่องอะไร
อืม (คิดนาน) ตอนนี้ที่เงียบนานเพราะมันผุดขึ้นมาหลายเรื่องมากเลย (หัวเราะ) ผมนึกถึงเรื่องที่ไปเล่าใน WiTcast นี่แหละ แล้วมันก็จะมีหลายๆ เรื่องที่สนุกสนานดี มีตั้งแต่เรื่องการขี้ในอวกาศ (หัวเราะ) คือยุคนี้คนชอบพูดกันว่าเราจะต้องไปอยู่ในอวกาศกันแล้ว แต่น้อยคนที่จะรู้ว่าทุกวันนี้ที่เราสามารถขี้หลุดจากตูดบนโลกได้เพราะว่ามันมีแรงโน้มถ่วงช่วยเราอยู่ แต่ถ้าไปอยู่ในอวกาศมันไม่มี นักบินอวกาศยุคแรกๆ ต้องเอาถุงมือใส่นิ้วแล้วต้องปาดขี้ออกมาจากตูดตัวเอง (หัวเราะ) แล้วบางทีมันก็หลุดออกมาเองแล้วล่องลอยอยู่ในยาน ลองนึกภาพยานสมัยนีล อาร์มสตรอง มันแคบมาก นั่งๆ คุยกันอยู่ก็มีก้อนอะไรลอยผ่านหน้าไป ต้องไปวิ่งไล่เก็บกัน อันนี้ไม่ใช่เรื่องสมมติ นาซามีบันทึกเทปเหตุการณ์ชุลมุนเหล่านี้เอาไว้ ผมก็จะเอาเรื่องพวกนี้มาเล่าว่าในความทะเยอทะยานออกไปสู่นอกโลกของมนุษย์เรา มันมีเรื่องบ้าๆ บอๆ อย่างนี้แฝงอยู่
หรือถ้ารักษาธีมขี้ไว้เนี่ย สองปีที่แล้ว ผมเล่าเรื่องต้นหม้อข้าวหม้อแกงลิงซึ่งปกติเป็นพืชกินแมลง แต่บางชนิดมันไปอยู่บนภูเขาสูง แมลงน้อย จะมีพวกกระรอกกระแตอยู่เยอะกว่า เจ้าต้นนี้มันเลยเปลี่ยนรูปทรงจากพืชกินแมลงมาทำตัวให้เหมือนโถส้วมมากขึ้นเรื่อยๆ คือมันจะมีส่วนที่คอห่านแคบเข้ามา และน้ำหวานที่มันผลิตจะออกมาเป็นเม็ดขาวๆ ล่อพวกกระแตมา กระแตก็จะมาเลียโดยการนั่งอยู่ตรงนั้น ภาพมันเหมือนนั่งบนโถส้วม แล้วในน้ำหวานที่กินก็ยังมียาถ่ายอยู่ด้วยอีก ก็เท่ากับว่ากระแตมันมาที่ส้วมนี้ทุกเช้า นั่งอ่านหนังสือพิมพ์ กินโดนัทที่ส้วมมันผลิต แล้วก็ให้ปุ๋ยลงไปในส้วมในเวลาเดียวกัน เรื่องนี้มันเป็นตัวอย่างของสิ่งมีชีวิตในโลกที่มันปรับเปลี่ยนไปเรื่อยๆ ตามโจทย์ของวิวัฒนาการ ซึ่งผลลัพธ์ที่ออกมามันมหัศจรรย์มาก
ยังไม่จบ ผลลัพธ์ที่มหัศจรรย์มากๆ อีกเรื่องหนึ่ง คือการเลียนแบบ และยังรักษาธีมขี้ไว้อีก (หัวเราะ) คือถ้าเราไปดูตามใบไม้ บางทีเราจะเห็นคราบขาวๆ เหลืองๆ น้ำตาลๆ ซึ่งเรามองไกลๆ จะนึกว่าเป็นขี้นก แต่พอไปดูใกล้ๆ อ้าว นี่มันหนอนผีเสื้อที่หน้าตาเหมือนขี้นกเป๊ะ มีความฉ่ำวาว ฉ่ำเยิ้ม เหมือนเป็นขี้สดด้วย หรือว่าผีเสื้อบางชนิดปีกมันสยายออกมา ดูเหมือนออกแบบมาให้เป็นฉากของขี้เละๆ บนใบไม้ แล้วบนปีกมันมีลายแมลงวันมาตอมด้วย สิ่งมีชีวิตหลายชนิดเป็นแบบนี้ คือแทนที่จะพรางตัวให้กลมกลืน มันก็ใช้วิธีปลอมตัวอีกแบบ ซึ่งเป็นสิ่งที่ได้ผลเหมือนกัน และยังคงคอนเซ็ปต์เดียวกันคือ “ไม่มีใครกินคุณแน่นอน” เพราะว่าหน้าตาเหมือนสิ่งปฏิกูล ก็ทำให้พวกมันอยู่รอด
แล้วหนอนหรือผีเสื้อหรือแมงมุมหรือตัวอะไรพวกนี้มันก็ไม่ได้ออกแบบตัวเองด้วยนะ แต่กาลเวลา และบรรพบุรุษของมันรุ่นแล้วรุ่นเล่าออกแบบสะสมมาเรื่อยๆ ถ้าเหมือนขี้แล้วรอด มันก็ยิ่งเหมือนขึ้นเรื่อยๆ โดยมีสายตานกหรือสายตาตัวอะไรก็แล้วแต่ที่จะมาจับคุณกินเป็นตัวคัดเลือก
ในธรรมชาติมีการออกแบบแบบนี้ตลอดเวลา เพียงแต่มันไม่มีผู้ออกแบบ ‘มันเป็นการออกแบบที่ไม่มีผู้ออกแบบ’ เขาเรียกว่า ‘การคัดเลือกตามธรรมชาติ’ ซึ่งเป็นกระบวนการที่ผมรู้สึกทึ่งมาก ในโลกเราเกิดกระบวนการนี้อยู่ทุกหนทุกแห่ง ทั้งในน้ำ บนฟ้า ใต้ดิน ตั้งแต่อดีตนานมา ในปัจจุบัน และในอนาคตอีกไกลโพ้น สิ่งมีชีวิตผันแปรไปเรื่อยๆ ซึ่งมันเป็นเหมือนสัจธรรมอะไรที่มันยิ่งใหญ่
แต่เวลาเล่าเรื่องยิ่งใหญ่ แล้วยกตัวอย่าง ‘หนอนเลียนแบบขี้’ มันก็สนุกและตลกไปด้วยในเวลาเดียวกัน คือผมจะชอบเรื่องอะไรที่ดูผิวเผินเหมือนจะฮาๆ ขำๆ ตลกๆ แต่ว่าจริงๆ มันแฝงไปด้วยอะไรที่ลึกซึ้งกว่านั้นมาก
การศึกษาไทยมีวิวัฒนาการไหม
มันแค่วิวัฒนาการช้า มันมีกลไกป้องกันการกลายพันธุ์ค่อนข้างเข้มงวด
ทำอย่างไรให้การเรียนวิทยาศาสตร์เป็นเรื่องสนุก เข้าถึงง่าย
เอาสิ่งที่ตัวเองพยายามจะทำเรื่อยมาแล้วกัน ก็คือ ผมชอบให้มันสนุกด้วยเรื่องที่มันว้าวๆ เรื่องที่มันอะเมซิ่งทั้งหลาย ก็อยากจะเอามาเล่าและให้มันยังคงอารมณ์เหล่านั้นไว้ ไม่ใช่มาเล่าซะจนแห้ง จนทำให้เรื่องนี้กลายเป็นเรื่องน่าเบื่อไปได้ยังไงเนี่ย (หัวเราะ) มันต้องคงอารมณ์ความมหัศจรรย์ของธรรมชาติเอาไว้
แล้วก็อีกอันหนึ่งก็คือ อย่าลืมว่าการมานั่งเรียนมันคือเรากำลังใช้สัญชาตญาณความอยากรู้ของมนุษยชาติ เราทำแบบนี้มาตั้งแต่เป็นมนุษย์ถ้ำ เราไม่ได้แค่พยายามใช้ชีวิตอยู่แบบประจำวัน แต่เราพยายามออกมาดูว่านอกถ้ำมีอะไร บนฟ้ามีอะไร ใต้น้ำมีอะไร จนทุกวันนี้เราก็มองไกลออกไปจนสุดขอบจักรวาลว่ามีอะไร หรือแม้แต่ที่เราอยากจะหาคำอธิบายที่มาของสิ่งต่างๆ สิ่งเหล่านั้นมันคือสปิริตของความไม่จำกัดกรอบความอยากรู้ของตัวเองไว้กับแค่เรื่องที่มันเกี่ยวกับการทำมาหากินประจำวัน ซึ่งอันนั้นมันก็ต้องรู้อยู่แล้ว คนเราต้องมีวิชาชีพ มีทักษะอะไรบางอย่างไปประกอบอาชีพ แต่ว่าทำยังไงให้สปิริตความอยากรู้ที่มันเลยไปกว่านั้นมันไม่ถูกดับลง ผมรู้สึกว่าถ้ามันไม่ดับ แล้วมันติดตลอดทั้งชีวิต มันก็เป็นความสุขอย่างหนึ่งของชีวิตเลยนะ
เหมือนกับสำนวนเขาที่ว่า ชนใดไม่มีดนตรีกาล ในสันดานเป็นคนชอบกลนัก คือถ้าไปประเทศไหนแล้วไม่มีใครฟังเพลงเลย ไม่มีใครรู้สึกสนุกกับเสียงเพลงหรือเต้นไปกับเสียงเพลงเลย มันก็แปลกๆ ตัวผมก็รู้สึกเหมือนกันว่า ถ้าประเทศไหนหรือชนชาติใดไม่มีใครสนุกไปกับการเรียนรู้ หรือวิทยาศาสตร์เลย หรือว่ารู้สึกว่ามันไม่น่าตื่นเต้น น่ามหัศจรรย์ น่าค้นหาคำตอบอันลึกซึ้งเหล่านี้เลย มันก็เทียบได้กับชนชาติที่ไม่มีดนตรี เป็นอีกด้านหนึ่งของชีวิตที่สำคัญพอๆ กัน
คุณเชื่อว่าทุกอย่างอธิบายด้วยเรื่องวิทยาศาสตร์ มีอะไรที่วิทยาศาสตร์อธิบายไม่ได้บ้าง
เยอะแยะเต็มไปหมด จริงๆ จุดเริ่มต้นของวิทยาศาสตร์คือการยอมรับว่าเรายังไม่รู้อะไรเลย แล้วถึงค่อยตั้งเข็มว่า ถ้าเรายังไม่รู้เรื่องนี้ หรือถ้าเราไม่ยอมรับคำตอบเก่าๆ คัมภีร์เก่าๆ ที่เขาห้ามลบหลู่ ห้ามแตะต้อง หรือมีเซ็ตคำอธิบายมาให้แล้ว เราจะไปหาคำตอบยังไง
ถ้าเป็นเก่าจริงๆ โลกเราเป็นศูนย์กลางจักรวาล พระเจ้าเป็นคนสร้างมนุษย์ สร้างโลกขึ้นมา แต่วิทยาศาสตร์ตั้งคำถามก่อนเลยว่า เรารู้จริงเหรอว่ามันเป็นอย่างงั้น ถ้ามันไม่เป็นแค่ตามที่หนังสือเล่มหนึ่งว่าไว้เนี่ย ถ้าเราออกไปดูในโลกความเป็นจริง เราจะเจออะไรบ้าง เราก็ค่อยๆ เก็บสะสมหลักฐาน วิเคราะห์ต่อยอดมาเรื่อยๆ จนตอนนี้ความรู้ขยายขอบเขตไปกว้างไกลมากมาย แม้บางโจทย์อีกไม่รู้กี่ร้อยกี่พันปีถึงจะค้นพบคำตอบ แต่อย่างน้อยก็ตั้งคำถามไว้ก่อน แล้วก็รู้วิธีว่าทำยังไงถึงจะสามารถค่อยๆ ตอบได้ทีละนิดอย่างรอบคอบแล้วก็ไม่หลงผิด ยกตัวอย่างเช่น เรื่องกำเนิดชีวิตบนโลกนี่ก็ยังเป็นอะไรที่ยังไม่มีใครรู้ชัดเจน คือมีทฤษฎีหลากหลายแต่ยังไม่มีหลักฐานฟันธง เรื่องสมองให้กำเนิดจิตออกมาได้ยังไง ก็ยังไม่มีรู้คำตอบ เรื่องพันธุกรรม แม้เรารู้จัก DNA แล้ว เราอ่าน DNA ได้หมด แต่เรายังแปลความหมายมันไม่ได้ 100% มันก็จะเป็นความท้าทายของนักวิทยาศาสตร์รุ่นต่อๆ ไปที่จะพยายามเข้าใจมากขึ้นกว่าเดิมไปเรื่อยๆ
วิทยาศาสตร์ก็อาจจะเป็นชุดความเชื่อหนึ่งของคนกลุ่มหนึ่ง แล้วถ้าความเชื่อนี้มันผิดล่ะ
วิทยาศาสตร์เขาเรียกว่ามันมีกลไกในการยูเทิร์นกลับมาแก้ตัวเองตลอดเวลา คือเราไม่ได้บอกว่าความรู้นี้ไฟนอลแล้ว ตราบใดที่มีหลักฐานใหม่มาบอกว่าความรู้เก่าผิด เราก็พร้อมทำ edition ใหม่ต่อไปเรื่อยๆ เสมอ มันคือคีย์สำคัญของวิทยาศาสตร์เลยว่าเราไม่ได้ตายตัวกับตำราที่เขียนลงไปแล้ว ห้ามแก้แล้ว ตำราเปลี่ยนใหม่ทุกปี แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นก็ไม่ได้เปลี่ยนแบบสุ่มๆ เอา เปลี่ยนแบบมีหลักการ มีหลักฐานมาหักล้างอันเก่าหรือหนักแน่นกว่าอันเก่า
หรือนี่คือเหตุผลว่าทำไมเราเรียนรู้วิทยาศาสตร์แค่ในตำราอย่างเดียวไม่ได้ มันไม่มีกระบวนการทบทวน ตรวจสอบ หักล้าง หรืออัปเดต
ใช่ แต่ในขณะเดียวกันมันก็จะมีสองแบบ ความรู้บางอย่างอาจจะยังมีอัปเดตได้เรื่อยๆ ยังไม่นิ่ง และมีความรู้บางอย่างที่เขายืนยันกันมาไม่รู้กี่ร้อยรอบแล้ว ไม่ต้องเถียงกันแล้ว ยกตัวอย่างเช่น โลกกลมก็ไม่ต้องเถียงกันแล้ว คือไม่ต้องคอยอัปเดตทุกปีว่าตกลงโลกยังกลมอยู่หรือเปล่า หรือการค้นพบที่ว่าทวีปเคลื่อนออกจากกัน ถ้าเอาอเมริกากับแอฟริกามาประกบกันมันจะต่อกันได้พอดี สิ่งเหล่านี้ไม่ต้องเถียงแล้ว คืออาจจะไปอัปเดตกันตรงรายละเอียด เช่น ค้นพบอะไรเพิ่มเติม รายละเอียดจิ๊บจิ๋ว เล็กๆ น้อยๆ แต่ตัวแม่บทไม่ต้อง
แต่บางเรื่องมันยังคงต้องอัปเดตกันอยู่ มันไม่นิ่งจริงๆ เช่น กินไข่แล้วตกลงคอเลสเตอรอลขึ้นหรือเปล่า โดยเฉพาะวิทยาศาสตร์สาขาการแพทย์นี่อัปเดตอยู่เรื่อยๆ เพราะว่าร่างกายคนมันซับซ้อนมาก จนบางทีเราฟันธงอะไรลงไปได้ยากมาก มันจะมีทั้งงานวิจัยที่บอกแบบหนึ่งและอีกงานวิจัยก็บอกอีกแบบหนึ่ง เราต้องมาดูสถิติโดยรวมว่า สมมติ 80% บอกอย่างนี้ เราก็เชื่อ 80% ไปก่อน อีก 20% ยังไม่ต้องเชื่อ แล้วค่อยๆ ตามดูว่ามีงานวิจัยอะไรใหม่ๆ ไหม
วิทยาศาสตร์ต้องอัปเดต แล้วการศึกษาวิทยาศาสตร์บ้านเราอัปเดตไหม
ผมแบ่งออกเป็นอย่างนี้นะ พูดกันตามความเป็นจริง ในบ้านเรามหา’ลัยมันอัปเดตมากเลยนะคือมีนักวิจัยในจุฬาฯ มหิดล เกษตร มช. และมหา’ลัยอีกมากมายที่เป็นแถวหน้าของโลก ที่ได้ร่วมทีมกับระดับโนเบล เป็นระดับที่ขึ้นข่าวหน้าหนึ่งของโลก เราจะชอบได้ยินข่าวว่า “รู้ไหม คนไทยอยู่ในทีมของดิสนีย์ที่ทำการ์ตูนเรื่องนั้นเรื่องนี้ด้วยนะ” ทำนองเดียวกันกับวงการวิทยาศาสตร์เหมือนกันเลย
สถาบันวิจัยระดับโลกเนี่ย มาวิจัยลิง วิจัยผึ้งอยู่ในเมืองไทย คือบ้านเรามันเป็นแหล่งรวมทรัพยากรธรรมชาติป่าไม้อยู่แล้ว ย่อมเป็นที่สนใจ แม้กระทั่งอะไรที่มันดูไฮเทคๆ ระดับเครื่องเร่งอนุภาค หรือว่าเทคโนโลยีอวกาศนาซา ก็มีคนไทยไปทำอะไรอยู่เยอะแยะเต็มไปหมด สายคอมพิวเตอร์ สาย AI สายอะไรล้ำๆ ทั้งหลายก็มีคนไทยไปอยู่ร่วมทีมกับเขาเต็มไปหมด วงการหมอๆนี่คนไทยแทบจะเก่งที่สุดในโลก เพราะฉะนั้นในแง่ของคนที่กำลังประกอบอาชีพอยู่จริงๆ เราไม่ได้ล้าหลัง แต่ถ้าถามว่าจะมีล้าหลังบ้างไหม เช่น งบประมาณไม่ค่อยถึงบ้างไหม ทุนสนับสนุนจากรัฐน้อยไหม อันนี้ค่อยไปให้คนที่อยู่ในสาขาเขาวิพากษ์วิจารณ์กัน บางสาขาก็ได้รับการสนับสนุนเยอะ บางสาขาก็ไม่มีงบตกถึงมือเลย
แต่ว่าที่เห็นได้ชัดก็คือว่า คนที่ไม่ได้อยู่ในแวดวงจะไม่ค่อยได้ติดตาม จะไม่ค่อยได้รู้ เหมือนอยู่แยกกัน สังคมวิชาการกับสังคมคนทั่วไปอยู่แยกกัน สังคมคนทั่วไปก็ไม่ค่อยได้มีความอยากที่จะมาติดตามความก้าวหน้าทางวิชาการ สังคมวิชาการก็ไม่ได้มีความอยากที่จะมาเล่าให้คนทั่วไปฟังบ้าง เหมือนมีความแบ่งแยกกัน ตรงนี้ที่ผมพยายามจะมาเชื่อม แล้วก็หลายๆ คนก็พยายามเชื่อม งานตรงนี้เรียกว่างานสื่อสารวิทยาศาสตร์ ทุกวันนี้ทั้งในระดับหน่วยงาน ในระดับบุคคล ในระดับอินฟลูเอนเซอร์ทั้งหลาย ยูทูปเบอร์ พอดแคสต์เตอร์ หรือคนทำเพจในเฟซบุ๊กก็จะมาจับคอนเทนต์แบบเล่าความรู้ เล่าวิทยาศาสตร์อะไรกันเยอะขึ้น แม้กระทั่งมหา’ลัยเอง ก็พยายามทำสื่อกันมากขึ้น อย่าง Mahidol Channel เนี่ย ทำรายการออกมาแล้วคนก็ดูเยอะ แต่ความเป็นสถาบันหรือความเป็นราชการบางทีก็ยังมีมาดมีฟอร์มอยู่พอสมควร เรียบร้อยประมาณหนึ่ง เทียบไม่ได้กับ WiTcast (หัวเราะ) อยากทำอะไรก็จัดเต็มเพราะเราไม่ได้ขึ้นอยู่กับใคร (หัวเราะ) มันก็จะมีความสะใจตรงนั้นนิดนึง
ธรรมชาติมีการออกแบบที่เรียกว่าวิวัฒนาการ แทนไทออกแบบตัวเองไว้อย่างไร
ถ้าตอบเร็วๆ ตามความรู้สึกคือยิ่งแก่ยิ่งขี้เกียจออกแบบ (หัวเราะ) คือตอนเด็กๆ เราจะพยายามตั้งเป้าหมายชีวิตว่าเดี๋ยวเราจะไปสเต็ป 1 2 3 4แต่เอาเข้าจริงแค่สเต็ป 1 ก็มีปัญหาแล้ว มันจะไป 2 ไม่ได้ มันต้องเฉียงไปทาง 1.3 แทน แล้ว 1.3 มันจะพาไป 2.4 แทน มันจะกลายเป็นว่าต้องหาสมดุลในขณะที่ยังต้องรักษาทิศทางหลักให้ยังคงมุ่งไปที่เป้าหมาย แต่จะเลี้ยวซ้ายเลี้ยวขวาฉวัดเฉวียนยังไงมันแล้วแต่โชคชะตา พอมาอายุเท่านี้ ก็จะปล่อยวางความพยายามออกแบบตัวเองลงไป แล้วให้สิ่งแวดล้อม โชคชะตา และธรรมชาติ เป็นคนพานำพาเราไป ยกตัวอย่างเช่น การได้มาเป็นนักสื่อสารวิทยาศาสตร์ มันก็ไม่ได้อยู่ในแพลนอะไรของผมนะ แพลนของผมคือเรียนให้จบปริญญาเอกก่อนแล้วกลับมาเป็นอาจารย์มหา’ลัย เนี่ยคือสเต็ป 1 2 3 4 พอเป็นอาจารย์มหา’ลัยเสร็จแล้วจะค่อยมาเขียนหนังสือหรือจะค่อยมาจัดรายการอะไรก็ว่ากัน กลายเป็นว่าจบตรีปุ๊บ เกรดไม่ถึงต่อโทไม่ติด ก็กลับมาเรียนต่อเมืองไทย แต่พอกลับมาเรียนต่อเมืองไทย พยายามหางานพิเศษทำก็ได้ไปสอนหนังสือ พอสอนหนังสือก็ได้เล่นกับเด็ก ได้เขียนหนังสือ เขียนไดอารี่ แล้วก็มีสำนักพิมพ์มาติดต่อไปพิมพ์ ก็ได้หนังสือเล่มแรกของชีวิต ได้เข้าสู่วงการเขียน ก็คิดต่อว่างั้นลองเขียนเรื่องที่เรียนมาสิ ก็กลายเป็นหนังสือ ‘โลกจิต’ และกลายเป็นมีหนังสือเล่มอื่นๆ ตามมา และไปเรื่อย ภาษาอังกฤษมีสุภาษิตแบบว่า “ถ้าชีวิตมันโยนมะนาวมาให้ก็ทำน้ำมะนาวซะ” อันนี้ผมก็รู้สึกว่าถ้าชีวิตมันจะโยนแตงโม โยนสับปะรดอะไรมาให้ ผมต้องเอามาสิ่งที่มันโยนมาพลิกแพลงไปเรื่อยๆให้เป็นไปตามสถานการณ์
การเรียนรู้ของแทนไทคืออะไร
ไม่รู้ตอบยังไงดี (หัวเราะ) เอางี้แล้วกัน การเรียนรู้ของผมคือผ่านโลกวิทยาศาสตร์ มันคือการเบิกเนตร เป็นการขยายขอบเขตความรับรู้ของมนุษย์ตัวเล็กๆ คนหนึ่งออกไปให้ไกลที่สุดผ่านข้อมูล ผ่านหลักฐาน ผ่านองค์ความรู้ ผ่านการสังเกต คือย้อนกลับไปเหมือนตอนที่เป็นเด็กแล้วอยู่ในห้อง จะรู้สึกว่าห้องเรามันช่างแคบจัง แต่พอเรารู้จักวิทยาศาสตร์แล้ว ตัวเราอยู่ในห้อง แต่จิตใจและความรับรู้ของเราสามารถไปได้ถึงสุดขอบจักรวาล สุดขอบกาลเวลา สุดขอบความเล็ก ความใหญ่ ความใกล้ ความไกล ไปได้ทั้งโลกของพืช โลกของสัตว์ จากอณูถึงอนันต์ อันนี้มันเหมือนอยู่ดีๆ ก็มีดวงตาอีกดวงหนึ่งเบิกขึ้นมาในชีวิตคนๆ หนึ่ง วิทยาศาสตร์มันมอบสิ่งนี้ให้ผม ก็เลยอยากจะไปเบิกเนตรแบบนี้ให้กับคนอื่นๆ บ้าง
บทสัมภาษณ์นี้เป็นส่วนหนึ่งของกิจกรรม Learning Designer โดยความร่วมมือระหว่างอุทยานการเรียนรู้ TK Park ร่วมกับ Deep Academy |