ปัจจัยภายนอกอาจจะเป็นสิ่งที่เราไม่สามารถบังคับได้ แต่สิ่งที่เราทุกคนสามารถทำได้ ก็คือการปรับเปลี่ยนวิธีการใช้ชีวิต แม้จะเพียงเล็กน้อย แต่ก็เป็นจุดเริ่มต้นเพื่อพัฒนาตัวเองให้เป็นตัวเราที่ดีกว่าเดิม และรักษาจิตใจของเราให้เข้มแข็งแม้ในยามยาก
TK Park ชวนทุกคนมาลองทำอะไรใหม่ๆ ให้กับชีวิตด้วยวิธีพัฒนาตนเอง หรือ Self-Improvement เพื่อสร้างความเปลี่ยนแปลงให้ตนเองจากจุดเริ่มต้นเล็กๆ ที่ตัวเรา จนกลายเป็นจุดเริ่มต้นของ “สิ่งใหม่” ให้ชีวิตตนเองอีกครั้ง
1. พูดสิ่งดีๆ กับตัวเองบ้าง
ในแต่ละวันเรามักจะได้ยินคำพูดนับไม่ถ้วน ไม่ว่าจะเป็นเราพูดเองหรือได้ยินคนอื่นมาก็ดี ซึ่งบ่อยครั้งคำพูดเหล่านั้นก็กลับกลายเป็นสิ่งบั่นทอนจิตใจเราไปทีละน้อย ประโยคสั้นๆ ที่ทำร้ายกำลังใจเราเสียเหลือเกิน
หนังสือ “พูดเรื่องบวกเรียกโชคดี พูดเรื่องดีเรียกความสุข” เขียนโดย ‘อุเอะนิชิ อะคิระ’ ได้พูดถึงการพูดเรื่องแง่บวกกับตัวเองไว้ว่า คำพูดแย่ๆ จะปล่อยพลังงานลบที่ทำให้เราไม่มีความสุข แต่แทนที่เราจะโฟกัสความแย่ที่กำลังเกิดขึ้นเพียงอย่างเดียว ลองมองมุมกลับปรับมุมมองเรื่องไม่ดีที่เราเผชิญอยู่ ให้กลายเป็นเรื่องดีๆ ที่มองเห็นแม้เพียงเล็กน้อย มาเป็นคำพูดสร้างกำลังใจที่สำคัญ เช่น “ถ้าผ่านเรื่องนี้ไปได้ ฉันจะเติบโตอย่างเข้มแข็งแน่ๆ” หรือ “ช่วงนี้ฉันป่วยหนักจนทำงานไม่ได้เลย แต่ก็เป็นเวลาที่ดีนะที่ร่างกายจะได้พักผ่อนอย่างเต็มที่” ประโยคตัวอย่างแบบนี้คือสิ่งที่จะช่วยเตือนสติเราเสมอว่า มุมมองต่อเรื่องต่าง ๆ ที่เรากำลังเผชิญหน้านั้น มีส่วนสำคัญต่ออารมณ์และความรู้สึกของเรามากขนาดไหน
การพูดถึงสิ่งที่ดีต่อตัวเอง อาจเป็นการพูดปลอบประโลมจิตใจหรือเลือกมองในแง่มุมที่ดีเพื่อทำให้เกิดความรู้สึกดีๆ ตามมา ซึ่งหลักการง่ายๆ คือ ข้อเท็จจริง + การมองโลกในแง่ดี พูดความเป็นจริงที่เกิดขึ้น ไม่ใช่ความคิดลบที่เราอาจจะคิดไปเอง ลองให้กำลังใจตัวเอง อยู่กับปัจจุบันที่เป็นอยู่ ไม่คิดไปก่อนล่วงหน้าถึงผลลัพธ์แย่ ๆ ที่ยังไม่เกิด และอาจจะไม่เกิดขึ้นเลยก็ได้ แต่ถ้าอยู่ดีๆ จะมาให้กำลังใจตัวเองเลย พูดเรื่องดีๆ บวกๆ กับตัวเองเลย มันก็คงแปลกๆ ใช่ไหมล่ะ เรื่องแบบนี้ต้องค่อยๆ ฝึกฝนกันไป ถือว่าเป็นเป้าหมายใหม่ที่อยากให้ลองดูนะ
2. ลองให้อภัยต่อตนเองและผู้อื่น
ยอมรับในความผิดหวัง เสียใจ ที่เกิดขึ้นให้ได้ เพราะแม้ว่าความรู้สึกเหล่านี้จะเป็นหนึ่งในเรื่องยากที่สุดที่มนุษย์คนหนึ่งจะเผชิญได้ แต่มันเป็นธรรมดาของชีวิตทุกคนที่จะเกิดความรู้สึกแย่ ๆ เหล่านี้
อีกหนึ่งอุปสรรคที่เอาชนะยากยิ่งกว่าเรื่องไหน ๆ คือการให้อภัยตนเอง หนังสือ Forgive For Good โดย ดร.เฟร็ด ลัสกินส์ (Fred Luskin) นักจิตวิทยาชาวอเมริกัน ได้อธิบายถึงการให้อภัยตัวเองเอาไว้ว่า อุปสรรคที่ใหญ่หลวงที่สุดของการให้อภัยตัวเองนั้น คือภาวะที่เรารู้ว่าตนเองกระทำผิด ความคิดของเราก็จะหมกมุ่นอยู่แต่กับสิ่งนั้น นั่นเพราะว่าเราไม่สามารถหาข้ออ้างหรือเหตุผลอะไรมารองรับการกระทำนั้นได้เลย ซึ่งการให้อภัยตนเองนั้นคือวิธีการเผชิญหน้ากับความผิดพลาดนั้นด้วยตนเองทั้งหมด ซึ่งอาจจะฟังดูโหดร้าย แต่มันคือการเผชิญหน้ากับปัญหาเพื่อการยอมรับ เข้าใจ และปล่อยวาง โดยที่ไม่หลงลืมสิ่งที่เคยทำ
เพราะตัวเราเองที่ทำผิดพลาด แต่การไม่ปล่อยวาง และแบกความรู้สึกผิดนั้นไว้ซ้ำ ๆ ด้วยตัวคนเดียว ไม่ใช่วิธีที่ดีต่อใจและชีวิตของตนเอง ดังนั้น มาเริ่มต้นเป็นคุณคนที่แข็งแกร่งกว่าเดิมด้วยการหันกลับมาใจดีต่อตนเองเหมือนที่ใจดีต่อผู้อื่นบ้างนะ
3. การจัดบ้านก็เป็นการเริ่มต้นทำสิ่งใหม่ๆ ได้เหมือนกัน
บ้านก็เป็นอีกหนึ่งสถานที่ใกล้ตัวที่สะท้อนตัวตนของเราได้ดี การจัดข้าวของเครื่องใช้ในบ้านให้เข้าที่เข้าทาง โละของเก่าที่ไม่ใช้แล้วออกไป เพื่อต้อนรับปีใหม่กันอีกสักครั้ง ก็เหมือนกับเราได้จัดแจงพื้นที่สำคัญอีกแห่งของชีวิตตนเองให้พร้อมเริ่มใหม่ด้วยเช่นกัน
มาริเอะ คนโด (Marie Kondo) นักเขียนและจัดบ้านคนดังชาวญี่ปุ่น ได้แนะนำวิธีจัดบ้านแบบคนมาริ (Konmari) ในหนังสือ ‘ชีวิตดีขึ้นทุก ๆ ด้านด้วยการจัดบ้านแค่ครั้งเดียว’ คือการนำข้าวของเครื่องใช้ในบ้านมากองรวมกัน แล้วหยิบมาดูทีละชิ้น ถ้ารู้สึก ‘Spark Joy’ หรือรู้สึกทางบวกกับชิ้นนั้น ก็เก็บเอาไว้ แต่ถ้าไม่สปาร์คแล้วล่ะก็ ให้กล่าวขอบคุณแล้วก็ทิ้งของสิ่งนั้นได้เลย ซึ่งของใช้ในบ้านที่ว่าจะถูกแบ่งเอาไว้ 5 หมวดด้วยกัน ได้แก่ เสื้อผ้า หนังสือ เอกสาร ของจิปาถะ และของที่มีคุณค่าทางใจ เราก็จะทิ้งของไล่ตามลำดับนั้น (ก็คือไต่ระดับจากความง่ายไปยากนั่นเอง) แม้วิธีนี้จะฟังดูโหดร้าย แต่ก็ทำให้เรารู้ว่า ของชิ้นไหนสำคัญและเราต้องการมันจริง ๆ ซึ่งวิธีนี้นอกจากจะทำให้บ้านของเราสะอาดขึ้น ยังทำให้เราได้เริ่มต้นทำสิ่งเล็ก ๆ น้อย ๆ ที่สามารถทำให้สำเร็จได้ด้วยตัวเราเอง สร้างความภาคภูมิใจกับตัวเราว่าเราสามารถใช้เวลาได้อย่างคุ้มค่า
นอกจากนี้ หัวใจสำคัญอีกข้อหนึ่งของคนมาริ คือการให้เราได้มองเห็นว่า อุปสรรคที่สำคัญที่สุดในการจัดบ้านให้เป็นระเบียบคือ ‘ความรู้สึกผิด’ หรือ ‘เสียดาย’ สิ่งของที่มีอยู่ในบ้านของเรา (ซึ่งบางชิ้นก็ไม่ได้จำเป็นขนาดนั้น) ซึ่งวิธีนี้ยังสะท้อนไปถึงวิธีการจัดการชีวิตของเราที่บางครั้งก็ต้องเลือก ‘ตัด’ บางอย่างออกไป แม้ว่าจะผูกพันกับสิ่งนั้นขนาดไหนก็ตาม เพื่อให้ชีวิตเราเริ่มต้นก้าวต่อไปได้นั่นเอง
4. อ่านหนังสือเล่มใหม่
การได้อ่านหนังสือใหม่สักเล่ม ก็เป็นอีกหนึ่งกิจกรรมที่น่าสนใจเช่นเดียวกัน เพราะหนังสือเป็นกิจกรรมที่ไม่เพียงสร้างความรู้และฝึกสมาธิ แต่ยังช่วยเปลี่ยนมุมมองความคิดของเราได้เป็นอย่างดี ทั้งยังสร้างทัศนคติในการมองหรือพิจารณาสิ่งต่างๆ อย่างรอบคอบ หรือหากมีแนวความคิดใหม่ๆ เข้ามาเพิ่มเติมจากสิ่งที่เราอ่าน ก็จะช่วยส่งเสริมให้เราได้พัฒนาทักษะเพื่อการเปลี่ยนแปลงตัวเองไปได้อีกทางหนึ่งเช่นเดียวกัน
แต่สำหรับคนที่มีกอง ‘ดอง’ จำนวนมหาศาลที่ซื้อมาตั้งแต่เทศกาลงานแฟร์ยันร้านหนังสือมือสอง ให้ลองลิสต์รายชื่อหนังสือที่ซื้อมา แล้วเลือกเล่มที่เราชอบและอยากอ่านมากที่สุด ตั้งเป้าหมายระยะสั้นดูว่าเราจะสามารถอ่านเล่มนี้จบได้ภายในวันไหน โดยประเมินจากความเป็นไปได้และความเป็นจริงของตัวเอง เพื่อไม่ให้ยากจนเกินไป แล้วลองโพสต์ลงโซเชียลมีเดียดู การประกาศว่าเราจะทำอะไรสักอย่างหนึ่ง มันจะทำให้เกิดการเอาใจช่วย รวมถึงสามารถสร้างบทสนทนาของคุณกับเพื่อนได้ และทำให้เรายิ่งอยากทำให้สำเร็จ โอกาสที่จะอ่านหนังสือจบ และได้เริ่มเล่มใหม่ไปเรื่อยๆ ก็จะมีความเป็นไปได้มากกว่า
และในวันที่กองดองหนังสือค่อยๆ หมดไป คุณจะพบว่าตัวเองนั้นได้กลายเป็นคนใหม่ ที่ถูกเติมเต็มไปด้วยความคิดและทัศนคติใหม่ๆ ที่เกิดขึ้นจากทักษะความเป็นนักอ่านของคุณเอง