ช่วงเวลาวัยเด็กอาจเรียกได้ว่าเป็นช่วงเวลาที่แสนมหัศจรรย์ที่สุดช่วงหนึ่งของชีวิตก็ว่าได้ เพราะเป็นช่วงที่ต้นกล้าต้นเล็กกำลังเริ่มแทงยอดอ่อนขึ้นไปสำรวจสภาพแวดล้อมในโลกที่พวกเขากำลังจะต้องเติบโตขึ้นไป เป็นช่วงที่พวกเขากำลัง ‘เรียนรู้’ และ ‘พัฒนา’ เพื่อที่จะค้นหาวิถีทางการเติบโตอย่างเต็มศักยภาพ
แต่น่าเสียดายที่ความเข้าใจผิดของผู้ใหญ่หลายคนกลับกลายเป็นอุปสรรคขัดขวาง ทำให้กระบวนการนั้นค่อยๆ บิดเบี้ยวไปจากเส้นทางที่ควรจะเป็น
เอริกา คริสทากิส (Erika Christakis) อดีตอาจารย์จาก Yale Child Study Center และนักเขียนชาวอเมริกัน เจ้าของหนังสือดัง The Importance of Being Little: What Young Children Really Need From Grownups (อ่านได้ที่ Libby by Overdrive) ได้อธิบายถึงความสำคัญของการปล่อยให้เด็กๆ ได้ใช้ช่วงเวลาแห่ง ‘ความเป็นเด็ก’ อย่างเต็มที่ แทนที่จะถูกเร่งรัดให้ต้องรีบเติบโต ไว้ได้อย่างน่าสนใจในหนังสือเล่มนี้
เมื่อโลกมองมาด้วยสายตาคาดหวัง
ด้วยความที่ทำงานในแวดวงการศึกษามาอย่างยาวนาน เอริกาจึงมีโอกาสได้เดินทางไปพบปะแลกเปลี่ยนความรู้กับพ่อแม่ผู้ปกครอง ตลอดจนนักการศึกษาคนอื่นๆ จากทั่วประเทศ ทำให้เธอได้ค้นพบความจริงที่น่ากลัวข้อหนึ่งว่า การดูแลเด็กในยุคปัจจุบันนี้ของทั้งสถาบันโรงเรียนและครอบครัวกำลังจะทำให้เด็กต้องสูญเสียช่วงเวลาแห่งวัยเยาว์ไป
ความต้องการของเด็กตลอดจนพลังและคุณค่าของวัยเยาว์กลายเป็นปัจจัยที่ถูกลดทอนความสำคัญลงเรื่อยๆ สวนทางกับแนวคิด ‘การลงทุนเพื่ออนาคตที่ดี’ ของเด็กๆ ผู้ปกครองส่วนใหญ่ล้วนกระวนกระวายไปกับการปูพื้นฐานอนาคตของลูก จนพยายามยัดเยียดในที่สิ่งที่คิดว่าดีเพื่อให้ลูกมีทุนตั้งต้นที่ดีกว่าคนอื่น
ความท้าทายของเด็กยุคนี้จึงไม่ใช่เรื่องของความยากจน การทำงานหนัก หรือการเสียชีวิตจากอาการเจ็บป่วยอีกต่อไป ทว่าเป็นการรับมือกับความเครียด ตลอดจนความคาดหวังจากทั้งที่บ้านและโรงเรียน ทำให้พวกเขาถูกบีบบังคับให้ต้องโตก่อนวัยโดยไม่รู้ตัว และนั่นคือสัญญาณที่บอกว่าเราต่างกำลังหลงลืมความจริงที่ว่า พวกเขาที่ถูกใส่ฟิลเตอร์ให้กลายเป็น ‘ผู้ใหญ่ตัวเล็ก’ แท้จริงก็เป็นเพียงเด็กคนหนึ่งเท่านั้น
มองโลกด้วยสายตาของเด็ก
หลายครั้งเอริกามักขอให้คุณครูลองลงไปนั่งกับพื้นเพื่อมองโลกจากมุมมองของเด็กสี่ขวบ หรือเลียนแบบการเคลื่อนไหวของเด็กด้วยทักษะการเคลื่อนไหวแบบเด็กเล็ก โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อเปรียบเทียบให้เห็นว่า การพยายามบังคับให้เด็กทำในสิ่งที่ไม่สอดคล้องกับช่วงวัยนั้นสร้างปัญหาได้ขนาดไหน แทนที่เด็กจะได้ใช้ความคิดสร้างสรรค์ เรียนรู้การเข้าสังคมกับเพื่อนๆ สร้างเสริมพัฒนาการผ่านการเล่นแบบอิสระ หรือได้นอนหลับพักผ่อนอย่างเต็มที่ เด็กๆ กลับต้องใช้ชีวิตตามตารางที่ผู้ใหญ่กำหนด
การโหมเรียนวิชาการตั้งแต่ยังเด็ก หรือการอัดกิจกรรมมากมายในหนึ่งวันให้กับเด็ก ไม่เพียงแต่จะสร้างความเครียดให้กับพวกเขาเท่านั้น แต่ยังทำให้เด็กไม่สามารถพัฒนาศักยภาพได้เหมาะสมกับช่วงวัย เด็กๆ อาจเก่งขึ้นในแง่การคำนวณเลข แต่พวกเขาอาจต้องสูญเสียทักษะการใช้ร่างกาย การจินตนาการ หรือมีพัฒนาการทางสังคมและอารมณ์ด้อยลงไปเลยก็ได้ โดยเฉพาะอย่างหลัง เมื่อเอริกาพบว่าการเล่นของเด็กๆ ในโลกยุคใหม่ มักไม่ค่อยพบการรวมกลุ่มของเด็กหลากหลายช่วงอายุที่จะเปิดโอกาสให้เด็กเล็กได้เรียนรู้จากเด็กที่โตกว่าสักเท่าไหร่ เนื่องจากตารางเรียนที่เข้มข้นในแต่ละวันทำให้พวกเขาไม่เหลือเวลาออกไปวิ่งเล่นหรือหากิจกรรมสนุกๆ ทำด้วยตัวเอง
การถอยหลังสักก้าวแล้วใช้สายตาของเด็กในการมองโลกจึงเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับพ่อแม่ผู้ปกครองและคนที่อยู่ในแวดวงการศึกษายุคนี้ เพื่อเปิดทางให้เด็กได้มีโอกาสเติบโตอย่างสมวัยและเต็มศักยภาพ ไม่ใช่ต้องสูญเสียโอกาสนั้นไปเพราะถูกผู้ใหญ่เลือกเส้นทางเดินให้ผิดทาง
มอบพื้นที่ที่เหมาะสมกับช่วงวัย
แน่นอนว่านอกจากพ่อแม่ผู้ปกครองที่เป็นด่านแรกในการดูแลเด็กๆ แล้ว หน่วยงานที่กำกับดูแลศูนย์เด็กเล็ก คุณครู นักการศึกษาต่างๆ ล้วนแล้วแต่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการแก้ปัญหานี้ด้วยกันทั้งหมด
เอริกาได้เขียนถึงแนวทางการเรียนการสอนของเด็กเล็กปฐมวัยที่เหมาะสมกับช่วงวัยเอาไว้หลายข้อ อาทิ
เปิดโอกาสให้เด็กได้เล่นอย่างเต็มที่: เอริกามองว่าโรงเรียนไหนที่ไม่ปล่อยให้เด็กได้มีช่วงเวลา ‘เล่นแบบไร้สาระ’ โรงเรียนนั้นกำลังเดินทางผิด เพราะยิ่งเด็กมีโอกาสได้เล่นมากเท่าไหร่ เด็กๆ จะยิ่งสามารถพัฒนาทักษะทางด้านอารมณ์และสังคม อย่างการประนีประนอม การทำงานร่วมกัน หรือการเรียนรู้ผ่านกันและกันได้มากขึ้นเท่านั้น
กระตุ้นให้เกิดบทสนทนา: การกระตุ้นให้เด็กได้พูดคุยมากขึ้นผ่านคำถามปลายเปิดไม่เพียงแต่ช่วยให้เด็กได้เกิดการตั้งคำถาม คิด วิเคราะห์ แต่ยังทำให้เด็กได้เรียนรู้ความแตกต่างที่ซับซ้อนของภาษาได้มากขึ้นอีกด้วย
เน้นสอนทักษะที่นำไปใช้ต่อยอดได้: เด็กในช่วงวัยนี้ค่อนข้างมีความอยากรู้อยากเห็นสูง การสอนทักษะที่เด็กสามารถต่อยอดได้ หรือที่เรียกว่า Transferable Skills จะช่วยให้เด็กมีพัฒนาการได้เร็วกว่าการสอนแบบท่องจำ อาทิ แทนที่จะสอนให้เด็กท่องศัพท์ที่เริ่มต้นด้วย A ก็เปลี่ยนเป็นสอนว่าเราจะสามารถหาคำศัพท์ได้ที่ไหนบ้างผ่านการสืบค้นรูปแบบต่างๆ
จะเห็นได้ว่าสภาพแวดล้อมการเรียนรู้ตามช่วงวัยของเด็กนั้นเป็นปัจจัยที่มีความสำคัญอย่างเห็นได้ชัด และการส่งเสริมที่ถูกต้องจากโรงเรียนก็จะช่วยให้พวกเขาสามารถเติบโตได้อย่างสมบูรณ์
บ้าน...จุดเริ่มต้นการเติบโตอย่างสมวัย
เมื่ออ่านมาถึงตรงนี้เชื่อว่าหลายคนน่าจะเริ่มมองเห็นปัญหา ตลอดจนความสำคัญของการจัดการระบบการศึกษาให้เหมาะสมกับเด็กเล็กเป็นที่เรียบร้อย ถึงอย่างไรก็ตามบทบาทของพ่อแม่ผู้ปกครองเองก็เป็นสิ่งสำคัญ เอริกาได้ยกประเด็นที่น่าสนใจรวมถึงคำแนะนำในสิ่งที่ผู้ปกครองสามารถทำได้ไว้จำนวนหนึ่ง
จงสังเกตให้มากขึ้น: หลายครั้งที่พ่อแม่มักพลาดรายละเอียดเล็กๆ น้อยๆ ที่น่าสนใจเกี่ยวกับลูกไป เพราะพวกเขาเอาแต่ใช้เวลาไปกับการบังคับให้เด็กท่องคำศัพท์หรือสะกดคำ ลองถอยออกมาเป็นผู้สังเกตให้มากขึ้น ดูว่าเด็กชื่นชอบหรือสนใจอะไร เช่น หากลูกอยากช่วยคุณซ่อมซิงค์ล้างจานก็ปล่อยให้เขาทำ บางทีเด็กๆ อาจสามารถเรียนรู้ทักษะการคำนวณผ่านงานช่างได้มากกว่าบทเรียนที่คุณพยายามป้อนให้เขาอีกก็เป็นได้
ช่วยสนับสนุนคุณครูอีกทาง: ไม่ว่าจะเป็นการเสนอตัวเข้าร่วมกิจกรรมในห้องเรียนที่สามารถทำได้ เพื่อเปิดโอกาสให้เด็กๆ ได้เรียนรู้มากขึ้นเกี่ยวกับอาชีพที่น่าสนใจ หรือการสนับสนุนให้ครูได้รับค่าตอบแทนที่เหมาะสม เพื่อให้ได้บุคลากรที่ดีและมีความสามารถ
ปล่อยให้ลูกได้ออกไปตะลอน: หลังเลิกเรียนปล่อยให้เด็กได้ออกไปเล่นนอกบ้านกับเพื่อนๆ บ้าง เพื่อให้เขาได้เรียนรู้ทักษะทางด้านสังคม และแก้ปัญหาอย่างอิสระ
การเลี้ยงเด็กแท้จริงแล้วก็อาจคล้ายการปลูกต้นไม้ ต้นอ่อนที่ถูกรดน้ำเร่งปุ๋ยมากจนเกินไปแทนที่จะเติบโตงอกงามกลับทิ้งโรคซุกซ่อนไว้ในรากได้ง่ายๆ อย่าเอาการมองโลกแบบผู้ใหญ่เป็นบรรทัดฐานเพื่อบีบบังคับให้เด็กๆ ต้องเร่งเติบโต เพราะนอกจากจะเป็นการลดทอนศักยภาพในการพัฒนาตามวัยแล้ว ในชีวิตของเด็กหนึ่งคนต่างก็มีโอกาสเป็นเด็กแค่เพียงครั้งเดียว
อ้างอิง
https://www.edutopia.org/article/whats-lost-when-we-rush-kids-through-childhood
https://www.fatherly.com/love-money/importance-being-little-erika-christakis/
https://www.gotoknow.org/posts/654943