ตำนานสงกรานต์ไทย
คำว่า “สงกรานต์” มาจากภาษาสันสกฤต แปลว่า ย่างขึ้น ก้าวขึ้น การย้ายที่ หรือ เคลื่อนที่ คือช่วงเวลาที่พระอาทิตย์ย่างจากราศีมีนสู่ราศีเมษ
วันมหาสงกรานต์ (๑๓ เมษายน) วันมหาสงกรานต์เป็นวันที่ดวงอาทิตย์ย่างสู่ราศีตั้งต้นปีใหม่ จึงเป็นการก้าวขึ้น หรือย่างขึ้นครั้งใหญ่ หมายถึง ใหม่
วันเนา (๑๔ เมษายน) คำว่า “เนา” แปลว่า “อยู่” หมายความว่าเป็นวันถัดจากวันมหาสงกรานต์มา ๑ วัน วันเนาเป็นวันที่ดวงอาทิตย์เข้าที่เข้าทาง ในวันราศีตั้งต้นใหม่เรียบร้อยแล้ว คือ อยู่ประจำที่แล้ว
วันเถลิงศก (๑๕ เมษายน) คือ “วันขึ้นศก” เป็นวันเปลี่ยนจุลศักราชใหม่ การที่เปลี่ยนวันขึ้นศกใหม่มาเป็นวันที่ ๓ ถัดจากวันมหาสงกรานต์ก็เพื่อให้หมดปัญหาว่าการย่างขึ้นสู่จุดเดิมสำหรับต้นปีนั้นเรียบร้อยดี ไม่มีปัญหาเพราะอาจมีปัญหาติดพันเกี่ยวกับชั่วโมง นาที วินาที ยังไม่ครบถ้วนสมบูรณ์ ที่จะเปลี่ยนศกถ้าเลื่อนวันเถลิงศกหรือวันขึ้นจุลศักราชใหม่มาเป็นวันที่ ๓ ก็หมายความว่าอย่างน้อยดวงอาทิตย์ได้ก้าวเข้าสู่ราศีใหม่ไม่น้อยกว่า ๑ องศา แล้วอาจจะย่างเข้าองศาที่ ๒ หรือที่ ๓ ก็ได้
ตามจารึกในวัดพระเชตุพนฯ ได้กล่าวถึงตำนานสงกรานต์เอาไว้ว่า “ท้าวกบิลพรหมได้แพ้พนันการทายปัญหาแก่ธรรมบาลกุมาร จนต้องตัดเศียรตามสัญญา แต่เนื่องจากพระเศียรของพระองค์ตกไปอยู่ที่ใดจะเป็นอันตรายต่อที่นั้น หากตั้งไว้บนแผ่นดินจะเกิดไฟไหม้ โยนขึ้นบนอากาศฝนจะแล้ง ทิ้งลงในมหาสมุทรน้ำจะแห้ง ดังนั้น ธิดาทั้งเจ็ดจึงต้องนำพานมารองรับ และนำไปประดิษฐานไว้ในถ้ำคันธชุลี ณ เขาไกรลาส ครั้นถึงกำหนด ๓๖๕ วัน ซึ่งโลกสมมุติว่าเป็นปีหนึ่งเวียนมาถึงวันมหาสงกรานต์ เทพธิดาทั้งเจ็ดจะทรงพาหนะต่างๆ ผลัดเวรกันมาเชิญพระเศียรของบิดาออกแห่รอบเขาพระสุเมรุ”
ตำนานนางสงกรานต์
นางสงกรานต์เป็นคติความเชื่ออยู่ในตำนานสงกรานต์ ว่า ทุกๆ หนึ่งปี ธิดาทั้งเจ็ดของท้าวกบิลพรหม จะผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนมาทำหน้าที่อัญเชิญพระเศียรท้าวกบิลพรหมแห่ไปรอบเขาพระสุเมรุ ซึ่งการกำหนดเรื่องของนางสงกรานต์เป็นกุศโลบายเพื่อให้คนโบราณซึ่งยังไม่มีปฏิทินบอกวันเวลาและคนยังรู้หนังสือกันน้อยได้รู้ว่าวันมหาสงกรานต์ ซึ่งถือเป็นวันขึ้นปีใหม่ตามสุริยคติตรงกับวันใด ทางการจึงได้ใช้ภาพของนางสงกรานต์ทั้ง ๗ เทียบกับแต่ละวันในสัปดาห์ โดยแต่ละนางจะมีนามเรียกประจำตน ภักษาหาร อาวุธ และสัตว์ที่เป็นพาหนะแตกต่างกันตามแต่ละวัน
๑. วันอาทิตย์ ทุงษะเทวี ทรงพาหุรัดทัดดอกทับทิม อาภรณ์แก้วปัทมราช ภักษาหารอุทุมพร (ผลมะเดื่อ) พระหัตถ์ขวาทรงจักร พระหัตถ์ซ้ายทรงสังข์ เสด็จมาบนหลังครุฑ
๒. วันจันทร์ โคราคะเทวี ทรงพาหุรัดทัดดอกปีบ อาภรณ์แก้วมุกดา ภักษาหารเตลัง (น้ำมัน) พระหัตถ์ขวาทรงพระขรรค์ พระหัตถ์ซ้ายทรงไม้เท้า เสด็จมาบนหลังพยัคฆ์ (เสือ)
๓. วันอังคาร รากษสเทวี ทรงพาหุรัดทัดดอกบัวหลวง อาภรณ์แก้วโมรา ภักษาหารโลหิต พระหัตถ์ขวาทรงตรีศูล พระหัตถ์ซ้ายทรงธนู เสด็จมาบนหลังพระยาวราหะ (หมู)
๔. วันพุธ มัณฑาเทวี ทรงพาหุรัดทัดดอกจำปา อาภรณ์แก้วไพฑูรย์ ภักษาหารนมเนย พระหัตถ์ขวาทรงเหล็กแหลม พระหัตถ์ซ้ายทรงไม้เท้า เสด็จมาบนหลังคัทรภะ (ลา)
๕. วันพฤหัสบดี กิริณีเทวี ทรงพาหุรัดทัดดอกมณฑา อาภรณ์แก้วมรกต ภักษาหารถั่วงา พระหัตถ์ขวาทรงของ้าว พระหัตถ์ซ้ายทรงปืน เสด็จมาบนหลังพระยาคชสาร (ช้าง)
๖. วันศุกร์ กิมิทาเทวี ทรงพาหุรัดทัดดอกจงกลนี อาภรณ์แก้วบุษราคัม ภักษาหารกล้วยน้ำ พระหัตถ์ขวาทรงพระขรรค์ พระหัตถ์ซ้ายทรงพิณ เสด็จมาบนหลังมหิงสา (ควาย)
๗. วันเสาร์ มโหธรเทวี ทรงพาหุรัดทัดดอกสามหาว อาภรณ์แก้วนิลรัตน์ ภักษาหารเนื้อทราย พระหัตถ์ขวาทรงจักร พระหัตถ์ซ้ายทรงตรีศูล เสด็จมาบนหลังมยุรา (นกยูง)
นอกจากนี้ การกำหนดอิริยาบถที่นางสงกรานต์ขี่สัตว์พาหนะมา เพื่อแทนช่วงเวลาที่พระอาทิตย์ยกเข้าสู่ราศีเมษด้วย
๑. ในระหว่างเวลารุ่งเช้าจนถึงเที่ยง นางสงกรานต์จะยืนบนพาหนะ มีความเชื่อว่า ปีนั้น คนจะเกิดความเดือดร้อนเจ็บไข้
๒. ในระหว่างเที่ยงจนถึงค่ำ นางสงกรานต์จะนั่งบนพาหนะ มีความเชื่อว่า ปีนั้น จะเกิดความเจ็บไข้ ผู้คนล้มตายและเกิดเหตุเภทภัยต่างๆ
๓. ระหว่างค่ำไปจนถึงเที่ยงคืน นางสงกรานต์จะนอนลืมตาบนพาหนะ มีความเชื่อว่า ประชาชนจะอยู่เย็นเป็นสุข
๔. ระหว่างเที่ยงคืนไปจนถึงรุ่งเช้า นางสงกรานต์จะนอนหลับตาบนพาหนะ มีความเชื่อว่า พระมหากษัตริย์จะเจริญรุ่งเรืองดี