นอกเหนือจากพื้นที่การอ่านแล้ว ห้องสมุดในอนาคตจึงควรจัดพื้นที่เพื่อตอบสนองความต้องการเรียนรู้ที่หลากหลายของผู้ใช้ เช่น พื้นที่การเรียนรู้ผ่านการฟัง การดู การเล่น การแสดงออก และการพูด พื้นที่เพื่อการพบปะแลกเปลี่ยนความคิดเห็น แบ่งปันประสบการณ์ และการวิเคราะห์วิจารณ์ พื้นที่เพื่อการลงมือปฏิบัติหรือทดลองทำ นอกจากนั้น การเพิ่มโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัล เช่น wifi อุปกรณ์คอมพิวเตอร์หรืออุปกรณ์โมบายสำหรับยืมใช้งาน สิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ ภายในห้องสมุดกรณีผู้ใช้นำอุปกรณ์มาเอง เหล่านี้มีความสำคัญมากเท่าๆ กับการสร้างบรรยากาศหรือสภาพแวดล้อม
การเสวนานี้ได้ชวนไปทำความรู้จักกับกรณีศึกษาพื้นที่การเรียนรู้รูปแบบใหม่ เช่น อาคาร KX (Knowledge Exchange) ของมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี Creative and Meeting Place (C.A.M.P) ที่จังหวัดเชียงใหม่ และ Maker Space ที่ชื่อว่า MAKER ZOO ปรากฏการณ์เหล่านี้คือตัวอย่างพื้นที่การเรียนรู้ซึ่งเกิดขึ้นแล้วและก่อให้เกิดการสร้างความรู้ที่ตอบสนองความต้องการของผู้คนได้มากกว่าห้องสมุดแบบเดิม
วีดิทัศน์ Learning Space, Community Space, Maker Space แนวโน้มสู่ห้องสมุดอนาคต โดยพรเทพ ฉัตรภิญญาคุปต์ ทิฐินันท์ โชตินันทน์ ภานุวัจน์ ทองร่มโพธิ์ และ ภัทรพร โพธิ์สุวรรณ บันทึกในโอกาสการประชุมวิชาการประจำปี 2558 (TK Forum 2015) ของสำนักงานอุทยานการเรียนรู้