การอ่านออกเขียนได้ ซึ่งหมายถึงทักษะการอ่าน การเขียน และการคิดเลขเป็น ไม่เพียงพออีกต่อไปสำหรับศตวรรษที่ 21 เด็กที่จะประสบความสำเร็จในชีวิตและการทำงานต้องการชุดทักษะใหม่ๆ ที่แตกต่างไปจากคนยุคเดิม ล่วงเข้ามาในศตวรรษที่ 21 ถึง 14 ปีแล้ว นักการศึกษาทั่วโลกก็ยังไม่หยุดถกเถียงกันว่า ทักษะพื้นฐานชุดใหม่ที่เด็กยุคดิจิทัลควรมีอะไรบ้าง แต่คำตอบที่มักพูดถึงตรงกันคือ
1. ทักษะการแก้ไขปัญหา สามารถแก้ปัญหาที่ซับซ้อนได้ในเวลาอันรวดเร็ว
2. ทักษะคิดสร้างสรรค์ สามารถคิดแตกต่างจากคนอื่นได้และเกิดประโยชน์
3. ทักษะคิดวิเคราะห์ สามารถคิดเปรียบเทียบ สังเคราะห์ และประยุกต์ ข้อมูล ความรู้ หรือสถานการณ์
4. ทักษะความร่วมมือ ในการทำงานและดำรงชีวิตร่วมกับผู้อื่น
5. ทักษะการสื่อสาร ด้วยสื่อชนิดต่างๆ
6. ทักษะทางศีลธรรม เช่น การกระทำที่มีความรับผิดชอบต่อผู้อื่น
เอียน จูคส์ เห็นว่า วิธีการสอนแบบเดิมๆ ไม่สามารถที่จะพัฒนาทักษะที่จำเป็นเหล่านี้ให้เกิดขึ้นอย่างคล่องแคล่วจนกลายเป็นนิสัยและวิถีชีวิตของคนรุ่นใหม่ เพราะการศึกษาแบบเก่ายังไม่ได้ให้ความสำคัญกับการวัดทักษะดังกล่าว เมื่อวัดไม่ได้ก็ย่อมจะทำให้เกิดขึ้นไม่ได้ด้วยเช่นกัน ครูมักอ้างว่าไม่มีเวลา เพราะมัวใส่ใจแต่การสอนเพื่อให้เด็กทำข้อสอบ ซึ่งสุดท้ายแล้ว ก็ไม่ได้เป็นสิ่งที่ทำใด้เด็กเห็นความเชื่อมโยงระหว่างความรู้นั้นกับชีวิตของตนเอง
จูคส์ นำเสนอทฤษฎีว่าด้วยลำดับขั้นของทักษะการคิด (High Order Thinking Skill-HOTS) ตามการจัดแบ่งของบลูม (Bloom's Digital Taxonomy) ซึ่งสามารถประยุกต์ใช้เป็นฐานคิดสำหรับจัดการเรียนรู้สำหรับยุคดิจิทัลได้ หากศตวรรษที่ 21 คาดหวังให้คนมีทักษะการคิดที่สลับซับซ้อน ผู้สอนจำเป็นจะต้องปลูกฝังพื้นฐานการคิดในระดับต้นแล้วจึงจะต่อยอดให้เกิดเป็นทักษะการคิดในลำดับที่สูงขึ้นมา ดังนี้
1. Remember การจำได้
2. Understanding การรู้ว่าสิ่งที่จำได้มีความหมายอย่างไร เปรียบเทียบ และวิเคราะห์ได้
3. Applying ความสามารถในการนำข้อมูลมาประยุกต์ใช้
4. Analyzing การคิดวิเคราะห์แยกแยะข้อมูลอย่างละเอียดละออ
5. Evaluating การให้คุณค่าของข้อมูลและวิจารณ์ได้
6. Creating มีกระบวนการคิดใหม่ๆ
นอกจากนี้ ยังมีผลการศึกษาที่น่าสนใจเกี่ยวกับความสัมพันธ์ของรูปแบบการเรียนรู้และกระบวนการที่เกิดขึ้นในสมองว่า ในบรรดาการเรียนรู้แบบ Passive การเรียนรู้ด้วยโสตทัศน์ (Audiovisual) มีประสิทธิภาพดีกว่าการเรียนโดยการใช้ภาพ (Visual) และการเรียนโดยการใช้เสียง (Audio) ตามลำดับ ส่วนการจัดการเรียนรู้แบบมีส่วนร่วมนั้น การเรียนรู้ด้วยประสาทสัมผัสที่หลากหลาย (Multi sensation) มีประสิทธิภาพดีกว่าการเรียนโดยการพูดคุย (Verbal) ทั้งนี้การเรียนรูปแบบเก่าๆ ทำให้เด็กจดจำได้เพียง 15% ส่วนการเรียนรูปแบบใหม่ทำให้เด็กจดจำได้ถึง 70% โดยเป็นความจำที่ลึกซึ้งและถูกนำกลับมาใช้งานได้ซ้ำแล้วซ้ำอีก
มีคำกล่าวว่า
Tell me and I forget
Show me and I remember
Involve me and I understand
ผู้ที่เป็นครูถึงเวลาแล้วที่จะต้องทบทวนการจัดการเรียนการสอนที่เป็นอยู่อย่างจริงจัง ว่าเป็นไปเพื่อการสร้างทักษะที่จำเป็นที่เด็กจะดำรงชีวิตในศตวรรษที่ 21 แล้วหรือไม่ สามารถทำให้เด็กเกิดทักษะการคิดอยู่ในระดับใด และได้เลือกใช้รูปแบบการจัดการเรียนการสอนที่มีประสิทธิภาพมากที่สุดแล้วหรือยัง
วีดิทัศน์ Literacy is Not Enough โดย เอียน จูคส์ บันทึกในโอกาสการประชุมวิชาการประจำปี 2557 (TK Forum 2014) ของสำนักงานอุทยานการเรียนรู้