บทความนี้มีเนื้อหาบางส่วนที่กล่าวถึงความรุนแรงและคดีอาชญากรรมที่เกิดขึ้นจริงในสังคม โปรดใช้วิจารณญาณในการอ่าน
ยอดรับชมหรือรับฟังรายการเรื่องเล่าคดีอาชญากรรมที่หลายครั้งทะลุไปถึงหลักพัน หลักหมื่น หรือบางครั้งหลักแสน คือหนึ่งในปรากฏการณ์ทางสังคมที่บ่งบอกว่าเรื่องราวเหล่านี้กำลังอยู่ในความสนใจร่วมกันของคนในสังคม
TK Park จึงจับมือกับ The MATTER ในเทศกาลการเรียนรู้กรุงเทพฯ Learning Fest Bangkok 2023 แล้วชวนนักจัดรายการเล่าเรื่องคดีอาชญากรรม 4 คน คือ ‘ยช — ยชญ์ บรรพพงศ์’ และ ‘ธัญ — ธัญวัฒน์ อิพภูดม’ จาก Untitled Case ‘ฟาโรห์ — ตชภณ คำสีแก้ว’ จาก The Common Thread และ ‘หมอตังค์ — มรรคพร ขัติยะทองคำ’ จาก Tang Makkaporn มาคุยกันในเรื่องว่าด้วย ‘นอกจากความสนุก เราเรียนรู้อะไรบ้างจากคดีอาชญากรรม’↗
งานนี้จึงไม่ใช่เพียงแค่การชวนคิดวิเคราะห์เรื่องคดีอาชญากรรม แต่เป็นการพาย้อนไปสำรวจเส้นทางที่นำพาพวกเขาเข้าสู่วงการ ไปจนถึงการพยายามตอบคำถามใหญ่ ๆ เช่น คดีอาชญากรรมเกี่ยวข้องกับเราอย่างไร ทำไมถึงต้องเรียนรู้คดีอาชญากรรม คนเราหลงรักฆาตกรได้จริงหรือ Flow State คืออะไร กฎหมายสะกดรอยติดตามรังควานจำเป็นสำหรับเมืองไทยแค่ไหน และเราตั้งคำถามเอ๊ะ! กับคดีอาชญากรรมได้อย่างไร ในมิติไหนบ้าง
เอ๊ะ! ยังไง ไหนให้สี่หนุ่มเล่าซิ!
นิยายสืบสวน การ์ตูน สารคดี ภาพยนตร์ คือจุดเริ่มต้นของความสนใจ
ธัญ: เราอ่านการ์ตูนอย่างโคนัน นิยายสืบสวนสอบสวนอย่างคินดะอิจิ นิยายของ อกาธา คริสตี ที่มีเรื่องราวลึกลับกึ่งสยองขวัญ แต่มีการสืบสวนสอบสวน เป็นความชอบอ่านในตอนเด็ก พอโตแล้วมีคนชวนทำพอดแคสต์เกี่ยวกับเรื่องลี้ลับที่ไม่ใช่เรื่องผี (รายการ Untitled Case) เลยนึกถึงความเอ๊ะ! ที่มีมาตั้งแต่เด็กว่า ความเชื่อ ความลึกลับ และความงมงาย สามารถมองหรือตั้งคำถามเชิงสังคมได้ไหมว่า ทำไมเขาถึงเชื่อ เชื่อแล้วนำไปสู่พฤติกรรมอะไร ในการนำเสนอ คนทั่วไปจะเล่าแบบเส้นตรง ทุกอย่างดูเป็นเรื่องผีมาก แต่ถ้าเราอยากเอ๊ะ! กับเรื่องนี้ เราจะเปลี่ยนมุมมองในการเล่าเรื่องเหล่านี้ได้ยังไงบ้าง เป็นเชิงสังคม การเมือง รัฐศาสตร์ นิติศาสตร์ได้บ้างไหม
...นี่คือจุดเริ่มต้นที่น่าจะคล้ายกับใครหลายคนที่ไม่ได้ตีความเรื่องลึกลับให้เป็นเรื่องงมงายเสมอไป และตั้งคำถามว่าเราจะมองสิ่งนี้ในมุมใหม่และหาความรู้ใหม่ ๆ ได้ยังไงบ้าง
ยชญ์: ส่วนผมชอบอ่านการ์ตูน ไม่จำกัดว่าต้องเป็นการ์ตูนญี่ปุ่นเท่านั้น การ์ตูนเน็ตเวิร์ก หรือช่อง True Spark ก็ดู เพราะผมชอบดูการ์ตูนมาก ๆ รู้สึกว่าการ์ตูนส่งผลและมีอิทธิพลต่อวิธีคิดของตัวเอง พอคุยกับเพื่อน เราก็มีต่อมเอ๊ะ! และมองโลกในมุมที่ไม่เหมือนเพื่อน เมื่อมีโอกาสทำรายการ Untitled Case ก็เลยใช้ความเอ๊ะ! มาเล่าในแบบของตัวเอง
ฟาโรห์: จุดเริ่มต้นความเอ๊ะ! ของผม คือรู้ว่าตัวเองชอบฟังชอบดูมากกว่าอ่าน ความเอ๊ะ! ตอนเสพเรื่องราวจากต่างประเทศคือข้อจำกัดด้านภาษาและช่องทางที่ไม่สะดวกเหมือนปัจจุบัน แต่ด้วยสภาพแวดล้อมบ้านเราที่บีบให้ต้องเสพด้วยการอ่าน คิดว่าน่าจะมีคนที่ชอบเสพด้วยการฟังหรือดูอย่างเรา เลยคิดว่านี่เป็นพื้นที่ให้เราหยิบเรื่องราวที่ตัวเองสนใจ เช่น ประวัติศาสตร์ การเมือง True Crime และเรื่องราวลี้ลับต่าง ๆ เป็นที่มาที่ทำให้เราสนใจเรื่องราวในประเด็นนี้
ตังค์: ตอนเด็กมีหนังที่ชอบมากคือเรื่อง Seven ที่ทำให้เข้าไปอยู่ในวงการอาชญากรรมตั้งแต่เด็ก ตอนแรกคิดว่าเป็นหนังอาชญากรรมที่มีการไล่ล่า เพราะเป็นฆาตกรต่อเนื่องที่ไล่ฆ่าเหยื่อตามบาปทั้ง 7 ดูไปก็ลุ้นว่าจะจับได้ไหม สุดท้ายหนังเรื่องนี้ทำให้รู้ว่า ไม่ว่าคุณจะเป็นใคร ทุกคนมีความรู้สึกและมีอารมณ์ รู้สึกว่ามนุษย์มีความหลากหลายมาก เลยชอบเรื่องจิตวิทยาและศึกษาเรื่องราวเกี่ยวกับมนุษย์ พอได้เรียนหมอ ได้เรียนนิติเวช รู้สึกว่าน่าสนใจมาก เลยยิ่งชอบเสพเรื่องราวอาชญากรรมและสนใจเรื่องนี้
‘เอ๊ะ! ...นี่เราเคยเรียนมานี่นา’ เมื่อความรู้ตอบโจทย์ในสิ่งที่เรากำลังทำ
ตังค์: ประสบการณ์การเรียนแพทย์ทำให้รู้ว่า คดีฆาตกรรมที่เกิดขึ้นล้วนเชื่อมโยงกับความรู้ทางการแพทย์ทั้งสิ้น พอได้ทำช่อง ‘เวรชันสูตร’ (ช่องยูทูบเล่าเรื่องราวคดีฆาตกรรมมีผ่านมุมมองของแพทย์) เลยพบว่า คนคนนี้ป่วยเป็นโรคนี้ เราก็เอ๊ะ! ‘เราเคยเรียนมานี่นา’ ไม่น่าเชื่อว่าความรู้ทางการแพทย์จะมาโยงกับเรื่องราวอาชญากรรมเฉยเลย ขอยกตัวอย่าง 3 โรค ได้แก่ 1) Hybristophilia หรือโรคหลงรักฆาตกร เกิดในกลุ่มคนที่รู้สึกเชื่อมั่นในตัวเองต่ำ (Low Self-esteem) จนรู้สึกว่าตนคู่ควรกับคนที่อยู่ในสถานะด้อยกว่าในทางสังคม ในทีนี้หมายถึงฆาตกร 2) Autoerotix Asphyxiation คือ การทำให้ตัวเองเกือบจะขาดอากาศหายใจขณะสำเร็จความใคร่ตัวเองเพื่อไปถึงจุดสุดยอด และ 3) Coprophagia โรคคนชอบกินอุจจาระ เราก็เอ๊ะ! ว่า นี่คือโรคที่เราเคยเรียนมา ซึ่งยังไปเชื่อมโยงกับคดีอาชญากรรมหรือเรื่องราวการตายของผู้คนได้ เลยรู้สึกว่าเราสามารถนำความรู้ทางการแพทย์ที่เคยเรียนมาใช้ในการเล่าเรื่องได้ ดังนั้น มันประยุกต์ได้กับทุกสถานการณ์จริง ๆ คำอธิบายลักษณะนี้ทำให้เรามองอาชญากรรมอย่างละเอียดขึ้น และเห็นองค์ประกอบอื่น ๆ ในสังคมที่แวดล้อมอาชญากรรมอยู่อีกเต็มไปหมด
หมั่นเอ๊ะ! กับตัวเอง เพื่อรู้ให้เท่าทันก่อนใช้ความเชื่อของเราตัดสินคร่าชีวิตคนอื่น
ธัญ: สังคมไทยในปัจจุบันขาด Empathy (ความเข้าอกเข้าใจผู้อื่น) อาจจะด้วยความรวดเร็วของการสื่อสารในยุคนี้ที่ทำให้เราด่วนตัดสินคนอื่น แต่ถ้าเรารู้ปุ๊บ เอ๊ะ! ปุ๊บ ความเอ๊ะ! ที่เกิดขึ้นแทรกระหว่างการจะตัดสินใคร จะช่วยให้เรารู้เท่าทันอคติของตัวเองที่อาจใช้ตัดสินคนอื่นโดยไม่รู้ตัว เราต้องคิดในมุมคนอื่นว่าที่เขาเป็นแบบนี้ ทำแบบนี้ เป็นเพราะอะไรได้บ้าง บางทีคำตอบที่เรามี เป็นคำตอบที่สำเร็จรูปเกินไปหรือเปล่า ผมว่านี่คือยุคนี้การตั้งคำถามเป็นสิ่งสำคัญ เราควรตั้งคำถามกับสิ่งที่เราเชื่ออยู่
ฟาโรห์: การที่เราจะเห็นอกเห็นใจคนอื่นได้ เราต้องเข้าใจเขาก่อน อย่างเคสที่เป็นโรคที่มองไม่เห็นได้ด้วยตาเปล่า เช่น โรคที่เกี่ยวกับสภาวะจิตใจ โรคเสพติดเซ็กซ์ ด้วยค่านิยมทางศีลธรรม คนจะมองว่าเลวชั่วร้าย หรือโรค DID (Dissociative Identity Disorder — โรคหลายบุคลิก) คนจะมองว่าแกล้งเป็นหรือเปล่า พยายามสร้างตัวตนขึ้นมาเพื่อเรียกร้องความสนใจหรือเปล่า ความไม่เข้าใจแบบนี้ทำให้ผู้ป่วยต้องเผชิญความทุกข์ทรมานจากทั้งอาการเจ็บป่วย แล้วยังต้องใช้ความพยายามยิ่งขึ้นในการใช้ชีวิตในสังคม ซึ่งโรคที่มองไม่เห็นด้วยตามีขีดความสามารถในการคร่าชีวิตคนได้มากกว่าโรคที่มองเห็นเสียอีก ทำไมเราถึงปฏิบัติกับผู้ที่เป็นโรคเหล่านี้แตกต่างกัน เพียงเพราะเราไม่เห็นมัน ซึ่งเราพยายามเล่าเรื่องและนำเสนอโรคเหล่านี้ และเราก็รู้ว่ามันมีประโยชน์ เพราะได้รับฟีดแบ็กจากคนดูที่ขอบคุณเราที่ได้อธิบายโรคเหล่านี้ให้เขารู้จักและเข้าใจมากขึ้น
ยชญ์: สมัยก่อน คนจะคิดว่าการป่วยโรคทางจิตเภทเป็นเรื่องคำสาป เวทมนตร์ แม่มด แต่พอค้นพบเชื้อโรคก็รู้ว่านี่คือตัวการที่แท้จริง โรคเหล่านี้ก็เหมือนกัน เราแค่ไม่เห็นตัวการ เลยไปคิดว่าสิ่งที่พวกเขาซัพเฟอร์อยู่เป็นเรื่องไม่จริง ซึ่งเป็นเรื่องที่เจ็บปวดสำหรับคนป่วยที่เป็นโรคนั้นอยู่
ตังค์: ดังนั้น สังคมและคนรอบข้างจึงสำคัญ จากคดีอาชญากรรม เรามักเห็นว่าคนที่ป่วยเป็นโรคเหล่านี้จะมีวิธีรับมือหรือการจัดการที่ไม่ถูกต้อง เพราะขาดทั้งความรู้ความเข้าใ และขาดความเห็นใจจากคนรอบข้างที่มักตัดสินเขาไปก่อนแล้ว ผมเจอคนไข้ที่มีความหลากหลาย มีรสนิยมเฉพาะกลุ่ม ซึ่งเขาถูกเพื่อน ๆ มองว่าเป็นตัวแปลกประหลาด ทั้งที่จริงแล้ว เขาไม่ได้แปลก แต่แค่ไม่เหมือนใคร ก่อนอื่นต้องเข้าใจตัวเอง รู้ว่าเราเป็นอะไร ต้องจัดการยังไง และมองความหลากหลายว่าคือความสวยงาม เหมือนอย่างต้นไม้ที่มีหลายพืชพันธุ์ สังคมต้องเข้าใจเขาและมีเครื่องมือในการให้ความรู้เขา นี่คือสิ่งที่หลายคนในวงการอาชญากรรมกำลังขับเคลื่อนและผลักดันอยู่
Flow State สัญชาตญาณการเอาตัวรอดของมนุษย์เอ๊ะ
ยชญ์: ผมสังเกตว่าตัวเองมักหยิบเรื่องการเอาตัวรอดของผู้คนมาเล่าในรายการอยู่บ่อยครั้ง เพราะสนใจภาวะที่เรียกว่า Flow State ซึ่งคือการจดจ่ออยู่กับสิ่งที่ทำ ที่เกิดขึ้นในสถานการณ์ที่อันตรายและคับขัน เป็นกระบวนการเอาตัวรอดด้วยวิธีการใด ๆ ที่ในภาวะปกติเราอาจจินตนาการไม่ถึงว่าตัวเองจะทำเช่นนั้นได้ เช่น การดื่มฉี่ตัวเองเพื่อไม่ให้ร่างกายขาดน้ำ หรือการกินเครื่องในค้างคาวสด ๆ เพื่อประทังชีวิตเมื่อติดพายุท่ามกลางทะเลทรายอันเวิ้งว้าง นี่คือสัญชาตญาณของมนุษย์ที่ผมรู้สึกเอ๊ะ! และสนใจภาวะภายในจิตใจมนุษย์ในขณะที่ต้องเอาชีวิตรอด ทำให้เรารู้ว่า ในสถานการณ์ที่ยากลำบาก เรื่องจิตใจสำคัญกว่าร่างกายมาก
ธัญ: สิ่งที่ผมเอ๊ะ! กับการเอาตัวรอด คือ การอยู่ในช่วงคับขันหรือหน้าสิ่วหน้าขวาน เราตัดสินใจทำในสิ่งที่ไม่เคยทำได้เพราะอะไร แต่ที่สำคัญกว่าคือเราจะทำยังไงให้ความรู้และประสบการณ์ที่สะสมมาทั้งชีวิตเอามาใช้ได้ ณ ขณะนั้น ผมคิดว่าการอ่านทำให้เราได้รับประสบการณ์บางอย่าง เป็นการเก็บสะสมวัตถุดิบที่เป็นความรู้เอาไว้ เราไม่รู้หรอกว่า ความรู้ที่สั่งสมไว้จะได้นำมาใช้ในวันไหนหรือเปล่า แต่ในยามคับขัน เราอาจได้ใช้มันก็ได้ ฉะนั้น อย่าดูแคลนความรู้ที่ได้มาไม่ว่าจะตั้งใจหรือบังเอิญก็ตาม
ฟาโรห์:The Common Thread (ช่อง YouTube ที่เล่าเรื่องราวลี้ลับ หรือคดีฆาตกรรมในประวัติศาสตร์) พยายามถ่ายทอดองค์ความรู้ในสถานการณ์ฉุกเฉิน หรือข้อมูลที่หลายคนอาจคิดว่าไม่จำเป็นต้องรู้ แต่เราอยากให้รู้ไว้ เพราะถ้าถึงวันที่ต้องใช้ คุณจะได้ทำได้ และการรู้ไว้ถึงจะไม่ได้ใช้ก็ยังเป็นเรื่องดีอยู่ดี เพราะอย่าลืมว่า เราไม่มีทางรู้เลยว่า ความรู้เหล่านี้มีค่ามากแค่ไหน บางครั้งอาจหมายถึงชีวิตเราหรือของคนที่เรารัก อยากให้เอ๊ะ! เวลาดูข่าวเหตุการณ์โศกนาฏกรรมต่าง ๆ พิจารณาดูข้อมูลต่าง ๆ ที่เราอาจมองว่าไม่จำเป็น เรารู้ไว้สักหน่อยดีไหม ถ้าวันหนึ่งต้องใช้ เราจะใช้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ
คดีอาชญากรรม ดูแล้วทำไมต้องเอ๊ะ! ต่อ
ฟาโรห์: เอ๊ะ! ของผมคือการอ่านเรื่องราวคดีต่างประเทศ และโดยส่วนตัว ผมสนใจกฎหมายสะกดรอยติดตามรังควานเป็นพิเศษ อย่างในประเทศญี่ปุ่น การร่างหรือแก้กฎหมายต่อต้านการสะกดรอยติดตามรังควานจะเกิดขึ้นตามหลังเหตุการณ์น่าสลด หรือมีความสูญเสียเกิดขึ้นก่อนเสมอ ผมก็เอ๊ะ! ว่า ในบ้านเราทุกวันนี้ก็มีสถานการณ์ไม่แตกต่างจากญี่ปุ่น แต่ ประเทศไทยยังไม่มีกฎหมายลักษณะนี้เลย แล้วทำไมเราต้องรอให้เกิดการสูญเสียอย่างเขาก่อนล่ะ และหลายครั้งผู้ที่มองข้ามอันตรายที่อาจเกิดขึ้นจากการถูกสะกดรอยกลับเป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจเสียเองด้วยซ้ำ เรื่องราวที่ผมนำมาถ่ายทอดในรายการจึงเป็นอุทาหรณ์เพื่อให้ทุกคนได้เอ๊ะ! เพื่อช่วยกันผลักดันกฎหมายที่ปกป้องคุ้มครองเราได้โดยไม่จำเป็นต้องให้เหตุการณ์สูญเสียเกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำเล่า
ธัญ: เป็นคนชอบเสพคดีฆาตกรรม ผมจะเอ๊ะ! เสมอว่าเราตั้งคำถามอะไรจากสิ่งที่ดูได้บ้าง แล้วพยายามส่งเสียงออกมา ชวนสังคมพูดคุยและรับรู้ถึงเรื่องนี้ ว่าเนื้อในของสังคมเรา เป็นรากฐานของคดีเหล่านี้หรือเปล่า ถ้าเราอยากสร้างสังคมที่ดีขึ้นในอนาคตสำหรับลูกหลานเรา เราแก้ไขอะไรได้บ้างไหม
จากบทสนทนาข้างต้น เราได้เรียนรู้ประเด็นหนึ่งที่สำคัญ ว่าสำหรับผู้ที่ผันตัวมาเป็นนักจัดรายการแนวนี้ สิ่งที่ทำให้พวกเขาหลงใหลในเรื่องราวอาชญากรรมเหล่านี้ ไม่ใช่แค่เพราะความสนุกลึกลับและเทคนิคการสืบสวนที่เหนือชั้นเพียงเท่านั้น แต่คดีอาชญากรรมที่ซับซ้อน หรือหลายครั้งก็สะเทือนขวัญเหล่านี้ ยังสะท้อนแง่มุมอื่น ๆ ให้เราได้กลับมาสำรวจความเข้าใจต่อโลกและการเป็นมนุษย์ของพวกเรากันเอง รวมถึงยังทำให้เราได้เห็นถึงความสำคัญของการสะสมความรู้และการรู้เท่าทันในสถานการณ์ต่าง ๆ เพื่ออยู่ร่วมกันกับเพื่อนมนุษย์อย่างเข้าอกเข้าใจมากขึ้น และอาจมีส่วนร่วมกันไม่ให้เกิดเหตุสะเทือนขวัญขึ้นซ้ำอีกนั่นเอง