“...ผมคิดว่ายากที่จะเปลี่ยน สำหรับคนที่ชินกับอย่างหนึ่ง แม้ว่ามันจะเป็นสิ่งไม่ดี
แล้วพอเขายอม ทุกๆ คนก็เลยพ่ายแพ้...”
แทรเวอร์ แม็คคินนีย์ - Pay It Forward
เมื่อวันอาทิตย์ที่ 20 พฤษภาคม 2555 เวลา 14.00 น. ณ ห้องมินิเธียร์เตอร์ 1 อุทยานการเรียนรู้ TK park จัดฉายภาพยนตร์เรื่อง “Pay It Forward หากใจเราพร้อม จะให้(ใจ)เราจะได้มากกว่าหนึ่ง” ภาพยนตร์ที่ถ่ายทอดเรื่องราวของเด็กชายแทรเวอร์ แม็คคินนีย์ที่ทุกข์ใจกับการมีแม่ที่เสพติดแอลกอฮอล์ และหวาดกลัวพ่อที่ใช้ความรุนแรงจะกลับมา เด็กชายพบกับครูสอนวิชาสังคมศาสตร์คนใหม่ซึ่งมอบหมายการบ้าน “คิดหาแนวทางเปลี่ยนแปลงโลก แล้วนำไปปฏิบัติ” แทรเวอร์แปลงความหมายของการทำความดีที่มิใช่การตอบแทน แต่เป็นการทำดีต่อไป ซึ่งก็คือการทำความดีแก่ผู้อื่นต่อไปอีกสามคน แนวคิดเรื่องการพยายามทำความดีของแทรเวอร์นำมาซึ่งการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ ไม่เพียงต่อชีวิตของเขา แม่ของเขา และครูของเขาผู้มีบาดแผลทั้งร่างกายและจิตใจ แต่ยังมีผลต่อคนอื่นๆ ในวงกว้างที่ไม่รู้จักเขา
# 1 ต้องทำสิ่งที่เป็นการช่วยเหลือผู้อื่นอย่างแท้จริง
# 2 ต้องเป็นสิ่งที่พวกเขาไม่สามารถทำได้ด้วยตัวเอง
# 3 เราทำให้พวกเขา, พวกเขาทำต่อให้คนอื่นอีกสามคน
แทรเวอร์ แม็คคินนีย์ - Pay It Forward
แทรเวอร์ กับแผนภูมิแนวคิด “Pay It Forward” ของเขา
ทฤษฎี Pay It Forward เป็นแนวคิดที่เชื่อว่า เราทุกคนสามารถสร้างโลกให้น่าอยู่ได้ โดยเริ่มทำความดีจากตัวเราเอง ช่วยเหลือคนรอบข้างที่เดือดร้อน ขณะผู้ที่ได้รับความช่วยเหลือก็มีหน้าที่ตอบแทนโดยการส่งมอบความช่วยเหลือให้แก่ผู้อื่นต่อไปเรื่อยๆ เมื่อมีโอกาส เพียงเท่านี้การทำความดีก็จะเพิ่มขึ้นทวีคูณไม่สิ้นสุด และสามารถเปลี่ยนโลกของเราให้น่าอยู่ได้ แรกเริ่มเดิมที Pay It Forward เป็นหนังสือซึ่งผู้เขียน คือ Catherine Ryan Hyde ได้เล่าถึงแรงบันดาลใจในการเขียนนวนิยายเรื่องนี้ว่ามาจากประสบการณ์จริงของเธอที่เคยเกิดขึ้นเมื่อประมาณ 20 กว่าปีมาแล้ว
“...กลางดึกคืนหนึ่งฉันขับรถอยู่บนถนนสายเปลี่ยว แล้วรถเกิดเสียขึ้นมา มีควันเข้ามาในรถ ด้วยความตกใจกลัว ฉันเห็นชายสองคนเดินเข้ามา ในใจคิดว่าเขาจะมาปล้นหรือทำร้าย ปรากฎว่าเขาเข้ามาช่วยดูรถให้ และช่วยชีวิตฉันจากการระเบิดของเครื่องยนต์ รวมทั้งตามหน่วยกู้ภัยมาให้ และขณะที่ฉันกำลังพูดคุยอยู่กับเจ้าหน้าที่กู้ภัยอยู่นั้น ฉันก็พยายามมองหาชาย 2 คนนั้นเพื่อจะกล่าวคำขอบคุณ แต่ก็ไม่เห็นพวกเขาเสียแล้ว ฉันเองอยากจะตอบแทนพวกเขา แต่ก็ไม่รู้จะทำอย่างไร ตั้งแต่นั้นมาฉันจึงคอยมองผู้คนรอบข้างที่ต้องการความช่วยเหลือ และช่วยเหลือพวกเขา ทั้งนี้เพื่อเป็นการตอบแทนคนแปลกหน้าที่ 2 คน ที่เขาเคยช่วยฉันในคืนนั้นนั่นเอง...”
จนกระทั่งต่อมาเรื่องราวจากตัวอักษรในหนังสือก็ได้ถูกนำมาดัดแปลงเป็นภาพยนตร์ โดยฝีมือการกำกับของ Mimi Leder เขียนบทโดย Catherine Ryan Hyde, Leslie Dixon นำแสดงโดย Kevin Spacey, Helen Hunt, Haley Joel Osment และนักแสดงมากฝีมืออีกจำนวนมาก
หลังจากฉายภาพยนตร์จบลงก็เข้าสู่ช่วงเสวนา โดยมีคุณชาญชนะ หอมทรัพย์ คอลัมนิสต์นิตยสาร Bioscope และตัวแทนจากหอภาพยนตร์แห่งชาติเป็นวิทยากร และคุณยุทธินัย ยั่งเจริญ หรือพี่ต้อง นักจัดการความรู้ ฝ่ายกิจกรรมประจำอุทยานการเรียนรู้ TK park เป็นพิธีกรดำเนินการเสวนาในครั้งนี้
ช่วงเสวนาโดยคุณชาญชนะ หอมทรัพย์ (ซ้าย) และ พี่ต้อง - ยุทธินัย ยั่งเจริญ (ขวา)
คุณชาญชนะเริ่มต้นด้วยการบอกเล่าถึงที่มาที่ไปของภาพยนตร์ “Pay It Forward” หนังปลุกกระแสทำความดีที่โด่งดังมากในยุคสิบกว่าปีที่แล้ว (ปี 2000)
“แนวคิด Pay It Forward หรือ การส่งต่อความดี ซึ่งเป็นที่มาของภาพยนตร์เรื่องนี้ ผมคิดว่าหัวใจสำคัญ คือ การเปลี่ยนแปลง (Change) และให้โอกาส จะเห็นได้ว่าหนังพูดถึงสองสิ่งนี้ควบคู่กันตลอด อย่างคำว่า “เปลี่ยน” แต่ละคนก็มีวิธีคิดในการเปลี่ยนแปลงที่แตกต่างกันด้วยปัญหาส่วนตัว ด้วยธรรมชาติของแต่ละคน แต่ไม่ว่าคุณจะเปลี่ยนอะไรก็แล้วแต่ต้องเปลี่ยนในสิ่งที่ยากที่สุดสำหรับใจเรา ระยะเวลาไม่ใช่สิ่งสำคัญ ต่อให้บอกว่าเลิกหรือเปลี่ยนแปลงตัวเองมานานแค่ไหน แต่ถ้าสุดท้ายใจคุณไม่เปลี่ยน ก็มีโอกาสกลับไปเป็นเหมือนเดิมได้อีกครั้ง และตัวแปรสำคัญอีกอย่างหนึ่งที่จะทำให้การเปลี่ยนแปลงนั้นสำเร็จหรือไม่ ก็คือ “โอกาส” เหมือนอย่างที่คนจรจัดขึ้ยาที่แทรเวอร์ช่วยเหลือไว้ได้บอกกับแม่ของเด็กชายว่าเพราะแทรเวอร์หยิบยื่นโอกาสให้เขา ทำให้เขารู้สึกว่าชีวิตยังมีทางออก และมีกำลังใจที่จะเริ่มต้นเปลี่ยนแปลงตัวเองให้ได้”
แต่ทว่าเมื่อแนวคิด “Pay It Forward” แพร่หลายมายังเมืองไทย ทั้งคำว่า “เปลี่ยน” และ “โอกาส” ถูกนำมาตีความหมายรวมกันเป็น “ความดี” ซึ่งคุณชาญชนะได้ให้ความเห็นเกี่ยวกับประเด็นนี้ว่า
“โดยส่วนตัวผมรู้สึกว่าเป็นการตีความที่ดูรวบรัดไปหน่อย เพราะนิยามของการทำความดีมันกว้างมาก เราจะตีความการทำความดียังไง อย่างเช่น วันนี้ผมตื่นเช้าขึ้นมาสวดมนต์ มันคือการทำความดีอย่างหนึ่ง แต่เป็นความดีที่เป็นส่วนตัว ถามว่าการสวดมนต์ช่วยเปลี่ยนแปลง หรือสร้างประโยชน์ให้กับผู้อื่นไหม ก็ตอบยาก เพราะมันไม่ได้เห็นผลชัดเจน เหมือนการเปลี่ยนแปลงหรือให้โอกาส”
หลายคนคงอยากรู้ว่า ตัวอย่าง Pay It Forward ในเมืองไทยที่เห็นชัดเจนเป็นรูปธรรมมีอะไรบ้าง แล้วเป็นไปได้ไหมที่คนธรรมดาอย่างเราๆ จะเริ่มต้นสร้างปรากฏการณ์ยิ่งใหญ่ให้เกิดขึ้นแบบแทรเวอร์ แม็คคินนีย์ เด็กชายตัวน้อยที่เป็นตัวละครเอกของเรื่อง
“ตัวอย่างแนวคิด Pay It Forward ในเมืองไทยที่เห็นได้ชัด คงจะเป็นโครงการ CSR ของบริษัทต่างๆ เช่น สร้างโรงเรียนตามชนบท, บริจาคหนังสือ แต่ประเด็นที่หนังเรื่องนี้เน้นคือ การที่คนธรรมดาหยิบยื่นโอกาสให้แก่ผู้อื่น และผู้ที่ได้รับโอกาสนั้นส่งต่อไปให้ผู้อื่นเรื่อยๆ ถามว่า Pay It Forward ในรูปแบบนี้มีโอกาสเป็นไปได้ในเมืองไทยไหม ก็เป็นไปได้ เพียงแต่ว่ามันยังไม่เคยมีการเริ่มต้นอย่างจริงจังในแบบเดียวกับที่เราเห็นในหนัง ยกตัวอย่างเวลาขึ้นรถเมล์ ผมว่าเป็นสถานการณ์วัดใจมาก ต้องตั้งคำถามและหาคำตอบให้ได้ว่า เราพร้อมที่จะลุกให้คนที่สมควรนั่งกว่าเราหรือเปล่า ซึ่งจะเห็นได้ว่าสังคมเรามักจะล้มเหลวกับเรื่องแบบนี้ ผมก็ฟันธงไม่ได้เหมือนกันว่าเพราะอะไร แต่หนังเรื่องนี้ชี้ให้เราเห็นว่ามันมีโอกาสที่จะเป็นไปได้ ขอเพียงแค่เราเริ่มต้นที่จะลงมือทำ”
หากดูแค่หน้าหนังบนโปสเตอร์ เชื่อว่าหลายคนคงคิดว่าภาพยนตร์เรื่องนี้เป็นหนัง Feel Good ที่จบลงอย่างมีความสุข แต่สุดท้ายหนังเรื่องนี้กลับเลือกตอนจบแบบหักมุมที่สั่นสะเทือนหัวใจผู้ชมแบบคาดไม่ถึง
โปสเตอร์หนังเรียบง่าย แต่คลาสสิก
“ผู้กำกับคงตั้งใจให้หนังเรื่องนี้เป็นโศกนาฏกรรมที่สร้างแนวคิดอันเป็นตำนาน ติดตรึงใจผู้ชม เพราะมีทฤษฎีที่เชื่อว่าคนเรามักจะจดจำเรื่องเศร้าได้ดีกว่าเรื่องที่มีความสุข เมื่อเรื่องราวดำเนินไปจนเราเริ่มรู้สึกว่าแนวคิด Pay It Forward กำลังเวิร์ค ผู้ใหญ่และใครๆ เริ่มเห็นคุณค่าแล้ว แต่เด็กชายที่เป็นต้นคิดกลับต้องเสียชีวิตไปจากการทำตามแนวคิดของตัวเขาเอง ในแง่หนึ่งมันก็แสดงให้เห็นว่าในที่สุดสิ่งที่เขาคิดก็กลายเป็นปรากฏการณ์ที่ยิ่งใหญ่ เห็นได้จากฉากจบที่มีผู้คนมากมายเดินทางมาร่วมไว้อาลัยที่หน้าบ้านของแทรเวอร์ ถึงแม้ตัวเขาจะตายไปแล้ว แต่แนวคิดที่ยิ่งใหญ่ยังคงอยู่ และการจากไปของเขาก็ได้ส่งผลให้แนวคิดนี้แพร่หลายไปอย่างกว้างขวาง” คุณชาญชนะกล่าวทิ้งท้ายก่อนจบการเสวนาในวันนี้
ถึงแม้ว่าหนังเรื่องนี้จะไม่ประสบความสำเร็จในแง่ของรายได้ แต่ถ้าสามารถทำให้ผู้ชมสักร้อยคน สิบคน หรือเพียงแค่หนึ่งคนเกิดแรงบันดาลใจอยากทำความดีและส่งความช่วยเหลือไปยังผู้อื่นต่อๆ กันไป คงเป็นความสำเร็จที่ยิ่งใหญ่ยากที่จะประเมินค่า
อย่ามัวแต่รอให้ผู้อื่นเป็นฝ่ายเริ่มต้น ดูหนังเรื่องนี้จบ ลองถามตัวเองดูไหมว่า “วันนี้เราพร้อมที่จะ Pay It Forward แล้วหรือยัง?”
rawee_one