เนื่องในเดือนแห่งความรัก ทั่วทุกพื้นที่จึงลานตาไปด้วยมวลดอกไม้นานาชนิดที่บานสะพรั่ง รวมทั้งพื้นที่ของอุทยานการเรียนรู้ TK park ก็เต็มไปด้วยสีสันอันหลากหลายของดอกไม้นานาพันธุ์ด้วยเช่นกัน
หลายคนอาจไม่ทราบว่า ดอกไม้มิได้มีเพียงแค่รูปลักษณ์อันสวยงามที่เรามองเห็นจากภายนอกเท่านั้น เพราะสีสันอันหลากหลายของดอกไม้ที่นอกจากจะเป็นสิ่งประดับตกแต่งเพื่อเพิ่มความสวยงามชั้นยอดแล้วยังอุดมไปด้วยคุณประโยชน์สำหรับร่างกายมนุษย์อีกมากมาย อุทยานการเรียนรู้ TK park จึงร่วมมือกับกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) จัดนิทรรศการ “ครัวดอกไม้…Flowers Kitchen” พร้อมกิจกรรมดีๆ เพื่อเผยแพร่ความรู้เกี่ยวกับคุณค่าทางโภชนาการของดอกไม้ โดยเฉพาะดอกไม้ที่หาได้ใกล้ตัวจากในท้องถิ่นของเราเอง
ภายในบริเวณลานสานฝันมีนิทรรศการที่ให้เกร็ดความรู้เกี่ยวกับประโยชน์ของดอกไม้แต่ละชนิด แต่ละกลุ่มสี ว่ามีคุณสมบัติช่วยป้องกันหรือบรรเทาอาการเจ็บป่วยใดได้บ้าง รวมถึงวิธีการเลือกสรรดอกไม้มารับประทานนั้นสามารถรับประทานดอกไม้ชนิดและรับประทานส่วนใดของดอกไม้ใดได้บ้าง หรือก่อนนำมาปรุงอาหารมีวิธีการทำความสะอาดอย่างไร
นอกจากความรู้ในส่วนของนิทรรศการแล้วยังมีฐานกิจกรรมให้ผู้มาใช้บริการสามารถร่วมสนุก และร่วมชิมตัวอย่างเมนูแสนอร่อยจากดอกไม้ไป พร้อมเก็บเกี่ยวความรู้เพื่อนำไปปรับใช้ในชีวิตประจำวันของตน
ฐานที่ 1 ดอกไม้ปลายจวัก
ในฐานแรกนี้ผู้เข้าชมจะได้พบกับดอกไม้ท้องถิ่นนานาพันธุ์ที่พบเห็นได้ทั่วไปและดอกไม้ป่าหายากหรือดอกไม้ที่พบได้เฉพาะท้องถิ่นทางภาคเหนือ
“อาจารย์แสงจันทร์ คำตาเทพ” ผู้เชี่ยวชาญเกี่ยวกับพืชผักสมุนไพรและพืชผักพื้นบ้าน
อาจารย์แสงจันทร์ คำตาเทพ นักวิชาการสาธารณสุข หัวหน้าโครงการ “รวบรวมและพัฒนาศักยภาพผักพื้นบ้านและสมุนไพร อ.ห้างฉัตร จ.ลำปาง” และ พี่นิว - คุณวสุ ทัพพะรังสี คอยให้คำแนะนำเกี่ยวกับดอกไม้ชนิดต่างๆ ว่า นำมารับประทานอย่างไรและมีสรรพคุณทางยาอย่างไรบ้าง
ตัวอย่างของดอกไม้ที่พบเห็นได้ทั่วไป
ดอกกระเจี๊ยบ และ ดอกมะระ
พี่นิวเล่าว่า ดอกสะเดา เดิมเป็นไม้ป่าแต่ภายหลังเรานำมาปลูกเป็นพืชเศรษฐกิจจึงเป็นพืชที่หาได้ง่าย หรือ ดอกเข็ม ที่เราพบเห็นทั่วไปแม้แต่ริมรั้วบ้านก็สามารถนำมาปรุงอาหารได้เช่นกัน โดยอาจนำไปชุบแป้งทอด ทั้งนี้ ดอกเข็มสีขาว ไม่สามารถนำมารับประทานได้ เพราะเป็นพิษต่อร่างกาย หากรับประทานเข้าไปจะทำให้รู้สึกคลื่นไส้ หากจะนำไปรับประทานต้องล้างน้ำผสมเกลือหรือด่างทับทิมหลายๆ ครั้งก่อน นอกจากนี้วัชพืชอย่าง ผักปรัง ก็สามารถรับประทานได้และมีคุณประโยชน์ต่อร่างกายของเราด้วยเช่นกัน
“พี่นิว” (คุณวสุ ทัพพะรังสี) ให้เกร็ดความรู้เกี่ยวกับดอกงิ้วป่าแก่น้องๆ และผู้ปกครอง
พี่นิวยังให้ความรู้ทั่วไปเกี่ยวกับดอกไม้ เช่น ดอกฟักทอง เป็นดอกไม่สมบูรณ์เพศ กล่าวคือ ในดอกฟักทองดอกหนึ่งจะมีเพียงเกสรตัวผู้หรือเกสรตัวเมียอย่างใดอย่างหนึ่งเท่านั้น และต้องอาศัยแมลงช่วยในการผสมเกสร การสังเกตความแตกต่างระหว่างดอกเพศผู้กับดอกเพศเมียสามารถสังเกตได้ง่ายๆ คือ ดอกเพศเมียจะมีกะเปาะรังไข่อยู่บริเวณโคนดอก ซึ่งหากเกสรในดอกเพศเมียผสมกับเกสรตัวผู้ บริเวณกะเปาะรังไข่ก็จะเติบโตไปเป็นลูกฟักทองที่เรารับประทานกัน แต่หากไม่ได้ผสมเกสรกะเปาะรังไข่ก็จะฝ่อไปตามธรรมาติ นอกจากนี้ยังสาธิตวิธีการสกัดสีจากดอกไม้ โดยนำดอกไม้แช่ไว้ในแอลกอฮอล์ ซึ่งวิธีการสกัดสีด้วยแอลกอฮอล์นี้สามารถใช้สกัดคลอโรฟิลล์จากพืชได้ด้วยเช่นกัน หรือหากต้องการสกัดสีเองที่บ้านเพื่อนำสีไปผสมกับอาหารหรือนำมาทำขนมให้มีสีสันน่ารับประทานก็สามารถด้วยนำร้อนแทนได้
ตัวอย่างของดอกไม้ป่า พืชสมุนไพร และพืชผักพื้นบ้านในจังหวัดลำปาง
ดอกก้อนหมาหรือดอกคอนแคน (ภาษากลาง)
ดอกแคแตร (ดอกแคป่า), ดอกฟักทอง
อาจารย์แสงจันทร์ได้แนะนำดอกไม้ป่าชนิดอื่นๆ ที่สามารถนำมารับประทานได้ เช่น ดอกงิ้วป่า มีสองชนิด คือ งิ้วแดงกับงิ้วขาว เป็นดอกสมบูรณ์เพศ เราจะนำเฉพาะส่วนของเกสรตัวผู้มารับประทาน, ดอกคราม เป็นดอกไม้ป่า มีรสฝาด สามารถรับประทานสดๆ หรือนำไปยำกับยอดผัดชนิดอื่นๆ, ดอกนางลาว เป็นดอกไม้ป่าเช่นกัน จะออกดอกในช่วงเดือนธันวาคม นิยมนำไปประกอบอาหารด้วยการแกง, ผักคราดหัวแหวน สมุนไพรที่เป็นส่วนประกอบหลักของ “แกงแค” ซึ่งเป็นแกงที่มี 4 ธาตุ (ดิน, น้ำ, ลม, ไฟ) ผักคราดหัวแหวนเป็นส่วนของธาตุไฟเพราะมีรสเผ็ดร้อน นอกจากนี้เมื่อรับประทานสดๆ หรือเคี้ยวบริเวณที่มีอาการปวดฟันจะทำให้บริเวณนั้นรู้สึกชา ช่วยบรรเทาอาการปวดฟันได้, เม็ดผักชี นิยมนำไปยำกับถั่วฝักยาว ส่วนของเม็ดผักชีนี้เกิดจากดอกของผักชี ซึ่งหลายคนอาจไม่เคยเห็นทั้งดอกและเม็ดของผักชี, ดอกมะรุม นิยมนำไปทำแกงแค หรือแกงชะอมปลาย่างซึ่งเป็นอาหารพื้นเมืองของภาคเหนือ, ดอกสะแล นิยมนำไปแกงส้ม ส่วนทางภาคเหนือนิยมนำไปนึ่งสำหรับเป็นเครื่องเคียงไว้จิ้มกับน้ำพริกอ่อง, ดอกต้างป่า หรือดอกต้างหลวง จะรับประทานดอกตูม นิยมใส่ในแกงแค มีรสขมนิดๆ, ดีปลากั้ง สามารถรับประทานสดๆ ได้ทั้งส่วนของดอกและใบ ซึ่งใบของดีปลากั้งมีสรรพคุณช่วยให้เจริญอาหาร, ผักจี้ เป็นพืชสมุนไพรที่มีรสเปรี้ยวฝาด นิยมรับประทานกับยำไข่มดแดงเพราะมีสรรพคุณช่วยป้องกันท้องร่วง, ยอดม่วง หรือผักม่วง ก็นิยมนำไปปรุงอาหารประเภทยำเช่นกัน ฯลฯ
นอกจากนี้ยังมี มะหลอด และ มิราเคิล ผลไม้รสเปรี้ยวจี๊ดซึ่งได้ชื่อว่าเป็นผลไม้มหัศจรรย์ เพราะหากรับประทานผลมิราเคิลหรือผลมะหลอดก่อน จากนั้นไปรับประทานผลไม้รสเปรี้ยวชนิดอื่นๆ ผลไม้เหล่านั้นจะเปลี่ยนจากรสชาติที่เปรี้ยวเข็ดฟันไปเป็นรสหวานอย่างน่ามหัศจรรย์
ดอกไม้เหล่านี้เปรียบเสมือนยารักษาโรคใกล้ตัวที่อยู่ข้างรั้วบ้านและอยู่ในวิถีชีวิตของเรา เพียงแต่เราไม่ทราบสรรพคุณของดอกไม้เหล่านี้ ตัวอย่างเช่น ในสมัยก่อนคนพื้นเมืองทางภาคเหนือจะรับประทานดอกแคช่วงเข้าฤดูหนาว เพราะดอกแคช่วยป้องกันโรคหวัด หากรับประทานเพียงสัปดาห์ละหนึ่งครั้งเป็นอย่างน้อยก็จะช่วยสร้างภูมิต้านทาน ทำให้สุขภาพร่างกายแข็งแรง และเนื่องจากดอกไม้ป่าเป็นดอกไม้ตามฤดูกาล คนพื้นเมืองจึงมีพืชสมุนไพรและดอกไม้ป่านานาชนิดหมุนเวียนไว้รับประทานกันตลอดทั้งปี
ฐานที่ 2 ครัวดอกไม้
เมื่อทำความรู้จักกับ “ดอกไม้กินได้” ชนิดต่างๆ แล้วก็มาเรียนรู้วิธีการปรุงอาหารคาว-หวานและเครื่องดื่มจากดอกไม้กันต่อในฐานนี้ ซึ่งมีคณะนักศึกษาจากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ คณะเกษตรศาสตร์ ภาควิชาคหกรรม สาขาวิชาอาหารและโภชนาการ มาสาธิตเมนูดอกไม้แสนอร่อยพร้อมให้ผู้เข้าร่วมกิจกรรมได้ชิมและทดลองทำด้วยตนเอง
“ฮานะทาโกะ”
ดัดแปลงมาจาก “ทาโกยากิ” เมนูอาหารญี่ปุ่นที่หลายๆ คนคุ้นเคย ซึ่งคำว่า “ฮานะ” เป็นคำภาษาญี่ปุ่น แปลว่า ดอกไม้ วิธีการทำฮานะทาโกะมีขั้นตอนและวัตถุดิบหลักในการทำแป้งเช่นเดียวกันกับการทำทาโกยากิ เพียงแต่เปลี่ยนส่วนผสมจากกะหล่ำปลีมาเป็นดอกแคคและดอกโสนแทน
น้องๆ นักศึกษาที่มาเป็นแม่ครัวสาธิตกล่าวว่า ที่เลือกใช้ดอกแคและดอกโสนเพราะเป็นดอกไม้ที่ผู้คนนิยมนำมาประกอบอาหารอยู่แล้วจึงสามารถหาได้ง่าย หากใครอยากจะลองปรับเปลี่ยนส่วนผสมเป็นดอกไม้ชนิดอื่นก็สามารถเลือกใส่ดอกไม้ได้ตามใจชอบ ทั้งนี้ควรศึกษาความรู้เกี่ยวกับชนิดของดอกไม้ที่สามารถนำมารับประทานได้ โดยก่อนนำมาปรุงอาหารควรล้างด้วยน้ำสะอาดหรือด่างทับทิม อาจโรยยเกลือเพื่อแก้กลิ่นเหม็นเขียวของดอกไม้แล้วล้างด้วยน้ำสะอาดอีกครั้ง ในส่วนของดอกแคนั้นต้องเด็ดเกสรกลางดอกออกก่อนนำไปปรุงอาหาร เพราะเกสรดอกมีรสขม
“บุปผาห่มผ้า”
หรือที่คุ้นหน้าคุ้นตากันในชื่อ “ก๋วยเตี๋ยวลุยสวน” มีลักษณะคล้ายกันในส่วนของเส้นก๋วยเตี๋ยวที่ห่อเครื่อง หากแตกต่างกันที่ส่วนผสมหลักใช้ดอกไม้หลากสีสันและเปลี่ยนจากน้ำจิ้มรสจัดจ้านเป็นรสหวานกลมกล่อม
ดอกไม้ที่นำมาเป็นส่วนประกอบ ได้แก่ ดอกเข็ม, ดอกโสน, ดอกเฟื่องฟ้า และดอกอัญชัน ซึ่งอาจปรับเปลี่ยนเป็นดอกไม้ชนิดอื่นได้ตามใจชอบ ทั้งนี้ควรระมัดระวัง ดอกเข็มสีขาวและดอกไม้สีขาวชนิดอื่นๆ เพราะดอกไม้สีขาวส่วนใหญ่จะเป็นพิษต่อร่างกาย นอกจากนี้ ดอกไม้ที่มียาง เช่น ดอกลีลาวดี ต้องล้างด้วยน้ำสะอาดที่ผสมเกลือหรือด่างทับทิม โดยแช่ทิ้งไว้ประมาณครึ่งชั่วโมงเพื่อล้างยางของดอกไม้ให้หมดไป
“กระเจี๊ยบน้ำผึ้ง”
ดอกกระเจี๊ยบมีวิตามินเอสูง ช่วยบำรุงสายตาและลำไส้ หากนำมาทำเป็นเครื่องดื่มนอกจากจะมีประโยชน์ต่อร่างกายแล้วยังช่วยให้รู้สึกสดชื่นอีกด้วย กระเจี๊ยบน้ำผึ้ง มีวิธีการทำง่ายๆ โดยเริ่มจาก
1. นำกระเจี๊ยบผงหรือดอกกระเจี๊ยบแห้งประมาณ 25 ดอก ผสมน้ำ 3 ถ้วยตวง ต้มจนน้ำเดือด
2. จากนั้นลดไฟลงโดยใช้ไฟอ่อนๆ หรือปานกลางต้มต่อทิ้งไว้สักครู่
3. จากนั้นจึงช้อนดอกกระเจี๊ยบขึ้น เติมน้ำตาลทรายลงไปประมาณ ¼ ถ้วยตวง คนให้เข้ากัน แล้วเติมน้ำผึ้งประมาณ 2 ช้อนโต๊ะเป็นขั้นตอนสุดท้าย เพื่อให้น้ำกระเจี๊ยบมีกลิ่นหอมของน้ำผึ้ง สูตรดังกล่าวนี้เป็นการทำน้ำกระเจี๊ยบสูตรเข้มข้น เหมาะสำหรับดื่มกับน้ำแข็ง หากต้องการดื่มน้ำกระเจี๊ยบเย็นๆ โดยไม่เติมน้ำแข็ง ให้เติมน้ำลงไปอีก 1 ใน 3 ส่วน
ฐานที่ 3 ไอศกรีมดอกไม้
“ศรีมาลา” ไอศกรีมดอกไม้ “หนึ่งเดียวในไทย รายเดียวในโลก” เกิดจากงานวิจัยสู่ผลิตภัณฑ์ไอศกรีมยอดนิยมที่มีชื่อเสียงจากรายการ “SME ตีแตก”
การนำดอกไม้ในท้องถิ่นที่มีความโดดเด่นของอัมพวา ได้แก่ ดอกดาหลา, ดอกอัญชัน, ดอกเข็ม, ดอกบัว และดอกกุหลาบมอญมาผสานกับความรู้ทางด้านวิชาการในโครงการ IRPUS ที่เน้นการวิจัยที่สามารถแก้ปัญหาให้กับภาคอุตสาหกรรมได้จริง จากความร่วมมือของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.), คุณพีรวงศ์ จาตุรงคกุล ผู้ประกอบการไอศกรีม และทีมงานวิจัยมหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา ซึ่งมี ดร.อัจฉรา แก้วน้อย เป็นหัวหน้าโครงการ ได้สร้างผลิตภัณฑ์ที่เพิ่มมูลค่าให้แก่ดอกไม้ในท้องถิ่น โดยยังคงกลิ่นอายของความเป็นอัมพวาไว้อย่างครบถ้วนจนกลายเป็นเอกลักษณ์ของอำเภออัมพวา จังหวัดสมุทรสงคราม
ในฐานสุดท้ายจึงจัดเตรียมของหวานอย่างไอศกรีมดอกไม้จาก “ศรีมาลา” มาให้ผู้เข้าร่วมกิจกรรมได้ชิมกันทั้งหมด 5 รส ได้แก่ ไอศกรีมดาหลา, ไอศกรีมเข็ม-สตรอเบอร์รี่เชอร์เบ็ต, ไอศกรีมกุหลาบ-นม, ไอศกรีมบัว-นม และไอศกรีมอัญชัน-มะพร้าวอ่อน
คุณพีรวงศ์ จาตุรงคกุล ผู้ประกอบการไอศกรีมศรีมาลา กล่าวว่า ไอศกรีมดอกไม้นี้เป็นการต่อยอดจากงานวิจัยเรื่อง “การพัฒนาเครื่องดื่มสมุนไพรที่ผลิตจากดอกไม้ท้องถิ่น อำเภออัมพวา จังหวัดสมุทรสงคราม ที่มีคุณสมบัติในการต้านอนุมูลอิสระเพื่อการผลิตในเชิงพาณิชย์” เมื่อปี พ.ศ. 2550 คราวก่อนเป็นผลิตภัณฑ์เครื่องดื่มที่สกัดจากดอกไม้ โดยคัดเลือกจากดอกไม้ที่มีสรรพคุณช่วยต่อต้านอนุมูลอิสระจากดอกไม้ทั้งหมด 20 ชนิด จากนั้นได้นำไปทดสอบความเป็นพิษต่อร่างกาย เมื่อผลออกมาว่าปลอดภัย สามารถนำไปบริโภคได้ จึงสำรวจรสยอดนิยมที่ผู้คนชื่นชอบและเลือกรับประทานมากที่สุด อันเป็นที่มาของไอศกรีมดอกไม้ทั้ง 5 รสดังกล่าว
ทีมวิจัยยังเห็นว่า ด้วยรสชาติและกลิ่นของดอกไม้ที่อาจฉุนสำหรับบางคน การนำดอกไม้มาแปรรูปเป็นเครื่องดื่มนั้นจึงเข้าถึงคนทั่วไปได้ค่อนข้างยาก จึงมีแนวคิดที่จะนำดอกไม้มาผลิตเป็นไอศกรีม โดยปรับกลวิธีการผลิตจากการใช้ดอกไม้เป็นส่วนผสมหลักเพียงอย่างเดียว มาผสมกับส่วนผสมอื่นๆ เช่น นม, น้ำตาลสด หรือมะพร้าวอ่อน เพื่อให้ได้รสชาติที่กลมกล่อม มีกลิ่นหอมน่ารับประทาน และได้รสชาติที่เข้าถึงผู้คนได้ง่ายยิ่งขึ้น เหมาะกับทุกเพศทุกวัย ทั้งนี้ “ไอศกรีมศรีมาลา” ก็ยังคงใช้วัตถุดิบจากธรรมชาติทั้งหมด มิได้มีการแต่งกลิ่น, ปรุงรส หรือเจือสีสังเคราะห์แต่อย่างใด ไอศกรีมทุกๆ รสจะมีรสชาติ, กลิ่น และสีของดอกไม้ที่เป็นส่วนผสมทั้งสิ้น ซึ่งไอศกรีมดอกดาหลา, ดอกบัว และดอกกุหลาบเป็นรสที่ผู้คนนิยมมากที่สุด ผู้ที่ชื่นชอบไอศกรีมหรือผู้ที่รักสุขภาพสามารถไปลิ้มลองไอศกรีมดอกไม้ไทยได้ที่ตลาดน้ำอัมพวา
ในช่วงท้ายของงานยังมีกิจกรรมสาธิตการทำ “วาฟเฟิลซอสกระเจี๊ยบ” หอมกรุ่นที่เสิร์ฟพร้อมไอศกรีมดอกไม้เย็นๆ ให้ผู้เข้าร่วมกิจกรรมได้ชิมกันอีกหนึ่งเมนู
กิจกรรมที่ละลานตาไปด้วยสีสันของดอกไม้และอบอวลไปด้วยกลิ่นหอมของเมนูดอกไม้นานาชนิด ทำให้ผู้เข้าร่วมกิจกรรมได้เก็บเกี่ยวความรู้ไปมากมายและยังประทับใจกับกิจกรรมที่ได้ลองทำและลองชิม ซึ่งนายณัฐศักดิ์ วงษ์ศิริ, นายยศพล สิมมาเทศ และนางสาวภิญญาพัชญ์ ปรีดาบุญ นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 ผู้เข้าร่วมกิจกรรมยังเห็นว่า นิทรรศการนี้ช่วยให้เราสามารถเข้าถึงดอกไม้และพืชผักที่มีอยู่ในท้องถิ่นได้มากขึ้น และสามารถนำความรู้เกี่ยวกับ “ดอกไม้กินได้” ไปประกอบอาหารเพื่อรับประทานเองที่บ้านได้
แล้วกลับมาพบกับกิจกรรมดีๆ อื่นๆ ได้ที่อุทยานการเรียนรู้ TK park และติดตามข่าวสารกิจกรรมต่างๆ ได้ที่ www.tkpark.or.th หรือ www.facebook.com/tkparkclub
**เกร็ดความรู้จากนิทรรศการครัวดอกไม้
โลกใบนี้อุดมไปด้วยความหลากหลายที่น่าค้นหา จากยอดเขาสู่ปลายน้ำ จากพื้นดินสู่ท้องฟ้า เต็มไปด้วยวัฏจักรของการอยู่ร่วมกันระหว่างคน สัตว์ พืชที่รู้จักเก็บเกี่ยวใช้ประโยชน์และพึ่งพิงอิงอาศัยกันอย่างเกื้อกูล
มหัศจรรย์พรรณพฤกษา
ธรรมชาติรังสรรค์ความงดงามแต่งแต้มโลกใบนี้ให้สวยงามผ่านมวลดอกไม้ ประดุจจิตรกรแต่งแต้มสีสันลงบนผืนผ้าใบ นอกจากความงามของดอกไม้นานาชนิดแล้วมนุษยชาติยังได้ค้นพบประโยชน์นานัปการจากดอกไม้ ไม่ว่าจะเป็นการตกแต่งให้สวยงามโดดเด่นเป็นแรงบันดาลใจในการสร้างงานศิลปะ เป็นสมุนไพรที่มีคุณสมบัติทางยา และยังเป็นอีกหนึ่งวัตถุดิบสำคัญในการทำอาหาร
ครัวดอกไม้
ทุกตำราอาหารมีการนำดอกไม้เข้าไปเป็นส่วนประกอบอยู่ทุกเมนูคาวหวาน แสดงให้เห็นถึงความคิดสร้างสรรค์ของแม่ครัวที่นำดอกไม้มาปรุงแต่งให้เกิดเป็นรสโอชาและสร้างสุขภาพที่ดี แต่อย่างไรก็ตามเราควรศึกษาหาความรู้เพิ่มเติมเพื่อจะได้รู้จัก เข้าใจ และรับประทาน “เมนูดอกไม้” ได้อย่างปลอดภัยและเกิดประโยชน์สูงสุด
ทำความรู้จักดอกไม้กินได้
มนุษย์นำ “พืช” มาใช้เป็นอาหารตั้งแต่ยุคก่อนประวัติศาสตร์ ทุกส่วนของพืชจากปลายรากจรดเรือนยอด มนุษย์สามารถสร้างสรรค์เป็นอาหารได้หลายชนิด ไม่เว้นแม้แต่ส่วนของ “ดอก” ที่ไม่น่าจะกินได้ก็ถูกนำมาปรุงเป็นอาหารที่สร้างความพึงพอใจทั้งรสชาติและสีสันทิ่ติดตรึงใจ
ดอกไม้หลากหลายสายพันธุ์ที่เราสามารถนำมาบริโภคได้นั้นสามารถแบ่งตามประเภทของดอกไม้ได้ถึง 6 ประเภท
1. ดอกของพืชผัก เช่น กะหล่ำดอก, กะหล่ำดอกอิตาเลียน (บร็อคโคลี่), ดอกแคบ้าน, ดอกกุยช่าย, ดอกเก๊กฮวย, ดอกผักกวางตุ้ง, ดอกฟักทอง, ดอกกระถิน ฯลฯ
2. ดอกของไม้ประดับ เช่น ดอกเข็ม, ดอกลั่นทม, ดอกดาวเรือง, ดอกดาวกระจาย, ดอกแคฝรั่ง, ดอกชบา, ดอกซ่อนกลิ่น, ดอกเฟื่องฟ้า ฯลฯ
3. ดอกของผลไม้ เช่น ดอกทุเรียน, ดอกชมพู่สาแหรก, หัวปลี (ดอกกล้วย), ดอกมะละกอ ฯลฯ
4. ดอกของต้นไม้ป่าบางชนิด เช่น ดอกพะยอม, ดอกงิ้ว, ดอกแคป่า, ช่อสะเดา, ช่อมะกอก, ดอกขี้เหล็ก, ดอกกระโดน, ดอกลำพู ฯลฯ
5. ดอกของวัชพืชบางชนิด เช่น ดอกกะลาหรือดอกดาหลา, ดอกบัวสาย, ดอกสลิดหรือดอกขจร, ดอกผักปลัง, ดอกผักตบชวา, ดอกกระพังโหม, ดอกกระเจียว, ดอกโสน ฯลฯ
6. ดอกของต้นไม้อื่น ๆ เช่น ดอกนุ่น, ปลีตาล, ดอกมะรุม, ดอกโศก ฯลฯ
กินดอกไม้ร่างกายแข็งแรง
เป็นที่ทราบกันดีว่า พืชให้ประโยชน์ต่อร่างกายมนุษย์จากสารอาหารและใยอาหาร นอกจากนั้นแล้วพืชยังมีสารเคมีเฉพาะตัวที่เป็นประโยชน์และมีสรรพคุณทางยาอีกด้วย สารเคมีกลุ่มนั้นนักวิทยาศาสตร์เรียกว่า “พฤกษเคมี (Phytochemical)” อันเป็นสารที่ทำให้พืชแต่ละชนิดมีลักษณะของสี กลิ่น หรือรสชาติที่แตกต่างกัน
สำหรับสีสันอันสวยสดงดงามของดอกไม้นั้นมาจากพฤกษเคมีตัวหนึ่งที่เรียกว่า “รงควัตถุ (Pigment)” ซึ่งมีหลากหลายชนิดและแต่ละชนิดให้สีสันที่แตกต่างกัน นอกจากรงควัตถุจะมีประโยชน์ต่อกระบวนการขยายพันธุ์ของพืชแล้ว รงควัตถุยังมีสรรพคุณทางยา ช่วยบรรเทาและรักษาโรคต่างๆ ได้อีกด้วย
ดอกไม้สีชมพู, สีแดง, สีน้ำเงิน และสีม่วง เกิดจากเม็ดสีที่เรียกว่า แอนโทไซยานิน (Anthocyanin) มีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ (Antioxidant) ช่วยลดความเสี่ยงต่อการเกิดโรคหลอดเลือดหัวใจอุดตันและโรคมะเร็ง เช่น ดอกอัญชัน, ดอกกระเจี๊ยบแดง, ดอกกุหลาบ เป็นต้น
ดอกไม้สีขาว, สีเหลืองอ่อน เกิดจากเม็ดสีที่เรียกว่าแอนโทแซนทิน (Anthoxanthin) ช่วยลดคลอเรสเตอรอลในเส้นเลือด มีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ ลดการแบ่งตัวของเซลล์มะเร็ง เช่น ดอกลีลาวดี, ดอกบัว, ดอกมะลิ เป็นต้น
ดอกไม้สีส้ม, สีเหลือง เกิดจากเม็ดสีในกลุ่มของแคโรทีนอยด์ (Carotenoid) มีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ ลดความเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็ง บำรุงสายตา เช่น ดอกโสน, ดอกแคแสด, ดอกคูณ เป็นต้น
ดอกไม้สีเขียว เกิดจากเม็ดสีที่เรียกว่า คลอโรฟิลล์ (Chlorophyll) ช่วยกระตุ้นการทำงานของตับให้สร้างเอนไซม์ออกมาใช้ในการต้านมะเร็ง ป้องกันไม่ให้ DNA ถูกทำลายลุกลามจนกลายเป็นเนื้อร้าย เช่น ดอกบร็อคโคลี่, กะหล่ำดอก เป็นต้น
ดอกไม้กับงานวิจัย “การอนุรักษ์พันธุ์พืชและผืนป่า”
“ดอกไม้และพันธุ์พืชสามารถช่วยรักษาวิถีชีวิตพื้นบ้านได้” เป็นคำที่ไม่ได้กล่าวอ้างจนเกินจริง เพราะที่อำเภอห้างฉัตร จังหวัดลำปาง คุณแสงจันทร์ คำตาเทพ สำนักงานสาธารณสุขอำเภอห้างฉัตร ได้ใช้สิ่งเหล่านี้เป็นเครื่องมือในการรักษาสภาพสิ่งแวดล้อม สังคม และวัฒนธรรมชุมชนทางอ้อมได้อีกด้วย
จุดเริ่มต้นของโครงการ “การรวบรวมและพัฒนาศักยภาพผักพื้นบ้านและสมุนไพร อำเภอห้างฉัตร จังหวัดลำปาง” ซึ่งสนับสนุนทุนวิจัยโดย สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) มาจากปัญหาสุขภาพของประชาชนในท้องถิ่นซึ่งพบมากขึ้น ตามการเปลี่ยนแปลงของวิถีชีวิตของชาวบ้าน ซึ่งอาหารการกินโดยเฉพาะพืชผักเป็นเรื่องสำคัญที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพ
โครงการนี้มุ่งหวังจะให้ประชาชนหันมาบริโภคและรักษาแหล่งอาหารธรรมชาติเพิ่มขึ้น เช่น พืชผักดอกไม้ที่อยู่ในท้องถิ่น ซึ่งมีสรรพคุณเป็นยารักษาโรคและปลอดภัยจากสารเคมีเพื่อป้องกันการเจ็บป่วย ทำให้ประชากรในพื้นที่สามารถลดค่าใช้จ่ายในการรักษาอาการเจ็บป่วยลงไปได้มาก ยิ่งกว่านั้นคือ การที่ชุมชนได้เห็นคุณค่า และร่วมกันอนุรักษ์พันธุ์พืชและผืนป่าท้องถิ่นเอาไว้ เปรียบเสมือน “ครัวของชุมชน”
ทำความเข้าใจเพิ่มอีกนิดหากคิดจะกินดอกไม้
การจะนำดอกไม้มารับประทานนั้นไม่ใช่เรื่องแปลก เพียงแค่รู้วิธีคัดสรรและลงมือปรุงให้ถูกวิธี เราก็สามารถนำดอกไม้มาบริโภคได้อย่างปลอดภัย
ข้อควรระวังในการรับประทานดอกไม้
1. เป็นดอกไม้ที่รู้จักและใจว่ารับประทานได้เท่านั้น
2. ควรหลีกเลี่ยงดอกไม้ตามข้างทาง
3. ควรศึกษาคุณสมบัติของดอกไม้แต่ละชนิดให้ดี เพราะดอกไม้บางชนิดอาจมีคุณสมบัติแฝงที่เป็นพิษ
4. เลือกวิธีปรุงอาหารให้เหมาะสมกับดอกไม้แต่ละชนิด
5. ควรแยกเอาเกสรออกก่อนเพื่อป้องกันการแพ้ หากรับประทานแล้วเกิดการแพ้ควรหยุดรับประทานดอกไม้นั้นทันที
การเลือกซื้อดอกไม้
1. ไม่ควรซื้อดอกไม้จากร้านค้าที่จำหน่ายดอกไม้เพื่อความสวยงาม เนื่องจากมีสารเคมีมาก
2. เลือกดอกไม้ที่ยังตูมหรือแรกแย้ม เพราะเนื้อเยื่อยังอ่อนและมีรสชาติดี
การล้างดอกไม้
ต้องใช้ความระมัดระวังเพราะดอกไม้บอบช้ำได้ง่าย ควรนำดอกไม้แช่ในน้ำที่ผสมกับผงฟู (Baking soda) หรือผสมกับด่างทับทิม 30 นาที สลับด้วยการล้างน้ำเปล่า 2-3 ครั้ง เพื่อล้างสารพิษตกค้างที่อาจติดมากับดอกไม้ หากมียางติดอยู่ไม่แนะนำให้นำมารับประทาน
การเก็บรักษาดอกไม้ให้สด
1. หลังจากเก็บดอกไม้มาจากต้นควรนำไปแช่เย็นทันทีโดยไม่ต้องล้างน้ำ เพื่อป้องกันดอกไม้ช้ำ
2. ดอกไม้ที่มีก้านยาวควรแช่น้ำไว้ในภาชนะ
3. ดอกไม้ที่มีก้านสั้นควรห่อด้วยกระดาษไข หรือใส่ไว้ในกล่องพลาสติกปิดสนิท
4. ควรนำไปประกอบอาหารภายใน 3-4 ชั่วโมง
เคล็ดลับ
ดอกไม้แต่ละชนิดมีคุณลักษณะที่ต่างกัน วิธีการนำดอกไม้แต่ละชนิดไปปรุงอาหารจึงแตกต่างกันไปด้วย เช่น
1. ลั่นทมขาว รับประทานเฉพาะกลีบนอก และเก็บเฉพาะดอกที่ร่วงจากต้นใหม่ๆ หากเด็ดจากกิ่งจะรับประทานไม่ได้เพราะยางมีพิษมาก
2. ดอกแค ให้เด็ดเกสรออกก่อนเพื่อช่วยลดความขม
3. ดอกเข็ม ใช้ทำอาหารได้ทุกสี ยกเว้นสีขาว เพราะดอกเข็มสีขาวมีสารบางอย่างที่มีฤทธิ์คล้ายสารพิษซึ่งมีอันตราย
4. ดอกกุหลาบ มีรสฝาด เมื่อนำมาประกอบอาหารควรใช้มะนาว หรือเกลือกลบรสเพื่อให้หายเฝื่อน
5. ดอกสะเดาและยอดอ่อน ควรลวกก่อนเพื่อลดความขม
ดอกไม้เป็นยา
คุณสมบัติทางยาหรือการเป็นพืชสมุนไพรก็เป็นความพิเศษของดอกไม้ที่เกิดประโยชน์ต่อผู้รับประทาน สร้างสุขภาพที่ดี กระตุ้นการทำงานของร่างกายส่วนต่างๆ และเสริมภูมิคุ้มกันต่อร่างกายอีกด้วย
ตัวอย่างสรรพคุณทางยาของดอกไม้ทานได้ของไทย
- บำรุงสายตา : อัญชัน
- แก้ไข้ : ดอกแค, ดอกผักพาย, ดอกกุหลาบ, ดอกชบา
- ป้องกันและต้านโรคมะเร็ง : ดอกกะหล่ำ, ดอกฟักทอง, ดอกกุยช่าย, ดอกบร็อคโคลี่
- สร้างกระดูกและฟัน : ดอกผักกวางตุ้ง
- สมานลำไส้ : ดอกโสน
- ขับลม เป็นยาระบายอ่อนๆ : ดอกกระเจียว, ดอกมะขาม, ดอกลั่นทม, ดอกผักปลัง
- แก้หืด : ดอกขี้เหล็ก
- บำรุงธาตุ : ดอกสะเดา
- แก้โรคกระเพาะ : ดอกหัวปลี
- แก้ไอ ขับเสมหะ : ดอกอโศกน้ำ, ดอกกาหลง
นอกจากชาวไทยจะนำดอกไม้มาใช้ประกอบอาหารแล้ว ในต่างประเทศ เช่น สหรัฐอเมริกา, เกาหลี, ญี่ปุ่น ก็มีการรับประทานดอกไม้กันอย่างแพร่หลาย เนื่องจากมีความเชื่อที่ว่า การรับประทานดอกไม้ชนิดต่าง ๆ ช่วยให้สุขภาพแข็งแรง รูปร่างได้สัดส่วน และเพิ่มอรรถรสในการบริโภคด้วยสีสันและกลิ่นหอมจากดอกไม้ได้อีกด้วย ซึ่งมีทั้งเมนูที่นำดอกไม้มารับประทานสดๆ อย่างเมนูสลัดดอกไม้ หรือนำมาประดับตกแต่งในจานเพื่อเพิ่มสีสันและกลิ่นหอมน่ารับประทาน
..อรวันดา..