มีเพียงไม่กี่อาชีพที่มีพิพิธภัณฑ์บอกเล่าเรื่องราววิชาชีพและเกียรติภูมิของตนเอง หนึ่งในนั้นคืออาชีพตำรวจ
สำหรับกิจกรรม TK Small Tour เดือนมกราคม 2567 TK Park พาคณะนักเรียนรู้ไปเยี่ยมชมพิพิธภัณฑ์ตำรวจ วังปารุสกวัน มุมถนนราชดำเนินนอกที่ตัดกับถนนศรีอยุธยา ภายในกองบัญชาการตำรวจนครบาล
หลังจบกิจกรรมนี้ TK Park ขอบันทึกเรื่องราว ประเด็นชวนคิด รวมถึงข้อแนะนำสำหรับผู้สนใจเรียนรู้และไปเยี่ยมเยือนพิพิธภัณฑ์แห่งนี้ ดังนี้
1. กว่าจะกลายมาเป็นพิพิธภัณฑ์ตำรวจ
กว่าจะกลายมาเป็นพิพิธภัณฑ์ตำรวจเช่นในปัจจุบัน วังปารุสกวันแห่งนี้ผ่านการใช้งานมาแล้วหลากหลายรูปแบบ ตามบริบทของประวัติศาสตร์สังคมการเมืองที่เปลี่ยนแปลงไปตลอดเวลากว่าศตวรรษ
แรกเริ่ม พระตำหนักปารุสกวัน สร้างขึ้นโดยพระราชดำริของพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 5 เพื่อเป็นที่ประทับของสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าจักรพงษ์ภูวนาถ กรมหลวงพิษณุโลกประชานาถ เมื่อครั้งเสด็จกลับจากประเทศอังกฤษหลังทรงสำเร็จการศึกษา คู่กันกับอาคารพระตำหนักสวนจิตรลดา เพื่อเป็นที่ประทับของสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราวุธ สยามมกุฎราชกุมาร บนที่ดินซึ่งติดกัน
เมื่อสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราวุธฯ ขึ้นเสด็จขึ้นเถลิงถวัลยราชสมบัติเป็นพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 6 พระองค์ทรงย้ายไปประทับที่พระราชวังดุสิต จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานตำหนักสวนจิตรลดา แลกเปลี่ยนกับที่ดินบริเวณท่าวาสุกรี ของสมเด็จฯ เจ้าฟ้าจักรพงษ์ภูวนาถ จึงทำให้มีการรื้อกำแพงที่คั่นกลางออก รวมตำหนักทั้งสองเข้าด้วยกัน กลายเป็นอาณาเขตของวังปารุสกวันดังเช่นในปัจจุบัน ต่อมา เมื่อสมเด็จฯ เจ้าฟ้าจักรพงษ์ภูวนาถเสด็จทิวงคต เมื่อ พ.ศ. 2463 พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงใช้พระราชอำนาจกำหนดให้โอนวังปารุสกวันกลับคืนเป็นทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์
สามัญชนเข้าใช้งานวังปารุสกวันเป็นครั้งแรกหลังเปลี่ยนแปลงการปกครองในปี พ.ศ. 2475 โดยใช้เป็นสำนักงานเลขาธิการรัฐสภาในช่วงสั้น ๆ ก่อนย้ายสำนักงานฯ ไปยังพระที่นั่งอนันตสมาคม ต่อมากลายเป็นที่พำนักของพระยาพหลพลพยุหเสนา ระหว่างเป็นนายกรัฐมนตรี จนถึงแก่อสัญกรรม รวมถึงเป็นอาคารบัญชาการของคณะเปลี่ยนแปลงการปกครองสายทหาร ปัจจุบัน พระตำหนักปารุสกวัน ใช้เป็นที่ทำการของสำนักข่าวกรองแห่งชาติ ซึ่งไม่ได้เปิดให้ประชาชนทั่วไปเข้าเยี่ยมชม ส่วนอาคารพระตำหนักสวนจิตรลดา กับอาคารกระจกที่สร้างขึ้นใหม่ เป็นพิพิธภัณฑ์ตำรวจที่เปิดให้เป็นแหล่งเรียนรู้สาธารณะ โดยไม่คิดค่าเข้าชม
2. การจัดสรรพื้นที่ส่วนจัดแสดง
ด้วยลักษณะพื้นที่ซึ่งประกอบด้วยสองอาคารที่ตั้งอยู่แยกกัน เนื้อหาของนิทรรศการภายในอาคารจึงมีการร้อยเรียงอย่างเป็นเอกเทศกัน โดยอาคารหลังเก่า (อาคารพระตำหนักสวนจิตรลดา) เน้นการรักษาสภาพอาคาร แต่ละห้องมีการจัดแสดงอุทิศให้เรื่องราวที่แตกต่างกัน ทั้งประวัติศาสตร์การใช้งานอาคารของพระราชวงศ์ยุคก่อนรัชกาลที่ 9 จนถึงความสัมพันธ์และพระมหากรุณาธิคุณขององค์พระมหากษัตริย์และพระบรมวงศ์ศานุวงศ์กับตำรวจในรัชสมัยของรัชกาลที่ 9 และในบริบทร่วมสมัย
อาคารกระจกเป็นโถงขนาดใหญ่ จึงสามารถออกแบบพื้นที่เพื่อรองรับนิทรรศการที่บอกเล่าประวัติศาสตร์ของอาชีพตำรวจตามเส้นเวลาได้ เนื้อหาของนิทรรศการภายในอาคารนี้จึงมีการจัดเรียงลำดับ ปักหมุดเหตุการณ์สำคัญ และนำวัตถุทางประวัติศาสตร์มาประกอบหลักฐานของเหตุการณ์ที่กล่าวถึงได้อย่างดี และยังมีการจัดทำฉากจำลอง สถานการณ์สมมติ และใช้โมเดลย่อ เพื่ออธิบายภารกิจของตำรวจแต่ละสายงาน ทำให้ผู้เข้าชมสามารถเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของสถานการณ์จำลองที่อาจเกิดขึ้นกับตนเองในชีวิตประจำวัน เพื่อเรียนรู้และเข้าใจถึงบทบาทของตำรวจในการพิทักษ์สันติราษฎร์ และแนวปฏิบัติเมื่อเกิดเหตุไม่คาดฝันขึ้นกับตนเอง
3. บรรยากาศและสิ่งอำนวยความสะดวก
พิพิธภัณฑ์ตำรวจ วังปารุสกวัน เปิดให้บริการทุกวันอังคารถึงวันศุกร์ (ยกเว้นวันหยุดนักขัตฤกษ์) เวลา 10:00–16:00 น.
ลักษณะพื้นที่ทั้งภายในและภายนอกอาคารของพิพิธภัณฑ์ตำรวจมีความปลอดโปร่ง ร่มรื่น มีเจ้าหน้าที่ต้อนรับและอำนวยความสะดวกพื้นฐานให้แก่ผู้เข้าชม แต่ทั้งสองอาคารอาจไม่เหมาะกับผู้เข้าชมที่สัญจรไม่สะดวก เพราะเป็นอาคารสองชั้น ไม่มีลิฟต์หรือบันไดเลื่อน และต้องถอดรองเท้าก่อนขึ้นอาคารทุกครั้ง
ภายในอาคารกระจกมีพื้นที่นั่งพักคอยบริเวณโถงด้านหน้าและมีเจ้าหน้าที่บริการข้อมูล ตลอดเส้นทางนิทรรศการมีป้ายคำอธิบายประกอบ มีข้อความภาษาอังกฤษกำกับเกือบทั้งหมด และยังมีสื่อมัลติมีเดีย ทำให้ผู้เข้าชมสามารถเดินชมนิทรรศการด้วยตนเองตลอดเส้นทางได้ สำหรับข้อมูลอื่น ๆ เกี่ยวกับการเข้าชม สามารถตรวจสอบได้ที่นี่↗
4. อ่านอะไรก่อนไปพิพิธภัณฑ์ตำรวจ
เพื่อเสริมประสบการณ์การเรียนรู้จากการเข้าเยี่ยมชมพิพิธภัณฑ์ตำรวจ TK Park แนะนำผู้สนใจเข้าชม อ่านหนังสือเหล่านี้ขณะเตรียมตัวออกเดินทาง
- เกิดวังปารุสก์: สมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์ และสมัยประชาธิปไตย↗
- ประวัติศาสตร์ไทยร่วมสมัย↗
- จริยธรรมในวิชาชีพตำรวจ↗
5. ประเด็นส่งท้าย
เช่นเดียวกับพิพิธภัณฑ์ส่วนใหญ่ในโลก เรื่องราวภายในพิพิธภัณฑ์แห่งนี้มาจากมุมมองของบุคคลภายใน ซึ่งในที่นี้คือคนในอาชีพตำรวจ และเนื่องด้วยอาชีพนี้เกี่ยวข้องกับความมั่นคงของรัฐ ประวัติศาสตร์และความทรงจำที่ปรากฏอยู่บนเส้นทางของนิทรรศการย่อมขนานไปกับประวัติศาสตร์ฉบับทางการ พิพิธภัณฑ์นี้จึงเป็นหนึ่งในภาพสะท้อนของสังคมการเมืองและอุดมการณ์ของรัฐที่เปลี่ยนแปลงโดยตลอด จนกระทั่งมาปรากฏในรูปแบบที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน
เมื่อสิ้นสุดเส้นทาง นิทรรศการของพิพิธภัณฑ์ตำรวจอาจไม่ได้แค่ทำให้ผู้เข้าชมเข้าใจถึงประวัติความเป็นมา สายงาน ชั้นยศ และเรื่องราวความภาคภูมิใจของอาชีพนี้ แต่อาจทำให้เราเห็นถึงหน้าที่ของรัฐในการรักษาสันติและสร้างบรรยากาศที่ปลอดภัยสำหรับทุกคน รวมถึงชวนกันมองไปยังบทบาทของตำรวจ ที่ในอนาคตอันใกล้ อาจต้องปรับเปลี่ยนไปตามเทคโนโลยีและบริบทของยุคสมัย และเช่นเดียวกันกับทุกพิพิธภัณฑ์ เรื่องราวต่อจากจุดสิ้นสุดเส้นทางนิทรรศการของพิพิธภัณฑ์ตำรวจ คือประสบการณ์ที่ผู้พิทักษ์สันติราษฎร์ และผู้คนในสังคมจะร่วมกันสร้าง รับรู้ และเห็นไปพร้อม ๆ กันต่อจากนี้
ติดตามไฮไลต์ของกิจกรรม TK Small Tour ที่พิพิธภัณฑ์ตำรวจ วังปารุสกวัน ในรูปแบบวิดีโอได้ที่นี่และทางช่อง YouTube ของ TK Park↗ ได้เร็ว ๆ นี้