TK park รวมพลังเครือข่ายขับเคลื่อนเมืองแห่งการเรียนรู้
อุทยานการเรียนรู้ TK park จัดสัมมนาเชิงปฏิบัติการ “ร่วมสร้างสรรค์เครือข่ายสู่เป้าหมายเดียวกัน” โดยมีตัวแทน 153 คน จากอุทยานการเรียนรู้เครือข่าย 51 แห่งทั่วประเทศ มาพบปะแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกัน ในระหว่าง วันที่ 4-7 มิถุนายน 2562 ณ โรงแรมริชมอนด์ จังหวัดนนทบุรี โดยมีนายกิตติรัตน์ ปิติพานิช ผู้อำนวยการสำนักงานอุทยานการเรียนรู้ บรรยายและร่วมวงเสวนากับผู้เชี่ยวชาญในแวดวงการอ่านการเรียนรู้ รวมทั้งรับฟังการแบ่งปันประสบการณ์จากเครือข่ายอุทยานการเรียนรู้จากทุกภาคของประเทศไทย
“แหล่งเรียนรู้ยุคใหม่กับการขับเคลื่อนเมืองแห่งการเรียนรู้”
วงเสวนาในงานครั้งนี้ มีประเด็นที่ทุกคนสนใจร่วมกัน ในหัวข้อ “แหล่งเรียนรู้ยุคใหม่กับการขับเคลื่อนเมืองแห่งการเรียนรู้” โดยมีผู้ร่วมสัมมนา 4 ท่าน หนึ่งในนั้นคือ นายบุญธรรม เลิศสุขีเกษม รองปลัดกระทรวงมหาดไทย อดีตผู้ว่าราชการจังหวัดยโสธร ผู้ที่ทำงานคลุกคลีในแวดวงการส่งเสริมการอ่านมายาวนาน ทำงานสนับสนุนการเรียนรู้และส่งเสริมให้คนรักการอ่าน เพราะเชื่อว่าการอ่านสามารถเปลี่ยนแปลงโลกได้
“จากจุดเริ่มต้นในจังหวัดยโสธร ผมพบปัญหาเรื่องพัฒนาการของเด็กที่ด้อยกว่าที่อื่น จึงนำการอ่านมาช่วยสร้างพัฒนาการให้กับเด็กตั้งแต่เด็กแรกเกิด โดยทำอย่างตั้งใจเพื่อแก้ปัญหาในพื้นที่ ประกอบกับ ทีมงานที่มีเครือข่ายเรื่องส่งเสริมการอ่านเข้มแข็งเพื่อนำให้ยโสธรเป็น “เมืองส่งเสริมการอ่าน”
นายบุญธรรม เล่าว่า ยโสธรมีการจัดทำหนังสือ “อีเล้งเค้งโค้ง เกษตรสุขสันต์ ขุนคันคาก” ร่วมกับครูชีวัน วิสาสะ เผยแพร่ไปยังโรงเรียนระดับประถมจนได้รับความนิยม จนมีเล่มที่ 2 คือ “เกษตรอินทรีย์ ผีบักอึ่ง” ทำให้หนังสือคือเครื่องมือสร้างการเรียนรู้ผ่านการอ่านให้กับเด็ก นอกจากนี้ยังมีรถตู้หนังสือไปบริการบนถนนคนเดิน และมี“ห้องสมุดกลางแจ้ง” ที่ไม่มีการจัดหมวดหมู่หนังสือ ไม่ห้ามส่งเสียงดัง ไม่มีบรรณารักษ์เป็นกิจลักษณะ หนังสือมาจากการบริจาค ใครอ่านไม่จบอยากหยิบไปอ่านที่บ้านก็หยิบไปได้เลย ปัจจุบันห้องสมุดนี้มีคนมาใช้บริการมากขึ้นเรื่อยๆเพราะอยู่ในแหล่งท่องเที่ยว มีการจัดกิจกรรมสำหรับเด็กๆ และมีจำนวนหนังสือเพิ่มมากขึ้น
นครแห่งการอ่าน
นายกิตติภูมิ นามวงศ์ นายกเทศมนตรีนครลำปาง กล่าวถึงเหตุผลที่ให้ความสำคัญกับการส่งเสริมการเรียนรู้ให้กับคนในชุมชนเพื่อสร้างลำปางให้เป็น “นครแห่งการอ่าน”ว่า เราต้องกลับมาคิดว่าเราจะสร้างความยั่งยืนให้กับเมืองได้อย่างไร เรื่องแรก คือการพัฒนาคนให้มีคุณภาพ เกิดการเรียนรู้ร่วมกัน นอกจากนั้นก็เป็นเรื่องสิ่งแวดล้อม สุขภาพ และ ประวัติศาสตร์ การสร้างลำปางให้เป็นเมืองแห่งการเรียนรู้ เรามีอุทยานการเรียนรู้นครลำปาง หรือ LK Park ที่เน้นการเรียนรู้นอกระบบ และขยายเครือข่ายอุทยานการเรียนรู้ของเทศบาลเข้าไปตามโรงเรียน ในชื่อว่า T5 park, T4 park หรือ T7 park โดยไม่ได้ใช้รูปแบบห้องสมุด แต่เป็นพื้นที่ที่ใครอยากมาเรียนอะไร เราก็จัดหาให้ อยากมาอ่าน มานอน มาร้องเพลง ก็สามารถทำได้ เพื่อไม่ให้รู้สึกเครียด มีการเปลี่ยนแปลงหลักสูตรตลอด
“สังคมแห่งการเรียนรู้มันต้องใช้เวลาสร้าง จะใช้เวลา 3 วัน เพื่อสร้างสังคมแห่งการเรียนรู้นั้นเป็นไปไม่ได้ ปกตินักการเมืองมักไม่ค่อยเห็นความสำคัญกับเรื่องเหล่านี้ เพราะลงทุนเยอะ ใช้เวลานาน ได้คะแนนน้อย แต่ถ้าบ้านเมืองไหน มีแต่นักการเมืองคิดแบบนี้ มันก็จะแต่แบบเดิมๆ เราต้องลงทุนวันนี้ เพื่อการสร้าง”เมืองแห่งการเรียนรู้” ในอนาคต และต้องทำอย่างต่อเนื่องและตรงกลุ่มเป้าหมาย”
ห้องสมุดที่เปลี่ยนไป
นายเมฆินทร์ ลิขิตบุญฤทธิ์ รองผู้อำนวยการฝ่ายพัฒนาความรู้การเงินขั้นพื้นฐาน ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (บรรณารักษ์ห้องสมุดมารวย ตลาดหลักทรัพย์) กล่าวถึงการปรับตัวของห้องสมุดในรอบทศวรรษที่ผ่านมา จำนวนของชั้นหนังสือลดลง แต่จำนวนที่นั่งเยอะขึ้น เพราะคนต้องการพื้นที่ทำงาน และ wifi เหล่านี้เป็นไปตามยุคสมัย ในกรณีของห้องสมุดมารวยพบว่า ผู้ใช้บริการเกือบร้อยละ 90 เข้ามาเพื่อใช้สถานที่ หรือเรียนรู้ มาพูดคุย แลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับกลุ่มคนที่ทำงานแบบเดียวกัน ขณะที่ร้อยละ10 เข้ามาเพื่ออ่าน ยืม คืน หนังสือ แต่จำนวนการยืมคืนหนังสือ ไม่ได้ลดลง ผู้ใช้หลายคนเข้ามายืมหนังสือแล้วเอากลับไปอ่านที่บ้าน จึงเกิดบริการส่งหนังสือด้วย Lineman และ “มารวย e- Library” ที่ให้บริการหนังสือความรู้ด้านการเงินประมาณ 700-800 เรื่อง
สร้างทักษะ สร้างอนาคต
ด้าน นายกิตติรัตน์ ปิติพานิช ผู้อำนวยการสำนักงานอุทยานการเรียนรู้ กล่าวถึงการพัฒนาทักษะคนไทยให้เหมาะกับศตวรรษที่ 21ว่า สิ่งที่เทคโนโลยี AI ยังทำไม่ได้ในตอนนี้ ก็มีเรื่องทักษะความคิดสร้างสรรค์ การแก้ปัญหาที่ซับซ้อน และการออกแบบบริการที่สร้างประสบการณ์ที่ดีให้กับผู้คน ทั้ง 3 สิ่งนี้จะทำให้มนุษย์สามารถไปต่อได้ อุทยานการเรียนรู้ TK park สนใจในเรื่องการทบทวนทักษะ (Reskill) และการยกระดับทักษะ (Upskill) ความต้องการของผู้คน หรือของชุมชนเป็นสิ่งสำคัญที่เราต้องทราบ จากนั้นเราต้องกลับไปดูว่าสามารถทำอะไรให้พวกเขาได้บ้าง นั่นคือ จุดขายของพื้นที่เรียนรู้ในยุคสมัยนี้ สิ่งเหล่านี้เองคือหน้าที่ ที่การศึกษานอกระบบอย่างเราจะต้องเข้ามาช่วย เพราะสมัยนี้เด็กที่เรียนในระบบก็อยากเรียนให้จบเร็วๆ ให้ตรงกับสิ่งที่ตนสนใจนำไปใช้ได้เลย
ในส่วนอุทยานการเรียนรู้ TK park จะมาช่วยเติมเต็มสนับสนุนการเรียนรู้ให้คนไทยได้ โดยเริ่มจาก อย่างแรก คือการส่งเสริมทักษะการเรียนรู้ด้วยตัวเอง โดยมุ่งพัฒนาเครื่องมือเพื่อให้คนสามารถค้นหาสิ่งที่ตนเองถนัดและสนใจได้เลย รวมทั้งแนวทางการต่อยอดทักษะเดิม เพื่อจะได้หาคำตอบได้ว่ามีสถาบันหรือหน่วยงานใดที่มีองค์ความรู้ที่ต้องการอยู่ เพราะก่อนจะเรียนรู้ด้วยตัวเอง ทุกคนต้องตั้งเป้าหมายและมีทิศทางก่อน เพื่อจะออกไปเสาะแสวงหาความรู้และทักษะต่อไป
“เราไม่ได้มีแค่กิจกรรม ไม่ได้มีแค่หนังสือ แต่เรากำลังสร้างสังคมแห่งการเรียนรู้ เรากำลังสร้าง “ระบบนิเวศของการเรียนรู้” เช่น สมัยก่อนตอนผมไปเรียนต่างประเทศ พอเราออกมาจากมหาวิทยาลัย เค้าจะมีบรรยาย มีสัมมนาฟรี เต็มไปหมด เดี๋ยวที่นั่นจัด เดี๋ยวร้านหนังสือจัด ไปนั่งอ่านหนังสือในร้านหนังสือได้ฟรีๆ พอไปมิวเซียม จะมีคนสูงอายุมาเป็นอาสาสมัครช่วยเหลือให้ความรู้ เป็นระบบนิเวศที่ดีมาก คือ มีทั้งภาครัฐ คนที่มีหน้าที่ให้ความรู้ และ คนธรรมดาที่อยากให้ความรู้ที่เค้าสะสมมา แล้วเกิดการแชร์ระบบความรู้เหล่านี้ เหมือนเขาได้อ่านหนังสือ เกิดการเรียนรู้ไปพร้อมกัน ฉะนั้นหน้าที่ของเรา คือ สร้างระบบนิเวศเหล่านี้ให้ได้” ผู้อำนวยการสำนักงานอุทยานการเรียนรู้ กล่าว