TK Reading Club ตอน ในม่านเมฆ โดยในวันนี้นักเขียน คุณฉัตรารัศมิ์ แก้วมรกต หรือพี่ปอ และ ดร.พรธาดา สุวัธนวนิช อาจารย์ประจำภาควิชาภาษาไทยและภาษาตะวันออก คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ให้เกียรติมาร่วมเสวนา ทั้งยังมีแฟนคลับตามมาให้กำลังใจอย่างอบอุ่นทีเดียว
เปิดประวัติ “ร่มแก้ว” จากสาวนักข่าวสู่นักเขียนและอินทีเรียร์ดีไซเนอร์
พี่ปอเผยว่า ตนจบนิเทศศาสตร์ ทำงานด้านสื่อมาสิบปี แต่ชอบวาดรูปเลยไปเรียนอินทีเรียร์ดีไซน์เพิ่มเติม ปัจจุบันเป็นอินทีเรียร์ดีไซเนอร์แต่ไม่ได้ทำเป็นงานประจำ เนื่องจากต้องการทำควบคู่กับการเขียนหนังสือด้วย
จุดเริ่มต้นหนอนหนังสือ
พี่ปอเล่าว่าตนเริ่มอ่านหนังสือตั้งแต่เด็ก ประมาณช่วงมัธยมชอบไปขลุกอยู่ที่ร้านเช่านิยาย โดยจะเช่ามาอ่านข้ามวันข้ามคืน พอจบเล่มนี้ก็ไปยืมเล่มใหม่มาตลอด อ่านแทบไม่หลับไม่นอนและทำแบบนี้ตลอดปิดเทอม ซึ่งโชคดีที่ถึงแม้พ่อแม่จะไม่ได้สนับสนุน แต่ก็ไม่เคยห้ามปราม ที่ชอบก็เพราะได้อ่านชีวิตคนว่าเป็นแบบไหน ได้เจอชีวิตที่หลากหลาย ได้เปลี่ยนลองสมมติบทบาทตามอาชีพที่เปลี่ยนไปของตัวละครแต่ละเรื่อง
นักเขียนไอดอลในดวงใจ
แม้จะชอบอ่านหนังสือทุกช่วงวัยของชีวิต แต่พี่ปอก็บอกว่า แนวในการอ่านเปลี่ยนตามวัย คือ ตอนเด็กอ่านแนวสุขสมหวัง โดยเฉพาะชอบอ่านของคุณวลัย นวาระ ถ้ารู้ว่านิยายเรื่องใดจบเศร้าก็จะไม่อ่านเลย พอโตขึ้นมาก็อ่านงานของคุณทมยันตี กิ่งฉัตร ว.วินิจฉัยกุล พนมเทียน จนกระทั่งปัจจุบันเปลี่ยนมาอ่านแนวชีวิตมากขึ้น ไม่ได้อ่านรักอย่างเดียว ไปจนถึงอ่านแนวจิตวิทยาและธรรมะ
เริ่มจับปากกา
พี่ปอเล่าว่าช่วงวัยรุ่นเมื่ออ่านนิยายมากขึ้นๆ ก็เริ่มอยากเขียน โดยเริ่มมาจากความไม่ค่อยพอใจบางฉากบางตอนในนวนิยายที่อ่าน เช่น รู้สึกว่าบางฉากสั้นไปไม่จุใจก็เขียนเพิ่มเขียนต่อเอา จนในที่สุดก็เขียนเองเล่นๆ เหมือน “แฟนฟิค” ในปัจจุบัน โดยเขียนไว้อ่านเองเล่นๆ บางทีก็เขียนเก็บใส่ตู้ไว้อ่านเอง หลังๆ เรื่องก็เริ่มยาวขึ้นๆ พอเขียนจบเป็นเรื่องก็คิดว่าเมื่อได้เรื่องได้ความยาวขนาดเป็นนวนิยายแล้วก็ไม่ควรเก็บไว้ จึงส่งไปนิตยสารแต่ก็ยังไม่มีใครรับ จึงเขียนต่อไปเรื่อยๆ จนกระทั่งเวลาผ่านไปถึงช่วงคาบเกี่ยวที่คนเริ่มโพสต์เรื่องลงอินเทอร์เน็ต เช่น พันทิป จึงลองเอานวนิยายเรื่องหนึ่งไปลงคือ “แอบรักออนไลน์” ซึ่งตอนนั้นยังเขียนไม่จบ และได้ลองส่งไปที่สถาพรบุ๊คส์ จึงได้ตีพิมพ์ ส่วนเรื่อง “ต้นรักริมรั้ว” นั้นเขียนก่อนแต่ตีพิมพ์ทีหลังเนื่องจากมีเหตุการณ์ที่ทำให้คลาดเคลื่อนกัน ภายหลังได้พิมพ์กับสถาพรบุ๊คส์ แต่ได้รับการติดต่อทำเป็นละครก่อนเรื่องแอบรักออนไลน์
แรงบันดาลใจและแหล่งข้อมูล
พี่ปอกล่าวว่ามีโอกาสได้ทำงานในแวดวงสื่อสารมวลชนหลายปี ได้ทำสกู๊ปข่าวเยอะ ได้สัมภาษณ์ครอบครัวที่ประสบความสูญเสียจากเหตุการณ์ต่างๆ เมื่อนำมาเขียนเป็นสกู๊ปแล้วรู้สึกเศร้าใจไปด้วยทำให้สกู๊ปข่าวมีอารมณ์ดราม่าอยู่บ้าง
นอกจากนี้ยังหยิบเอาสิ่งที่เกิดขึ้นใกล้ๆ ตัวมาเขียนด้วย เช่น เรื่องแอบรักออนไลน์ได้รับแรงบันดาลใจมาจากช่วงนั้นเป็นช่วงที่เริ่มมีโปรแกรม MSN จึงหยิบเอากิมมิกเล็กๆมา ประกอบกับใส่ฉากที่หยิบมาจากชีวิตทำงานคือบรรยากาศการทำงานในออฟฟิศ ส่วนเนื้อเรื่องไม่เกี่ยว เป็นเรื่องที่แต่งขึ้นมาใหม่
พี่ปอเสริมว่ายังใช้วิธีเลือกอาชีพจากคนรู้จักที่เราพอมองดูหรือไปสอบถามได้ หาจากตัวตนจริง ไปสัมภาษณ์ หรือกูเกิลดู เช่น อาชีพอาจารย์ดาราศาสตร์ในเรื่องดั่งดาวพเนจร รู้จักตอนสมัยเป็นนักข่าวและไปทำสกู๊ปเกี่ยวกับดาราศาสตร์ รู้สึกสนุกเลยเอามาเขียนเป็นนิยาย หรืออย่างตอนที่มีโอกาสไปศึกษาต่อปริญญาโทที่ต่างประเทศก็ได้เที่ยวและเขียนเรื่องต้องมนตร์ราตรี เป็นเรื่องราวของนางเอก 3 คน 3บุคลิกไปเที่ยวต่างประเทศ เรื่องแรกคือสเปน จะมีบุคลิกแซ่บๆ คล้ายที่ที่ไป เรื่องที่ 2 คือสวิตเซอร์แลนด์ เป็นสไตล์หวานๆ โรแมนติก เรื่องที่ 3 คือกรีซ โรแมนติก เหงาๆ
เรื่องที่ชอบที่สุด
พี่ปอเผยว่าเวลาเขียนก็จะชอบทุกเรื่อง แต่เมื่อเขียนจบไปแล้ว ตีพิมพ์ไปแล้วกลับมาอ่านใหม่ก็ไม่ค่อยชอบ รู้สึกอยากเขียนเพิ่มตรงนั้นตรงนี้
นอกจากนี้มักจะเขียนนางเอกที่มีข้อบกพร่อง แล้วค่อยๆ โตขึ้น ได้เรียนรู้ สุดท้ายจะพัฒนา และเป็นคนดีขึ้น อย่างเช่นเรื่องชอบที่สุดคือ “บุษบาเร่ฝัน” ซุ่ยหรือนางเอกจะค่อนข้างคล้ายคลึงกับตนมากที่สุด และคิดว่าอาจมีในตัวทุกคน คือ เรามักจะไม่เห็นเรื่องดีๆ ในชีวิตของเรา แต่มองชีวิตคนอื่นแล้วคิดว่าชีวิตคนนั้นดีแบบนั้นแบบนี้ เช่น เพื่อนร่วมรุ่นเป็นผู้จัดการแล้ว เงินเดือนก็เยอะ ขณะที่เราไม่ได้ทำงานประจำ แต่จริงๆ เพื่อนก็มองว่าเราเก่งเหมือนกันเขียนนิยายได้
พี่ปอเสริมว่า ซุ่ยเป็นคนมองโลกแง่ลบ คิดว่าตนเองเป็น “สิ่งมีชีวิตที่ต่ำต้อยที่สุดในออฟฟิศ” เห็นคนอื่นสวยกว่า ทำงานเก่งกว่า ก็อิจฉาน้อยใจ จึงนำมาผสมกับความแฟนตาซีนิดๆ คือ ให้ซุ่ยได้รับพรว่า ถ้าอิจฉาใครก็จะได้ลองใช้ชีวิตเป็นคนนั้น ซึ่งทำให้ซุ่ยได้เรียนรู้ในที่สุดว่าชีวิตทุกคนไม่ได้มีแต่เรื่องดีไปทั้งหมด ชีวิตของทุกคนก็ล้วนมีความทุกข์และสุขปนๆ กันไป
ความสำเร็จ
พี่ปอกล่าวว่าความสำเร็จคือ นวนิยายได้รับการติดต่อไปทำเป็นละครทำให้คนรู้จักมากขึ้น คือ แอบรักออนไลน์ ต้นรักริมรั้ว บุษบาเร่ฝัน คุณชายปวรรุจจากซีรี่ย์สุภาพบุรุษจุฑาเทพ The Cupids บริษัทรักอุตลุด ตอน กามเทพออนไลน์ ซึ่งเพิ่งออนแอร์จบไปไม่นาน
การเขียนซีรี่ส์ร่วมกัน
พี่ปอเล่าว่าเคยเขียนซีรี่ย์มาหลายเรื่อง เช่น บ้านไร่ปลายฝัน The Sixth Sense สื่อรักสัมผัสหัวใจสุภาพบุรุษจุฑาเทพ ดวงใจเทวพรหม ลูกไม้ของพ่อ
การเขียนนวนิยายร่วมกันนั้นทั้งง่ายและยาก เริ่มจากการคุยกันว่าจะเขียนเรื่องแนวไหน เช่น สุภาพบุรุษจุฑาเทพมาจากตอนนั้นมีคนชอบละครเรื่องวนิดาเยอะ เมื่อเขียนร่วมกันแล้วก็มีความสนุกตรงที่หยิบยืมตัวละครกัน เขียนเสร็จแล้วก็ส่งให้ทุกคนอ่าน ช่วยกันคิดและแนะนำ ช่วยกันทำงาน มันง่ายเพราะมีคนช่วยคิด เช่น ภาพฉากในวังจุฑาเทพ
ส่วนความยากก็มีคือ เราต้องวางเรื่องไว้ชัดมาก ๆ ห้ามเปลี่ยนไปมาเหมือนตอนเราเขียนคนเดียว ต้องฟิกซ์ เพราะคนอื่นต้องเอาไปใช้ด้วย และต้องเอาของคนอื่นมาใส่ด้วย ต้องตรวจเช็กกันตลอด ต่อมาได้เขียนภาคต่อร่วมกันคือดวงใจเทวพรหม คือเรื่องพรชีวันนั้นง่ายเพราะเป็นเล่มปิด
ซีรี่ส์ลูกไม้ของพ่อ
หนึ่งในความภาคภูมิใจของพี่ปอคือการได้ร่วมเขียนหนึ่งในนวนิยายซีรี่ย์ชุด “ลูกไม้ของพ่อ” ซึ่งมีทั้งหมด 5 เล่ม โดยเกิดจากความตั้งใจของนักเขียนทุกคนที่ต้องการจะเทิดพระเกียรติในหลวงรัชกาลที่ 9 ได้แก่ “ใต้ร่มใบภักดิ์” เขียนโดยชมจันท์ เป็นเรื่องราวเกี่ยวกับไบโอดีเซล “ลูกหนี้ที่รัก” เขียนโดยชาครียา เป็นเรื่องเกี่ยวกับหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงและการทำบัญชีรายจ่าย “แสงดาวกลางใจ” เขียนโดยรินท์ลภัส เป็นเรื่องเกี่ยวกับการทำการเกษตรในที่สูง “ในม่านเมฆ” เขียนโดยร่มแก้ว เป็นเรื่องเกี่ยวกับฝนหลวงและฝายชะลอน้ำ “หัวใจใกล้รุ่ง” เขียนโดยอิสย่าห์ เป็นเรื่องเกี่ยวกับบทเพลงพระราชนิพนธ์
นวนิยายชุดนี้ยังได้รับการซื้อลิขสิทธิ์ไปทำเป็นละคร ออกอากาศทางสถานีวิทยุโทรทัศน์ไทยทีวีสีช่อง 3 ผลิตโดย บริษัทมายน์แอทเวิร์คส์ จำกัดอีกด้วย
ในม่านเมฆ
พี่ปอเผยว่าสนใจอยากเขียนเรื่องนักบินฝนหลวงมานานตั้งแต่ตอนที่จะเขียนคุณชายปวรรุจแล้ว แต่มีความไม่ลงตัวเรื่องปีพ.ศ. โดยพี่ปอได้เลือกโครงการพระราชดำริคือการทำฝนหลวงและฝายชะลอน้ำ
เรื่องมีอยู่ว่าพระเอกคือทิวเมฆกับนางเอกคือรวงข้าวอยู่บ้านไอดิน รวงข้าวต้องจากบ้านเพราะคุณตาเข้าใจผิด จนกระทั่งเวลาผ่านไป 10 ปี รวงข้าวก็ตัดสินใจกลับมาช่วยแก้ปัญหาบ้านเกิดและปรับความเข้าใจกับคุณตา
การเก็บข้อมูล
พี่ปอเล่าว่าเริ่มต้นจากคุณแพรณัฐ ซึ่งเป็นหนึ่งในนักเขียนชุดสุภาพบุรุษจุฑาเทพและดวงใจเทวพรหมมีอาเป็นนักบินฝนหลวง จึงขออนุญาตไปสัมภาษณ์ที่ศูนย์ฝนหลวงหัวหิน เช่น การทำฝนเทียมทำอย่างไร ซึ่งนอกจากคุณอาจะกรุณาให้ความรู้แล้ว ยังได้พาขึ้นเครื่องบินไปดูการทำฝนหลวงจริงๆ ซึ่งนักบินส่วนใหญ่จะเคยเป็นทหารมาก่อนและต้องขับเครื่องบินเก่ง เพราะต้องขับเข้าไปในกลุ่มเมฆฝน
พี่ปอเล่าเสริมวิธีการทำฝนเทียมว่า เริ่มจากเครื่องบินลำแรกจะโปรยสารเคมีเพื่อกระตุ้นมวลอากาศให้ลอยตัวสูงขึ้น จนเกิดกระบวนการชักนำความชื้นเข้าสู่กระบวนการเกิดเมฆ จากนั้นเมื่อเมฆเริ่มมีการก่อตัวและเจริญเติบโตทางตั้ง ก็จะใช้สารเคมีที่ให้ปฏิกิริยาคายความร้อนโปรยเข้าสู่ก้อนเมฆเพื่อกระตุ้นให้เกิดกลุ่มแกนร่วมในบริเวณปฏิบัติการ สำหรับใช้เป็นศูนย์กลางที่จะสร้างกลุ่มเมฆฝน จากนั้นเมื่อเมฆเจริญเติบโต เครื่องบินลำต่อมาจะโปรยสารเคมีเพื่อเพิ่มพลังงาน หรือที่เรียกว่า “เลี้ยงให้อ้วน” และทิ้งเวลาไว้รอให้กลุ่มเมฆฝนมีความหนาแน่นมากพอที่จะสามารถตกเป็นฝนได้ก็จะถึงขั้นตอนสุดท้ายคือ เครื่องบินต้องบินเข้าไปในกลุ่มเมฆฝนโปรยสารเคมีเพื่อ “โจมตี” ให้เมฆเหล่านั้นตกมาเป็นฝน
นอกจากโครงการฝนหลวงแล้วยังมีโครงการที่เชื่อมโยงและต่อเนื่องกันด้วย คือ ในหลวงรัชกาลที่ 9 มีพระราชดำริว่า เมื่อฝนตกลงมาแล้วก็ต้องเก็บน้ำและความชุ่มชื้นไว้ ซึ่งจะทำได้อย่างไรก็คือทำ “โครงการฝายชะลอความชุ่มชื้น” หรือฝายชะลอน้ำ
การให้เบ็ดตกปลา ดีกว่าการให้ปลา
“ไม่มีอะไรดีไปกว่าการที่ทำให้ประชาชนพึ่งตนเองได้ การช่วยให้คนยืนด้วยขาตัวเองก็เหมือนกับการให้เบ็ดตกปลาแก่เขา ไม่ใช่เอาปลาไปให้” (ในม่านเมฆ 2554 : 97)
ด้วยพระอัจฉริยภาพและพระเมตตาของในหลวงรัชกาลที่ 9 พระองค์จึงทรงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯจัดตั้งศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยฮ่องไคร้ อันเนื่องมาจากพระราชดำริ ตั้งอยู่ที่ตำบลป่าเมี่ยง อำเภอดอยสะเก็ด จังหวัดเชียงใหม่ เป็นพื้นที่ตัวอย่างที่ทรงริเริ่มฟื้นฟูพื้นที่ป่าเสื่อมโทรมอันเนื่องมาจากการตัดไม้ทำลายป่าทำให้ผืนดินถูกทำลาย พระองค์ทรงเริ่มแนวคิดปลูกป่า 3 อย่าง ได้แก่ ไม้เศรษฐกิจ ไม้ผล และไม้ฟืน รวมถึงการจัดการเรื่องน้ำ ได้แก่ ชลประทาน น้ำฝน และฝายชะลอความชุ่มชื้น เพื่อเป็นการอนุรักษ์ดินและน้ำให้ชุ่มชื้นและสมบูรณ์ เป็นต้นแบบการบูรณาการอันยอดเยี่ยม
พี่ปอเล่าว่าได้ไปศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยฮ่องไคร้ อันเนื่องมาจากพระราชดำริ เพื่อไปศึกษาพื้นที่ตัวอย่างที่ทำแล้วประสบความสำเร็จ ซึ่งตอนแรกก็ไม่รู้ว่ามาก่อนว่าฝนหลวงกับฝายมีความเกี่ยวข้องกัน
พี่ปอเสริมว่าได้ถ่ายทอดความรู้เรื่องการทฝนหลวงและฝายผ่านตัวละครหนึ่งที่อธิบายให้รวงข้าวฟัง คือ พยายามแทรกให้เปนกลิ่นอายและบรรยากาศมากกว่าที่จะพูดลึกๆ หรือพูดโต้งๆ แต่ก็มีฉากนางเอกสะดุดล้มบ้างเพื่อคงความเป็นนิยายรักและ
สำนึกรักบ้านเกิดนิดหน่อย ตอนนั้นเขียนด้วยความปลาบปลื้มและทึ่งในพระอัจฉริยภาพของในหลวงรัชกาลที่ 9 มาก
เปิดใจนักอ่าน
อ.พรธาดา กล่าวว่าประทับใจที่สไตล์การเขียนไม่เหมือนกับนิยายออนไลน์ทั่วไป เรื่องแอบรักออนไลน์ก็ดี มีอาชีพที่หลากหลายให้เราเห็น เรื่องสัมผัสรัตติกาลมีอาชีพที่หลากหลายเช่นกัน เช่น ทีมบอดี้การ์ด นักการเมือง ต่างจากละครบ้านเราที่ไม่ค่อยมีอาชีพให้เห็น แต่ร่มแก้วลงรายละเอียดทำให้เราเชื่อและแสดงให้เห็นว่าทำการบ้านมาดี
ที่ชอบที่สุดคือเรื่องบุษบาเร่ฝัน ปกติไม่ชอบนวนิยายแนวสลับร่างสร้างรัก ชอบแค่เรื่องหวานมันส์ ฉันคือเธอ แต่เรื่องนี้กลับทำให้ชอบที่ได้เห็นประสบการณ์ต่างๆ ของนางเอก เล่าเรื่องความไม่เท่ากันหรือการมีศักดินาในออฟฟิศ เช่น ความสวย ความเก่ง การประจบประแจง ซึ่งมันสมจริงมาก ทุกอย่างที่ซุ่ยเป็นทำให้เราได้เรียนรู้ ชีวิตมีอีกมุมเสมอ เป็นการผจญภัยของนางเอก อีกทั้งพล็อตและภาษาก็ดี
นอกจากนี้อาจารย์ยังเสริมว่าเรื่องในม่านเมฆ ความยากคือ การเขียนเรื่องฝนหลวงอย่างไรให้เปนนิยาย ซึ่งทำได้ดีมาก ปรุงได้นิ่มนวลมาก และมีการเก็บซ่อนพล็อตเล็กๆ น้อยๆ และนำมาเฉลยตอนท้าย ซึ่งก็เป็นเอกลักษณ์ที่ร่มแก้วทำได้ดี
Chestina Inkgirl
ขอขอบคุณข้อมูลจาก
http://www.hongkhrai.com/index2.php