TK Reading Club ตอน ไส้เดือนตาบอดในเขาวงกต
อุทยานการเรียนรู้ TK park เชิญชวนนักอ่านคอวรรณกรรมเข้าร่วมกิจกรรม TK Reading Club ในตอน “ไส้เดือนตาบอดในเขาวงกต” โดยได้รับเกียรติจากคุณวีรพร นิติประภา หรือพี่แหม่มมาร่วมเสวนาด้วย ในส่วนนักอ่านที่มานั่งล้อมวงพูดคุยก็ให้การต้อนรับกันอย่างอบอุ่นทีเดียว
ทำไมจึงตั้งชื่อว่า “ไส้เดือนตาบอดในเขาวงกต”
พี่แหม่มเผยว่าไส้เดือนตาบอดเป็นเรื่องที่ว่าด้วยเรื่องมายาคติ ในเรื่องจะมีอยู่ตอนหนึ่งที่ชลิกากับชารียาในวัยเด็กคุยกันว่า ไส้เดือนมันจะรู้ตัวหรือเปล่าว่ามันตาบอด เพราะที่จริงแล้วไส้เดือนก็เปรียบเหมือนเราทุกคนทั้งตัวละครและคนอ่านเองด้วยที่ต่างอยู่ในมายาคติ เราคิดว่าเราเลือกด้วยตัวเองเสมอ เราเลือกที่จะเชื่ออะไรไม่เชื่ออะไร แต่จริง ๆ เป็นมายาคติ เราอาจเหมือนไส้เดือนตาบอดที่ขุดเขาวงกตด้วยตัวเอง
ก่อนจะมาเป็นไส้เดือนตาบอดในเขาวงกต
พี่แหม่มเผยว่า แรงบันดาลใจในการเขียนนวนิยายเรื่องนี้คือ เหตุการณ์การเมืองปี 53 ที่ทำให้ตั้งคำถามว่า ทำไมการตายของประชาชนกลางเมืองทำให้หลาย ๆ คนรอบตัวพี่แหม่มดีใจขนาดนั้น ทั้งที่เราก็ไม่รู้จักกันเลย หนึ่งในคนใกล้ตัวเป็นคนธัมมะธัมโมบอกว่า เป็นเรื่องจำเป็นสิ จำเป็นต้องตาย แต่ตนคิดว่าไม่จริงหรอก ไม่มีใครจำเป็นต้องตาย หากกล่าวถึงเรื่องความจำเป็น สมมติสถานการณ์ว่ามีคนมาขโมยของบ้านเรา แล้วเรายิงเขา โป้ง! ตาย... นี่ยังดูสมเหตุสมผลมากกว่าการสะใจดีใจที่เห็นคนที่เราไม่รู้จักถูกยิงตาย
พี่แหม่มเสริมว่า จากเหตุการณ์ปี 53 ได้กลายมาเป็น Midlife crisis ที่ทำให้รู้สึกว่าต้องหาคำตอบให้ได้ว่า ทำไมต้องดีใจกับความตายของคนขนาดนั้น จริง ๆ ตอนจบก็อาจไม่สามารถให้คำตอบได้ แต่ก็ตั้งคำถามว่ามนุษย์ต้องอยู่แบบนี้จริง ๆ เหรอ ตั้งใจพูดเรื่องมายาคติให้คนอ่านฉุกคิด
เหตุใดจึงเลือกนำเสนอเป็นนิยาย
พี่แหม่มตอบว่า จะไปพูดตรง ๆ ได้อย่างไร พูดอะไรก็ไม่มีใครฟัง ถ้าต้องพูดก็เลยอยากเปลี่ยนวิธี ตอนแรกคิดอยากจะเขียนนิยายเกลียด (ผู้ฟังหัวเราะ) แต่คนประเทศเราอาจเกลียดกันมากพอแล้ว ก็เลยเขียนนิยายรักดีกว่า
ทั้งนี้สำหรับผู้อ่านที่อายุยังน้อยก็จะเข้าใจไปว่านี่เป็นเรื่องรัก แต่ที่จริงมันคือเรื่องมายาคติ เขียนขึ้นเพื่ออยากให้คิดว่าทำไมเรื่องราวแบบนี้มันถึงเกิดขึ้น ทำไมสามคนนี้ต้องเป็นแบบนี้
พี่แหม่มเสริมว่า ที่เลือกเล่าด้วยการตัดสลับเหตุการณ์หรือย้อนเวลาไปเล่าตั้งแต่อดีต เพราะอยากสื่อว่า ปัญหาบางอย่าง เช่น ปัญหาบ้านเมืองบางทีต้นตอของปัญหามันย้อนกลับเวลาไปเยอะมากหลายปี เป็นห้าสิบปีแล้ว บางครั้งเราจะมองปัญหาจากช่วงเวลาปัจจุบันไม่ได้
ไส้เดือนตาบอดในเขาวงกต = นวนิยายน้ำเน่า?
พี่แหม่ม (หัวเราะ) กล่าวว่าไส้เดือนตาบอดในเขาวงกตเป็นนวนิยายน้ำเน่าจริง ๆ พระเอกนางเอกกำพร้า รักกัน แยกกัน เหมือนบ้านทรายทองอย่างไรอย่างนั้น
นักอ่านท่านหนึ่งแสดงความเห็นว่า ไม่ได้รู้สึกว่าน้ำเน่าขนาดนั้น เพราะไม่ได้มีเรื่องชนชั้นวรรณะเหมือนเรื่องบ้านทรายทอง
พี่แหม่มตอบว่ามีอุปสรรคทางดีเอ็นเอ เพราะพวกเขาเป็นเพื่อนกัน ดังนั้นแม้ไม่มีอุปสรรคเรื่องชั้นวรรณะก็จริง แต่ก็ยังน้ำเน่าอยู่ ไม่ได้ฉีกไปขนาดนั้น
นักเขียนที่ชื่นชอบ
นักเขียนที่ชอบ คือ หม่อมเจ้าอากาศดำเกิง ระพีพัฒน์ และ ’รงค์ วงษ์สวรรค์ จะเห็นว่านักเขียนรุ่นเก่าใช้ภาษายากกว่าเราอีก อย่างคุณรงค์ วงษ์สวรรค์นี่ใช้ภาษาที่ไม่มีในพจนานุกรมด้วยซ้ำ เช่น คำว่า รมเยศ เราไม่ได้ต้องเข้าใจคำทุกคำ เพราะจริง ๆ ความรู้สึกก็สำคัญกว่าในงานบางแบบ และตนก็รู้ว่าเสี่ยงหากจะใช้ภาษาแบบนี้ แต่ก็ลองดู คนไม่ยอมรับก็เลิกเป็นนักเขียน เรียบง่ายแค่นั้นเอง
ภาษาและสไตล์การเล่าเรื่อง
เลือกเล่าเรื่องด้วยภาษาที่เต็มไปด้วยการพรรณนาเพราะคิดว่า คนสมัยใหม่อ่านหนังสือเรียบไป เหมือนเฟซบุ๊กที่สั้น ๆ ง่าย ๆ ไม่กี่บรรทัด คล้าย ๆ เมื่อสามสิบปีก่อนที่เป็นยุคนวนิยายเพื่อชีวิต ภาษาจะไม่สวิงสวายเหมือนของหม่อมเจ้าอากาศดำเกิงกับสุวรรณี สุคนธา ยิ่งสมัยนี้จะมีแนวงง ๆ เบลอ ๆ แบบมุราคามิ คือมินิมัลไปเลย พูดน้อยกว่าที่ควร จึงอยากให้คนรุ่นใหม่ได้สัมผัสกับภาษาแบบอื่นที่ไม่เรียบจนเกินไปนักบ้าง
นอกจากนี้ยังตั้งใจให้ภาษาเป็นอีกหนึ่งมายาคติด้วยเช่นกัน โดยตั้งใจวางพล็อตให้ธรรมดามาก แต่เพราะอยากให้ภาษาเป็นมายาคติที่หลอกล่อให้หลงกล บีบผู้อ่านให้ต้องฟูมฟายเพราะการใช้ภาษาเร้าอารมณ์ หลอกให้ผู้อ่านเศร้าทั้งที่พล็อตมันน้ำเน่าและธรรมดามาก
พี่แหม่มเสริมว่าตั้งใจให้ภาษาเป็นประสบการณ์ ไม่ใช่แค่การ “อ่านเอาความ” อยากให้ผู้อ่านเหมือนเข้าไปในห้อง ๆ หนึ่ง แล้วถูกล็อกอยู่ในนั้น ดื่มด่ำไปกับมัน
วิธีทำงานสไตล์พี่แหม่ม
นักอ่านหลายท่านอยากทราบวิธีการทำงาน เช่นการทำงานกับบรรณาธิการเป็นอย่างไร พี่แหม่มเผยว่าบรรณาธิการไม่ได้ปรับแก้อะไรมากนอกจากคำผิด และทักว่าแต่ละตอนสั้นไป อยากให้รวบ ตอนแรกมีห้าสิบตอน พอรวบแล้วจึงเขียนเชื่อมแต่ละบท ใช้เวลาทั้งหมด 3 ปี ตอนที่นานสุดคือการปรับแก้ ใช้เวลาทั้งหมด 1 ปี
สำหรับการปรับแก้ที่ใช้เวลานานก็เพราะตัวละครก็เหมือนคนที่มีชีวิต พอเรารู้จักเขามากขึ้น เราก็ต้องปรับเปลี่ยนเขาไปเรื่อย ๆ ทั้งเติมทั้งตัด
ส่วนในเรื่องตารางการทำงานนั้น พี่แหม่มเล่าว่าเริ่มงานเก้าโมงเช้า แม้จะไม่สามารถเขียนได้อย่างลื่นไหลต่อเนื่องตลอดทั้งวัน แต่ความที่เป็นคนทำงานโฆษณามาก็ชินกับการที่ต้องทำงานแล้วได้งานทุกวัน ก็เลยเขียนได้ทุกวัน แต่มีปัญหาเดียวคือ จะเขียนจบหรือเปล่า จะจบที่ตรงไหน
เครื่องหมายคำพูดที่หายไป
พี่แหม่มออกตัวว่าไม่ได้จบด้านอักษรศาสตร์มาโดยตรง เรียนจบ “เลขานุกาลกิณี” (ผู้ฟังหัวเราะ) ไม่อยากใช้เครื่องหมายคำพูด เพราะรู้สึกว่าเครื่องหมายคำพูดเป็น “ณ จุดนั้น” ของกาลเวลา ทั้งที่เรื่องที่เล่ามันเป็นการเล่าย้อนเวลาไปตั้งนานมากแล้ว สุดท้ายจึงต้องใช้ / เพื่อแยกตัวละครให้คนอ่านรู้ว่าใครพูดอะไรอยู่
นอกจากนี้สุดท้ายพี่แหม่มเองยังได้ “เสรีภาพแปลก ๆ” ที่เกิดจากการไม่ใช้เครื่องหมายคำพูดด้วย เช่น ฉากที่ตัวละครกินข้าวอยู่ พูด แล้วใบไม้ร่วงในระหว่างนั้น ใบไม้จำเป็นต้องร่วงพร้อม ๆ กับการกินข้าวและพูด ถ้าร่วงทีหลังจากพูดไปแล้วก็ไม่ใช่สิ่งที่เราต้องการ
เพลงคลาสสิกกับการเร้าอารมณ์ตัวละคร
ในหนังสือ ตั้งใจเลือกใช้เพลงคลาสสิกยุคโรแมนติกเพียงยุคเดียว เพราะเป็นยุคโน้มน้าวทางอารมณ์ค่อนข้างสูง เป็นเพลงที่มักใช้ในหนังฮอลลีวู้ด จึงหยิบมาใช้เพื่อเร้าอารมณ์ตัวละครและผู้อ่าน อีกอย่างคือมายาคติเรื่องเพลงคลาสสิก สังคมไทยชอบคิดว่าคนฟังเพลงคลาสสิกต้องเป็นคนชนชั้นสูง จริง ๆ แล้วไม่ใช่ ในประเทศทางตะวันตกใคร ๆ ก็ฟังเพลงคลาสสิกเป็นเรื่องปกติธรรมดามาก ไม่มีการแบ่งชนชั้น แต่ประเทศเราถูกกำกับมาแล้วว่าคนชนชั้นสูงฟังเพลงคลาสสิก
พลังของภาษา
พี่แหม่มเล่าว่าความประทับใจแรกที่มีต่อภาษาคือตอนฟังทำนองเสนาะกาพย์นางลอยจากเรื่องรามเกียรติ์ เป็นตอนที่ดูเหมือนไม่มีอะไรคือ พระรามเจอเมีย ร้องไห้ เป็นลม แล้วกลับมาร้องไห้ใหม่ เนื้อเรื่องไม่มีอะไรแต่ภาษาสวยงามมาก สมัยนั้นได้ฟังระหว่างเดินไปโรงเรียน ฟังไปร้องไห้ไป เลยรู้ว่าภาษามีพลังอำนาจมาก
ช่วงที่พีคที่สุดและชอบที่สุดของนวนิยายเรื่องนี้
ถึงตรงนี้ นักอ่านร่วมแชร์ความคิดเห็นว่ารู้สึกว่าตอนใดในนวนิยายพีคที่สุด และชอบตอนใดมากที่สุด
นักอ่านหลายคนกล่าวตรงกันว่าชอบฉากที่ตัวละครดูภาพโบสถ์วัดสุทัศน์ ซึ่งคนเขียนบรรยายไว้อย่างงดงามและละเอียดมาก จนทำให้หลายคนที่เคยไปแต่ไม่ได้สนใจ อยากกลับไปดูอีกครั้ง
นักอ่านรุ่นเยาว์ท่านหนึ่งเห็นว่า ช่วงที่พีคที่สุดคือตอนที่ภราดรตาย พ่ออุ้มร่างภราดร แล้วฝนหล่นลงมาเป็นเข็มนั้นรู้สึกได้ว่า การสูญเสียลูกมันน่าจะเจ็บปวดเหมือนฝนตกลงมาเป็นเข็มได้จริง ๆ
นักอ่านท่านหนึ่งเผยว่าช่วงที่คิดว่าพีคที่สุดคือตอนที่ลุงธนิตไปบวช และพบความสงบของชีวิตในอีกมุมหนึ่ง
นักอ่านท่านหนึ่งกล่าวว่า เรื่องมันขึ้น ๆ ลง ๆ อยู่ตลอดเวลา ทำให้รู้สึกว่าพีคหลายฉากหลายตอน แต่ตอนที่รู้สึกสะเทือนใจคือตอนที่แม่ของชลิกาและชารียานั่งเฝ้าศพของพ่อเพื่อไม่ให้ดวงวิญญาณหลบหนีไปไหนหรือไปพบความสงบได้อีก
นักอ่านท่านหนึ่งกล่าวว่าชอบตอนที่พูดเรื่องลืมว่ามนุษย์จำเป็นต้องลืมได้
“การลืมเป็นกลไกอันน่าทึ่ง มนุษย์คงสูญพันธุ์ไปนานแล้วหากไม่มีปัญญาจะลืม ลืมว่าตัวเรานั้นต้อยต่ำน่าสมเพชเพียงใดที่ต้องเกิดมาในโลกอันโหดร้ายอย่างเปลือยเปล่าสิ้นไร้ ไม่มีทั้งกรงเล็บ เขี้ยวงา พละกำลัง เราคงสูญพันธุ์กันไปหมดไม่เหลือหากไม่มีปัญญาจะลืม ลืมให้ได้ว่าการมีชีวิตอยู่นั้นเป็นเรื่องยากลำบากและเจ็บปวดเพียงไหน ลืมให้ได้ว่าตัวเองคือใคร เคยสุข เคยทุกข์ เคยอยู่มาอย่างไร...ลืมให้ได้ว่าเราเคยมีเรื่องให้จดจำ” (ไส้เดือนตาบอดในเขาวงกต 2556, หน้า 238)
สำหรับพี่แหม่มแล้วจุดที่พีคที่สุดของคนเป็นนักเขียนคือ ชารียาตายยังไง ลังเลอยู่ตลอด ทั้งที่จะเข้าโรงพิมพ์อยู่แล้ว จนในที่สุดเมื่อไม่ได้เปลี่ยนตอนจบและตีพิมพ์ออกมา ก็คิดว่าเป็นตอนจบที่ดีเพียงพอ ไม่ว่าตัวละครจะจมปลักอยู่ในมายาคติแบบไหน ในความเปราะบางของมนุษย์ เราต่างก็ต้องการสิ่งยึดมั่นยึดเหนี่ยว
ส่วนเรื่องที่ว่าชอบตอนไหนที่สุดนั้นตอบยาก เพราะก็ต้องชอบทุกบรรทัดที่เขียน มิเช่นนั้นก็คงไม่ยอมตีพิมพ์ อย่างเรื่องของสองพ่อลูกก็ชอบ เพราะนอกจากจะมาจากเรื่องจริงที่สะเทือนใจแล้ว บางทีเราก็อยาก romanticize บางเรื่องในชีวิต เราอาจอยากให้พ่อถูกรถชนลอยสูงขึ้นไปหลายเมตรเหมือนในเรื่องก็ได้ (นักอ่านหัวเราะ)
ซีไรต์ส่งผลอย่างไรต่อชีวิต
พี่แหม่มเล่าว่า ดังที่บอกแล้วว่าคิดแต่ว่าจะเขียนจบไหม จึงไม่ได้คิดเรื่องรางวัลอะไรเลย อย่างไรก็ตาม ยอมรับว่ารางวัลส่งผลมาก เพราะก่อนได้รางวัล ขายได้ 7,000 ก็อปปี้ แต่พอได้ซีไรต์ก็ขยับเป็นแสนก๊อปปี้ สำหรับตัวเองก็ไม่ได้ถือว่าเยอะมาก เพราะเป็นคนทำงานช้า ทำงานแบบเต่า
นอกจากนี้พี่แหม่มยังเผยว่า ยิ่งไปกว่ารางวัลงานเขียนมันมอบความรู้สึกแบบ “ฟินเวอร์” เวลาที่เราเขียนจบ เคาะเอ็นเทอร์ ซึ่งต้องเป็นงานแนวศิลปะเท่านั้นที่จะมอบความรู้สึกนี้ให้ได้
งานซีไรต์อ่านไม่รู้เรื่อง?
หนังสือเล่มนี้อ่านง่ายมากในบรรดาหนังสือซีไรต์ ทำไมเราไม่ฝึกให้คนอ่านอ่านหนังสือยาก ๆ บ้าง บางเรื่องมันจำเป็นต้องยาก ทำไมคนอ่านยุคก่อนเขายังอ่านกันได้ คนรุ่นก่อนยังอ่านวรรณคดีได้เลย อย่างหนึ่งคือสภาพแวดล้อมก็สำคัญ คุณต้องปิดทุกอย่าง ทีวี ไลน์ มือถือ ฯลฯ
ภาคสอง? และผลงานเรื่องต่อไป
ถึงตรงนี้ มีนักอ่านหลายคนลุ้นว่าอยากให้มีเรื่องไส้เดือนตาบอดในเขาวงกตภาคสอง แต่พี่แหม่มร้องเสียงหลง แล้วกล่าวว่า “ไม่มีภาคสอง เชื่อเถอะไม่เคยดี” ไม่เช่นนั้นก็ต้องปลุกผีชารียาขึ้นมาหรือ ซึ่งไม่ดีแน่นอน จึงต้องฆ่าตัวละครให้ตายให้หมดทุกคน (ทุกคนในห้องหัวเราะ)
อย่างไรก็ตาม จะมีภาพยนตร์เรื่องไส้เดือนตาบอดในเขาวงกต อำนวยการสร้างโดยคุณดวงฤทธิ์ บุนนาค เขียนบทโดยคุณคงเดช จาตุรันต์รัศมี และกำกับภาพยนตร์โดยคุณเป็นเอก รัตนเรือง ซึ่งพี่แหม่มกล่าวว่าตนไม่เข้าไปเกี่ยวข้องด้วยเลย ปล่อยให้เป็นหน้าที่ของผู้ทำภาพยนตร์
ส่วนเรื่องผลงานเรื่องต่อไป พี่แหม่มเล่าว่าคือเรื่อง “พุทธศักราชอัสดงกับทรงจำของทรงจำของแมวกุหลาบดำ” เป็นเรื่องครอบครัว เล่าเรื่องครอบครัวจีนหลังสงครามโลก เป็นการยักย้ายถ่ายเทของประชากรที่ไม่มีพื้นที่ของตัวเอง โดยพยายามจะไม่ให้เหมือนเรื่องไส้เดือนตาบอดในเขาวงกต จะเล่าเรื่องเป็นเส้นตรง เพราะไม่มีความจำเป็นที่ต้องเล่าย้อนเหมือนเรื่องไส้เดือนตาบอดในเขาวงกตที่ต้องมองย้อนกลับไป
ทั้งนี้พี่แหม่มกล่าวว่า ยังมีความสนอกสนใจมนุษย์อยู่ตลอดเวลา มนุษย์ยังเป็นสิ่งสวยงาม อยากยึดเหนี่ยวศรัทธากับเพื่อนมนุษย์เอาไว้ และที่สุดแล้ว การเขียนหนังสือก็คือการบำบัดอย่างหนึ่ง
คำแนะนำสำหรับคนที่ยังไม่ได้อ่าน
พี่แหม่มกล่าวปิดท้ายอย่างติดตลกว่าอยากอ่านก็อ่าน ไม่อยากอ่านก็ไม่ต้องอ่าน (นักอ่านหัวเราะ) ต่อให้เป็นรางวัลซีไรต์ รางวัลโนเบลก็เป็นแค่ความเห็น แต่อย่าไม่อ่านอะไรเลย เพราะการอ่านเป็นประตูเปิดไปสู่ที่ต่าง ๆ สำหรับทีวีมันล็อกไว้แล้วว่าใครเป็นใคร เห็นเป็นภาพ แต่หนังสือคุณอ่านได้หลายครั้ง อ่านแต่ละครั้งก็รู้สึกไม่เหมือนกัน และอยากให้อ่านหนังสือ ไม่อยากให้อ่านทวิตเตอร์ที่เป็นข้อความสั้น ๆ
Chestina Inkgirl