เตรียมตัวให้รู้ ฝึกทักษะให้รอด กับค่ายรู้รอดปลอดภัย
จากสถิติของศูนย์วิจัยเพื่อสร้างความปลอดภัยในเด็ก โรงพยาบาลรามาธิบดี พบว่า เด็กอายุตั้งแต่ 1 - 14 ปี เสียชีวิตจากอุบัติเหตุมากถึง 2,200 รายต่อปี สะท้อนถึงภาวะเสี่ยงจากเหตุการณ์ไม่คาดฝันที่สามารถเกิดขึ้นได้ทุกเมื่อ การเตรียมตัวเพื่อรับมือกับเหตุการณ์ต่างๆ ด้วยการฝึกทักษะการดูแลตนเองและคนรอบข้างให้ปลอดภัย จึงเป็นสิ่งที่เด็กๆ ควรเริ่มต้นเรียนรู้ เพื่อลดการสูญเสียให้มากที่สุด
อุทยานการเรียนรู้ TK park ร่วมมือกับสมาคมเวชศาสตร์ฉุกเฉินแห่งประเทศไทย และ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) จัดกิจกรรม ค่ายรู้รอดปลอดภัย ซึ่งเป็นการต่อยอดมาจากกิจกรรม เตรียมตัว รู้รอด ที่เคยจัดมาก่อนหน้านี้ในลักษณะนิทรรศการและกิจกรรมให้ความรู้มาแล้วถึง 3 ครั้ง โดยได้เสียงตอบรับที่ดีถึงประโยชน์มากมาย กลับมาครั้งนี้ถือว่าเป็นครั้งที่ 4 โดยมาในรูปแบบของค่ายฝึกทักษะเต็มรูปแบบ เปิดโอกาสให้เด็กๆ อายุระหว่าง 9 - 12 ปี จำนวน 45 คน ได้ฝึกฝนทักษะในการช่วยเหลือตนเองและผู้อื่นถึง 2 วันเต็ม ในวันเสาร์ที่ 16 และวันอาทิตย์ที่ 17 ธันวาคมที่ผ่านมา ด้วยการเรียนรู้ทั้งทฤษฎีและการลงมือปฏิบัติจริง ได้ทั้งความสนุกสนานและความรู้ที่สามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้เมื่อเกิดเหตุการณ์ฉุกเฉินจริงๆ
“การจัดค่ายครั้งนี้เป็นการเปิดโอกาสให้เยาวชนในระดับประถมปลายที่สนใจเข้ามาเรียนรู้เรื่องการดูแลตนเองไม่ให้เจ็บป่วยและการปฐมพยาบาล ซึ่งเด็กในวัยนี้เราไม่คาดหวังที่เขาจะไปช่วยเหลือผู้อื่นได้มาก แต่เราคาดหวังให้เด็กรู้จักดูแลตนเอง และสามารถขอความช่วยเหลือจากบุคคลหรือหน่วยงานอื่นเมื่อเกิดเหตุการณ์ฉุกเฉินได้ การปลูกฝังทัศนคติในเรื่องดังกล่าวจึงเป็นสิ่งที่จำเป็นมาก” พญ.ณธิดา สุเมธโชติเมธา กลุ่มงานเวชศาสตร์ฉุกเฉิน โรงพยาบาลราชวิถี ได้กล่าวถึงความสำคัญของค่ายในครั้งนี้
รูปแบบกิจกรรมของค่ายรู้รอดปลอดภัยมีการออกแบบกิจกรรมมาเป็นอย่างดี มีการประยุกต์ความรู้เพื่อรองรับการเรียนรู้ของเด็กๆ โดยเฉพาะ โดยความร่วมมือของทีมบุคลากรจากโรงพยาบาลราชวิถี, กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กระทรวงมหาดไทย, สำนักป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กรุงเทพมหานคร, มูลนิธิร่วมกตัญญู, มูลนิธิป่อเต็กตึ้ง, ศูนย์ความปลอดภัย โรงพยาบาลรามาธิบดี และสำนักงานลูกเสือแห่งชาติ กระทรวงศึกษาธิการ
ในกิจกรรมตลอดทั้ง 2 วันมีการแบ่งเด็กๆ ออกเป็น 3 กลุ่มโดยผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนทำกิจกรรมในแต่ละฐาน ทั้งบริเวณลานสานฝัน ห้อง Learning Auditorium และห้องมินิเธียเตอร์ทั้ง 2 ห้อง ซึ่งแบ่งออกเป็นกิจกรรมการเรียนรู้ใหญ่ๆ ถึง 4 กิจกรรมด้วยกันดังนี้
กิจกรรมการเรียนรู้ที่ 1 การดูแลตนเอง การป้องกัน การเตรียมความพร้อม และการประเมินความเสี่ยงจากอันตราย ให้เด็กๆ ได้เข้าใจถึงหลักการดูแลตนเองเบื้องต้น ผ่านแนวคิดการทำตนเองให้มีสุขภาพดี 4 กรอบ 10 เคล็ดลับที่ต้องคำนึงถึงทั้งเรื่องจิตใจและร่างกาย นอกจากนั้นยังให้เด็กๆ ได้เรียนรู้การประเมินความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นได้รอบตัว ผ่านกิจกรรมที่จำลองสถานการณ์ภายในบ้านพัก เพื่อให้เด็กๆ ได้สังเกตและวิเคราะห์ว่าจุดไหนในบ้านที่สุ่มเสี่ยงเกิดอันตรายมากที่สุด และหากเกิดเหตุการณ์ฉุกเฉินขึ้นจริงแล้ว ในกิจกรรมถัดมายังให้ความรู้ในเรื่องการแจ้งประสานเหตุ ด้วยการโทรสายตรง 1669 เพื่อแจ้งขอความช่วยเหลือ ซึ่งถือเป็นสิ่งสำคัญในการลดความสูญเสียที่เด็กๆ สามารถช่วยเหลือได้ง่ายและดีที่สุด
กิจกรรมการเรียนรู้ที่ 2 การเจ็บป่วยจากสาเหตุที่ไม่ใช่อุบัติเหตุ ให้เด็กๆ ได้เรียนรู้การเจ็บป่วยในรูปแบบต่างๆ ที่ไม่ได้เกิดขึ้นจากอุบัติเหตุ ซึ่งเป็นอาการที่สามารถช่วยเหลือด้วยการปฐมพยาบาลผู้อื่นเบื้องต้นได้ด้วยตนเอง รูปแบบกิจกรรมจึงมีการให้เด็กๆ ได้ลงมือปฏิบัติจริงๆ ประกอบไปด้วยตัวอย่างแรก คือภาวะการอุดกั้นของทางเดินหายใจส่วนบน สอนวิธีการช่วยเหลือจากด้านหลังเพื่อให้สิ่งที่อุดกั้นอยู่หลุดออกมาด้านหน้า ตัวอย่างที่สอง คือการช่วยเหลือผู้ที่ป่วยเป็นโรคลมชัก บอกถึงเคล็ดลับในการช่วยเหลือที่คนทั่วไปมักเข้าใจผิด เช่น การหาวัสดุมาใส่ไว้ในปากเพื่อป้องกันการกัดลิ้นของผู้ป่วย ซึ่งเป็นวิธีการที่ไม่ถูกต้องและอาจทำให้ผู้ป่วยบาดเจ็บได้ และตัวอย่างสุดท้าย คือการช่วยเหลือผู้ป่วยที่หมดสติหรือหยุดหายใจ ด้วยการทำ CPR หรือการปั๊มหัวใจที่มักเห็นได้บ่อยๆ ในละครหรือภาพยนตร์ โดยให้เด็กๆ ได้ทดลองการปั๊มหัวใจด้วยอุปกรณ์หุ่นจำลองเสมือนจริง เพื่อเรียนรู้ขั้นตอนที่ถูกต้อง
กิจกรรมการเรียนรู้ที่ 3 เมื่อพบผู้ป่วยจากการบาดเจ็บจากอุบัติเหตุให้เด็กๆ ได้เรียนรู้ทักษะเมื่อเผชิญกับเหตุการณ์ฉุกเฉิกในอีกรูปแบบ อย่างเช่นอุบัติเหตุบนท้องถนน ซึ่งเป็นอุบัติเหตุที่ทำให้เกิดความสูญเสียมากที่สุด เด็กๆ จึงได้เรียนรู้กฎจราจรเบื้องต้น ข้อควรระวังขณะอยู่บนท้องถนน ผ่านเกมกระดานขนาดยักษ์ นอกจากนั้นยังมีการจำลองสถานการณ์ภายในร้านอาหารที่เต็มไปด้วยความสุ่มเสี่ยงจากอุบัติเหตุมากมาย ไม่ว่าจะเป็นปลั๊กไฟ หม้อไฟฟ้า หรือแม้กระทั่งจานชามที่อาจแตกได้ เพื่อให้เด็กๆ ได้รู้จักวิเคราะห์และประเมินความเสี่ยงได้ด้วยตนเอง และหากเกิดเหตุขึ้นแล้ว ในกิจกรรมถัดเป็นการฝึกขั้นตอนง่ายๆ ในการปฐมพยาบาลด้วยสิ่งของที่หาได้ในบ้าน อย่างเช่นผ้าพันคอ เสื้อยืด หรือร่างกายของผู้ป่วยเองที่สามารถนำมาประยุกต์เพื่อใช้ดามร่างกายส่วนที่หักได้อีกด้วย
กิจกรรมการเรียนรู้ที่ 4 เมื่อเผชิญสาธารณภัยให้เด็กๆ ได้เรียนรู้จักสาธารณภัยประเภทต่างๆ โดยเริ่มต้นจากภัยแผ่นดินไหว แม้ประเทศไทยจะเป็นมีภูมิประเทศที่ไม่ได้เกิดแผ่นดินไหวขึ้นบ่อยๆ แต่ทักษะในการเอาตัวรอดหากเกิดเหตุการณ์จริงจะได้รับมืออย่างถูกวิธี ผ่านวิดีโอเหตุการณ์แผ่นดินไหวในประเทศญี่ปุ่น พร้อมทั้งสอนวิธีการเอาตัวรอดเมื่อประสบเหตุการณ์ในอาคารและในรถโดยสาร ส่วนด้าน ภัยจากน้ำท่วม แม้เป็นภัยที่หลายคนเคยเผชิญมาแล้ว แต่ยังมีเคล็ดลับที่หลายคนยังไม่รู้ เช่นการนำขวดน้ำมาประยุกต์ใช้เป็นเสื้อชูชีพ หรือการนำถุงขยะมาทำเป็นรองเท้าบูทลุยน้ำ และสุดท้าย ภัยจากไฟไหม้ ที่นับว่าเป็นภัยที่เกิดขึ้นได้ง่ายและสามารถเกิดขึ้นได้ทุกที่ เด็กๆ จึงจำเป็นต้องเรียนรู้ทักษะในการเอาตัวรอดจากเหตุการณ์ไฟไหม้ในอาคาร ด้วยการให้ฝึกเดินเพื่อป้องกันการสำลักควัน ไปจนถึงการใช้ถังดับเพลิงประเภทต่างๆ อย่างถูกวิธี
เมื่อเสร็จสิ้นจากกิจกรรมการเรียนรู้ทั้ง 4 กิจกรรมตลอด 2 วันที่ผ่านมา ในช่วงท้ายของค่ายมีการปิดท้ายด้วยฐาน การเผชิญสถานการณ์แบบบูรณาการ ที่เป็นการสมมติเหตุการณ์ที่ต้องเผชิญจากกิจกรรมทั้งหมดมาให้เด็กๆ ได้ทบทวนความรู้และทักษะที่เรียนรู้อีกครั้งหนึ่งอย่างสนุกสนานอีกด้วย เรียกได้ว่ากิจกรรมในค่ายรู้รอดปลอดภัยในครั้งนี้ ไม่เพียงแค่ได้ทักษะการดูแลตนเองและคนรอบข้างให้ปลอดภัยแล้ว แต่เด็กๆ ยังได้ตระหนักถึงความสำคัญของการเอาตัวรอดจากเหตุการณ์ไม่คาดฝันในอาจเกิดขึ้นในอนาคต ที่สำคัญคือการดูแลตนเองให้ใช้ชีวิตอย่างมีสติและไม่ประมาทอีกด้วย
วิชญ์พล พลพิทักษ์ชัย