ตลอด 7 ปีที่ผ่านมา อุทยานการเรียนรู้ TK park นอกจากจะทำหน้าที่เป็นแหล่งค้นคว้าและสวนสวรรค์ของเหล่าหนอนหนังสือแล้ว ที่นี่ยังเป็นแหล่งการเรียนรู้ที่สำคัญให้กับเยาวชนที่สนใจพัฒนาทักษะความรู้ด้านอื่นๆ ที่ไม่สามารถหาได้ในห้องเรียน แต่มีความต้องการเรียนรู้และเสริมทักษะความรู้ในสิ่งที่รัก โดยมีโครงการ “แจ้งเกิด” ที่เยาวชนเข้าร่วมตั้งแต่ระดับมัธยมศึกษาตอนปลายจนถึงระดับอุดมศึกษา
ปี พ.ศ. 2555 นี้ อุทยานการเรียนรู้ TK park จึงได้รวบรวมผลงานจากเยาวชนที่เคยผ่านการอบรม จากโครงการแจ้งเกิดทั้ง 6 สาขาอาชีพในฝัน ได้แก่ นักเขียน (TK Young Writer) สื่อโทรทัศน์ (TK Teen) ดนตรี (TK Band) แอนิเมชั่น (TK Animation) การตลาดเพื่อสังคม (TK Social Entrepreneur) และ หนังสั้น (TK Filmmaker)
ในวันเสาร์ที่ 28 และอาทิตย์ที่ 29 มกราคม 2555 อุทยานการเรียนรู้ TK park จึงได้จัดงาน “แจ่มเจิด TK แจ้งเกิด Festival” เปิดเวทีตั้งแต่เวลา 11.00-17.00 น. ณ อุทยานการเรียนรู้ TK park ชั้น 8 ศูนย์การค้าเซ็นทรัลเวิลด์
กิจกรรมตลอดสองวันนี้ มีเสวนาดีๆ จากนักคิดและวิทยากรมืออาชีพมากมายหลากหลายสาขาตั้งแต่ นักเขียน ผู้กำกับ โปรดิวเซอร์ นักการตลาด และนักดนตรี อีกทั้งบริเวณรอบลานสานฝัน ยังมีนิทรรศการแนะนำข้อมูล ประวัติความเป็นมาของโครงการ และผลงานเยาวชนที่ผ่านกระบวนการบ่มเพาะจากอุทยานการเรียนรู้ TK park แต่ละสาขา และมีกิจกรรมดีๆ ที่นำมาให้ผู้ร่วมงานได้รับความบันเทิง สาระ และแรงบันดาลใจดีๆ จากน้องๆ เยาวชนทั้ง 6 สาขา
เริ่มต้นที่บูทของ เยาวชนนักเขียน (TK Young Writer) เป็นโครงการที่เปิดโอกาสให้เยาวชนได้อบรมเรียนรู้ทักษะจากนักเขียนมืออาชีพ และได้รับการอบรมอย่างใกล้ชิด ซึ่งเยาวชนในโครงการรุ่นที่ 1 และ 2 นั้นได้มีผลงานรวมเล่มหนังสือพ็อกเก็ตบุ๊ค เรื่อง “พ่อ” และ “แรงบันดาลใจจาก 10 สาขาอาชีพ” สำหรับรุ่นที่ 3 นั้นมีผลงานเป็น นิตยสารออนไลน์ 2 ฉบับ คือ “เหวย” และ “แจ่ม” รวมถึงเยาวชนในโครงการนี้ ยังได้ต่อยอดกับการมีโอกาสได้ทำนิตยสารออนไลน์ รายสองเดือนของทางทีเคพาร์ค ชื่อว่า “Read Me” ซึ่งสามารถอ่านและดาวน์โหลดผลงานของพวกเขากันได้ที่ www.tkpark.or.th/readmeegazine
กิจกรรมสมุดทำมือ
น้อง “ฐา” ฐาปะนีย์ สามัคคี เยาวชนในโครงการ TK Young Writer รุ่นที่ 3 ได้แนะนำถึงกิจกรรมภายในงานว่ามีการสอนการทำ “สมุดทำมือ” เริ่มตั้งแต่วิธีการคัดเลือกกระดาษมาตัด เย็บ ตกแต่งปก และเข้าปก รวมถึงอุปกรณ์ตกแต่งสีสันสวยงามมากมาย อย่างดาว เชือก สี นอกจากนี้มีมุมที่จัดวางหนังสือที่ได้เลือกสรรมาให้คนทุกวัยมานั่งผ่อนคลายและละเลียดกับตัวอักษร เช่น หนังสือวรรณกรรมเยาวชน หรือหนังสือที่ได้รับรางวัลซีไรต์
“การเขียนน่าจะเริ่มจากการมีสมุดซะเล่มหนึ่ง ถ้าเราเป็นคนทำขึ้นมาเอง เราก็จะใส่ใจและพัฒนาการเขียนไปได้ ซึ่งทุกคนที่เข้ามาทำสมุด ขั้นแรกที่เราจะบอกคือ ต้องใช้จินตนาการก่อน เราเตรียมอุปกรณ์ รวมถึงสิ่งตกแต่งทุกอย่างไว้ให้ แต่เราจะไม่ออกแบบให้ แต่ถ้ามีเรื่องที่อยากให้ช่วย เช่น อย่างน้องตัวเล็กๆ ที่เย็บเล่มเองไม่ได้ เราจะมีสมุดที่จะให้เขาได้ตกแต่งเองได้”
น้องฐา และหนังสือรวมคำคมเล่มใหญ่
แวะมาที่บูทของ เยาวชนสร้างสรรค์สื่อ (TK Teen) หรือโครงการเสริมทักษะและจินตนาการเพื่อเผยแพร่ทางสื่อโทรทัศน์ หลายคนคงจะคุ้นเคยกับผลงานของพวกเขาผ่านหน้าจอโทรทัศน์กันมาบ้างแล้ว ในช่วงเช้าวันเสาร์ เวลา 11.00 น. ทางช่อง NBT กับรายการ TK Teen
เป็นโครงการที่เริ่มต้นเมื่อปี พ.ศ. 2549 เปิดรับสมัครเยาวชนอายุ 15-25 ปี ผู้รักในการสร้างสรรค์สื่อโทรทัศน์ มาร่วมกันคิดรูปแบบรายการ การเขียนบท การแสดงรวมถึงการถ่ายทำรายการ โดยมีเนื้อหารายการเป็นสาระบันเทิงสำหรับเยาวชนที่ทำโดยเยาวชน ผลิตรายการสำหรับเผยแพร่ออกอากาศจริง
กิจกรรมการอ่านข่าว
ภายในบูทวันนี้จึงมีกิจกรรมให้ผู้ร่วมงานได้ทดลองเป็นผู้ประกาศข่าว มีการสอนออกเสียงตัวอักขระให้ถูกต้อง การออกเสียงตัวควบกล้ำ ร. และ ล. ซ้อมการอ่านข่าว โดยมีบทให้ได้ลองอ่านและได้บันทึกเพื่อนำเผยแพร่ผ่านทางเว็บไซต์ด้วย ซึ่งน้อง “ตุ้ย” ดิลก ทองมี นักศึกษาคณะนิเทศศาสตร์ ม.กรุงเทพ หนึ่งในเยาวชนจากโครงการ TK Teen ได้บอกเล่าประสบการณ์ที่เขาได้มาร่วมงานในทีมของทีเคทีนว่าได้รับโอกาสลองฝึกทั้งตำแหน่ง ผู้เขียนบท นักแสดง และพิธีกรนอกสนาม แม้ว่าเขาจะยอมรับว่างานแต่ละตำแหน่งจะมีความยากง่ายแตกต่างกัน แต่ความรู้ที่ได้อบรมและได้ปฏิบัติจริงนั้น ทำให้เขาได้ประสบการณ์และเห็นบรรยากาศของการทำงานจริง
“ถ้ามีความฝัน อยากให้ลองเข้ามาสมัคร ได้ลองทำงานจริงๆ เรียนรู้ทั้งความคิดของเพื่อนในทีมเดียวกัน เพราะมีเพื่อนๆ สาขาอื่น มาเรียนรู้แลกเปลี่ยนความคิดกัน เป็นไปตามสโลแกนว่า Teen’s TV by Teen เพราะเป็นรายการที่เยาวชนทำเพื่อเยาวชน”
น้องตุ้ย ในบทผู้อ่านข่าว
บูทต่อมา เยาวชนคนดนตรี (TK Band) กลุ่มคนดนตรีคิดบวก ที่ใช้เสียงเพลงและเครื่องดนตรีเป็นเครื่องมือในการใช้ความคิดสร้างสรรค์ พวกเขาต้องผ่านการฝึกฝน อบรมมาอย่างเข้มข้นภายใต้การดูแลของพี่จุ้ย - ศุ บุญเลี้ยง ตอนนี้พวกเขามีผลงานคืออัลบั้มเพลง “สิ่งที่ถูกมองข้าม” และ “คิดบวก” รวมถึงมีการจัดตั้ง “กลุ่มธุรกิจจำลอง TK Band” เพื่อเป็นนักดนตรีคุณภาพและสามารถดำเนินธุรกิจทางสายดนตรีได้
มีกิจกรรมหลักที่น่าสนใจ คือ “เพลงตามสั่ง” คือจะรับแต่งเพลงโดยใช้ข้อมูลจากประวัติของผู้ร่วมกิจกรรม เลือกว่าจะต้องการเพลงแบบไหน เนื้อหาอย่างไร และให้บันทึกเสียงกันสดๆ ตรงนั้นได้เลย และอีกหนึ่งกิจกรรมคือการสอนเล่นเครื่องดนตรีที่ฮิตในตอนนี้คือ “อูเคเลเล่” (Ukelele) สอนตั้งแต่การจัดคอร์ดเบื้องต้น และให้ทดลองเล่นเพลงง่ายๆ ก่อน อย่างเพลงแฮปปี้เบิร์ดเดย์
กิจกรรมเพลงตามสั่ง และสอนเล่น อูเคเลเล่
“ซูโม่” ธนัท รัฐกิจประการ นักเรียน ม.5 จากโรงเรียนสาธิต มศว.ประสานมิตร (ฝ่ายมัธยม) ตำแหน่งนักร้องนำในวงทีเคแบนด์ เล่าถึงประสบการณ์ที่ได้ร่วมอบรมว่าเริ่มแรกเมื่อสมัครเข้ามา จะมีการอบรมจากวิทยากรทั้งหมดก่อน 4 ครั้ง และต้องไปออกค่าย ทำกิจกรรมร่วมกัน ซึ่งทุกคนไม่จำเป็นต้องมีพื้นฐานทางการเล่นดนตรีมาก่อน ขึ้นอยู่กับความสนใจและความสามารถที่มี ส่วนกระแสตอบรับของผู้ร่วมงานในวันนี้ ซูโม่เห็นว่ามีหลายคนชื่นชอบกิจกรรมแต่งเพลงตามสั่งมาก เพราะเป็นกิจกรรมที่น่าสนใจและผู้ร่วมงานชอบที่ได้ฟังเพลงที่ตัวเองเป็นคนร้องเอง หรือนำเพลงที่ร้องไปเป็นของขวัญให้กับคนอื่น และนำดนตรีไปสร้างแรงบันดาลใจต่อๆ ไป
ซูโม่ ลองโชว์เล่นอูเคเลเล่
ถัดมาที่ นักสร้างภาพเคลื่อนไหว (TK Animation) ถ้าคิดว่าการวาดรูปภาพการ์ตูนเป็นเรื่องสำหรับเด็กๆ เท่านั้น คงเป็นความคิดที่ผิดพลาดแน่ ถ้ายังไม่ได้รู้จักพวกเขา โครงการนี้เริ่มเมื่อปี พ.ศ. 2553 ในชื่อ TK Animation Training ตอนขบวนการขัดเงา (Polishing Process) หรือ TK PoP 2010 โดยมีการอบรม Graphic & Animation เพื่อจุดประกายให้เยาวชนที่รักภาพเคลื่อนไหวแบบแอนิเมชั่นมีพื้นที่เพื่อปล่อยของ และได้ต่อยอดกิจกรรมนี้อีกครั้งในปี 2011
ส่วนกิจกรรมที่พวกเขานำมาเสนอนั้น มีผลงานแอนิเมชั่นที่ทำขึ้นมา และการสาธิตการถ่ายทำแบบสต๊อปโมชั่น (Stop Motion) เป็นเทคนิคในการทำภาพเคลื่อนไหวรูปแบบหนึ่ง ที่ต้องใช้การถ่ายภาพนิ่งหลายๆ ครั้ง และต้องขยับรูปร่างท่าทางทีละนิด เพื่อนำมาตัดต่อแล้วจะดูเป็นภาพเคลื่อนไหวที่ดูสมจริงขึ้น ถ่ายทำเสร็จเรียบร้อยก็โหลดไฟล์เก็บกลับบ้านไปได้เลย
สาธิตการถ่ายทำ แอนิเมชั่นแบบสต๊อปโมชั่น
“ป๊อก” สถาพร มั่งมีธนวงศ์ นักศึกษาชั้นปีที่ 4 คณะดิจิตอล อาร์ท ม.รังสิต หนึ่งในเยาวชนโครงการ TK Animation ได้เล่าถึงขั้นตอนและเทคนิคการถ่ายทำแบบสต๊อปโมชั่นว่า คนที่สนใจสามารถใช้อุปกรณ์อย่างง่ายๆ คือกล้องถ่ายรูปเว็บแคมที่สามารถหาซื้อได้ทั่วไป และคอมพิวเตอร์หนึ่งเครื่อง ซึ่งใช้โปรแกรม Adobe Premiere Pro สำหรับน้องๆ ที่สนใจอยากลองทำบ้างหรืออยากเรียนศึกษาต่อทางด้านนี้ ป๊อกแนะนำว่า
“เรื่องอุปกรณ์หรือโปรแกรมไม่ค่อยสำคัญ ควรมีความรู้ทางด้านศิลปะมากกว่า เพราะโปรแกรมเป็นสิ่งที่หัดกันได้ แต่ความรู้ทางศิลปะอย่างการวาดรูป เป็นเรื่องพื้นฐานในกระบวนการความคิด และถ้าอยากศึกษาด้านนี้ ต้องใจรักจริงถึงจะทำได้ด้วย”
ทีม แอนิเมชั่น
อีกโครงการที่น่าสนใจไม่น้อยคือ ผู้ประกอบการเพื่อสังคม (TK Social Entrepreneur) จากโครงการ Knowledge No Limit! บริษัทเรียนรู้ไร้ขีด จำกัด ที่ชวนคนรุ่นใหม่ส่งแผนธุรกิจ ที่นอกจากจะเน้นมูลค่าเม็ดเงินทางธุรกิจแล้ว ยังต้องส่งเสริมประโยชน์สุขเพื่อสังคมด้วย ภายใต้แนวคิด Social Enterprise หรือแผนธุรกิจเพื่อสังคม น้องๆ ที่ได้เข้าร่วมอบรมในโครงการนี้ยังได้รับเงินทุนเพื่อได้ทดลองทำธุรกิจด้วยตัวเอง
ภายในบูทมีการแนะนำธุรกิจเพื่อสังคมประเภทต่างๆ ที่น่าสนใจอย่าง ทีม Common Room (รางวัลชนะเลิศ) เป็นกลุ่มที่วางแผนการสร้าง Community ใหม่ของคนรักการอ่าน ที่จะเป็นแหล่งรวบรวมสำนักพิมพ์ นักอ่านและนักเขียนมารวมตัวกัน เพื่อแบ่งปันหนังสือ www.commonroom.in.th และทีม Edu-Deo มีแนวคิดที่จะกวดวิชาแบบออนไลน์ฟรีตลอด 24 ชั่วโมง ผ่าน www.edu-deo.com และทีม Young Filmmaker of Thailand กับการเปิดพื้นที่ให้กับหนังอินดี้ได้มีพื้นที่ฉาย
นอกจากนี้ยังได้มีการจำลองกิจการร้านกาแฟขึ้นมาเป็นตัวอย่างของธุรกิจเพื่อสังคม ว่าถ้าต้องการเปิดร้านกาแฟ จากปกติที่ซื้อเมล็ดกาแฟผ่านพ่อค้าคนกลาง เจ้าของร้านสามารถเป็นร้านกาแฟที่รับเมล็ดกาแฟจากไร่กาแฟโดยตรง ทำให้เกิดการค้าที่เป็นธรรมและนอกจากนี้ การคัดเลือกเมล็ดกาแฟที่มีคุณภาพดี ไม่ใช้สารเคมี สามารถบอกที่มาที่ไปได้และเป็นประโยชน์ต่อผู้บริโภค ซึ่งน้องๆ ยังบอกอีกว่ารายได้ที่ได้จากการขายกาแฟในงานตลอดสองวันนี้จะนำไปมอบให้มูลนิธิสายธารแห่งความหวังอีกด้วย
“ร้านกาแฟจำลอง”แนวคิดหนึ่งในการเป็นผู้ประกอบการเพื่อสังคม
“เบนซ์” เฉลิมกรณ์ ทรัพย์เพริศพราย และ “อ้อน” ชโลทร จิตวรรณรัตน์ ตัวแทนจากทีม Common Room ทั้งสองยอมรับว่าเรื่องธุรกิจเพื่อสังคม (Social Enterprise) ไม่ถือว่าเป็นเรื่องใหม่ เพราะมีธุรกิจมากมายที่มีภารกิจเพื่อสังคมทั้งนั้น เพียงแต่ว่าคนไทยส่วนใหญ่ยังไม่ค่อยรู้ว่าธุรกิจที่เห็นๆ กันอยู่นั้น เขาเรียกกันว่า “ธุรกิจเพื่อสังคม” อย่างการขายสินค้า OTOP ที่นำสินค้าจากชาวบ้านมาสู่ผู้บริโภคก็ถือว่าเป็นธุรกิจเพื่อสังคมอย่างหนึ่ง เพราะลดทอนกระบวนการพ่อค้าคนกลางออกไป หรือนิตยสาร BE ที่ไม่มุ่งเน้นการจำหน่ายยอดหนังสือผ่านร้าน แต่ให้คนที่ขาดโอกาสเป็นตัวแทนขายหนังสือ
การทำธุรกิจเพื่อสังคม จึงเป็นธุรกิจที่ไม่ได้เน้นการขายของเพื่อทำกำไร เพื่อเอาเงินไปหมุนเวียนในกิจการเท่านั้น แต่ยังสามารถช่วยเหลือสังคมได้ด้วย
“หัวใจของธุรกิจเพื่อสังคม เราไม่ได้เน้นการทำธุรกิจที่ได้ปริมาณเงินที่สูง แต่เน้นความปลอดภัยอย่างครบวงจร ตั้งแต่ต้นทางถึงปลายทาง ผู้ผลิตถึงผู้บริโภค ให้เกิดความรู้สึกที่ดี เท่าเทียมกัน และมีความสุขทั้งคู่”
อ้อน (คนกลาง) และ เบนซ์ (ขวามือ) ตัวแทนจากทีม Common Room
สุดท้าย เยาวชนคนรักหนัง (TK Filmmaker) ผลิตผลจากโครงการ “TK แจ้งเกิดสาขาภาพยนตร์” ผ่านการอบรมกับผู้กำกับภาพยนตร์มืออาชีพ ตั้งแต่การเรียนรู้เพื่อสร้างงาน ต่อยอดทางความคิดและแรงบันดาลใจ การนำเสนอเรื่องเพื่อขอรับทุนจากคณะกรรมการเพื่อไปถ่ายทำ จำนวน 9 เรื่องๆ ละ 10,000 บาท และได้เข้าร่วมอบรมในค่ายศิลปะภาพยนตร์ (Film Camp) จนถึงการสัมมนาหลังการถ่ายทำ เพื่อแลกเปลี่ยนประสบการณ์หลังการทำงาน
กิจกรรมของบูทนี้ จัดขึ้นภายในห้องมินิเธียเตอร์ มีสองกิจกรรมหลัก คือการฉายภาพยนตร์สั้น 9 เรื่อง 3 แนว 3 รส คือ ประเภทสะท้อนสังคม, ประเภทความรัก ความฝัน ความผูกพัน และประเภทขวัญผวา ส่วนกิจกรรมทก็น่าสนใจไม่แพ้กันคือ การถ่ายทำภาพยนตร์ด้วยฉาก Green Screen มีการให้ผู้ร่วมงานได้เลือกเสื้อผ้าและสามารถเลือกฉากที่ตัวเองอยากเล่นได้ด้วย
บรรยากาศในบูทของเยาวชนคนรักหนัง
ชุติมา นิลเนียม หรือ “นิล” ผู้กำกับหนังสั้นเรื่อง “มีดประจำตัว” เรื่องสั้นของชาติ กอบจิตติ ที่นำมาดัดแปลงทำเป็นหนึ่งในภาพยนตร์ที่ได้ร่วมจัดฉายในโครงการนี้ เธอได้บอกเล่าถึงการได้มาเข้าร่วมโครงการนี้ ว่าได้ฝึกทุกกระบวนการของการทำภาพยนตร์ ทั้งการเขียนบท และการจัดวางมุมกล้อง ซึ่งการทำภาพยนตร์นั้นมีความยากที่ไม่สามารถจะทำคนเดียวได้สำเร็จ ต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกคนในทีมเป็นสำคัญ
เมื่อพูดถึงงานแจ่มเจิดในครั้งนี้ ผู้กำกับรุ่นเยาว์เห็นว่าเป็นงานที่สำคัญและเป็นการเปิดตัวผลงานของเยาวชนทั้ง 6 สาขาที่ทำให้เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างกัน
“ได้รับรู้จากคนดูว่าเขาชอบอะไร รู้สึกยังไง ทำให้เรารู้ว่าเราควรจะต่อยอดยังไง เพราะเราอยากให้คนได้ดูผลงานของเรา อยากรู้ว่าผลตอบรับจากคนดูเป็นอย่างไร ได้ดูหนังของทุกคนๆ ตอนแรกที่อยู่ด้วยกัน ยังไม่มีรูปไม่มีร่าง แต่พอสุดท้ายเราก็ทำออกมาให้เป็นเรื่องเป็นราวได้”
น้องนิล ผู้กำกับเรื่อง “มีดประจำตัว”
ทั้งหมดนี้คือความตั้งใจและความคิดสร้างสรรค์ของเหล่าเยาวชน ที่พวกเขาและเธอสะท้อนออกมาในรูปแบบผลงานที่แต่ละคนมีความฝันมาทำให้กลายเป็นความจริง ให้คนอื่นๆ ได้ชมและได้หัดเรียนรู้ไปพร้อมๆ กัน
ตลอดระยะเวลากว่า 7 ปีกับภารกิจของการเป็นแหล่งเรียนรู้ของอุทยานการเรียนรู้ TK park คงได้เพาะเมล็ดพันธุ์ความรู้อันมีคุณภาพ เพื่อไปร่วมกันสร้างและพัฒนาสังคมกันต่อไปในอนาคต
คธาพล ตรัยรัตนทวี