“หากต้องการสร้างเด็กให้เป็นคนช่างสงสัย พวกเขาต้องอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่เต็มไปด้วยผู้ใหญ่ที่ใคร่รู้”
นี่คือ ข้อเสนอของ ดร.จูดี้ ฮัลเบิร์ต และ ดร.ลินดา เคเซอร์ ผู้ก่อตั้งเครือข่ายการศึกษาแบบสืบเสาะและการศึกษาพื้นถิ่น (NOIIE) ประเทศแคนาดา ทั้งคู่เคยสอนหนังสือและดำรงตำแหน่งครูใหญ่ในโรงเรียนมัธยมก่อนที่จะย้ายมาทำงานสายวิชาการที่มหาวิทยาลัยบริติชโคลัมเบีย จึงมีประสบการณ์ด้านการศึกษาถึงกว่า 23 ปี
ทั้งคู่ร่วมกันเขียนหนังสือเกี่ยวกับ Inquiry-based Learning หลายเล่ม หนึ่งในนั้นคือ The Spiral Playbook ซึ่งแนะนำ ‘เกลียวแห่งการสืบเสาะ’ (The Spiral of Inquiry) เครื่องมือสำคัญที่ช่วยให้ผู้สอนหันมาทบทวนว่า วัตถุประสงค์ในการจัดรูปแบบการเรียนการสอนคืออะไร ผู้เรียนต้องการอะไร ผู้สอนต้องศึกษาอะไรเพิ่มเติม และต้องทำอย่างไรถึงจะเกิดการเปลี่ยนแปลงได้จริง กล่าวง่ายๆ คือการนำกระบวนการสืบเสาะมาใช้ออกแบบการสอนที่สอดคล้องกับบริบทพื้นที่นั่นเอง
นอกจากการออกแบบการสอนแล้ว คุณลักษณะของผู้สอนก็มีผลต่อการพัฒนาความสงสัยใคร่รู้ของผู้เรียน ในบางครั้งแค่รอยยิ้ม ความใส่ใจ รวมถึงการแลกเปลี่ยนเรื่องราวเกี่ยวกับความสงสัยใคร่รู้ของผู้สอนให้เด็กๆ ฟัง ก็อาจทำให้ผลลัพธ์เปลี่ยนไปอย่างไม่น่าเชื่อ
อีกปัจจัยสำคัญในการสร้างระบบนิเวศการเรียนรู้ที่บ่มเพาะความช่างสงสัย คือการสร้างเครือข่ายสถานศึกษาที่ให้ความสำคัญกับการเรียนรู้แบบสืบเสาะ เพื่อแลกเปลี่ยนแนวคิด ผลลัพธ์ ความสำเร็จ และบทเรียน โดยอาจเริ่มต้นจากการสร้างเครือข่ายความร่วมมือเล็กๆ ก่อน แล้วจึงค่อยขยายขนาดเมื่อมีความพร้อมมากขึ้น
ในปัจจุบัน The Networks of Inquiry and Indigenous Education (NOIIE) ครอบคลุมหลายประเทศ ทั้งเคนยา ออสเตรเลีย และสเปน สมาชิกนำ ‘เกลียวแห่งการสืบเสาะ’ ไปปรับใช้ให้เข้ากับบริบททางสังคมของตนเอง และแบ่งปันเรื่องราวให้กับเครือข่ายอยู่เสมอ
ชมวีดิทัศน์เรื่อง “Sparking Curiosity through Spirals of Inquiry” บรรยายโดย ดร. จูดี้ ฮัลเบิร์ต และ ดร. ลินดา เคเซอร์ ผู้อำนวยการเครือข่ายการศึกษาแบบสืบเสาะและการศึกษาพื้นถิ่น (NOIIE) ประเทศแคนาดา บันทึกจากงานสัมมนาสาธารณะ ‘Inquiry-based Learning ปลุกความสงสัย จุดไฟการเรียนรู้ตลอดชีวิต’