เป็นความมหัศจรรย์ที่ลงตัวอย่างยิ่งสำหรับกิจกรรม Saturday Music Ed. เมื่อวันที่ 26 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา กับคอนเสิร์ตสั้นๆ แต่ไม่ธรรมดา เมื่อบทเพลงสุนทราภรณ์อันอ่อนหวานถูกนักดนตรีมือดี (และหัวดี) บรรเลงใหม่ในแนวอิเล็กโทรนิกา (Electronica) เกิดเป็นบทเพลงสนุกสนานด้วยจังหวะที่แตกต่างและเสียงสังเคราะห์ล้ำสมัย แต่ยังคงทำนองไทยตามแบบฉบับสุนทราภรณ์อย่างครบถ้วน บางทีคำว่า “มหัศจรรย์” อาจจะน้อยไปด้วยซ้ำหากจะต้องนิยามการแสดงครั้งนี้
Saturday Music Ed. เปิดฉากด้วยดนตรีบรรเลงจากวงมหาจำเริญ ตามด้วยเสียงทักทายจาก “ดีเจซี้ด” นรเศรษฐ หมัดคง เจ้าของอัลบั้ม “อิเคล็กติค สุนทราภรณ์” (Eclextic Suntaraporn) ซึ่งมารับหน้าที่ดำเนินรายการในวันนั้น สำหรับคอนเสิร์ตเพลงไทยในแบบอิเล็กโทรนิกาหรือที่ผู้จัดเรียกว่า “อิเล็กไทยนิกา” (Electhainica) ในครั้งนี้ นับเป็นปรากฏการณ์ครั้งสำคัญที่ไม่ได้เป็นเพียงการแสดงดนตรีเพื่อความบันเทิงเพียงอย่างเดียว หากแต่ยังแฝงสาระน่ารู้เกี่ยวกับความเป็นมาของดนตรี อิเล็กโทรนิกาและเพลงสุนทราภรณ์ไปพร้อมๆ กัน ฟังผ่านๆ ก็ไม่น่าเชื่อว่าทั้ง 2 คำนี้จะมาอยู่ร่วมกันได้ แต่ดีเจซี้ดและวงมหาจำเริญก็พิสูจน์ให้เห็นมากกว่านั้นว่าทั้งคู่ยังสามารถแสดงร่วมกันได้อย่างน่าทึ่ง
คอนเสิร์ตอิเล็กไทยนิกา ณ อุทยานการเรียนรู้ ชั้น 8 Central World
อิเล็กโทรนิกา เป็นชื่อเรียกแนวดนตรีที่สร้างขึ้นจากเทคโนโลยีการสังเคราะห์เสียง หรือที่เรียกว่า ซินธิไซเซอร์ (Synthesizer) มีต้นกำเนิดในยุโรปและสหรัฐอเมริกาเมื่อ 40 ปีก่อน แล้วจึงแพร่กระจายไปจนได้รับความนิยมจากทั่วโลก อิเล็กโทรนิกายังมีแนวดนตรีแตกแขนงออกไปอีกมากมาย ถ้าเคยได้ยินแนวเพลงอย่างเทคโน (Techno), ดรัมแอนด์เบส (Drum ‘n’ Bass), ดาวน์บีต (Downbeat) หรือที่คุ้นหูกันอย่าง ฮิปฮอป (Hiphop) ก็ล้วนแต่หมายถึงอิเล็กโทรนิกาทั้งสิ้น แม้ดนตรีแนวนี้จะมีมาตั้งแต่ปลายทศวรรษ 1970 แล้ว แต่คำว่า Electronica เพิ่งจะมีขึ้นมาเรียกใช้กันเมื่อต้นทศวรรษ 1990 นี้เอง กลายเป็นที่นิยมและใช้เรียกกลุ่มดนตรีแนวสังเคราะห์เสียงจนติดปากมาถึงปัจจุบัน
ขณะที่เมืองนอกกำลังพัฒนาวิทยาการด้านดนตรีกันอย่างขะมักเขม้น เมืองไทยเองก็มีวงดนตรีที่สำคัญอย่างยิ่งอย่างเช่นวง “สุนทราภรณ์” ซึ่งแม้อายุจะล่วงเข้าปีที่ 70 ไปแล้ว แต่ก็มีบทเพลงอันเป็นอมตะที่ยังคงมีผู้ฟังและมีผู้นำมาขับร้องใหม่อยู่ตลอดเวลา อาจเป็นเพราะเสน่ห์ของเนื้อร้องที่เรียบเรียงอย่างประณีตบรรจง แพรวพราวไปด้วยสัมผัสคล้องจอง และมีเนื้อหากระทบใจ ผนวกกับท่วงทำนองแบบไทยซึ่งประสานไว้ด้วยเสียงดนตรีแนวสากล กลายเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัวที่โดดเด่นและส่งให้วงสุนทราภรณ์เป็นต้นแบบของดนตรีไทยสากลในปัจจุบัน เพราะเมื่อไรที่พูดถึงดนตรีไทยสากล ก็จะมีวงสุนทราภรณ์เป็นตัวอย่างที่มักจะอ้างถึงกันอยู่เสมอ สุนทราภรณ์จึงเป็นวงดนตรีในดวงใจคนมากมาย ไม่เพียงแต่ผู้ใหญ่เท่านั้น หากมองไปตามงานประกวดเวทีต่างๆ ก็จะพบเด็กรุ่นใหม่จำนวนไม่น้อยที่หยิบเพลงสุนทราภรณ์ขึ้นมาขับร้องกันอยู่ไม่ขาด
คอนเสิร์ตครั้งนี้ก็เช่นกันที่ได้นำบทเพลงสุนทราภรณ์มาถ่ายทอดใหม่อีกครั้ง ทั้งเพลง ปรัชญาขี้เมา, สวรรค์สวิง, กรุงเทพฯ ราตรี และไร้อาวรณ์ ต่างทยอยนำเสนอต่อสายตาผู้ชมและโสตประสาทของผู้ฟังในรูปแบบดนตรีที่แตกต่างกว่าครั้งใดๆ ผ่านเสียงร้องของ สแนร์ (ศิริพร อรุณบุญสวัสดิ์) นักร้องนำวงมหาจำเริญ ร่วมด้วยนักดนตรีฝีมือเยี่ยมที่มาร่วมงานกันอย่างคับคั่ง ไม่ว่าจะเป็น โต (ศุภชัย พรหมจรรย์-กลอง), เข้ (ฉัตรชัย ปั้นกิจดี-เทิร์นเทเบิ้ลเอฟเฟ็คต์), โย่ง (เกรียงศักดิ์ สุดาวรรณศักดิ-เพอร์คัสชั่น), ป่อง (พีรวัส กุศลศิลป์-เบส, ซินธิไซเซอร์), ต้อม (วัชร จันทะบุตร-คีย์บอร์ด), หมู (วีระพล ตันติเฉลิม-คีย์บอร์ด) และหน่อง (นันทฉัตร โตทัศษา-กีต้าร์) ทั้ง 8 คนได้ชื่อว่าเป็นวงที่สามารถแสดงสดดนตรีแนวอิเล็กโทรนิกาได้สนุกและเร้าใจที่สุดของเมืองไทย พวกเขาเล่นได้ดีไม่ว่าจะเป็นเพลงของตนเอง และเพลงแนวอิเล็กโทรนิกาจากวงอื่นๆ ทั่วโลก แต่สำหรับเพลงสุนทราภรณ์ครั้งนี้ ถือเป็นความท้าทายครั้งสำคัญ ... แล้วพวกเขาก็แสดงพรสวรรค์ออกมาได้อย่างน่าประทับใจ
ผู้ชมล้นหลามจนห้อง Learning Auditorium เล็กลงไปทันตา
คอนเสิร์ตครั้งนี้คล้ายจะเป็นการทดลองทางดนตรีซึ่งนำไปสู่ข้อสรุปที่น่าสนใจมากมาย อย่างน้อยเราก็ได้เห็นว่าเพลงสุนทราภรณ์จะไม่มีวันตาย เพราะสามารถปรับตัวเข้ากับดนตรีตามยุคสมัยได้โดยไม่สูญเสียเอกลักษณ์ของตนเอง และท้ายที่สุด คอนเสิร์ตอิเล็กไทยนิกา ก็ทำให้เราได้เห็นภาพน่ารักที่มีเด็กวัยรุ่นจูงมือคุณพ่อคุณแม่ (และอาจรวมถึงคุณตาคุณยาย) มาฟังดนตรีด้วยกัน โดยที่ความต่างระหว่างวัยไม่เป็นปัญหาเลยแม้แต่น้อย
ทั้งหมดทั้งมวลที่ยกมานี้ก็เพียงเพื่อจะบอกเล่าความ “มหัศจรรย์” ที่เกิดขึ้นในคอนเสิร์ตอิเล็กไทยนิกา ไม่แน่ว่าความรู้สึกเดียวกันนี้อาจจะเกิดขึ้นใน Saturday Music Ed. ครั้งต่อไป - โปรดติดตาม.
Saturday Music Ed. เป็นกิจกรรมดนตรีที่สำนักอุทยานการเรียนรู้ (TK park) จัดขึ้นเป็นประจำทุกวันเสาร์สุดท้ายของเดือน เพื่อมอบความบันเทิงและสาระความรู้แก่ผู้ใช้บริการไปพร้อมกัน กิจกรรมครั้งต่อไปจะจัดขึ้นในวันเสาร์ที่ 26 มีนาคม 2554 เตรียมพบความมันเต็มพิกัดกับดนตรีแนวการาจร็อค (Garage Rock) จากวงน้องใหม่ “The Juxx” ดูรายละเอียดที่ www.tkpark.or.th เร็วๆ นี้