คำกล่าวที่ว่า “การอ่านหนังสือคือการสร้างสติปัญญาให้แก่เด็ก” นั้นไม่ใช่คำยกย่องการอ่านหนังสืออย่างเกินเลย เห็นได้จากความจริงข้อหนึ่งที่ว่าคนฉลาดบนโลกใบนี้ไม่มีใครไม่ชอบอ่านหนังสือแม้แต่คนเดียว เพราะการอ่านหนังสือคือการเปิดโลกแห่งจินตนาการของเด็กๆ ให้กว้างไกล หนังสือดีมีสาระนั้น นอกจากจะช่วยยกระดับสติปัญญาและจิตใจของเด็ก ทำให้เด็กมีความรู้เป็นเครื่องประเทืองปัญญาแล้ว หนังสือยังช่วยกล่อมเกลาความรู้สึกนึกคิด คุณธรรม และจริยธรรมอีกด้วย ดังนั้น พ่อแม่ที่ปรารถนาให้ลูกเติบโตขึ้นมาเป็นทั้งคนเก่งและคนดี จึงไม่ควรละเลยที่จะปลูกฝังความรู้และความรักในหนังสือให้ลูกหลานตั้งแต่ยังอายุน้อยๆ เพื่อที่ว่าเขาเติบโตขึ้นจะได้กลายเป็นคนรักการอ่าน เพื่อที่ว่าในอนาคตเขาจะได้มีเครื่องมือเปิดโลกการเรียนรู้ไปจนตลอดชีวิต
การปลูกฝังให้ลูกรักการอ่านนั้นทำได้หลายวิธี เช่น สร้างประสบการณ์ให้เด็กคุ้นเคยกับรูปเล่มหนังสือและฟังเรื่องราวจากหนังสือที่เหมาะสมกับวัยและความสนใจของเด็ก มีมุมหนังสือโปรดให้อ่าน โดยอาจเป็นนิทานเรื่องโปรด หรือการ์ตูนเรื่องโปรดก็เป็นได้ แต่สิ่งสำคัญอย่างยิ่งที่พ่อแม่ไม่ควรหลงลืมหรือละเลยคือ “การอ่าน” ของพ่อแม่เองที่ต้อง “อ่านได้ อ่านดี อ่านดัง ฟังชัด” เพราะเด็กในวัย 6 เดือนถึง 6 ปีนั้นยังไม่สามารถอ่านหนังสือได้เอง พ่อแม่หรือผู้ใหญ่ในบ้านจึงต้องเป็นคนอ่านให้ฟัง การอ่านของพ่อแม่จึงเป็นรากฐานสำคัญที่จะทำให้ลูกเป็นคนรักการอ่าน ดังที่ รศ.ดร.ณรุทธ์ สุทธจิตต์ อาจารย์สาขาวิชาดนตรีศึกษา คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยกล่าวไว้ว่า “ต้องเริ่มจากพ่อแม่เห็นความสำคัญของการอ่านก่อน ควรส่งเสริมให้ลูกคุ้นเคยกับการอ่านตั้งแต่เด็ก ให้มีทักษะในการทำความเข้าใจในการอ่านอย่างเป็นธรรมชาติ แล้วเด็กจะรักในการอ่าน”
เมื่อการอ่านเป็นสิ่งสำคัญในการพัฒนาเด็ก ทางอุทยานการเรียนรู้ TK park สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา กระทรวงศึกษาธิการ มูลนิธิหนังสือเพื่อเด็ก นิตยสาร Mother&Care และภาคีเครือข่าย จึงร่วมกันจัดงาน “ร้อยกิจกรรมวันหนังสือเด็กแห่งชาติ ประจำปี 2554” ในวันที่ 1-3 เมษายน 2554 โดยในงานมีกิจกรรมสำคัญคือ งานอบรมเชิงปฏิบัติการเรื่อง “อ่านได้ อ่านดี อ่านดัง ฟังชัด”: การอ่านเพื่อพัฒนาเด็กพิเศษและเด็กด้อยโอกาส ที่จะช่วยให้พ่อแม่ผู้ปกครองได้รู้จักการอ่านที่ดีและถูกต้องจากวิทยากรชื่อดังไม่ว่าจะเป็น ได้แก่ คุณนก - สินจัย เปล่งพานิช นักแสดงชื่อดัง คุณหนิง - สายสวรรค์ ขยันยิ่ง นักข่าวและพิธีกรระดับแนวหน้าของเมืองไทย และคุณอี้ - แทนคุณ จิตต์อิสระ นักแสดง/นักข่าว/พิธีกรชื่อดัง โดยมีผู้ดำเนินรายการคือ คุณปอง - เรืองศักดิ์ ปิ่นประทีป กรรมการผู้จัดการมูลนิธิหนังสือเพื่อเด็ก
เสวนากับดาราและพิธีกรชื่อดัง
การเสวนาเริ่มขึ้นที่คุณปองเล่าถึงคำว่าเด็กพิเศษและเด็กด้อยโอกาส เด็กพิเศษนั้นหมายถึงเด็กที่เกิดมาพร้อมกับภาวะการเรียนรู้ที่ผิดปกติ เช่น เป็นออทิสติก อย่างไรก็ตาม หากพ่อแม่เข้าใจ เลี้ยงดูเขาอย่างถูกวิธี และฝึกเขาให้รู้จักรักการอ่าน เขาก็มีโอกาสพัฒนาได้เหมือนเด็กปกติคนอื่นๆ ส่วนเด็กด้อยโอกาสนั้น เรามักจะติดภาพว่าเป็นเด็กที่ยากจน ทำให้ขาดโอกาส คุณปองกล่าวว่าไม่ใช่ทั้งหมด เพราะคำว่าด้อยโอกาสนั้นมีทั้งด้อยโอกาสตรงและด้อยโอกาสแฝง เด็กด้อยโอกาสตรงนั้นคือเด็กที่ขาดแคลนความต้องการพื้นฐาน ทำให้เขาไม่มีโอกาสที่จะพัฒนาการอ่าน ส่วนเด็กด้อยโอกาสแฝงนั้นคือ เด็กที่มีพร้อมทุกอย่าง แต่พ่อแม่ไม่มีเวลาให้มากเท่าที่ควร หรือไม่มีโอกาสปลูกฝังการรักการอ่านให้แก่เด็ก ในปัจจุบันนั้น เด็กด้อยโอกาสแฝงเหล่านี้นับวันจะมีมากขึ้นเรื่อยๆ พ่อแม่จึงควรจะให้เวลาแก่ลูกมากขึ้น รวมถึงต้องฝึกฝนให้ตนเองอ่านเสียงดังฟังชัด เพื่อจะเป็นตัวอย่างที่ดีแก่เด็กๆ ต่อไป
นักข่าวชั้นแนวหน้าของประเทศอย่างคุณหนิง สายสวรรค์ ได้เล่าถึงประสบการณ์การอ่านในวัยเด็กของตนเองว่าเริ่มต้นมาจากการเคี่ยวเข็ญอย่างเอาจริงเอาจังของพ่อ ทุกๆ เช้า คุณหนิงจะต้องอ่านหนังสือพิมพ์ให้พ่อฟัง และคุณพ่อก็เน้นว่าจะต้องอ่านให้ดัง ชัดเจนทุกอักขระ รวมถึงแบ่งจังหวะวรรคตอนให้เหมาะสม หากมีจุดใดที่ออกเสียงไม่ชัดพ่อก็จะให้อ่านใหม่ การหัดอ่านมาตั้งแต่เด็กซึ่งคุณหนิงกล่าวว่าเป็นวัยที่ยัง “ลิ้นอ่อน” คือยังแก้ไขได้ง่าย ทำให้โตขึ้นมาแล้วออกเสียงชัดทุกอักขระ คุณหนิงกล่าวว่ากิจกรรมดังกล่าวนอกจากจะฝึกฝนให้ตนอ่านออกเสียงชัดแล้ว ยังเป็นกิจกรรมที่ช่วยเสริมสร้างความอบอุ่นในครอบครัวอีกด้วย
คุณหนิง - สายสวรรค์ ขยันยิ่ง
ส่วนคุณอี้ แทนคุณ กล่าวว่าในช่วงที่เข้าวงการใหม่ๆ ตนเองนั้นยังพูดรัวเร็วเหมือนวัยรุ่นทั่วไป จนกระทั่งวันหนึ่งมีโอกาสได้ร่วมงานกับคุณบอย ถกลเกียรติ คุณบอยจึงฝึกให้คุณอี้ได้อ่านออกเสียงอย่างจริงจังเพื่อจะได้นำไปปรับใช้เวลาแสดงละครและเป็นพิธีกร ตอนแรกคุณอี้ที่เคยชินกับการพูดเร็วๆ ก็รู้สึกเหนื่อยที่ต้องคอยอ่านออกเสียงดังๆ ชัดๆ อยู่ตลอดเวลา แต่เมื่อได้ฝึกไปเรื่อยๆ ก็รู้สึกว่าพูดคำยากๆ ได้ง่ายขึ้น และรู้สึกว่าพูดแล้วฟังชัดขึ้น
นอกจากการพูดให้เสียงดังฟังชัดแล้ว สิ่งหนึ่งที่คุณอี้เน้นย้ำมากคือสมาธิ หากเรามีสมาธิในการพูดก็จะสามารถสื่อสารความคิดให้คนฟังเข้าใจได้ง่าย คุณอี้ตั้งข้อสังเกตว่าคนในยุคปัจจุบันไม่ค่อยมีสมาธิในการสื่อสารกับคนรอบข้าง อาจเป็นเพราะเรามีช่องทางในการสื่อสารมากเกินไป ทำให้เรามัวพะวงอยู่กับช่องทางสื่อสารอื่นๆ จนลืมคู่สื่อสารที่อยู่ตรงหน้า การอ่านให้สัมฤทธิ์ผลจึงต้องตั้งสมาธิอยู่กับสิ่งที่เราอ่านและต้องการสื่อสารให้ดีอีกด้วย
เมื่อคุณปองถามว่าการอ่านจะช่วยพัฒนาเด็กพิเศษและเด็กด้อยโอกาสได้อย่างไร คุณอี้ตอบว่า หากเด็กได้มีโอกาสในการอ่านหรือได้สื่อสารกับพ่อแม่แต่เด็ก โอกาสที่เขาจะเติบโตขึ้นเป็นเด็กที่กล้าคิดกล้าทำ และช่วยเปลี่ยนแปลงสังคมให้ดีขึ้นได้ แต่สังคมไทยเราเป็นสังคมแบบปิด เรามักจะสอนไม่ให้เด็กพูดหรือถามผู้ใหญ่ในสิ่งที่ตนเองสงสัย เด็กจึงต้องหาทางไประบายอย่างอื่น เช่น ไปเป็นเด็กแว้น ไปจับกลุ่มมั่วสุมกัน การปิดโอกาสไม่ให้เด็กได้สื่อสารกับผู้ใหญ่ รวมถึงไม่สร้างให้เขาเป็นคนช่างคิดช่างถามจึงเป็นต้นตอของปัญหาในสังคมปัจจุบัน ดังนั้นหากพ่อแม่ได้ปลูกฝังเรื่องการอ่าน ไม่ว่าจะเป็นการหาหนังสือดีๆ ให้เขาอ่าน หรือการอ่านหนังสือนิทานให้เขาฟังก่อนนอนก็จะช่วยปลูกฝังให้เขากลายเป็นเด็กที่รักการอ่าน โตขึ้นมาเป็นผู้ใหญ่ที่มีความคิดความอ่านที่ดี ไม่จำเป็นว่าสิ่งเหล่านี้จำเป็นสำหรับเด็กพิเศษและเด็กด้อยโอกาสเท่านั้น แต่เป็นสิ่งที่เด็กไทยจำนวนมากในสังคมกำลังขาดอยู่
คุณอี้ - แทนคุณ จิตต์อิสระ
คุณนกได้เสริมคำตอบของคุณอี้ โดยยกตัวอย่างชีวิตของตนเองที่เป็นดารานักแสดง ทำให้ลูกของคุณนกมีลักษณะคล้ายๆ “เด็กด้อยโอกาสแฝง” เช่นกัน เพราะพ่อและแม่ต่างก็มีงานแสดงที่ต้องรับผิดชอบ ทำให้ไม่มีเวลาให้ลูกเท่าที่ควร คุณนกและสามีมองเห็นปัญหาข้อนี้เหมือนกัน จึงคุยและตกลงกันว่าจะต้องจัดการเวลาให้ลงตัว จัดตารางงานใหม่เพื่อให้มีเวลาอยู่กับลูกมากขึ้น แม้ว่าบางครั้งอาจไม่ได้อยู่พร้อมหน้า แต่อย่างน้อยต้องมีคนใดคนหนึ่งอยู่กับลูกในช่วงเวลาใดเวลาหนึ่ง เช่น เวลาที่คุณนกรับงานแสดงวันจันทร์ถึงพุธ สามีก็ต้องไม่รับงานเวลานี้เพื่อที่จะมีเวลาให้กับลูก
คุณนกกล่าวว่า การมีเวลาให้กับลูกเป็นเรื่องสำคัญมาก เพราะโลกยุคปัจจุบันเป็นโลกของสื่อ หากลูกเลือกเสพสื่อที่ไม่เหมาะสมก็จะเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้เขาก้าวเดินในทางที่ผิด การมีเวลาอยู่กับเขาทำให้เราได้ฝึกหัดให้เขาเลือกอ่าน เลือกเสพสื่อ สร้างภูมิคุ้มกันในการอ่าน ทำให้เขาไม่เลือกอ่านในสิ่งที่ไม่เหมาะสม คุณนกได้ยกตัวอย่างครอบครัวของตนเองที่เป็นดารานักแสดง ทำให้มีข่าวออกสื่ออยู่เป็นประจำ ซึ่งมีทั้งข่าวที่ดีและข่าวที่ไม่เหมาะสม แต่ลูกของคุณนกก็ไม่มีปัญหาเพราะเขารู้จักเลือกอ่านข่าว และข่าวไหนที่เขาสงสัยก็จะมาถามพ่อแม่ตรงๆ เช่น คนอื่นนินทาเรื่องไม่เหมาะสม ลูกของคุณนกก็จะมาถามต้นสายปลายเหตุจากพ่อหรือแม่ ซึ่งตนก็ต้องตอบชี้แจงตามเหตุผล แล้วเขาจะรับฟัง ดังนั้นการหัดให้ลูกรู้จักการอ่าน และเลือกอ่านตั้งแต่เด็ก จึงเป็นภูมิคุ้มกันที่สำคัญที่จะช่วยให้เขาอยู่ในโลกของสื่อได้
คุณนก - สินจัย เปล่งพานิช
คุณหนิงเสริมว่า การสอนให้ลูกรู้จักอ่านนั้น นอกจากจะสร้างภูมิคุ้มกันให้แก่เด็กแล้ว ยังช่วยให้เด็กได้พัฒนาความคิดและบุคลิกภาพไปพร้อมกันด้วย โดยได้ยกตัวอย่างชีวิตตอนเด็กที่พ่อหรือแม่มักจะพาไปห้องสมุดประชาชนแล้วชวนอ่านนิทานเด็ก คุณหนิงได้ซึมซับภาษาที่สละสลวยและบุคลิกภาพเวลาอ่านมาจากผู้ปกครอง นอกจากนั้นยังรู้สึกอบอุ่นใจ เพราะเวลาที่พ่อแม่อ่านหนังสือให้ฟัง ไม่เคยมีสักครั้งที่อ่านด้วยน้ำเสียงไม่ดี มีแต่น้ำเสียงที่อ่อนโยนอบอุ่น สิ่งเหล่านี้ทำให้เติบโตมาเป็นคนรักการอ่าน เพราะการอ่านเติมเต็มความอบอุ่นในชีวิต
ช่วงท้ายของการเสวนา คุณปองสรุปว่า การอ่านนั้นเป็นกิจกรรมที่ดีที่สุดที่พ่อแม่จะช่วยสร้างเสริมพัฒนาการให้เด็กในวัย 6 เดือนถึง 6 ปี ได้เติบโตทั้งทางร่างกายและจิตใจ ทางร่างกายคือ การอ่านหนังสือให้เด็กฟังจะช่วยกระตุ้นการทำงานของเซลล์สมองนับล้านเซลล์ให้แตกกิ่งก้านออกไป ทำให้เด็กมีจินตนาการ ส่วนพัฒนาการทางจิตใจคือ ทำให้เด็กได้รับความอบอุ่น ซึมซับคุณธรรมจริยธรรมจากนิทาน รู้จักแก้ไขปัญหาได้ดี และกิจกรรมดังกล่าวนี้ไม่จำเพาะว่าต้องทำกับเด็กพิเศษและเด็กด้อยโอกาสเท่านั้น เพราะเด็กทุกคนต่างก็ต้องการความรักความอบอุ่นจากพ่อแม่ไม่ต่างกัน แต่ก่อนที่จะอ่านหนังสือให้เด็กฟัง พ่อแม่เองก็ควรฝึกหัดตนเองให้ “อ่านดี อ่านดัง ฟังชัด” เพราะสิ่งเหล่านี้จะติดตัวเด็กไปจนโต
การเสวนาจบลงด้วยความประทับใจ โดยผู้เข้าร่วมเสวนาส่วนใหญ่ที่เป็นครูอาจารย์จากสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ได้นำผลไม้แสนอร่อยอย่างส้มโชกุนมามอบให้วิทยากรและพิธีกร และร่วมถ่ายรูปเป็นที่ระลึกอย่างอุ่นหนาฝาคั่ง
ร่วมถ่ายภาพที่ระลึกกับวิทยากร
ชาว TK ได้ฟังการเสวนานี้แล้วก็อย่าลืมกลับบ้านไปหัดอ่านให้ “อ่านดี อ่านดัง ฟังชัด” แม้ว่าจะไม่ได้ไปอ่านนิทานให้ใครฟัง แต่อย่างน้อยก็คงทำให้เราสื่อสารกับคนอื่นได้ดีขึ้น อย่างที่พี่อี้ แทนคุณกล่าวไว้ว่า
“การอ่านเสียงดังๆ ให้ตัวเองฟังเป็นการฝึกการอ่านที่ดีมาก เพราะเวลาที่เราอ่านให้ตัวเองฟัง หากเรารู้สึกว่าเราอ่านไม่ชัด ฟังไม่ทัน แล้วคนอื่นจะฟังเรารู้เรื่องได้อย่างไร”
หนอนหนังสือตัวอ้วน