ในชีวิตของเราแต่ละคน ไม่ว่าจะเป็นใครหรือมาจากไหน ก็ล้วนแล้วแต่มีเรื่องราวเป็นของตนเอง แง่มุมบางแง่มุมอาจเป็นเรื่องราวที่ดี ควรค่าแก่การจดจำ แต่แง่มุมบางแง่มุมก็สมควรจะลืมเลือนมันไป ซึ่งก็อาจแปรเปลี่ยนเป็นบทเรียนอันล้ำค่าได้ หากเลือกที่จะเรียนรู้จากสิ่งที่ไม่ดีเหล่านั้น
เรื่องราวทั้งหลายเหล่านี้เองคือวัตถุดิบชั้นดี ในการนำมาปรุงแต่งเป็นผลงานศิลปะที่เรียกว่า ‘วรรณกรรม’ ซึ่งความแตกต่างหรือความน่าสนใจของเรื่องราวเหล่านี้ ขึ้นอยู่กับผู้ประพันธ์ว่าจะเลือกสรรแง่มุมไหนออกมานำเสนอ
ว่าที่นักเขียนรุ่นใหม่เข้าร่วมอบรมกันอย่างคึกคัก
เนื่องในโอกาสกิจกรรม ร้อยกิจกรรมวันหนังสือเด็กแห่งชาติ ครั้งที่ 3 ตอน หนังสือคือจินตนาการ ทางอุทยานการเรียนรู้ TK park ได้ร่วมมือกับ บมจ.ซีพี ออลล์ มูลนิธิหนังสือเพื่อเด็ก และสมาคมนักเขียนแห่งประเทศไทย ร่วมกันจัดกิจกรรมเพื่อเป็นการส่งเสริมเรื่องการอ่านและการเขียนให้กับเด็กและเยาวชน ในหัวข้อที่มีชื่อว่า เลือกสรรมุมชีวิต ลิขิตเป็นเรื่องสั้นและนวนิยาย ผ่านการอบรมและการปฏิบัติแบบใกล้ชิด ณ ห้องมินิเธียเตอร์ เมื่อวันที่ 3 เมษายน 2554 โดยมีน้องๆ นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาจากหลายโรงเรียนให้ความสนใจเข้าร่วมอบรมกันอย่างคึกคัก
วิทยากรที่มาให้ความรู้ในวันนี้ก็คือผู้ใหญ่ในแวดวงวรรณกรรมที่รู้จักกันเป็นอย่างดีอย่าง คุณชมัยภร แสงกระจ่าง อดีตนายกสมาคมนักเขียนแห่งประเทศไทย เจ้าของผลงานชื่อดัง บันทึกจากลูก(ผู้)ชาย และ บ้านนี้มีรัก คุณกนกวลี พจนปกรณ์ เจ้าของผลงาน กาษา นาคา และดำเนินรายการโดย คุณเพชรยุพา บูรณ์สิริจรุงรัฐ ผู้บริหารสำนักพิมพ์ ณ เพชร สำนักพิมพ์
“เราจะมีอารมณ์บางอย่างเกิดขึ้นขณะที่เราเฝ้ามองชีวิต ในการเลือกสรรชีวิตจึงเป็นมุมใครมุมมัน ตัวใครตัวมัน สิ่งที่มีอยู่ในชีวิต เราก็หยิบมันมา ตอนนี้เราอาจยังไม่รู้ตัว เราทำอะไรไปโดยธรรมชาติก่อน เพราะฉะนั้นถ้าเราจะเลือกมุมชีวิต เราต้องเลือกมุมที่ตื่นเต้นที่สุดและน่าเล่ามากที่สุด” คุณชมัยภรเริ่มต้นกล่าวถึงขั้นแรกในการเลือกสรรสิ่งที่จะนำมาเขียน ซึ่งมาจากเรื่องราวที่เกิดขึ้นในชีวิตของเรานั่นเอง
เมื่อเลือกสรรมุมชีวิตที่น่าสนใจได้แล้ว ขั้นตอนต่อไปก็คือการเสริมแต่งจินตนาการเข้าไป คุณกนกวลีจึงให้คำแนะนำว่า “ในแง่ของการเขียน บางทีก็ต้องมีการเสริมเติมแต่งเข้าไปด้วยจินตนาการ วิธีการสร้างสรรค์จินตนาการเริ่มต้นง่ายๆ คือเรื่องอะไรที่เกิดขึ้นตรงหน้าให้คิดว่านี่คือปัจจุบัน แล้วลองจินตนาการย้อนกลับไปในอดีตว่าก่อนที่จะเกิดตรงนี้มีที่มาที่ไปยังไง แล้วถ้ายังเขียนได้ไม่ดีพอ ก็จินตนาการต่อถึงอนาคตอีก จนกระทั่งสมบูรณ์ จินตนาการคือการตั้งธงไว้ที่ปัจจุบันก่อนแล้วคิดต่อไปยังอดีตและอนาคต เพื่อให้เกิดโครงเรื่องหรือพล็อตขึ้นมา ใครที่เพิ่งเริ่มต้นเขียนก็ให้ลองเอาวิธีนี้ไปใช้ดู” จินตนาการจึงเป็นหัวใจหลักสำคัญในการแต่งเรื่องสั้นหรือนวนิยายขึ้นมาสักเรื่อง เพราะเรื่องราวที่เกิดขึ้นในเรื่องที่แต่งนั้นไม่จำเป็นต้องเป็นเรื่องจริงทั้งหมด ซึ่งอาจทำให้สับสนกับสารคดีได้
“เมื่อเอาจินตนาการมารวมกับเรื่องที่เราเลือก ก็ต้องมีคุณสมบัติอีกอย่างหนึ่งคือเวลาที่เราจะเขียนต้องมีรายละเอียด ต้องมีวิธีการสังเกตของเราเอง เช่น เราจะเขียนเรื่องเกี่ยวกับหมา ใครที่ไม่ได้เลี้ยงหมาก็จะไม่รู้ แต่คนที่เลี้ยงจะรู้ แล้วก็เก็บไว้ในลิ้นชักความทรงจำของเรา แล้วเราก็ต้องหากุญแจที่เอาไว้ไขสิ่งเหล่านั้นออกมา หรือสิ่งที่เรามีอยู่เฉพาะไม่เหมือนคนอื่น เพราะฉะนั้นรายละเอียดเหล่านี้จงใส่ใจเก็บ ช่างสังเกตและละเอียดอ่อนที่จะเห็นสิ่งรอบๆ ตัว แล้วเอามาใช้ตอนกระบวนการสร้างงานวรรณศิลป์” คุณชมัยภรอธิบายต่อถึงกระบวนการอีกอย่างที่สำคัญไม่แพ้กันคือการสร้างวรรณศิลป์ ที่เกิดจากการสังเกตและเก็บรายละเอียดของเรื่องราว เพื่อให้ผลงานชิ้นนั้นเกิดมิติที่ลึกซึ้งขึ้น ไม่เป็นเพียงการบรรยายแบบด้านๆ อันเกิดจากการขาดวรรณศิลป์ที่ไม่ได้ปรุงแต่งให้งดงาม
นอกจากการเลือกสรรมุมชีวิตที่น่าสนใจมาพัฒนาให้เป็นผลงานวรรณกรรมแล้ว สิ่งหนึ่งที่ขาดไม่ได้ก็คือการค้นหาเอกลักษณ์เป็นของตนเอง “ตัวเราแต่ละคนจะมีลักษณะเฉพาะตัว อยู่ที่ว่าประสบการชีวิตที่ผ่านมาเป็นอย่างไร เราจะมีมุมมองแตกต่างกันออกไป เมื่อเวลาเราเล่าหรือเขียน สิ่งที่เป็นตัวตนของเราจะออกมาตามทัศนคติที่เรามีต่อเรื่องนั้นๆ สมมติเห็นอะไรที่เกิดขึ้นเป็นเรื่องเดียวกัน แต่ละคนก็คิดต่างกันออกไปแล้ว แม้ว่าเราจะเห็นเหมือนกันก็ตาม บางทีเราเขียนไปเราอาจไม่รู้ตัว แต่ผู้อ่านจะทราบว่าคนที่เขียนเป็นแบบนี้เพราะเขาเป็นแบบนี้ จะมีมุมชีวิตที่ผู้อ่านจับได้เสมอ” คุณกนกวลีกล่าวถึงการค้นหาเอกลักษณ์ ก่อนจะให้คำแนะนำในการค้นหาต่อว่า “เราต้องหมั่นหาประสบการณ์ชีวิตและช่างสังเกต แต่ประสบการณ์ชีวิตนี้ก็ไม่ได้หมายความว่าจะต้องหาทุกสิ่งทุกอย่าง อย่างจะเขียนเรื่องติดยา จะไปลองก็ไม่ได้ เพราะบางเรื่องไม่จำเป็นต้องไปหาประสบการณ์ตรง ลองไปหาประสบการณ์ที่ผ่านมาจากผู้อื่น ที่เราสามารถไปสังเกตหรือพูดคุยกับเขาได้ เพราะแง่มุมของชีวิตมันรายล้อมอยู่รอบตัวเราเต็มไปหมด อัตลักษณ์หรือเอกลักษณ์ของเราก็อยู่ที่เราจะถ่ายทอดมุมไหน เรารู้สึกสะเทือนใจสิ่งไหน เราก็เลือกถ่ายทอดมุมนั้น” จะเห็นได้ว่าการค้นหาเอกลักษณ์ในงานเขียนก็มีขั้นตอนที่ไม่ได้ยากไปกว่าการค้นหาแง่มุมชีวิตเลย ซึ่งขึ้นอยู่กับการสังเกตและการเลือกสรรเท่านั้น
ตั้งใจเก็บความรู้ใหม่ๆ
และในการค้นเอกลักษณ์เหล่านี้ สิ่งที่น่าเป็นห่วงคือการไม่สนใจในอัตลักษณ์ของความเป็นไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในปัจจุบันที่เด็กรุ่นใหม่มักสนใจวัฒนธรรมต่างชาติมากขึ้น และนำสิ่งเหล่านั้นมาใช้ในผลงานของตนเอง “ทำไมเราจึงให้ความสำคัญกับเรื่องอัตลักษณ์ เพราะว่าต้องการให้เรามีความแตกต่าง เป็นตัวของตัวเอง เพื่อให้รู้ว่าเราอยู่ในประเทศไทย มีรากเหง้าเป็นใคร คือถ้าเราเขียนเรื่องรัสเซีย ยังไงเราก็ไม่มีจิตวิญญาณของคนรัสเซีย ถ้าเราทำให้เป็นไทยเลย รู้ชัดเจนว่าเป็นไทยเลยจะดีกว่า แต่ถ้าสมมติว่าเราเขียนไม่เป็น แล้วเราอยากลอก เราจะต้องลอกให้ดูเหมือนไม่เป็นการลอก หรือที่เรียกว่าแรงบันดาลใจ อย่างสมัยก่อนที่นักเขียนใหญ่ๆ ทั้งหลาย ที่เราสงสัยว่าเอามาจากของฝรั่งรึเปล่า เช่น อาจารย์คึกฤทธิ์ (ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมทย์) ไม่ว่าจะเป็น ไผ่แดง กาเหว่าที่บางเพลง และ หลายชีวิต ที่ได้แรงบันดาลใจแต่ไม่ได้ลอก และแฝงความเป็นไทยเข้าไป แรงบันดาลใจหมายความว่าเราต้องสร้างใหม่เอง” คุณชมัยภรเน้นย้ำถึงการใช้อัตลักษณ์ความเป็นไทยที่มีความสำคัญเป็นอย่างมาก
ให้ความรู้กันแบบใกล้ชิด
ในส่วนการลงมือเขียน ทั้งคุณชมัยภรและคุณกนกวลีได้ให้คำแนะนำแก่น้องๆ ที่เข้าร่วมอบรมว่า เมื่อเรามีเรื่องราวที่เราจะเขียนแล้ว เราต้องถามตัวเองว่าเราจะนำเสนออะไรที่เป็นเป้าหมายของเรื่อง หรือที่เรียกว่า ‘แก่นเรื่อง’ ซึ่งจะช่วยให้การเขียนนั้นมีจุดมุ่งหมายที่ชัดเจน ว่าจะเขียนไปเพื่ออะไรหรือต้องการนำเสนอในประเด็นไหน เมื่อเขียนไปสักพักจะทำให้ไม่สับสนในประเด็นที่จะเขียน คือต้องคิดให้เสร็จสมบูรณ์เสียก่อนจึงเริ่มลงมือเขียน
ส่วนกลวิธีการเขียนก็สามารถเรียนรู้ได้จากการอ่านเยอะๆ ซึ่งวรรณกรรมสมัยใหม่มักมีกลวิธีการเขียนแบบใหม่ที่มีความน่าสนใจอย่างมาก ทั้งการเปิดเรื่อง การดำเนิน และการจบเรื่อง ซึ่งมีหลายแบบหลายวิธี อยู่ที่การเลือกให้เหมาะสมกับเรื่องราวที่จะเล่า
จากการที่วิทยากรทั้งสองท่านได้กล่าวถึงการเลือกสรรมุมชีวิตเพื่อลิขิตเป็นเรื่องสั้นและนวนิยาย จะเห็นได้ว่าไม่ใช่เรื่องยากเลย เพราะเรื่องราวในชีวิตของเราล้วนเกิดขึ้นใหม่อยู่ตลอดเวลาและมีแง่มุมอันน่าสนใจอยู่เสมอ อยู่ที่ว่าเราจะเลือกมันมาถ่ายทอดเป็นงานวรรณกรรมหรือไม่ จึงไม่ต้องแปลกใจที่เราจะได้เห็นผลงานวรรณกรรมเกิดขึ้นใหม่บนแผงหนังสืออยู่เสมอ
นอกจากมุมชีวิตจะสามารถลิขิตเป็นเรื่องสั้นและนวนิยายได้แล้ว ก็ยังสามารถลิขิตเป็นนิทานและเพลงได้อีกด้วย ติดตามได้ในการอบรม เลือกสรรมุมชีวิต ลิขิตเป็นนิทานและเพลง ในตอนต่อไป
วิชญ์พล พลพิทักษ์ชัย