กลับมาอีกครั้งสำหรับโครงการธรรมวรรณศิลป์ โครงการซึ่งจัดขึ้นเพื่อนำธรรมะสู่จิตใจเยาวชนผ่านเส้นทางสายวรรณศิลป์ซึ่งปีนี้จัดขึ้นเป็นปีที่ 5 โดยครั้งนี้ได้เปิดโอกาสให้เยาวชนที่มีความสามารถด้านงานเขียน ได้เข้าร่วมแสดงความคิดและฝีมือทางการเขียน โดยได้ทำการเปิดโครงการไปเมื่อวันเสาร์ที่ 17 กันยายน 2554 ณ ลานสานฝัน อุทยานการเรียนรู้ TK park ตั้งแต่เวลา 13.00-18.00 น. ซึ่งเป็นโครงการความร่วมมือระหว่าง สถาบันยุวโพธิชน มูลนิธิสัมมาชีพ และอุทยานการเรียนรู้ TK park โดยใช้ชื่องานว่า ‘โลกของฉันคือบทกวี’
งานเปิดตัวในวันนั้นอบอวลไปด้วยเสียงขับกล่อมบทกวีจากผู้ที่หลงรักในวรรณกรรมประเภทนี้ ทั้งศิลปินรุ่นใหญ่และ เยาวชนจากหลากหลายมหาวิทยาลัยที่เพิ่งเริ่มต้นก้าวเข้ามาในเส้นทางสายกวี
งานเริ่มต้นด้วยเสียงขลุ่ยอันไพเราะจาก อาจารย์เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ กวีซีไรต์และศิลปินแห่งชาติ ซึ่งท่านเป็นประธานกรรมการที่ปรึกษาโครงการธรรมวรรณศิลป์ ได้มาร่ายบทกวีที่ดัดแปลงมาจากบทบูชาพระรัตนตรัย จากนั้นได้ขับขลุ่ยเพลง ‘น้ำลอดใต้ทราย’ ตามด้วย ‘เดือนหงายกลางป่า’ และบทกวีที่เอาใจเด็กเล็กๆ ที่มาร่วมเข้าฟังพร้อมกับพ่อแม่ด้วยบทกวีเนื้อหาเข้าใจง่ายอย่าง เจ้าชายสายลม
อาจารย์เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ ร่ายกวี
อาจารย์เนาวรัตน์ ได้อธิบายความหมายของเพลงแรกด้วยคำสอนของท่านพุทธทาสภิกขุว่า
“ทำดี ดี ทำชั่ว ชั่ว อย่าเอาคำว่า ได้ มาประเมินว่าทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว เพราะดีชั่วอยู่ในตัว การทำความดีไม่ต้องมีคนมารู้มาเห็น เหมือนกับน้ำที่ลอดอยู่ใต้พื้นทรายที่ไม่มีคนเห็น”
หลังเพลิดเพลินกับการฟังเสียงขลุ่ยและบทกวี ซึ่งเป็นบทนำก่อนการเปิดโครงการครั้งนี้ คุณประชา หุตานุวัตร ผู้อำนวยการสถาบันยุวโพธิชน ประธานกรรมการบริหารมูลนิธิสัมมาชีพ ได้กล่าวรายงานการดำเนินงานของโครงการธรรมวรรณศิลป์ โดยโครงการนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อให้เยาวชนได้นำธรรมะเข้าถึงจิตใจของตัวเองผ่านกระบวนการเรียนรู้รูปแบบต่างๆ ที่ทางโครงการได้จัดขึ้น เพื่อที่จะได้มีแก่นธรรมะเป็นหลักในการดำเนินชีวิต
จากนั้นได้เริ่มต้นการเสวนานักวรรณกรรมในหัวข้อ ‘อ่านเขียนเพื่อพัฒนาชีวิต’ โดยมีวิทยากรนักอ่าน นักเขียน นักแปล มืออาชีพ 3 ท่านมาร่วมพูดคุย คือ อาจารย์ศิวกานท์ ปทุมสูติ ครูกวีผู้ก่อตั้งทุ่งสักอาศรม คุณอรสม สุทธิสาคร นักเขียนสารคดีผู้ได้รับรางวัลศิลปาธรหญิงคนแรก และ คุณประชา หุตานุวัตร นักกิจกรรม นักแปล และนักสัมภาษณ์ผู้มากประสบการณ์
วิทยากรร่วมพูดคุยในหัวข้อ ‘อ่านเขียนเพื่อพัฒนาชีวิต’
วิทยากรทั้ง 3 ท่านได้เริ่มต้นพูดคุยถึงชีวิตในตอนเด็กของตัวเอง โดยแต่ละคนถือว่าเป็นนักอ่านตัวยงที่เป็นหนอนหนังสือมาตั้งแต่เด็ก โดยคุณอรสมเล่าว่าได้ใช้หนังสือเป็นเพื่อนแก้เหงา เพราะอยู่โรงเรียนประจำมาตั้งแต่เด็ก หนังสือจึงกลายเป็นเพื่อนที่ดีที่ทำให้คุณอรสมไม่ยอมจำนนต่อความทุกข์เพราะความเหงา เมื่อมาเรียนในระดับมัธยมปลายคุณอรสมได้ทำงานกองบรรณาธิการ โดยนำเงินส่วนนั้นมาเป็นค่าเล่าเรียน ซึ่งการทำงานตรงนี้ทำให้ตัวเองมั่นใจว่าต้องการเดินในเส้นทางหนังสือ และสิ่งที่เหมาะกับตัวเองมากที่สุดคือการเขียนสารคดี
ด้านอาจารย์ศิวกานท์ ปทุมสูติ ที่เติบโตมากับวิถีชีวิตพื้นบ้านในชนบท ชื่นชอบถ้อยคำกวีพื้นบ้าน ซึ่งทำให้รู้ว่ากวีไม่ต้องเกิดจากมหาวิทยาลัย แต่เกิดจากการใช้ชีวิต โดยตลอดการเล่าเรื่องราวของตัวเองนั้น อาจารย์ศิวกานท์จะสอดแทรกด้วยการขับบทกวีที่ตัวเองแต่ง ทำให้บรรยากาศการเสวนาเป็นไปอย่างผ่อนคลาย
สำหรับคุณประชาที่มีจุดเปลี่ยนในชีวิต จากแต่เดิมที่อ่านแค่หนังสือเรียนเพื่อให้สอบได้อันดับดีๆ จนวันหนึ่งได้มาอ่านหนังสือของท่านพุทธทาสภิกขุ จึงได้รู้ว่าการมุ่งที่จะเรียนเพียงอย่างเดียวเพื่อให้ได้ทำงานที่ดีๆ ไม่ใช่เป้าหมายที่จะทำให้ชีวิตมีความสุขที่แท้จริง เพราะการใช้ชีวิตอย่างมีไม่มีความทุกข์ต่างหาก คือความสุขที่ควรแสวงหา
การอ่านช่วยพัฒนาชีวิตได้อย่างไรนั้น ทั้ง 3 ท่านได้สรุปทิ้งท้ายการเสวนาไว้ไม่แตกต่างกันมากนัก
คุณอรสม สุทธิสาคร “การอ่านทำให้ได้ทบทวนตัวเอง อย่างการเขียนสารคดีที่เป็นเหมือนสะพานเชื่อมความเข้าใจระหว่างคนคนหนึ่งกับสังคม เพื่อให้เกิดความเข้าใจกันมากขึ้น มนุษย์จะได้ไม่มองกันแค่ที่เปลือกนอกแต่ต้องมองลึกเข้าไปถึงจิตใจ”
อาจารย์ศิวกานท์ ปทุมสูติ “การเขียนหรืออ่านบทกวีเป็นการสัมผัสชีวิตผ่านศิลปะ ที่เข้ามากระทบจิตใจจนเกิดเป็นคุณค่าในการใช้ชีวิต ซึ่งจะพัฒนาตัวเราไปตามหนังสือที่เราอ่าน”
คุณประชา หุตานุวัตร “การอ่านหนังสือก็เหมือนกับได้อ่านตัวเองไปด้วย การรู้ทันความคิดของตัวเอง ทำให้เราเลือกเส้นทางของตัวเองได้ หรืออย่างน้อยก็ช่วยพัฒนาสิ่งที่เราทำอยู่ให้ดีขึ้น”
คุณซะการีย์ยา อมตยา กวีซีไรต์
หลังจบการเสวนา คุณซะการีย์ยา อมตยา กวีซีไรต์คนล่าสุด เจ้าของกวีนิพนธ์ ‘ไม่มีหญิงสาวในบทกวี’ ซึ่งเป็นกรรมการที่ปรึกษาโครงการธรรมวรรณศิลป์ ได้มาขับกวีพร้อมกับพูดคุยแลกเปลี่ยนกับผู้ที่อยู่บริเวณลานสานฝันในหัวข้อ ‘วัฒนธรรมแห่งการอ่านบทกวี’ ก่อนจะมาร่ายบทกวีให้ได้ฟังกันนั้น คุณซะการีย์ยาได้พูดถึงความเป็นมาของบทกวี โดยเล่าว่า บทกวีเริ่มต้นจากมุขปาฐะ เช่นเดียวกับกำเนิดของตำราด้านศาสนาที่เริ่มต้นจากวิธีการเล่าปากต่อปาก ก่อนจะมีการบันทึกอย่างเช่นปัจจุบัน ส่วนการอ่านบทกวีนั้น ในประเทศไทยยังไม่นับว่าเป็นวัฒนธรรม โดยเจ้าของกวีนิพนธ์รางวัลซีไรต์คนล่าสุดเล่าว่า
“การอ่านกวียังไม่นับว่าเป็นวัฒนธรรมได้ ไม่เหมือนกับคอนเสิร์ตบอดี้สแลม ที่คนจะยอมเสียเงินเข้ามาฟัง จนกลายเป็นวัฒนธรรมการร้องเพลง การแสดงคอนเสิร์ต แต่ที่ฮาวายการอ่านกวีถือว่าเป็นวัฒนธรรมไปแล้ว เพราะเขาเสียเงินซื้อตั๋วเพื่อมาฟังเราอ่านบทกวี ซึ่งตรงนั้นถือว่าเข้มข้นมาก”
การอ่านบทกวีนั้นไม่เพียงแต่เป็นการอ่านเพื่อความเพลิดเพลิน ผ่อนคลาย คุณซะการีย์ยาเล่าว่า ในสมัยโบราณ ก่อนการทำสงครามในยุโรป แต่ละฝ่ายจะมีการอ่านบทกวีให้ฝั่งตรงข้ามเกิดความหวาดกลัว และกวีอีกฝั่งหนึ่งก็จะมาอ่านบทกวีโต้ตอบ ตรงนั้นกลายเป็นวัฒนธรรมการอ่านบทกวีก่อนการทำสงคราม ซึ่งถูกจารึกไว้ในประวัติศาสตร์
หลังจากแลกเปลี่ยนเรื่องวัฒนธรรมการอ่าน คุณซะการีย์ยาก็ได้ขับบทกวีของตนเองให้ผู้ที่เข้าร่วมงานเสวนาได้ฟัง ซึ่งนอกจากบทกวีที่เตรียมมาแล้ว กวีซีไรต์หนุ่มคนนี้ยังได้นำเหตุการณ์ความฝันของตัวเองมาขับเป็นบทกวีได้อย่างน่าฟัง
ตัวแทนจากชมรมวรรณศิลป์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมอ่านกวี
ในช่วงท้ายของงานวันนี้ นักศึกษาจากเครือข่ายชมรมนักศึกษา 7 ชมรม เช่น ชมรมวรรณศิลป์จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย มหาวิทยาลัยรามคำแหง ฯลฯ ได้มาร่วมขับบทกวีของตัวเองให้ผู้ที่เข้าร่วมงานเสวนาให้ได้ฟังกัน
สำหรับเยาวชนที่สนใจเข้าร่วมโครงการธรรมวรรณศิลป์ ปีที่ 5 สามารถติดตามรายละเอียดได้ทางเฟซบุ๊ก www.facebook.com/youngwakening โดยปีนี้เปิดรับผลงานเขียนประเภทเรียงความ เรื่องสั้น และบทกวีในหัวข้อ ‘การศึกษาที่ฉันต้องการ’
มาขับเคลื่อนโลกด้วยธรรมวรรณกรรมกันเถอะ
พี่ตองก้า