ตั้งแต่อดีต ประชาชนทุกคนบนโลกต่างเคยเผชิญหน้ากับ “ภัยพิบัติทางธรรมชาติ” มานับครั้งไม่ถ้วน และนับวันจะยิ่งส่งผลรุนแรงมากขึ้นเรื่อยๆ แม้ว่าเราจะมีเทคโนโลยีในการเตือนภัย หรือช่วยบรรเทาความเสียหายต่อชีวิตและทรัพย์สิน แต่ก็ไม่สามารถจะห้ามการเกิดเภทภัยเหล่านี้ลงได้เลย
ช่วงเวลา 10 ปีที่ผ่านมา ประเทศต่างๆ ทั่วโลกต่างต้องเจอกับภัยธรรมชาติมากมาย ตั้งแต่คลื่นอากาศร้อนคุกคามยุโรป เฮอริเคนแคทริน่าถล่มรัฐนิวออร์ลีนในสหรัฐอเมริกา พายุไซโคลนนาร์กีสถล่มพม่า หลุมยุบยักษ์ขนาด 18 เมตร ที่ทำให้ตึกสามชั้นจมหายไปกลางเมืองกัวเตมาลา และมหาพิบัติภัยสึนามิถล่มชายฝั่งจังหวัดมิยางิ ประเทศญี่ปุ่น
รวมถึงประเทศไทย ซึ่งมีอันดับความเสี่ยงในการเกิดภัยพิบัติเป็นอันดับที่ 7 ในกลุ่มประเทศอาเซียน และอันดับ 85 ของโลก (World Risk Report 2011) ก็เคยประสบภัยทางธรรมชาติที่เกิดขึ้นตามจุดต่างๆ ทั่วประเทศ เช่น ดินถล่มที่บ้านน้ำก้อ จ.เพชรบูรณ์, คลื่นยักษ์สึนามิใน 6 จังหวัดภาคใต้, แผ่นดินไหวจากลาวที่ส่งผลกระทบถึงอาคารบ้านเรือน และวัดวาอารามใน จ.เชียงราย และล่าสุดที่ประชาชนทั่วพื้นที่ราบลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา รวมถึงกรุงเทพมหานครเพิ่งผ่านพ้นกันไป นั่นคือเหตุการณ์น้ำท่วมในช่วงปลายปี พ.ศ. 2554 ที่สร้างความเสียหายต่อโบราณสถาน อาคารบ้านเรือน นิคมอุตสาหกรรม สนามบิน จนถูกจัดเป็นภัยพิบัติที่สร้างความเสียหายมากเป็นอันดับ 4 ของโลก
แม้ว่าจะห้ามการเกิดภัยพิบัติไม่ได้ แต่อย่างน้อย “คน” ก็ยังต้องเรียนรู้การใช้ชีวิตเพื่อจะช่วยเหลือตัวเองและครอบครัวให้อยู่รอดในยามที่ประสบกัยทุกข์ภัยนานาประการ ด้วยความตระหนักว่า ภัยพิบัติไม่ใช่สิ่งที่อยู่ไกลตัวอีกแล้ว แต่เป็นสิ่งที่กำลังยืนเคาะประตูอยู่หน้าบ้านเรา ทำให้ โครงการความร่วมมือระหว่างอุทยานการเรียนรู้และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ได้ร่วมกันจัดนิทรรศการ “ภัยพิบัติ เตรียมตัว รู้ รอด 2” ตอน เตรียมรับมือ สู้ภัยพิบัติ ในวันเสาร์และอาทิตย์ที่ 2-3 มิถุนายน 2555 เวลา 11.00-17.00 น. ณ ลานสานฝัน อุทยานการเรียนรู้ (TK park) เพื่อเตรียมความพร้อมให้กับเด็กๆ และผู้ปกครอง รวมถึงผู้ที่สนใจได้เรียนรู้วิธีการป้องกัน และหลบภัยเพื่อเอาตัวรอดจากภัยพิบัติธรรมชาติที่ไม่อาจหลีกเลี่ยง
ภัยพิบัติ เตรียมตัว รู้ รอด 2
หลังจากลงทะเบียนเพื่อเตรียมเข้าชมนิทรรศการกันเรียบร้อยแล้ว ทุกคนจะได้รับแจกผ้าคาดปิดตา เพื่อเดินเข้าสู่ฐาน “สตินำทางในความมืด” ซึ่งฐานนี้เป็นการจำลองเหตุการณ์ในกรณีที่เกิดภัยพิบัติในเวลากลางคืน หรือผู้ประสบภัยพิบัติติดอยู่ในที่ที่ไม่มีแสงไฟ เช่น ในซากตึกถล่ม หลุม หรือในถ้ำ ซึ่งในฐานจะมีทางเดินที่เต็มไปด้วยอุปกรณ์กีดขวางต่างๆ และมีการตีส่งเสียงรบกวนการฟังด้วย ผู้เข้าร่วมกิจกรรมจะมีเพียงเชือกให้จับเพียงเพื่อเป็นการนำทางอย่างเดียวเท่านั้น ซึ่งผู้เข้าร่วมในฐานนี้จะต้องฝึกใช้ประสาทสัมผัสอย่างอื่นนอกจาก “สายตา” และต้องใช้ “สติ” เป็นสิ่งสำคัญ เพื่อช่วยบอกทิศทางในการพาตัวเองไปในที่ปลอดภัย
ฐาน “สตินำทางในความมืด”
หลังจากเดินออกมาได้สำเร็จแล้ว จะมาสู่ฐาน “ภัยพิบัติไม่ใช่เรื่องไกลตัวเราอีกต่อไป” เป็นนิทรรศการบอกเล่าเรื่องราวของภัยพิบัติประเภทต่างๆ โดยมีวิทยากรมาให้ความรู้ และตอบคำถามสำหรับทุกข้อสงสัย
คำว่า “ภัยพิบัติ” คือ สถานการณ์ที่ก่อให้เกิดความเสียหายต่อชีวิตและทรัพย์สิน ซึ่งต้องมีมาตรการพิเศษในการช่วยเหลือ แก้ไข และเยียวยาอย่างเร่งด่วน ซึ่งภัยพิบัตินั้นได้แบ่งเป็น 2 ประเภท คือ ภัยพิบัติทางธรรมชาติ เช่น น้ำท่วม แผ่นดินไหว พายุ โรคระบาด และ ภัยพิบัติที่เกิดจากมนุษย์ เช่น สงคราม การสู้รบ การเกณฑ์แรงงานทาส โดย “ภัยพิบัติทางธรรมชาติ” (Natural Disaster) แบ่งได้เป็น 2 ประเภท คือ ภัยที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงสภาวะภูมิอากาศ (Hydrometeorological Disaster) และภัยที่เกิดจาการเปลี่ยนแปลงทางภูมิศาสตร์ (Geophysical Disaster)
ในประเทศไทย ภัยพิบัติทางธรรมชาติ ที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงสภาวะภูมิอากาศ ได้แก่
- อุทกภัย (Flood) หรือ “น้ำท่วม” เกิดจากน้ำป่าไหลหลากและน้ำท่วมฉับพลัน ส่วนใหญ่เกิดจากฝนตกหนักต่อเนื่องหลายชั่วโมง ดินไม่สามารถดูดซับน้ำได้ทัน หรือน้ำล้นออกมาจากตลิ่งไหลออกมาท่วมพื้นที่ราบ สาเหตุเกิดการตัดไม้ทำลายป่า ซึ่งการลดผลกระทบจากปัญหาน้ำท่วมอาจทำได้โดยการสร้างอ่างเก็บน้ำ เขื่อน การจัดการพื้นที่เสี่ยงภัย และการปรับปรุงทางน้ำ
- ดินถล่ม (Landslide) เป็นภัยที่เกิดควบคู่กับอุทกภัย เนื่องจากดินไม่สามารถอุ้มปริมาณน้ำฝนที่ตกลงมาต่อเนื่องได้ จึงเกิดการถล่มพัดพาเอาโคลนและซุงลงมาด้วย
- วาตภัย (Storm) ภัยที่เกิดจากลมพายุ มีมากมายหลายอย่าง เช่น พายุฝนฟ้าคะนอง พายุหมุนเขตร้อน พายุทอร์นาร์โด รวมถึงคลื่นพายุซัดฝั่ง
- ทุพภิกขภัย หรือ ภัยแล้ง (Drought) เกิดจากพายุฝนไม่ตกต้องตามฤดูกาลหรือทิ้งช่วงเป็นระยะเวลานาน
- ไฟป่า (Forest fire) เหตุการณ์ไฟไหม้ในป่าธรรมชาติ สร้างความเสียหายแก่ทรัพยากรทางธรรมชาติและความสมบูรณ์ของหน้าดิน
ส่วน ภัยที่เกิดจาการเปลี่ยนแปลงทางภูมิศาสตร์ ได้แก่
- แผ่นดินไหว (Earthquake) ภัยพิบัติที่มีอำนาจทำลายล้างมหาศาลไม่สามารถทำนายได้ สาเหตุเกิดจากการเคลื่อนที่ของเปลือกโลก แผ่นดินถล่มและ ภูเขาไฟระเบิด รวมถึงฝีมือมนุษย์ เช่น การทำเหมืองใต้ดิน การทดลองระเบิดนิวเคลียร์
- สึนามิ (Tsunami) มาจากภาษาญี่ปุ่น มีความหมายว่า “คลื่นที่พัดเข้าสู่ฝั่ง หรือท่าเรือ” เกิดได้จากสาเหตุ 4 ประการ คือ แผ่นดินไหว ภูเขาไฟใต้ทะเลระเบิด ดินถล่ม ดาวเคราะห์น้อยตกลงสู่มหาสมุทร
วิทยาการกำลังอธิบาย
หลังจากรับฟังสาระความรู้เกี่ยวกับข้อความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับภัยพิบัติกันแล้ว ก็มาที่ฐาน “วิธีเอาตัวรอดจากแผ่นดินไหว” เพื่อเรียนรู้ถึงวิธีการเอาตัวรอดหากเกิดเหตุการณ์แผ่นดินไหว ซึ่งภายในฐานได้จำลองห้องที่เฟอร์นิเจอร์ และอุปกรณ์ข้าวของเอาไว้เพื่อสาธิตวิธีการหลบภัยในกรณีเกิดแผ่นดินไหวในบ้านหรืออาคารที่อยู่อาศัย
ในฐานนี้วิทยากร คือ คุณรัตน์เกรียงไกร เปาเล้ง ได้แนะนำ 3 ขั้นตอนในการหลบภัยโดยใช้หลักการ “หมอบ ป้อง เกาะ” (Drop, Cover, Hold on) คือ เมื่อเกิดแผ่นดินไหวในอาคารนั้นต้องห้ามวิ่งหนีออกไปด้วยความตกใจ เพราะอาจจะมีเศษชิ้นส่วนหรือสิ่งของตกใส่ได้ จึงต้องรีบหมอบอย่างรวดเร็ว และมองหาสิ่งของที่จะใช้ป้องกันได้ เช่น ใต้โต๊ะ ใต้เก้าอี้ที่แข็งแรง เพื่อป้องกันสิ่งของหรือฝ้าเพดานหล่นใส่ จากนั้นเกาะให้แน่นจนกว่าเหตุการณ์จะสงบ เมื่อแน่ใจว่าเหตุการณ์สงบแล้ว ก็รีบออกไปในที่โล่งทันที
นอกจากนี้ในการหลบภัยขณะเกิดเหตุการณ์แผ่นดินไหวนั้น วิทยากรยังได้แนะนำถึงพื้นที่ปลอดภัย ที่ควรใช้ในการหลบนั่นคือ “สามเหลี่ยมชีวิต” (Triangle of Life) ซึ่งเป็นบริเวณที่ปลอดภัยสำหรับการป้องกันตัวจากสิ่งของหรือชิ้นส่วนอาคารหล่นใส่เมื่อเกิดแผ่นดินไหว ซึ่งได้แก่บริเวณด้านข้างของโต๊ะ เก้าอี้ หรือเตียง ที่มีโครงสร้างที่แข็งแรง จะเป็นตัวรับน้ำหนักและค้ำยันชิ้นส่วนของอาคารไว้ จนเกิดเป็นพื้นที่สามเหลี่ยม พื้นที่ว่างบริเวณนี้จะมีที่ว่างพอให้ผู้ประสบภัยรอดพ้นจากการถูกชิ้นส่วนอาคารหล่นทับ
บรรยากาศการพูดคุย
สามเหลี่ยมชีวิต
3 วิธีการเอาตัวรอดจากแผ่นดินไหว
การสาธิตและให้น้องๆ ได้ลองฝึกหลบภัย
ฐานต่อมา คือ ฐาน “กระเป๋าอพยพ เตรียมไว้ก่อนภัยมา” ภายในฐานจะมีสิ่งของเครื่องใช้ที่จำเป็นอย่าง ไฟฉาย เสื้อผ้า อาหารกระป๋อง ขนม ยารักษาโรค เชือก มีด และกระเป๋าเป้ เพื่อให้ผู้เข้าร่วมกิจกรรมมาจัดสิ่งของใส่กระเป๋า โดยมีวิทยากรประจำฐานคอยจับเวลา เพื่อจำลองเหตุการณ์ในกรณีที่เกิดภัยพิบัติขึ้น ในระยะเวลาเร่งด่วน คนเราจะเตรียมจัดสัมภาระสิ่งของจำเป็นได้อย่างไร
ผู้เข้าร่วมกิจกรรมที่เป็นเด็กหรือเยาวชนส่วนใหญ่มักจะเลือกขนมไว้ก่อนเสมอ ส่วนยารักษาโรคนั้นมักจะถูกทิ้งไว้ ขณะเดียวกัน การจัดของที่จำเป็นนั้น ผู้เข้าร่วมกิจกรรมยังเลือกของได้อย่างเหมาะสม เช่น เชือก เพื่อจะนำไปใช้ประโยชน์ในยามจำเป็น เพื่อแขวนสิ่งของ หรือใช้มัดอุปกรณ์ต่างๆ แต่ก็ยังขาดความรอบคอบไปบ้าง เช่น บางทีเลือกเทียน แต่ไม่ได้ใส่ไฟแช็กหรือไม้ขีด หรือพกไฟฉายใส่กระเป๋า แต่ลืมใส่ถ่านไฟฉายไปด้วย
วิทยากรในฐานยังแนะนำว่า สิ่งของที่จำเป็นในเบื้องต้น ควรเป็นสิ่งของจำพวกปัจจัยสี่ เช่น เครื่องนุ่งห่ม อาหารกระป๋อง ยารักษาโรค แต่ไม่ควรติดตัวไว้เยอะเกินความจำเป็น และสิ่งของที่ต้องมีติดไว้เสมอคืออุปกรณ์ให้ความสว่างเช่น เทียน ไม้ขีดไฟ ไฟฉาย รวมถึงอุปกรณ์จำเป็นอื่นๆ ที่สามารถใช้ได้ในกรณีต่างๆ เช่นมีด เชือก หรือถุงมือยาง หากต้องจับสิ่งของสกปรก หรืออันตราย
มาดูกันว่าน้องๆ ใส่ของอะไรลงไปบ้าง
ถัดมาเป็นการแสดงเครื่องอุปโภคบริโภคในถุงพระราชทาน สำหรับกรณีเกิดภัยต่างๆ ซึ่งนอกจากอาหารแห้ง เสื้อผ้าเครื่องนุ่งห่มแล้ว ยังมีเครื่องครัวด้วย โดยมีวิทยากรจากมูลนิธิราชประชานุเคราะห์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ มาให้ความรู้
มูลนิธิราชประชานุเคราะห์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ ได้ก่อตั้งขึ้นภายหลังจากการช่วยเหลือผู้ประสบมหาวาตภัยภาคใต้ที่แหลมตะลุมพุก เมื่อปี พ.ศ. 2505 โดยชื่อของมูลนิธิฯ มีความหมายว่า “พระราชา” และ “ประชาชน” อนุเคราะห์ซึ่งกันและกัน แสดงถึงน้ำพระราชหฤทัยว่าในการดำเนินงานควรจะให้ประชาชนมีส่วนร่วมด้วย โดยการทำงานของมูลนิธิ จะให้การช่วยเหลือผู้ประสบสาธารณภัย อัคคีภัย อุทกภัยและภัยอื่นๆ รวมถึงมีการอบรมอาสาสมัคร จัดทำคู่มือปฏิบัติงาน และลงพื้นที่ไปถึงที่เกิดเหตุ เพื่อบรรเทาทุกข์และผ่อนคลายความเดือดร้อนในขั้นต้น ดังพระราชดำริ ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ว่า
“การช่วยเหลือผู้ประสบภัยนั้นจะต้องช่วยในระยะสั้น หมายความว่าเป็นเวลาที่ฉุกเฉินต้องช่วยโดยเร็ว และต่อไปก็จะต้องช่วยให้ต่อเนื่อง...ส่วนเรื่องการช่วยเหลือในระยะยาวก็มีความจำเป็นเหมือนกัน...เป็นผลว่าเขาได้รับการดูแลเหลียวแลมาจนกระทั่งได้รับการศึกษาที่สามารถทำมาหากินได้โดยสุจริตและโดยมีประสิทธิภาพ เป็นพลเมืองดีของประเทศชาติ...”
วิทยากรแนะนำสิ่งของต่างๆ ในถุงพระราชทาน
แม้ว่าภัยพิบัติจะนำพาความเสียหายและการสูญเสียมาสู่มนุษย์ก็ตาม แต่นั่นก็ถือเป็นการทดสอบอย่างหนึ่งที่ทำให้เราได้เรียนรู้ถึงขีดความสามารถของตัวเอง และการช่วยเหลือซึ่งกันและกันในระหว่างเพื่อนมนุษย์
สิ่งที่ต้องเตรียมพร้อมอยู่เสมอคงไม่ใช่แค่การมีเทคโนโลยีที่ทันสมัย เพื่อรู้เท่าทันการเปลี่ยนแปลงของภัยธรรมชาติที่อาจจะเกิดขึ้น แต่คือเตรียมตัว เตรียมความพร้อม ทั้งการหาข้อมูล และซักซ้อมจำลองเหตุการณ์ต่างๆ อยู่เรื่อยๆ รวมถึง การเตรียมใจ ไม่ตื่นตระหนกจนเกินไป ใจเย็น มีสติพร้อมจะเผชิญกับทุกเหตุการณ์ทีเกิดขึ้น ไม่ว่าจะตกอยู่ในสภาวการณ์ใดๆ
พลตรัย
--------------------
ข้อมูลประกอบ
- เอกสารและข้อมูลจากนิทรรศการ ภัยพิบัติ เตรียมตัว รู้ รอด 2 “เตรียมรับมือ สู้ภัยพิบัติ”