“สึนามิ”
คำจากภาษาญี่ปุ่นที่แปลว่า “คลื่นที่ซัดเข้าสู่อ่าว ฝั่ง หรือท่าเรือ”
ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา คำนี้คงเป็นคำที่คุ้นหูของคนไทยเป็นอย่างดี หลังจากเหตุการณ์คลื่นยักษ์กวาดกลืนหลายแสนชีวิตจากชายฝั่งหลายๆ ประเทศ ในแถบมหาสมุทรอินเดีย ได้แก่ อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ พม่า ศรีลังกา อินเดีย บังคลาเทศ โซมาเลีย มัลดีฟส์ แทนซาเนีย เคนยา รวมถึงประเทศไทย ในปี พ.ศ. 2547
มหาภัยพิบัติทางธรรมชาติครั้งใหญ่ ยังคงตกค้างอยู่ในความทรงจำของคนไทย และได้กลายเป็นบาดแผลลึกของหลายชีวิตในเวลาต่อมา
ความน่ากลัว ความโศกเศร้า และการสูญเสียทั้งชีวิต ทรัพย์สิน และคนรัก ทำให้ ทรนง ศรีเชื้อ ผู้กำกับภาพยนตร์แอ๊คชั่นและภาพยนตร์อีโรติกชื่อดัง ซึ่งเคยได้รับรางวัลตุ๊กตาทอง บทภาพยนตร์ยอดเยี่ยมจากเรื่อง สัตว์สงคราม และ กลกามแห่งความรัก ได้หยิบยืมเหตุการณ์และความโหดร้ายจากภัยธรรมชาติครั้งนั้น มาถ่ายทอดเป็นภาพยนตร์ เรื่อง 2022 สึนามิ วันโลกสังหาร โดยมีเนื้อหาหลักเกี่ยวกับสึนามิที่จะเกิดขึ้นในประเทศไทยในอนาคตข้างหน้า
เพื่อให้เยาวชนและผู้คนได้หันมาสนใจและเรียนรู้เกี่ยวกับภัยทางธรรมชาติกันมากขึ้น โครงการความร่วมมือระหว่างอุทยานการเรียนรู้และหอภาพยนตร์ (องค์การมหาชน) จึงได้นำภาพยนตร์เรื่อง 2022 สึนามิ วันโลกสังหาร มาฉายให้รับชมกันในวันอาทิตย์ที่ 3 มิถุนายน 2555 เวลา 14.00 ณ ห้องมินิเธียเตอร์ 1 อุทยานการเรียนรู้ TK park
ในปี ค.ศ. 2022 (พ.ศ. 2565) กรุงเทพฯ ปรากฏแผ่นดินไหวอยู่บ่อยครั้ง และนานาประเทศต่างได้รับความเสียหายจากภัยธรรมชาติ ทั่วโลกต่างตระหนักในความน่ากลัวของภัยพิบัติที่ปรากฏให้มีอย่างรุนแรงและมากขึ้น มีการจัดประชุมผู้นำทั่วโลกเพื่อทบทวนและหามาตรการป้องกันและการช่วยเหลือหากเกิดภัยพิบัติ
ภายหลังจากเหตุการณ์สึนามิถล่มประเทศไทยในปี พ.ศ. 2547 นายกรัฐมนตรี ไตรภพ กังวลเกี่ยวกับอันตรายและความเสียหายจากคลื่นสึนามิ จึงได้ออกกฎหมายและวางแผนการเตือนภัย โดยจัดตั้ง “ศูนย์เตือนภัยภาคพื้นเอเชีย-แปซิฟิก และมหาสมุทรอินเดีย” ภายใต้การดูแลของ ด็อกเตอร์สยาม
แต่ศูนย์เตือนภัยฯ ของด็อกเตอร์สยาม มักคำนวณการเกิดแผ่นดินไหวใต้ทะเลผิดพลาดอยู่บ่อยๆ ส่งผลให้เกิดการประกาศอพยพผู้คนจากริมชายหาด แต่ไม่เกิดคลื่นสึนามิเลยถึง 3 ครั้ง สร้างความตระหนกและแตกตื่นให้แก่ประชาชนทั่วประเทศ เหตุนี้จึงทำให้เกิดแรงกระแสกดดันจากสังคมมาสู่ นายกรัฐมนตรี ไตรภพ และถูก สมชาติ หัวหน้าพรรคการเมืองร่วมรัฐบาล พยายามบีบให้เขาลาออกจากการเป็นนายกรัฐมนตรี
ขณะเดียวกัน ทีมงานของด็อกเตอร์สยาม ที่ประกอบไปด้วยนักวิทยาศาสตร์รุ่นใหม่ไฟแรง ได้แก่ ภูเก็ต ซินดี้ และพีพี ซึ่งทั้งสามคนเป็นผู้รอดชีวิตและต้องสูญเสียครอบครัวไปในเหตุการณ์สึนามิเมื่อปี พ.ศ. 2547 พวกเขาได้ออกสำรวจและทำการวิจัยเกี่ยวกับสภาพอากาศ สิ่งแวดล้อมและพฤติกรรมของสัตว์ จนได้ค้นพบข้อมูลว่าเมืองไทยอาจเกิดสึนามิรุนแรงครั้งใหญ่ แต่ยังไม่สามารถทำนายได้ว่าจะเกิดขึ้นเมื่อไหร่และที่ไหน
อีกด้านหนึ่งในหมู่บ้านมอแกน ชนกลุ่มน้อยที่หากินและใช้ชีวิตกับทะเลมาหลายชั่วอายุคน กำลังถูกคุกคามจากบรรดานายทุน ที่กำลังกวาดซื้อเกาะเพื่อทำเป็นแหล่งท่องเที่ยว และจัดปาร์ตี้ในยามค่ำคืน ส่งผลกระทบต่อวิถีชีวิตของชาวบ้าน และเป็นการลบหลู่สิ่งศักดิ์สิทธิ์ในทะเล
สภาพอากาศทั่วโลกเปลี่ยนแปลงไปอย่างรุนแรงและรวดเร็ว ในยุโรปถูกพายุหิมะถล่มจนประสบภัยหนาว ในประเทศจีนถูกอุทกภัยจนทำให้เขื่อนพังทลาย ด็อกเตอร์สยาม ได้ทำนายว่าจะเกิดเหตุการณ์สึนามิอย่างรุนแรง และจะมีผลมาถึงกรุงเทพฯ ในช่วงวันหยุดเทศกาลสงกรานต์ รัฐบาลจึงได้ประกาศให้มีวันหยุดยาว เพราะนายกรัฐมนตรี ต้องการให้ประชาชนอพยพออกจากกรุงเทพฯ มากที่สุด รวมถึงได้รวมกองกำลังทหารมาเป็นหน่วยกู้ภัยปีกหมุน เพื่อเตรียมรับสถานการณ์หากเกิดภัยพิบัติ
ด็อกเตอร์สยามดำน้ำลงไปที่ห้องแล็บใต้มหาสมุทร เพื่อจะดูการรายงานผล ความรุนแรงของสึนามิและแจ้งเหตุเตือนภัยที่จะเกิดขึ้นให้กับศูนย์เตือนภัยในทันที
จนเมื่อเกิดแผ่นดินไหวตามคำทำนาย คลื่นสึนามิลูกใหญ่ได้จู่โจมชายฝั่งทะเล และเป็นคลื่นยักษ์ซัดเข้ามาถึงกรุงเทพมหานคร ทำให้พระพุทธรูปขนาดใหญ่ต้องจมไปกับสายน้ำ ผู้คนต่างหนีตายขึ้นตึกสูง ส่วนนายกรัฐมนตรี ไตรภพ ได้ลงพื้นที่เพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยด้วยตัวเอง จนมาเจอรถโรงเรียนที่กำลังจะจมน้ำ เขาจึงลงไปช่วยเหลืออพยพเด็กนักเรียน จนตัวเองต้องประสบภัยหายไปกับสายน้ำ
แต่เหมือนมีปาฏิหาริย์ เมื่อพระพุทธรูปยักษ์หลุดออกจากฐานลอยขึ้นสู่ผิวน้ำ และพาร่างของนายกฯ ไตรภพ ติดขึ้นมาด้วย ทำให้หน่วยกู้ภัยตามมาช่วยเหลือได้ทัน
เบื้องหลังการถ่ายทำฉากช่วยเหลือผู้ประสบภัย
2022 สึนามิ วันโลกสังหาร จัดฉายครั้งแรกในปี พ.ศ. 2552 ใช้ทุนสร้างกว่า 160 ล้านบาท แต่กระแสตอบรับไม่ค่อยดีนัก ทำรายได้เพียงแค่ 2 ล้านกว่าบาท และเสียงวิจารณ์ของผู้ชมส่วนใหญ่ในเวลานั้นค่อนข้างจะเป็นไปในแง่ลบ
เนื้อหาหลักของภาพยนตร์เน้นถ่ายทอดเรื่องราวเกี่ยวกับภัยพิบัติทางธรรมชาติ และเสนอบทบาทนายกรัฐมนตรี ให้เป็นตัวละครเอกและมีบทสำคัญ ซึ่งแสดงโดย ภาณุเดช วัฒนสุชาติ ในมาดผู้นำในอุดมคติ ผู้พร้อมจะเสียสละ เห็นแก่ประโยชน์ส่วนรวมมากกว่าประโยชน์ส่วนตนหรือตำแหน่งหน้าที่ทางการเมืองของตนเอง นอกจากนี้ยังมีตัวละครที่น่าสนใจอีกหนึ่งคน คือ ดร.สยาม รับบทโดย สุเชาว์ พงษ์วิไล ซึ่งนำเอาบุคลิกและบทบาทมาจากนักวิทยาศาสตร์ที่มีชีวิตอยู่จริง คือ ดร.สมิทธ ธรรมสโรช ประธานกรรมการศูนย์เตือนภัยพิบัติแห่งชาติ
นอกจากนี้ยังมีนักแสดงสมทบรุ่นใหญ่อย่าง ชลิต เฟื่องอารมย์ ในบทนักการเมืองเจ้าเล่ห์ และชุมพร เทพพิทักษ์ ในบทของผู้อาวุโสชาวมอแกน รวมถึงนักแสดงหน้าใหม่ อย่าง สิรินดา เจนเซ่น Miss Thailand World ปี 2005
นายกรัฐมนตรี ไตรภพ
ร่วมพูดคุยแลกเปลี่ยนความคิดเห็น
ในช่วงสนทนา หลังจากชมภาพยนตร์จบแล้ว พิธีกรร่วมพูดคุยกับ คุณผณิตา คงสุข นักวิชาการภาพยนตร์ จากหอภาพยนตร์ (องค์การมหาชน) ที่มาให้ข้อมูลความรู้เกี่ยวกับหนัง และสนทนาแลกเปลี่ยนกับผู้ชม ว่าส่วนใหญ่เรามักจะได้ดูเรื่องสิ่งแวดล้อมหรือภัยพิบัติในรูปแบบสารคดีมากกว่าภาพยนตร์ แม้ภาพยนตร์เรื่องนี้จะได้รับคำวิจารณ์ในแง่ลบอยู่มากแต่ ในอีกแง่หนึ่งหนังสามารถสอนให้เยาวชนได้เห็นความเชื่อมโยง สัมพันธ์กันระหว่างการเมืองกับสิ่งแวดล้อม นักวิทยาศาสตร์กับนักการเมือง ว่าสองสิ่งที่ดูแตกต่างกันนั้น มีความเกี่ยวข้องอย่างไร อีกทั้งภาพยนตร์ได้สร้างประเด็นเกี่ยวกับปรากฏการณ์ทางธรรมชาติให้คนดูได้เข้าใจว่าการเกิดแผ่นดินไหวหรือสึนามินั้นเหมือนหรือแตกต่างกันอย่างไร
ผู้ชมท่านหนึ่งให้ความเห็นว่า ภาพยนตร์น่าจะมีการเล่าถึงเหตุผลของภัยพิบัติว่าควรให้ข้อคิด และความรู้กับคนดูว่าควรปฏิบัติต่อสิ่งแวดล้อม หรือโลกอย่างไร เพราะหนังเน้นมุมมองเฉพาะผู้นำ นักวิทยาศาสตร์อย่างเดียว แต่ยังขาดมุมมองของประชาชน และหนังยังเน้นเฉพาะเรื่องความเชื่อหรือไม่เชื่อกับข้อมูลเชิงสถิติเพียงอย่างเดียว ส่วนฉากเพศสัมพันธ์ หรือโชว์เน้นอวัยวะบางส่วนของร่างกายที่ปรากฏในเรื่องนั้น คิดว่าไม่จำเป็นจะต้องมาใส่ไว้ก็ได้ เพราะทำให้ทิศทางของเรื่องสับสนและประเด็นหลักเรื่องภัยพิบัติดูเบาลงไป
พลตรัย
---------------------
ข้อมูลประกอบ
- hilight.kapook.com/view/35346