อุทยานการเรียนรู้ TK park จัดกิจกรรมพิเศษ Learning is opportunities...เรียนลัด ติวเข้มกับ 13 วิชาสร้างสรรค์ กิจกรรมส่วนหนึ่งของมหกรรมความรู้ Knowledge Festival 2012 เปิดโอกาสให้ผู้ที่สนใจเรียนรู้ และคิดอย่างสร้างสรรค์เตรียมพร้อมสู่ 13 วิชากับมืออาชีพ หลากหลายสาขา มาร่วมถ่ายทอดประสบการณ์ ความรู้ ความฝัน และจินตนาการ ให้ได้เรียนรู้กันแบบหมดเปลือก ตลอดเดือนกันยายน - ตุลาคม 2555
ในวันเสาร์ที่ 22 กันยายน 2555 เวลา 13.00 น. บรรดาหนอนหนังสือผู้หลงใหลตัวอักษรและกลิ่นหมึก ต่างมาร่วมรอพบกับมืออาชีพในแวดวงคนทำหนังสือ ที่จะมาถ่ายทอดวิทยายุทธ์ในหัวข้อ “คนทำหนังสืออิสระ...อาชีพของคนมีฝัน” โดย อุทยานการเรียนรู้ ร่วมกับนิตยสาร Happening เชิญวิทยากรแต่ละสาขาที่มีประสบการณ์ทางด้านการทำหนังสือและงานเขียน อาทิ จักรพันธุ์ ขวัญมงคล นักเขียน นักแปล นามปากกา “เผ่าจ้าว ใจดี”, นวพล ธำรงรัตนฤทธิ์ นักเขียนบทภาพยนตร์ เรื่อง รถไฟฟ้ามาหานะเธอ และผู้กำกับภาพยนตร์เรื่อง 36, สุรัติ โตมรศักดิ์ กราฟิกดีไซนเนอร์ เจ้าของนามแฝง Try2benice และ จรูญรัฐ วิธูสุวรรณ ช่างภาพอิสระ
วงสนทนาดำเนินรายการโดย วิภว์ บูรพาเดชะ บรรณาธิการนิตยสาร Happening และ กตัญญู สว่างศรี นักเขียนและนักทำหนังสือ
เริ่มต้นที่ จักรพันธุ์ ขวัญมงคล ในฐานะตัวแทนของนักเขียน ซึ่งเคยทำงานประจำอยู่ในกองนิตยสารบันเทิง Hamburger ก่อนจะเปลี่ยนบทบาทมาเป็น “นักเขียนอิสระ” เขาเล่าว่าสมัยตอนเริ่มทำงาน ยังรู้สึกว่าตัวเองไม่เก่งพอ จึงพร้อมจะเรียนรู้อยู่ตลอด แต่เมื่อทำงานประจำเป็นเวลานาน จึงรู้สึกถึงจุดอิ่มตัว และตั้งคำถามว่าการใช้ชีวิตอยู่ในรูปแบบวงจรเดิมๆ นั้นน่าเบื่อ สภาพแวดล้อมเดิมๆ ทำให้ขาดความอดทนเมื่อต้องเจออุปสรรค
สิ่งที่แรกที่เริ่มเปลี่ยน คือการวางแผน ว่าถ้าต้องออกมาทำงานอิสระจะต้องใช้ชีวิตอย่างไร มีการกำหนดแผนระยะสั้น ระยะยาว ซึ่งจักรพันธุ์ เห็นว่าการวางแผนเป็นเรื่องง่าย แต่สิ่งที่ทำได้ยากคือ การทำตามแผน ในตอนแรก เขาเลือกเปิดสำนักพิมพ์ ขณะเดียวกันมีแผนจะเปิดร้านขายกาแฟด้วย แต่ธุรกิจแรกกลับประสบปัญหาทางด้านการเงิน นักเขียนหนุ่มจึงต้องปรับเปลี่ยนแผนใหม่ว่า แม้จะไม่มีงานประจำ แต่จะต้องมีรายได้ประจำ โดยเน้นงานเขียนคอลัมน์ให้นิตยสารต่างๆ และรับเขียนหนังสือ และทำหนังสือ ซึ่งรายได้เหล่านี้จะต้องพอหรือมากกว่าค่าใช้จ่ายในแต่ละเดือน
ประการสำคัญของการวางแผน คือต้องมีแผนสำรองเสมอ หากเกิดเหตุการณ์ที่ไม่คาดคิดมาก่อน เช่นกิจการร้านกาแฟ หรือสำนักพิมพ์ขาดทุน ต้องมีเงินทุนสำรองไว้ใช้จ่าย เพราะการใช้ชีวิตเป็นเรื่องของการบริหารงาน และเวลา จักรพันธุ์เน้นย้ำว่า “นักเขียนอิสระ” อาจจะไม่ต้องทำงานประจำตามตารางเวลา และดูเป็นงานสนุก มีเวลาว่าง แต่ยิ่งอิสระมากเท่าไร งานก็ยิ่งเรียกร้องความรับผิดชอบไว้สูงมาก จนทำให้งานที่ทำนั้นกลายเป็น “กิจวัตร” ที่ต้องมีระเบียบ และวินัย
“เราเป็นนายตัวเอง แต่เป็นขี้ข้าในความต้องการของตัวเอง”
จักรพันธุ์ ขวัญมงคล เล่าประสบการณ์นักเขียน
ส่วน นวพล ธำรงรัตนฤทธิ์ เป็นคนหนึ่งที่ไม่เคยทำงานประจำมาก่อนเลย หลังจากเรียนจบ เขากำหนดแผนว่าให้โอกาสตัวเองได้ทำในสิ่งที่อยากทำประมาณหนึ่งปี ซึ่งในสมัยเรียนนวพลเคยฝึกทำนิตยสารในกองบรรณาธิการ อะเดย์ จูเนียร์ ก่อนจะมาให้ความสนใจกับการทำหนังสั้นส่งประกวดโครงการ Fat Film และลองหัดเขียนบทภาพยนตร์ส่งให้กับค่าย GTH พร้อมๆ กับการทำงานแปลข่าวธุรกิจ
การทำงานในช่วงประมาณสองปีแรก เขาบอกว่าเป็นการใช้ชีวิตและการทำงานที่ยากมาก ต้องมีความอดทน เรียนรู้งานทุกอย่างเพื่อให้เจองานที่ชอบอย่างแท้จริง งานที่ทำอาจจะไม่ชอบ แต่ทำเพื่อความรับผิดชอบ เพื่อสร้างทักษะให้ตัวเองเหมือนโดนถีบลงเหว แต่ต้องเอาตัวรอดให้ได้ กระบวนการการเรียนรู้ที่สำคัญ คือต้องอยู่กับสิ่งที่รักสิ่งที่สนใจให้นานพอ หัดคิดทบทวนตัวเอง ว่าตัวเรามีความถนัดทางด้านอะไร ฝึกฝนและศึกษาผลงานของคนอื่นๆ ด้วยเพื่อเปิดโลกทัศน์ให้เป็นคนกว้างขวางไม่ติดอยู่ในกะลา
ผู้กำกับหนุ่ม เปรียบเทียบว่าการทำงานอิสระเหมือนเปิดร้านขายก๋วยเตี๋ยว ที่ต้องมีความตั้งใจ มีความคิดสร้างสรรค์ จนทำให้ลูกค้าต้องมาง้อ การทำงานต้องคิดถึงผู้ที่มาจ้างหรือเจ้าของเงิน อย่าไปหลอกเงินคนอื่นเพื่อทำในสิ่งที่ตัวเองต้องการ และต้องทำงานเพื่อให้ตัวเองมีความสุข และเจ้าของเงินนั้นต้องได้งานที่ดีมีคุณภาพอย่างที่เขาต้องการเสมอด้วย การทำงานอิสระ ต้องเรียนรู้ที่จะเข้าใจ “ความต้องการ” ของผู้อื่น ขณะเดียวกันต้องทำให้คนอื่นเข้าใจว่าตัวเองได้ทำงานเพื่อเขา พยายามรู้และค้นหาสิ่งที่ทุกฝ่ายต้องการ ถ้ารู้แล้วย่อมทำงานออกมาได้ดีและถูกใจ เป็นการทำงานที่มีความสบายใจและความรับผิดชอบ
“เราจะมีความสุขทุกครั้งที่มีคนบอกว่าชอบงานเรา และบอกว่าให้เราทำเหมือนอย่างที่เราเคยทำ”
อีกสิ่งหนึ่งที่เขาเน้น คืออย่ามองแค่ “ความสำเร็จ”ของคนอื่น ให้มอง “กระบวนการ” เพื่อจะได้เห็นความเป็นจริง หลายคนอาจจะเห็นว่าคนที่ประสบความสำเร็จ ทำงานง่าย สนุกและมีความสุข แต่ความจริงแล้ว คนๆ นั้นอาจจะผ่านความลำบากมาได้อย่างยากเย็น
นวพล ธำรงรัตนฤทธิ์ (คนกลาง) ในวงสนทนา
ในการทำหนังสือ การทำภาพหน้าปก การตกแต่ง จัดหน้า ให้ดูน่าสนใจและสบายตาเป็นสิ่งสำคัญไม่น้อย ซึ่ง สุรัติ โตมรศักดิ์ ผู้คร่ำหวอดในวงการกราฟิก ร่วมแบ่งปันประสบการณ์ว่า สำหรับตนเริ่มต้นทำงานทางด้านโฆษณามาก่อน แต่เมื่อต้องอยู่กับงานที่รับผิดชอบในเรื่องเดิมๆ ทำให้วันหนึ่ง เขาคิดทบทวนว่าการมีตำแหน่งสูงคอยบริหารงานอย่างเดียว ทำให้เขาสูญเสียตัวตนและความฝันไป จึงตัดสินใจที่จะลาออกมาทดลองทำงานอิสระ
สุรัติยอมรับว่าการทำงานอิสระไม่ใช่สิ่งที่จะทำได้ทันที แต่ต้องเกิดจากการสั่งสมประสบการณ์ คนที่เพิ่งเรียนจบหรือเพิ่งทำงานใหม่ๆ จะต้องหัดสร้างผลงานให้ตัวเองก่อน และต้องรู้จักตัวเองให้มาก รู้ข้อดี ข้อด้อย เพราะการทำงานในบริษัทจะมีเพื่อนคอยช่วยเหลือ แต่การทำงานคนเดียว ต้องใช้ประสบการณ์และความสามารถของตัวเองตามลำพัง ในการทำงาน ไม่ควรจะเลือกงานที่ตนชอบหรือไม่ชอบ ควรลองทำในสิ่งที่ไม่อยากทำบ้าง เพื่อเป็นแรงขับให้ตัวเองมีความกระตือรือล้นและได้ฝึกให้มีความถนัดหลายๆ ด้าน เปรียบเหมือนการใช้มือซ้ายซึ่งเป็นมือข้างที่ไม่ถนัดทำงานหรือเขียนหนังสือ หากทำบ่อยๆ ฝึกฝนบ่อยๆ จะทำให้เชี่ยวชาญขึ้น เหมือนใช้มือขวา
ในช่วงตอบข้อสงสัยจากผู้ร่วมเสวนา มีคำถามว่า “การคิดไอเดียจะต้องฝึกใช้แนวคิดอย่างไร เพื่อไม่ให้ซ้ำกับคนอื่น หรืองานของตัวเอง” สุรัติเสนอแนวคิดว่า ให้ลองคิดแบบ “ดิ้นในที่แคบ” ต้องหัดคิด หัดจัดการภายใต้เงื่อนไขจำกัดบ้าง อย่างการทำหนังโฆษณา ต้องถ่ายทอดเรื่องราวทั้งหมดเพียง 30 วินาที ถือเป็นเรื่องยาก ซึ่งสิ่งเหล่านี้ต้องผ่านการฝึกฝน เริ่มต้นจากการอ่านหนังสือให้มาก ดูหนังฟังเพลงให้เยอะ เรียนรู้จากสิ่งรอบตัวตลอดเวลา ฝึกคิดย้อนกลับเพื่อเปิดมุมมองอื่นๆ และเมื่อสั่งสมความรู้มากๆ จะทำให้มีตัวเลือกหลายๆ ทาง ที่จะนำมาใช้ได้ ในยามที่ตกอยู่ในสถานการณ์บังคับ
สุรัติ โตมรศักดิ์ ตอบคำถามจากผู้ร่วมงาน
สุดท้าย จรูญรัฐ วิธูสุวรรณ ออกตัวก่อนว่า แม้ปัจจุบันจะมีอาชีพเป็นช่างภาพอิสระ แต่ไม่ได้จบในวิชาการถ่ายภาพมาโดยตรง เขาเรียนจบทางด้านกราฟิก จากนิวยอร์ก แต่มาเริ่มงานเป็นช่างภาพให้กับนิตยสารแพรว ในช่วงแรกของการทำงานจึงต้องแอบเรียนรู้จากคนอื่นๆ ในทีม และต้องพยายามฝึกฝนให้รวดเร็วที่สุด
“พื้นฐานมีนิดเดียว ที่เหลือเป็นสไตล์ของเรา”
หลังจากสั่งสมประสบการณ์ ได้ประมาณสามปี ทำให้มีความมั่นใจในฝีมือระดับหนึ่ง จึงตัดสินใจเบนเข็มออกมาเป็นช่างภาพอิสระ แต่การทำงานอิสระ แม้จะมีรายได้หรือผลตอบแทนค่อนข้างดี แต่ยังมีข้อปัญหาบางอย่าง เช่น ไม่มีประกันสังคม สวัสดิการ หรือกรณีการกู้เงินจากธนาคาร จะไม่ได้รับความน่าเชื่อถือ คนทั่วไปจะมองว่าเป็นอาชีพที่ไม่มีความมั่นคง จรูญรัฐเล่าว่าการทำงานแบบนี้ไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะต้องมีฝีมือในสายงานที่ทำ และต้องรู้จักคนมาก เพื่อสะดวกในการติดต่องาน นอกเหนือจากวิชาถ่ายรูปแล้ว ต้องหัดเรียนรู้การติดต่อ การประสานงานพูดคุยกับลูกค้า ต้องมีเทคนิคเอาใจ เรียนรู้ศาสตร์และศิลป์อื่นๆ ที่ไม่มีอยู่ในตำราหรือห้องเรียน
การทำงานต้องมีความมั่นใจในตนเองมาก แต่ควรคำนึงความรู้สึกของลูกค้าหรือคนอื่นๆ ด้วย เช่น ถ้าเป็นคนไม่ชอบถ่ายรูปสิ่งของหรืออาหาร ไม่ควรจะปฏิเสธ แต่ให้มองว่านั่นเป็นการเรียนรู้ เพราะการพยายามสร้างสรรค์สิ่งใหม่จากสิ่งที่ไม่สนใจ จะทำให้การทำงานสนุกมากขึ้น ทำให้พยายามมองหามุมมองใหม่ๆ ที่แตกต่างจากงานที่ทำหรือสิ่งที่ตนถนัด
จรูญรัฐ วิธูสุวรรณ (คนกลาง) เล่าการทำงานของช่างภาพอิสระ
การถ่ายทอดประสบการณ์ ของบรรดามืออาชีพจากหลากหลายสาขาในวงการ“คนทำหนังสืออิสระ” ในวันนี้ คงได้สะท้อนแง่มุมอาชีพในฝัน ที่ใครหลายคนอาจจะมองว่าเป็นเรื่องง่ายเรื่องสนุก ได้เห็นด้านอื่นๆ จากประสบการณ์จริง ขณะเดียวกันคงทำให้ผู้ชมผู้ฟังได้สำรวจความคิดของตน วางแผน และพร้อมลงมือทำความฝันในวันนี้ ให้กลายเป็นความจริงในวันพรุ่งนี้
พลตรัย