เพราะว่าการเรียนรู้อย่างสร้างสรรค์ไม่ได้หยุดอยู่ที่ตำรา
อุทยานการเรียนรู้ TK park จึงผลักดันและบ่มเพาะความฝันให้แก่เยาวชน ที่มีความสนใจใน 6 สาขาอาชีพทั้งนักเขียน หนังสั้น การตลาด แอนิเมชั่น คนดนตรี และเยาวชนสร้างสรรค์สื่อ ได้ร่วมฝึกอบรมเพื่อพัฒนาทักษะทั้ง 6 ด้านจากเหล่าวิทยากรมืออาชีพของแต่ละสายงานที่มาร่วมถ่ายทอดประสบการณ์ พร้อมกับให้คนรุ่นใหม่ได้โชว์ผลงานที่ได้คิดสร้างสรรค์และลงมือทำด้วยตัวเอง
โครงการ TK Festival “แจ้งเกิด First Step” ซึ่งจัดขึ้นในวันเสาร์ที่ 20 - 21 ตุลาคม 2555 เวลา 11.00 - 17.30 น. ได้รวบรวมผลผลิตจากเยาวชน 6 สาขามาร่วมแจ้งเกิด ได้แก่ TK Writer แจ้งเกิดนักเขียน, TK Filmmaker แจ้งเกิดคนทำหนัง, TK Marketer แจ้งเกิดเยาวชนด้านการตลาด, TK Animation แจ้งเกิดแอนิเมชั่น, TK Band แจ้งเกิดเยาวชนคนดนตรี และ TK Teen แจ้งเกิดคนสร้างสรรค์สื่อ
นอกจากนี้ยังมีกิจกรรมดีๆ ที่ผู้เข้าชมสามารถสนุกกับบูธทั้ง 6 สาขา เช่น สวมบทเป็นพิธีกรในสตูดิโอจำลอง อ่านหนังสือเสียงเพื่อผู้พิการทางสายตา จัดเพลงตามสั่ง และยังมีงานเสวนาแลกเปลี่ยนความรู้จากตัวแทนเยาวชน กับมืออาชีพแต่ละวงการมาร่วมพูดคุยเพื่อสร้างแรงบันดาลใจและความฝัน โดยในวันเสาร์ที่ 20 ตุลาคม 2555 มีวงเสวนาจาก 3 สาขาอาชีพมาร่วมพูดคุยเพื่อสร้างแรงบันดาลใจและปลุกความคิดใหม่ๆ ในตัวเรา
TK Teen แจ้งเกิดคนสร้างสรรค์สื่อ ร่วมพูดคุย ประสบการณ์การทำรายการโทรทัศน์ กับเหมยลี่-กีรติ วุฒิสกุลชัย ตัวแทนเยาวชนจาก TK Teen และคุณทิฆัมพร ภูพันนา ทีมงานผู้ผลิตรายการบ้านดอนดินดีทางสถานีโทรทัศน์ ThaiPBS
เหมยลี่ บัณฑิตสาวคณะวิทยาศาสตร์ แต่มีความสนใจทางด้านสื่อมวลชน ทำให้เธอเบนเข็มมาเรียนรู้การทำรายการโทรทัศน์แม้จะไม่ได้ศึกษามาโดยตรง ซึ่งการได้มาเข้าร่วมอบรมในโครงการนี้ทำให้เธอได้เรียนรู้ทุกกระบวนการของการผลิดสื่อ เธอคิดว่าสิ่งสำคัญสำหรับคนที่จะก้าวเข้ามาทำงานตรงนี้ นอกเหนือจากความรู้ ความสามารถ และประสบการณ์แล้ว จะต้องมีความมุ่งมั่นที่จะใส่ “ใจ” เข้าไปในงาน ทำให้งานมีความสร้างสรรค์ ยิ่งในปัจจุบันผู้ชมรุ่นใหม่หรือวัยรุ่น นิยมเสพข้อมูลข่าวสารที่รวดเร็วมีสีสัน ไม่อยากดูสารคดีที่ยืดยาด เนื้อหาหนักๆ งานของคนทำงานด้านนี้จึงต้องกระตือรือล้น และต้องพยายามย่อยข้อมูลที่มีทำให้สื่อสารได้เข้าใจง่ายขึ้น
ส่วนคุณทิฆัมพร ในฐานะคนทำสื่อมืออาชีพ บอกว่า การทำงานด้านโทรทัศน์มีความยากและความท้าทายที่สูงขึ้นจากแต่ก่อน เพราะต้องใช้เวลาจำกัดที่จะต้องดึงให้คนหยุดและสนใจในสื่อที่ตัวเองนำเสนอ ขณะเดียวกันเนื้อหาสาระที่ถ่ายทอดในงานจะต้องไม่ใช่การยัดเยียดข้อมูล แต่ต้องเป็นความรู้ ความคิดที่ทำให้คนดูสนุก เพลิดเพลิน สามารถเรียนรู้และนำไปต่อยอดได้ คุณทิฆัมพรยังได้ให้ความเห็นอีกว่า การพัฒนาเทคโนโลยียิ่งรวดเร็วเท่าไร การทำงานโทรทัศน์ย่อมง่ายขึ้น แต่อีกด้านก็ทำให้เกิดงานขยะมากขึ้นตามเช่นกัน การจะตรวจสอบคุณภาพของงานว่าดีหรือไม่นั้น จะต้องทำรายการในฐานะคนดู พยายามมองหาข้อดีข้อด้อยด้วยตัวเอง จากนั้นเอามาจัดการปรับปรุง และอาจจะทดลองฉายให้กลุ่มเป้าหมายบางส่วนดูก่อน เช่นรายการเด็กอาจจะลองให้เด็กๆ ในบางพื้นที่ได้ลองชม และสิ่งที่เขาอยากเห็นสื่อไทย ในอนาคต นั่นคือรายการโทรทัศน์ เป็นการทำธุรกิจเพื่อสังคม ตัวเองอยู่ได้ สังคมอยู่ได้ และโลกอยู่ได้
“ถ้าหัวใจมาก่อน ยังไงก็เกิดได้”
พูดคุยกับคนสร้างสรรค์สื่อ
ด้านกิจกรรมของ TK Marketer แจ้งเกิดเยาวชนด้านการตลาด เป็นการนำเสนอแผนการตลาดโดย ทีม Six-Nature ทีมชนะเลิศ ของโครงการแจ้งเกิดเยาวชนด้านการตลาดในปีนี้ ซึ่งมีสมาชิกจาก 6 มหาวิทยาลัย ได้แก่ ม.ธรรมศาสตร์,ม.เกษตรศาสตร์, ม.ศรีนครินทรวิโรฒ, ม.กรุงเทพ, ม.หอการค้าไทย และ ม.ธุรกิจบัณฑิตย์ พวกเขามานำเสนอแผนการตลาดที่จะต่อยอด อุทยานการเรียนรู้ TK park ด้วยแนวคิด “TK park Landmark of Success” มุ่งเน้นว่าความสำเร็จของตนเองคือความสำเร็จของสังคม ด้วยการประเมินข้อเด่น อย่างการมีทำเลอยู่ในย่านที่เดินทางมาสะดวก หรือมีงบประมาณอุดหนุนตลอด และเป็นห้องสมุดที่มีความทันสมัยแตกต่างจากห้องสมุดอื่นๆ ส่วนข้อด้อยนั่น เช่น สถานที่ตั้งสังเกตได้ยาก ไม่มีความโดดเด่น หรือการทำแผนการตลาดที่ไม่ชัดเจนทำให้คนอื่นเข้าใจว่าเป็นเพียงห้องสมุดสำหรับเด็ก
กิจกรรมหลักที่นำเสนอในวันนี้ คือโครงการ TK Young Succeeder การเฟ้นหาหนุ่มสาวที่จะมาเป็นตัวแทนในการสร้างความรู้และความเข้าใจในการเรียนรู้ของ TK park ต่อคนทุกรุ่นทุกวัย สร้างทัศนคติสำหรับห้องสมุดแบบใหม่ และเป็นทูตที่จะส่งเสริมการอ่าน การเรียนรู้ โดยมุ่งเน้นส่งเสริมทางด้าน หนังสือ ดนตรี กิจกรรมและสื่อมัลติมีเดีย
ทีม Six-Nature
จากนั้น อ.นราธิป อ่ำเที่ยงตรง ผู้จัดการศูนย์วิจัยและให้คำปรึกษาทางธุรกิจ ม.กรุงเทพ, คุณอาชว์ วงศ์จินดาเวศย์ ตัวแทนจากกลุ่ม Social Motion และคุณสิทธิ วัฒนายากร ผู้จัดการโครงการ ดี แอมบาสเดอร์ ทูตความดีแห่งประเทศไทยได้ร่วมวิเคราะห์แผนการตลาดของน้องๆ ทีม Six-Nature ให้ฟังกัน
อ.นราธิป ชื่นชมว่าการทำงานของสมาชิกทุกคนในทีมนั้นแบ่งงานกันได้เป็นอย่างดี แม้ว่าจะมาจากต่างมหาวิทยาลัย ซึ่งการเรียนรู้ถึงความแตกต่างนั้นเป็นประสบการณ์ที่ล้ำค่ามาก เพราะในชีวิตจริงการทำงานกับบุคคลอื่นๆ ซึ่งมีที่มาแตกต่างกัน เป็นสิ่งสำคัญ ต้องหัดเรียนรู้ไปพร้อมๆ กัน สำหรับแผนการตลาดที่มีการประกวดคัดเลือกทูตหรือตัวแทนองค์กรนั้น จะต้องมีการใช้หลัก 3 ด. คือ โดดเด่น โดน และดึง เป็นบันไดสู่ความสำเร็จที่จะทำให้คนสนใจโครงการนี้ได้ อีกทั้งได้ทิ้งท้ายเอาไว้ว่าการตลาดยุคใหม่ นักการตลาดจะต้องเปิดเผยความจริงใจ และนำความดีมาสู่สังคมด้วย
ด้านคุณอาชว์ ให้ความคิดเห็นว่าการจัดการกิจกรรมในลักษณะการแข่งขันมีข้อดีคือช่วยดึงความสนใจจากกลุ่มคนจำนวนมากๆ ให้เข้ามาได้ดี แต่ต้องพิจารณาว่ารางวัลมีความน่าดึงดูดหรือไม่ ซึ่งยังจะต้องสร้างความน่าสนใจและความแตกต่าง ทำให้คนสามารถนำไปบอกต่อได้
ส่วนคุณสิทธิ พิจารณาว่า โครงการนี้จะต้องหาองค์กรมาร่วมสนับสนุนอีกมาก รวมถึงการใช้เครือข่ายทางอินเทอร์เน็ตช่วยสร้างกระแส ซึ่งการสร้างพันธมิตรหรือเครือข่ายนั้นจะทำให้มีพลัง ทำให้ทีมงานทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพและประหยัดเวลา
คณะกรรมการวิจารณ์แผนนำเสนอ
กิจกรรมสุดท้ายสำหรับงานในวันนี้ เสวนาของ TK Filmmaker แจ้งเกิดคนทำหนัง เรื่อง “การทำหนังสั้นให้ฮิต” โดยคุณนคร โพธิ์ไพโรจน์ กองบรรณาธิการ นิตยสาร Bioscope และคุณเอกภณ เศรษฐสุข ตัวแทนคนไทยที่ได้นำภาพยนตร์สั้นไปฉายที่ฝรั่งเศส
หนังสั้นเป็นกระแสที่นิยมมาก ทำให้หลายคนหันมาสนใจและอยากลองถ่ายทำหนังกันด้วยตัวเอง ผู้ร่วมเสวนาทั้งสองต่างให้คำนิยามหนังสั้นว่าเป็นหนังที่มีความยาวไม่เกินหนึ่งชั่วโมง อาจจะเป็นการถ่ายทำเพื่อสนองความต้องการของตัวเอง ทำให้เนื้อหาได้รับความนิยมเฉพาะกลุ่ม แต่ขณะเดียวกันก็มีกระแสเคลื่อนไหวตลอดเวลา ซึ่งการทำหนังสั้นสามารถทำได้ง่าย ด้วยอุปกรณ์ที่น้อยชิ้น มีเพียงกล้อง และคอมพิวเตอร์ก็สามารถทำหนังสั้นหนึ่งเรื่องได้แล้ว
แม้ว่าหนังสั้นจะสร้างได้ง่าย แต่คุณนคร เห็นว่าหนังสั้นที่ดีจะต้องมีประเด็น มีเรื่องที่อยากเล่า บางทีควรเป็นคำถามปลายเปิด ซึ่งทุกวันนี้มีเวทีที่จัดประกวดอยู่หลายแห่ง แต่การจะสร้างเรื่องราวและถ่ายทอดเป็นหนังที่ดีนั้น จำเป็นต้องมี “ความอยาก”ที่จะถ่ายทอดเรื่องราว มีใจรัก และต้องมีความพร้อมทางด้านพลังแห่งความคิด ซึ่งคนที่อยากทำจะต้องหมั่นถามตัวเองอยู่บ่อยๆ ว่าต้องการหรืออยากทำอะไร
ด้านคุณเอกภณ เห็นตรงกันว่าส่วนสำคัญของการทำหนังสั้นคือการมีเรื่องอยากเล่าก่อน ต้องมีความรู้สึกและประสบการณ์ประกอบกันด้วย ค่อยๆ ซึมซับเรื่องราวที่จะถ่ายทอดได้เป็นอย่างดี และการฝึกฝนจะช่วยทำให้การแก้ไขงานทำได้อย่างราบรื่น ส่วนอุปกรณ์หรือเครื่องมือเป็นเรื่องรอง เขาแนะนำว่าการทำหนังจะต้องทำด้วยความสนุก และอาจจะนำมาฝึกใช้ในชีวิตประจำวัน เช่น หากอยากจะพิมพ์หรือเขียนเรื่องไปไว้ในอินเทอร์เน็ต อาจจะลองเปลี่ยนมาเป็นการถ่ายทำหนังสั้นแทนก็ได้
วงสนทนาของคนทำหนัง
วันนี้งานเสวนา จาก 3 สาขาอาชีพคงปลุกไฟของใครหลายคนที่อยากจะเริ่มต้นทำสิ่งที่ตัวเองเคยฝันค้างเอาไว้ และคงมอบประสบการณ์ แรงบันดาลใจให้แก่ผู้ร่วมชมร่วมฟังได้เป็นอย่างดี และยังเหลืองานเสวนาอีก 3 สาขาอาชีพ ได้แก่ แอนิเมชั่น นักเขียน และคนดนตรี ที่จะมาปลุกแรงบันดาลใจในวันอาทิตย์ที่ 21 ตุลาคม 2555 เส้นทาง 6 สาขาอาชีพในงานแจ้งเกิดครั้งนี้ แม้จะเป็นก้าวเล็กๆ สำหรับเยาวชนรุ่นใหม่ แต่ก็เป็นก้าวสำคัญที่จะทำให้พวกเขามุ่งสู่เส้นทางที่หวังไว้ได้อย่างตั้งใจโดยไม่หลงทาง
พลตรัย