“บอย ตรัย”
อ่านร้อง อ่านเล่น จนเป็นเพลง
ถ้าเริ่มต้นนับเวลาจากเพลง “พื้นที่เล็กๆ” ที่สร้างชื่อเสียงให้กับนักร้อง นักแต่งเพลง ที่ชื่อ “บอย-ตรัย ภูมิรัตน” ก็นับได้เกือบสิบปีแล้วที่เรารู้จักเขา และหลังจากเพลงที่ทำให้เรานึกหวนแหนความรู้สึกวัยเด็ก บอย ตรัย ยังมีผลงานสร้างชื่อตามมาอีกมากมาย แน่นอนว่า เรื่องราวของเขา ไม่ว่าจะเป็นประวัติชีวิต จุดเริ่มต้นแต่งเพลง เรื่องราวของวงฟรายเดย์ (Friday) คงออกมาซ้ำแล้วซ้ำเล่า ผ่านหน้านิตยสาร รายการวิทยุ รายการทีวี หรือเสิร์ซหาได้ตามเว็บไซต์
แต่ยังมีอีกหลายคำถาม ที่ยังเราอาจยังไม่รู้คำตอบ ซึ่งบอย ตรัย จะมาเฉลยให้ฟังในงานครั้งนี้ “TK park Music Ed 2014” กิจกรรมเพื่อคนรักดนตรี ที่นำศิลปินมาเปิดมินิคอนเสิร์ตพร้อมร่วมพูดคุยในแง่มุมต่างๆ อย่างสบายๆ ตลอดปี 2014 ซึ่งเมื่อวันเสาร์ที่ 19 กรกฎาคม 2557 เป็นคิวของ “บอย-ตรัย ภูมิรัตน” สมาชิกวง Friday ที่เป็นทั้งนักร้อง นักแต่งเพลงผู้มากประสบการณ์ในนาม Zentrady ที่แต่งเพลงให้กับศิลปินชื่อดังมากมาย อย่าง P.O.P, บอดี้สแลม, Playground, โต๋-ศักดิ์สิทธิ์, Triumphs kingdom ได้มาเปิดคอนเสิร์ตเล็กๆ ในงาน “TK park Music Ed. 2014 ครั้งที่ 7: อ่านร้อง อ่านเล่น กับ บอย ตรัย” ณ ลานสานฝัน อุทยานการเรียนรู้ TK park พร้อมเล่าความคิด ความฝัน แรงบันดาลใจ ในแง่มุมของนักอ่าน นักเขียน นักร้อง นักแต่งเพลง
หากคุณเป็นคนหนึ่งที่ชอบเพลงของบอย ตรัย แต่ยังไม่เคยรู้เรื่องราวของเขามากไปกว่ารายชื่อเพลงที่ชื่นชอบ เราจะขอสรุปให้ฟัง เพื่อจะได้ฟังบทสนทนาระหว่าง บอย ตรัย และ คมสัน นันทจิต ที่รับหน้าที่เป็นผู้ดำเนินการซักถาม ได้อย่างเพลิดเพลินมากขึ้น
บอย-ตรัย ภูมิรัตน มีผลงานอัลบั้มแรก Friday I'm in love กับวงฟรายเดย์ สังกัดมิวสิกบักส์ ต่อมาได้ตั้งบริษัท Playground มีผลงานในชื่อวง 2 Days ago kids และวงฟรายเดย์ มีผลงานเพลงสร้างชื่อมากมาย อย่าง กลับมา, นิดหนึ่งพอ, เปลี่ยนไปทุกอย่าง, ชั่วโมงต้องมนต์ เขาเป็นที่รู้จักในนาม “บอย ฟรายเดย์” หรือ “บอย ตรัย” ต่อมาบอยได้ร่วมงานกับ เบเกอรี่ มิวสิก โดยแต่งเพลงนาม Zentrady เช่นเพลง เผลอ, ความลับ, รักที่เพิ่งผ่านพ้นไป และต่อมาได้ออกผลงานเดี่ยว อัลบั้ม My Diary Original Soundtrack และอัลบั้มบุคคลที่ 3 รวมถึงผลงานอีกมากมายในนามวงฟรายเดย์
ด้านชีวิตส่วนตัวของบอย เขาเป็นคนชอบความบันเทิงมาตั้งแต่เด็ก ชอบดูละคร อ่านหนังสือการ์ตูน และชอบแต่งเพลงเป็นชีวิตจิตใจ โดยเริ่มจากแปลงเพลงการ์ตูนญี่ปุ่นให้เป็นเพลงของตัวเอง และแต่งต่อมาเรื่อยๆ แต่เริ่มเป็นที่รู้จักในฐานะคนชอบแต่งเพลงเมื่อตอนเรียนมหาวิทยาลัย บอยได้แต่งเพลงให้กับละครเวทีของคณะ ความรักในการร้องการแต่งเพลงของเขามีมาก แต่ยังไม่กล้าเริ่มต้นทำเพลงอย่างเต็มตัว เพราะพ่ออยากให้ทำงานที่มั่นคงมากกว่า บอยจึงเป็นสถาปนิกหลังเรียนจบ แต่ไม่นานนักโอกาสก็มาหา เมื่อเพลงของเขาและเพื่อนถูกใจ ธเนศ วรากุลนุเคราะห์ จนชักชวนให้มาออกอัลบั้ม ซึ่งเวลานั้นพ่อของบอยได้เปิดโอกาสให้ลูกชายได้ทำตามความฝันของตัวเอง เพราะเห็นถึงความตั้งใจจริง
ต่อจากนี้จะเป็นบทสนทนาระหว่างบอย ตรัย และคมสัน ที่การพูดคุยของทั้งสองต่อเนื่องมาจากเรื่องราวชีวิตของบอยที่เพิ่งเล่าไป
คมสัน: ตอนนั้นคุณคิดยังไง ถึงตัดสินใจหยุดงานสถาปนิกที่มั่นคง มาทำงานเพลงที่เวลานั้นคุณก็ไม่แน่ใจว่าผลตอบรับจะออกมาแบบไหน?
บอย ตรัย: “เรารู้ว่าเราชอบทำแบบนี้ ไม่รู้หรอกนะว่าอนาคตจะเป็นยังไง รู้แต่ว่าเสพติดทางนี้ ทำแล้วหัวใจมันพองฟู อยากเขียนอีก อยากเขียนอีก”
คมสัน: มีแรงบันดาลใจอะไรที่ทำให้แต่งเพลงได้?
บอย ตรัย: “แรงบันดาลใจมันเปลี่ยนไปเรื่อยๆ แล้วแต่ว่ามีอะไรมากระทบ อย่างทุกวันนี้คือ “ชื่นใจ” (ลูกสาว) อยากแต่งเพลงให้ชื่นใจฟังตอนโต ให้เขาชอบ หรือบางครั้งมันก็มาจากเรื่องที่เราหวนคิดขึ้นมา ล่าสุดได้เขียนเพลงถึงพ่อ ถึงสิ่งที่อยากคุยกับพ่อ ถ้าพ่อยังอยู่เราจะคุยอะไรกับเขา และเราต้องพยายามแต่งเพลงให้หลากหลาย เพราะพี่ดี้(นิติพงษ์ ห่อนาค) สอนไว้ว่า นักแต่งเพลงต้องเหมือนนักตัดเสื้อ ต้องตัดให้ได้หลายแบบ ให้เหมาะกับบุคลิกของคนที่สวมใส่”
คมสัน: รู้มาว่าบอยชอบอ่านหนังสือ มีแรงบันดาลใจที่ได้จากการอ่านไหม?
บอย ตรัย: “ผมชอบอ่านการ์ตูน นิยายก็อ่าน อ่านเพื่อความเพลิดเพลิน การ์ตูนมันเป็นเหมือนโลกใบเล็กของเราที่ปลอดภัยนะ ผมไม่เคยถึงขั้นอ่านแล้วเอามาใช้ แต่มันมักจะอยู่ในตัวเรา เวลาที่เราจะพูดอะไร จะแต่งเพลงขึ้นมา ก็อาจจะไปดึงเรื่องที่สะสมอยู่ในความคิดเราที่ได้มาจากการอ่าน การอ่านเลยมีประโยชน์และมีเสน่ห์ด้วย เพราะเราต้องนึกภาพตาม หนังสือเลยเป็นพื้นที่ให้จินตนาการได้ทำงาน ซึ่งมันจะทำให้เราได้ฝึกคิด”
คมสัน: นอกจากเขียนเพลงแล้ว คุณยังมีงานเขียนอย่างอื่นด้วย คุณชอบการเขียนแบบอื่นด้วยใช่ไหม?
บอย ตรัย: “จริงๆ ไม่ค่อยได้เขียนมากนะ ส่วนใหญ่จะเขียนแค่สเตตัสเฟซบุ๊ก ทวิตเตอร์ แต่ผลงานเขียนที่เคยมีก็อย่าง “ใต้แสงสีมะนาว” เขียนไว้เรื่องใกล้ตัว อย่างวงดนตรี โรคที่อยู่หน้าเวทีมีคนมองแล้วตื่นเต้น ตอนเจอความยากลำบาก ผมชอบนะเวลาเขียนความเรียง แต่ชอบเขียนเพลงมากกว่า เพราะเพลงมันมีทำนองเป็นกรอบของมัน เราเลยรู้ว่าจะทำอะไรได้มากแค่ไหน ถ้างานเขียนมันว่างเปล่า ไม่มีกรอบ ไม่รู้ว่าเขียนไปแล้วจะผิดหรือเปล่า”
คมสัน: อะไรที่ทำให้ยังเป็นนักร้อง นักแต่งเพลง มาถึงตอนนี้?
บอย ตรัย: “คงเป็นความสบายตัว ความพอดีตัวของเรา เราเขียนแล้วได้ความสุขใจกลับมา แล้วพอมาคิดดูแล้วความสุขตรงนี้มันแลกได้กับจำนวนเงินได้นะ ผมมีความสุขที่สามารถสื่อสารกับคนอื่นได้ด้วยเพลง แต่จะให้เลือกเป็นนักร้องหรือนักแต่งเพลงอย่างเดียวไปเลยคงไม่ ผมชอบทั้งสองอย่าง อยากจะทำแบบนี้คู่กันไปเรื่อยๆ”
คมสัน: อยากฝากอะไรถึงคนที่อยากเป็นนักร้อง นักแต่งเพลง?
บอย ตรัย: “ผมเคยถามกับพี่ดี้ว่า ไม่เห็นมีใครชอบเพลงผมเลย พี่ดี้ไม่ตอบผมนะแต่ถามกลับมาว่าผมทำงานมาแล้วกี่ปี ผมตอบไปว่าสองปี พี่ดี้ก็บอกผมว่าอีกสิบปีค่อยมาถามใหม่ ผมว่าทุกอย่างมันต้องใช้เวลาและความพยายาม ถ้าเราฝึกฝนทำไปเรื่อยๆ ความฝันมันจะค่อยๆ เป็นจริง”
เมื่อบทสนทนาระหว่างบอย ตรัยกับคมสันจบลง พื้นที่ลานสานฝันก็ได้กลายเป็นเวทีคอนเสิร์ตเล็กๆ แต่เต็มเปี่ยมไปด้วยพลังเสียงของนักร้องนักแต่งเพลงคนนี้ และยังแน่นขนัดไปด้วยแฟนเพลงของเขา โดยเพลงที่ บอย ตรัย นำมาฝาก เป็นเพลงฮิตที่ทุกคนร้องได้ อย่าง “ผูกพัน” “ความลับ” และแน่นอนว่าเขาไม่ลืมที่จะนำเพลง “พื้นที่เล็กๆ” มาปลุกความเป็นเด็กของทุกคนให้กลับขึ้นมาอีกครั้ง เช่นเดียวกับเขาในเวลานี้
พี่ตองก้า