SIPA และ TK park จัดงานแถลงข่าวความร่วมมือระหว่างหน่วยงานในการส่งเสริมอุตสาหกรรมดิจิทัล คอนเทนต์ไทย พร้อมเปิดตัวกิจกรรมสุดพิเศษ “Blender Train the Trainer” ซึ่งได้ TACGA ร่วมเชิญวิทยากรมืออาชีพมาบ่มเพาะนักพัฒนาเข้มข้น ๔ เดือน ให้รู้จักเครื่องมือทางเลือกเพื่อสร้างสรรค์ผลงานด้วยซอฟต์แวร์โอเพนซอร์ส ชื่อ “Blender” ซึ่งเปิดให้ใช้โดยไม่มีค่าใช้จ่ายและสามารถพัฒนาต่อยอดปรับปรุงได้ด้วยตนเอง พร้อมต่อยอดกิจกรรมด้วยการเปิดอบรมและจัดตั้งกลุ่มเพื่อพัฒนาเครื่องมือนี้อย่างต่อเนื่อง
สำนักงานส่งเสริมอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ SIPA และ สำนักงานอุทยานการเรียนรู้ หรือ TK park ได้ร่วมมือกันส่งเสริมการพัฒนาบุคลากรและองค์ความรู้ด้านซอฟต์แวร์แวร์และดิจิทัล คอนเทนต์ โดยคุณไตรรัตน์ ฉัตรแก้ว ผู้อำนวยการ SIPA กล่าวว่า “สิ่งสำคัญในการสร้างศักยภาพการแข่งขันเพื่อสร้างรายได้คือ “การพัฒนาบุคลากร” ทั้งนี้ กิจกรรมนี้จะเป็นการเปิดโอกาสให้นักพัฒนาได้รู้จักเครื่องมือการสร้างสรรค์ผลงาน ที่มีชื่อว่า “Blender” ที่ไม่มีค่าใช้จ่าย และสามารถดำเนินการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงได้ตามความต้องการของผู้ใช้เอง อันจะทำให้ต้นทุนเรื่องการจัดหาซอฟต์แวร์ มาแปรเปลี่ยนเป็นรายได้สู่เจ้าของผลงานเอง และ SIPA จะได้เตรียมเรื่องการตลาดเพื่อการพาณิชย์ต่อเนื่องต่อไป”
นางสาวอัศรินทร์ นนทิหทัย หัวหน้าฝ่ายกิจกรรม สำนักงานอุทยานการเรียนรู้ กล่าวว่า “ในปัจจุบันดิจิทัล คอนเทนต์เป็นสื่อการเรียนรู้ที่ทุกคนสามารถเข้าถึงได้ง่าย และเป็นช่องทางในการเผยแพร่สาระความรู้แก่เยาวชนได้เป็นอย่างดี สำนักงานอุทยานการเรียนรู้มีความยินดีที่ได้ร่วมกับ SIPA จัดกิจกรรม “Blender Train the Trainer” ในการบ่มเพาะเยาวชนและผู้สนใจให้ได้รับการต่อยอดและพัฒนาทักษะ และสร้างเครือข่ายนักพัฒนาที่จะเป็นประโยชน์ต่อวงการ โดยหวังว่ากิจกรรมนี้จะสามารถสร้างนักพัฒนาดิจิทัล คอนเทนต์ที่มีคุณภาพสู่สังคมแห่งการเรียนรู้ต่อไป”
ทั้งนี้สมาคมผู้ประกอบการแอนิเมชั่นและคอมพิวเตอร์กราฟิกส์ไทย หรือ TACGA ในฐานะผู้จัดกิจกรรม “Blender Train the Trainer” เปิดรับสมัครบุคคลที่สนใจจะพัฒนาตนเองและมีพื้นฐานการสร้างงาน 3D Animation ถึงวันที่ ๓๐ เมษายน ๒๕๕๗ และจะเปิดอบรม ๑๒ ครั้ง ทุกวันเสาร์อาทิตย์ เริ่ม ๓ พฤษภาคม ๒๕๕๗ โดยวิทยากรที่มีชื่อเสียงด้วยหลักสูตร Blender ซึ่งผู้ได้รับการคัดเลือกจะได้รับการอบรมโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย ภายใต้เงื่อนไข ต้องอบรมต่อ ๑๐ รายต่อ ๑ ผู้เข้ารับการอบรม นอกจากนี้กิจกรรมนี้จะถูกบันทึกและเผยแพร่ในรูปแบบ Online พร้อมการจัดตั้งกลุ่มนักพัฒนา Blender ประเทศไทยต่อไปเพื่อการพัฒนาเครื่องมืออย่างต่อเนื่อง
สนใจติดตามรายละเอียดได้ทาง
• www.thaiblender.com
• www.facebook.com/thaiblendertrainer
• info@thaiblender.com
• สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ คุณน้ำฝน ได้ที่เบอร์ ๐๙ ๗๒๖๔ ๔๔