‘วรรณกรรมคืองานเขียนสะท้อนชีวิต’: บทบันทึกวิชาการเขียนแบบฉบับนักเขียนซีไรต์สองสมัย วีรพร นิติประภา
หากเอ่ยชื่อ แหม่ม-วีรพร นิติประภา ขึ้นมาในวงนัก(อยาก)เขียน เราเชื่อว่าร้อยทั้งร้อยต้องรู้จักนักเขียนซีไรต์สองสมัยผู้นี้ และเกินกว่าครึ่งอาจยกมือว่าเป็นแฟนคลับตัวยงของเธอ นวนิยายของเธอทั้งสองเรื่องที่ได้รับรางวัลซีไรต์คือ ไส้เดือนตาบอดในเขาวงกต และ พุทธศักราชอัสดงกับทรงจำของทรงจำของแมวกุหลาบดำ นักอ่านหลายต่อหลายคนพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า รสชาติตัวอักษรของนั้นช่างแปลกใหม่ ทั้งภาษาและวิธีนำเสนอที่มีเสน่ห์ชนิดหาตัวจับยาก
หลายเสียงบอกว่าการนั่งลงอ่านงานเขียนของเธอเหมือนการประกอบพิธีกรรมบางอย่าง เพราะในนวนิยายของเธอจะมีบทเพลงประจำบทให้นักอ่านฟังคลอไปพร้อมๆ กับการพลิกหน้ากระดาษ และยิ่งภาษาอันทรงเสน่ห์ที่ตรึงผู้อ่านไว้กับที่แบบไม่อยากละสายตาไปไหน ยิ่งทำให้เราอยากรู้ว่าเธอมีเคล็ดลับการเขียนอะไรที่ทำให้นักอ่านติดหนึบ แถมยังคว้ารางวัลซีไรต์มาครองได้ถึงสองสมัย
ศิลปะส่องทางให้แก่กัน
สิ่งหนึ่งที่วีรพรแนะนำให้นักเขียนรุ่นใหม่ทำเป็นอันดับแรก หาใช่การฝึกเขียนอย่างบ้าคลั่ง แต่ให้ลองเอาตัวเองออกไปสำรวจศาสตร์และศิลป์อื่นๆ ดูบ้าง เช่น ลองดูภาพยนตร์แนวใหม่ๆ อ่านบทกวี ฟังบทเพลงต่างๆ ฯลฯ เพราะพื้นฐานของการเล่าเรื่องไม่ได้มีแค่การเขียนหนังสือเท่านั้น แต่การเสพสื่ออื่นๆ จะช่วยให้เห็นพื้นฐานการเล่าเรื่องและเป็นวรรณกรรมในอีกแบบหนึ่ง
วีรพรแนะนำว่านักเขียนหน้าใหม่อาจจะเริ่มจากการตั้งโจทย์ ‘แบบฝึกหัดการเขียน 30 วัน’ แบบต่อเนื่องดู เมื่อเขียนไประยะหนึ่งแล้วพบว่าไม่มีเรื่องอะไรใหม่ๆ ให้เขียนนอกจากกิจวัตรประจำวัน ก็เป็นโอกาสดีที่จะได้ลองออกไปใช้ชีวิตแบบที่ไม่เคยใช้ดู คือลองใช้ชีวิตให้น่าสนใจ เพื่อผลิตเป็นงานเขียนที่น่าตื่นเต้น
อีกวิธีการหนึ่งคือลองหาหนังสือในดวงใจสักเล่มหนึ่ง เล่มอ่านซ้ำๆ จนเข้าใจโครงสร้าง อาจจะทำไฮไลต์ประโยคกระแทกใจไว้ด้วยก็ยิ่งดี เพราะพื้นฐานของการเขียนหนังสือก็เหมือนการหัดวาดรูป ที่ต้องเริ่มจากการลากจุดหรือวาดทับรอยบนกระดาษไข การอ่านบ่อยๆ จึงทำให้เราเห็นภาพรวมว่าการหนังสือต้องเขียนกันแบบไหน
การเขียนคือน้ำเสียงของความคิด
เมื่อก้าวจากขั้นสำรวจวิธีเขียนของคนอื่น ก็ขยับมาที่การขัดเกลาความคิดของตัวเองเพื่อปั้นออกมาเป็นงานเขียน วีรพรกล่าวว่างานเขียนที่ดีนั้นไม่ใช่แค่เพื่อระบายความรู้สึก แต่คือการผลักความคิดออกมาให้เป็นรูปธรรม ถัดมาจึงเป็นขั้นของการขัดเกลา อ่านทบทวนเพื่อดูความเชื่อโยงและส่องดูช่องโหว่ของเรื่องราว
สิ่งหนึ่งที่วีรพรให้คำแนะนำคนที่อยากเขียนเรื่องแต่ง (โดยเฉพาะนวนิยาย) ว่าควรทำไทม์ไลน์ของเรื่องราวตั้งแต่ต้นจบจน และทำ Mind Mapping ภูมิหลังและความสัมพันธ์ของตัวละครไว้ด้วย เพื่อป้องกันการสับสนและเนื้อเรื่องกระโดดไม่ปะติดปะต่อ
เมื่อเขียนเรื่องเสร็จแล้ว วีรพรแนะนำให้วางเรื่องนั้นทิ้งไว้สักพัก แล้วค่อยกลับมาอ่านดูทั้งหมด เพื่อดูว่าส่วนไหนที่ไม่จำเป็นก็ตัดออกได้ และเพื่อดูความเชื่อมโยงและตรรกะของเรื่อง ว่าสิ่งที่ใส่เข้ามาสมเหตุสมผลในปริมณฑลของเรื่องแต่งหรือไม่ วีรพรแนะนำว่าอีกวิธีการหนึ่งที่จะช่วยพัฒนาต้นฉบับงานเขียนให้ดียิ่งขึ้น คือเข้าไปปรึกษาบรรณาธิการหรือสำนักพิมพ์ที่มีประสบการณ์ เพราะบรรณาธิการจะเป็นคนช่วยดูภาพรวม ช่วยขัดเกลาเนื้อเรื่อง และความลื่นไหลของภาษาในงานเขียนของเราได้
สำหรับนักเขียนหน้าเก่าและหน้าใหม่ที่อาจจะนึกภาพตัวละครไม่ออก หาวิธีการบรรยายฉากและบรรยากาศไม่ได้ วีรพรแนะนำว่าอาจลองภาพประกอบจากอินเตอร์เน็ตเพื่อฝึกเขียนบรรยายดู อาจจะเป็นภาพตัดปะ หรือภาพถ่ายก็ได้ อาจจะเซฟเป็นไฟล์ภาพหรือปริ้นต์ออกมาก็ได้แล้วแต่ความถนัด
วีรพรเรียกเทคนิคส่วนตัวของเธอว่า ‘Visualize ตัวละคร’ หัวใจคือการมีแฟ้มข้อมูลรูปภาพของตัวละครและสถานที่ต่างๆ เพื่อทำความเข้าใจคาแร็กเตอร์ต่างๆ เพราะการเห็นเป็นภาพแบบชัดเจนจะทำให้เห็นทิศทางการเล่าเรื่องและการผูกโยงองค์ประกอบต่างๆ เข้าหากันได้ง่ายขึ้น
วีรพรทิ้งท้ายกับนักอยาก(อยาก)เขียนทุกคนว่า การใช้ชีวิตของเราสะท้อนออกมาในงานเขียนแทบทั้งนั้น เธอจึงแนะนำว่านักเขียนที่ดีควรมีจุดยืนทางความคิดอย่างถึงที่สุด มีทัศนคดีที่ดี ไม่ดูถูกคนอื่น ทั้งยังแนะนำน้องๆ นักเขียนหน้าใหม่ให้ลองหางานสร้างสรรค์อื่นๆ ทำดูบ้างนอกจากการอ่านหนังสือ
“ลองออกผจญภัยในโลกกว้างให้มาก ขอบคุณชีวิตในทุกเช้าที่ตื่นมา หลีกเลี่ยงคนคิดลบ สร้างมิตรภาพ และตามหาความรัก” วีรพรทิ้งท้ายด้วยรอยยิ้มเป็นของฝากให้น้องๆ ผู้มีใจรักและฝักใฝ่ในงานเขียนทุกคน