ทำอย่างไร ไม่ให้เด็กเลิกอ่าน
ผลการสำรวจการอ่านของ Schlolastic ผู้จัดพิมพ์หนังสือและสื่อเด็กรายใหญ่ของโลก เคยรายงานถึงปรากฏการณ์การอ่านที่เรียกว่า “Decline by Nine” โดยเผยว่า กลุ่มเด็กรักการอ่าน ที่ชอบอ่านหนังสืออย่างสนุกสนานเพลิดเพลิน สัปดาห์ละ 5-7 วัน สนใจการอ่านน้อยลงอย่างมากเมื่ออายุ 9 ขวบเป็นต้นไป จากการสำรวจบอกว่ามีเด็กวัย 8 ขวบที่มีนิสัยรักการอ่านร้อยละ 57 เมื่อเข้าสู่วัย 9 ขวบเหลือเพียงร้อยละ 35 ที่ยังคงรักการอ่าน ในช่วงวัย 8-9 ปี เด็กที่รักการอ่าน มีจำนวนลดลงอย่างรวดเร็ว ... เกิดอะไรขึ้นกับเด็กๆ วัยนี้ และที่สำคัญกว่านั้น พ่อแม่สามารถทำอะไรเพื่อสนับสนุนให้เด็กๆ ไม่ละทิ้งนิสัยรักการอ่านได้บ้าง
สิ่งที่เกิดขึ้นคือ ตารางชีวิตของเด็กๆ อัดแน่นไปด้วยกีฬา กิจกรรม การบ้าน และอื่นๆ อีกมากมาย และในวัยนี้ พ่อแม่ก็ไม่ได้อ่านหนังสือให้เด็กๆ ฟัง หรือคัดสรรหนังสือที่เหมาะสมกับช่วงวัยเด็กที่เริ่มจะมีพัฒนาการ ความสนใจและรสนิยมที่เปลี่ยนไป เมื่อเริ่มโตขึ้น เด็กน้อยคนนักที่ยังมองการอ่านว่าเป็นเรื่องสนุก ส่วนมากจะคิดว่าการอ่านเป็นเรื่องที่ถูกคาดหวังจากผู้ใหญ่ ความสนุกจากการอ่านเริ่มลดลงๆ จนกลายเป็นกิจวัตรที่ถูกบังคับ พ่อแม่บางคนอาจจะพอมองออกว่านิสัยรักการอ่านของเด็กได้หายไป ยิ่งถ้าการอ่านเคยเป็นสิ่งที่ครั้งหนึ่งเด็กๆ เคยชอบ พ่อแม่สมควรอย่างยิ่งที่จะทำอะไรบางอย่าง เพื่อไม่ให้นิสัยรักการอ่านนี้หายไป
อย่าหยุดเล่านิทาน แม้เด็กๆ เริ่มอ่านออก
เมื่อเด็กๆ เริ่มอ่านหนังสือออกแล้ว พ่อแม่มักจะหยุดเล่านิทานให้ฟัง ซึ่งอันที่จริงไม่จำเป็นต้องเลิกเลย การเล่าเรื่องให้เด็กที่อ่านออกแล้วฟังนั้นมีประโยชน์มากกว่าที่คิด เพราะมันช่วยให้เด็กเรียนรู้ที่จะทำความเข้าใจกับเนื้อหาที่ซับซ้อนมากขึ้น นี่แหละคือการฝึกทักษะการฟัง การเป็นส่วนหนึ่งของประสบการณ์การอ่านของลูก ยังช่วยให้พ่อแม่มีส่วนร่วมค้นหา หรือพบเห็นหัวข้อในการอ่านที่ยากขึ้นไปพร้อมๆ กันกอีกด้วย
ช่วงเวลาดีๆ มีไว้อ่าน
เมื่อเด็กๆ เติบโตขึ้น ชีวิตก็ยุ่งขึ้น พ่อแม่ไม่ควรคาดหวังให้เด็กใช้เวลาว่างหนึ่งชั่วโมงก่อนนอนมาตั้งหน้าตั้งตาอ่านเรื่องที่เขาชอบ แต่ควรหาโอกาสอื่นๆในระหว่างวันให้ลูกได้สนุกกับการอ่านด้วย ถ้าลูกคนหนึ่งของคุณเป็นพวกทำอะไรเร็วๆ เตรียมตัวพร้อมก่อนทุกคนในตอนเช้าก่อนไปโรงเรียน ยื่นหนังสือเล่มโปรดออกมาให้เขาอ่านระหว่างรอสมาชิกคนอื่นๆ ในครอบครัว ทำให้การอ่านรู้สึกเหมือนเป็นรางวัล ไม่ใช่การลงโทษ ตอนพาเขาไปเรียนเทควันโด ถ้าไปถึงเร็วกว่าคลาสเริ่มสักสิบนาที ก็ยื่นหนังสือให้เขาอ่านด้วย ความลับที่ไม่ลับก็คือ พ่อแม่ควรมีหนังสืออยู่ทุกๆที่ ในกระเป๋า ในลิ้นชัก ในทุกๆ ห้องของบ้าน แม้ว่าจะมีเวลาไม่กี่นาที ก็ถือว่ามีค่าพอที่จะให้เด็กๆ ได้อ่าน
ครอบครัว บุ๊คคลับ
ไอเดียที่ดีมากของคุณพ่อท่านหนึ่ง คือการทำ “บุ๊คคลับ” กับลูก แค่ทำให้เป็นกิจกรรมสนุก สบายๆ ไม่ซีเรียส ถ้าลูกถือหนังสือเข้ามาอ่าน และดูสนุกกับเล่มนั้นมากจนเห็นได้ชัด คุณพ่อก็ควรอ่านเล่มนั้นบ้าง และจากนั้นพ่อลูกก็เริ่มคุยถึงหนังสือเล่มเดียวกัน คุยกันแบบกันเองๆ ไม่ต้องไปขอให้ลูกอธิบายหรือแสดงความเห็นยากๆ แค่เดินเล่นและคุยกันเพลินๆก็พอ บางทีเมื่อลูกเอ่ยถึงชื่อตัวละครที่ตายและกลายร่างเป็นปีศาจแบบที่ดูไม่น่าเชื่อ พ่อก็พอเข้าใจได้ว่าลูกพูดถึงอะไรอยู่ คุยกันต่อได้อีกยาว การคุยถึงหนังสือเล่มเดียวกันช่วยให้พ่อลูกเชื่อมโยงกันได้ใกล้ชิดมากขึ้นไปกว่าการถามลูกแค่ว่า วันนี้ที่โรงเรียนสนุกไหมลูก?
จำไว้ว่า การ์ตูน ก็คือหนังสือเหมือนกัน
หลายคนมองว่าการ์ตูนช่อง (Comic Book) ไม่ใช่วรรณกรรมที่มีคุณค่า หรือเป็นแค่ช่องทางหลอกล่อให้เด็กที่เคยอ่านนิทานค่อยๆหันมาอ่านหนังสือจริงๆ แต่การ์ตูนหรือหนังสือคอมมิคอาจเป็นได้มากกว่านั้น ถ้าเด็กๆ ชอบอ่านก็สนับสนุนให้เขาอ่านจริงจังได้เช่นกัน ช่วยให้เขาค้นหาจนเจอแนวที่เขาชอบจริงๆ เช่น การ์ตูนแฟนตาซี คลาสสิค หรือ แนวสารคดี อันที่จริงการ์ตูนความรู้ที่สนุกๆ มีวางขายมากมาย ครอบครัวตึ๋งหนืด คุกกี้รัน เอาชีวิตรอด แก๊งซ่าท้าประดิษฐ์ อะไรเหล่านี้เป็นต้น
มองเทคโนโลยีเป็นตัวเชื่อม ... ไม่ใช่กำแพงที่กั้นเด็กจากการอ่าน
ใช่หละ อุปกรณ์เทคโนโลยีทำให้เด็กๆ อ่านน้อยลง แต่มองให้ยุติธรรมหน่อย เทคโนโลยีไม่ใช่ตัวร้ายเสมอไป สำหรับเด็กที่ชอบเล่นคอมพิวเตอร์ เล่นมือถือหรือแทปเล็ต พ่อแม่ควรใช้สิ่งเหล่านี้เป็นตัวช่วยในการเข้าถึงช่องทางใหม่ๆ เช่น ถ้าเด็กตามยูทูปของ ซอฟปอม ที่พูดเกี่ยวกับแมว พ่อแม่ก็อาจไปหาหนังสือเกี่ยวกับแมวให้เขาอ่านก็ได้ หรือช่องของเปิ้ลนาคร ที่พาเด็กๆ ไปเก็บไข่ไก่ ก็หาหนังสือที่มีเรื่องทำนองนี้มาให้ลูกอ่าน ดังนั้นพ่อแม่ต้องตามเรื่องในโลกออนไลน์ให้ทันเหมือนกันนะ
อ่านให้เป็นแบบอย่าง
นี่น่าจะเป็นวิธีที่สำคัญที่สุด เพราะถ้าลูกไม่ได้อยู่กับครอบครัวที่ชอบอ่าน เขาก็คงไม่เห็นว่าการอ่านเป็นเรื่องที่มีคุณค่าอะไรในชีวิต เพราะฉะนั้น ในฐานะพ่อแม่ ก็ควรอ่านให้ลูกเห็น อ่านหนังสือเล่ม หนังสือพิมพ์ นิตยสาร อะไรก็ได้ อ่านออกเสียงในตอนที่เห็นว่าน่าสนใจ แม้ว่าเรื่องนั้นจะไม่เกี่ยวกับวรรณกรรมทรงคุณค่า อาจจะเป็นแค่ข่าวบันเทิงดาราธรรมดาๆ แต่อ่านดังๆให้เห็นถึงความน่าสนใจ ให้เขาได้สัมผัสถึงความตื่นเต้นที่ได้จากการอ่าน อ่านอะไรก็ได้ที่ชอบอ่าน และในที่สุด ลูกๆก็จะเจอสิ่งที่เขาชอบอ่านเหมือนกัน เริ่มให้เร็วเท่าไรยิ่งดี เด็กๆ จะได้ไม่มองว่าการอ่านคือภารกิจยากเย็น แต่เป็นแค่สิ่งหนึ่งที่ครอบครัวทำกันเป็นปกติในชีวิตประจำวัน
เรียบเรียงจาก https://offspring.lifehacker.com