TK Reading Club ตอน “สารคดี” โดย คุณธีรภาพ โลหิตกุล ผู้คร่ำหวอดในวงการสื่อสารคดีในรูปแบบต่างๆ ทั้งหนังสือและโทรทัศน์มายาวนานกว่า 30 ปี นักเขียนรางวัลศรีบูรพา ปี 2556 และนักเขียนรางวัลศิลปินแห่งชาติ สาขาวรรณศิลป์ (สารคดี) ประจำปี 2558
จุดเริ่มต้นคนรักการอ่าน-เขียน
พี่ธีร์เท้าความให้ฟังว่า ตนเริ่มเขียนงานตั้งแต่สมัยมัธยม ประมาณชั้น มศ.2 ที่โรงเรียนเทพศิรินทร์ แล้วเพื่อนก็ชวนทำหนังสือ เพราะที่โรงเรียนเทพศิรินทร์เป็นบรรยากาศของการเขียนและการอ่านเยอะมาก นักเขียนหลายท่านก็เคยเรียนที่นี่ ทั้งฮิวเมอรริสต์ ยาขอบ ศรีบูรพา ฯลฯ
พอขึ้นชั้น มศ.3 ก็ทำงานเป็นผู้ช่วยบรรณารักษ์ ทำให้เห็นหนังสือมากมาย เล่มไหนถูกยืมบ่อยๆ ก็อยากอ่าน จึงเอามาอ่าน จนในที่สุดก็อยากเขียน พอขึ้นชั้นมศ.4 ได้เป็นสาราณียกร ชมรมอนุรักษ์ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้ไปขายหนังสือที่เราทำที่โรงเรียนสายปัญญาซึ่งอยู่ใกล้เคียงกัน
เมื่อถึงอยู่ชั้น มศ.5 เป็นช่วงการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง ตุลา 19 เห็นเหตุการณ์นักศึกษาถูกทำร้ายอย่างโหดเหี้ยม ด้วยความสะเทือนใจและหมดหวังกับสังคม จึงตัดสินใจไม่ยากที่จะเข้าป่า 2 ปี เมื่อออกมาแล้วก็ไปสอบเข้ามหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ระหว่างนี้ก็ได้รับตำแหน่งนายกองค์การ บริหารองค์การนิสิต มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และเรียนต่อจนจบ
เมื่อเรียนจบก็ไปสมัครงานเป็นนักข่าว ได้เงินเดือน 2,700 บาท ตอนนั้นอยากเรียนเพิ่มเติมจึงไปสอบปริญญาโท และติดวิชาอาเซียนที่มหาวิทยาลัยศิลปากร ทับแก้ว เรียนด้วยทำงานด้วย สุดท้ายต้องทิ้งการเรียนเพราะนั่งรถไม่ไหว จึงเรียนรู้เองจากการทำสารคดีและการเดินทาง แต่ทุกวันนี้ก็ยังเรียนไม่จบเพราะมีสิ่งต่างๆ ให้เรียนรู้มากมาย
บนเส้นทางนักข่าวสู่คอลัมนิสต์นิตยสาร
พี่ธีร์เล่าให้ฟังว่าหลังจากทำงานได้สามเดือนก็ได้เป็นหัวหน้าข่าว พอเดือนที่สี่ได้เป็นคอลัมนิสต์นิตยสารไฮคลาส เปิดคอลัมน์สารคดี อยากทำอะไรก็ไปลงพื้นที่ที่นั่น ไปดูชีวิตทหารเสือราชินี สุนัขตำรวจ ปรัชญาของคนตกปลา ไก่ฟ้าพญาลอที่ปราจีนบุรี ได้ถ่ายรูปถ่ายภาพประกอบเองโดยเรียนรู้จากช่างภาพด้วย
สู่เส้นทางนักทำรายการสารคดีโทรทัศน์
พี่ธีร์เล่าว่าจากเส้นทางหนังสือพิมพ์สู่นิตยสาร ไปสู่การสัมภาษณ์ ดร.สมเกียรติ อ่อนวิมล ที่ช่อง 9 และสัมภาษณ์ยาวนานถึง 5 เทปด้วยความประทับใจ หลังจากนั้นทำงานนิตยสารอยู่ได้ 2 ปีก็ลาออก ดร.สมเกียรติจึงชวนไปทำงานด้านสารคดีโทรทัศน์ จึงได้ไปประเทศอาเซียนบ่อยๆ จนได้กลายเป็นวิทยากรนำชมด้านวัฒนธรรม
ประสบการณ์ประทับใจจากการทำสารคดี
พี่ธีร์เล่าประสบการณ์อันประทับใจที่ได้จากการทำงานสารคดี คือ ได้ไปบรรยายเรื่องปรัชญาแนวคิดการสร้างนครวัด-นครธมของกัมพูชา ได้มีโอกาสจัดรายการวิทยุ
ส่วนเหตุการณ์ที่ประทับใจที่สุดเหตุการณ์หนึ่งคือการตามรอยชีวิตชาร์ลี แชปลิน ไปจนถึงบ้านหลังสุดท้ายของชาร์ลี แชปลิน พี่ธีร์เล่าว่าแชปลินเป็นคนอังกฤษที่ไปอยู่สหรัฐอเมริกา ทำชื่อเสียงให้ฮอลลีวู้ด จนทำเรื่อง The Great Dictator ล้อเลียนนาซีและเห็นใจรัสเซีย แต่กลับถูกส.ส.สหรัฐอเมริกาไล่ และยัดข้อหาคอมมิวนิสต์เนื่องจากในเวลานั้นรัสเซียยังปกครองด้วยลัทธิคอมมิวนิสต์อยู่ ชาลีเลยไปอยุที่เมือง Vevey ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ พอลัทธิคอมมิวนิสต์ล่มสลายในเวลาหลายปีถัดมา สหรัฐอเมริกาก็เชิญกลับไปรับรางวัลออสการ์
“คนอยากเป็นนักสารคดีต้องเป็นนักอยากเล่าก่อน และต้องเป็นนักค้นคว้าด้วย”
พี่ธีร์กล่าวว่าการทำสารคดีทำให้ตนกลายเป็นคนสนใจค้นคว้า สนใจเสาะหาข้อมูลเพื่อรู้เรื่องราวลึกๆ ในชีวิตของคนที่ตนทำ เช่น ตอนทำสารคดีเรื่องของแชปลินก็ตามไปตลาดที่เขาชอบไป ไปชมอนุสาวรีย์แชปลิน ซึ่งชาวเมืองสร้างอนุสาวรีย์แบบยืนติดพื้น ไม่มีฐานยกสูง เนื่องจากชาวเมือง Vevey รักและมองแชปลินแบบเพื่อน รายละเอียดเหล่านี้ทำให้อยากเขียน อยากเล่า และคนอยากเป็นนักสารคดีต้องเป็นนักอยากเล่าก่อน และเป็นนักค้นคว้าด้วย โดยวิธีการคือค้นคว้าก่อน แล้วตามรอย อย่างเรื่องของแชปลินก็ทำให้ตนได้เขียนสารคดีเรื่อง “หัวร่อร่า น้ำตาริน : อนุสติจากชีวิตตลกเอกของโลก – ชาลี แชปลิน” เล่าเรื่องที่ได้เรียนรู้จากแชปลินว่า หัวเราะร่าแต่น้ำตาริน ทำให้คนอื่นขำแต่ตัวเองกลับต้องร้องไห้
พี่ธีร์ยังเสริมว่านักสารคดีที่ดี “ต้องสงสัยเป็นที่ตั้ง” คือ ต้องทำงานแบบดับเบิ้ลเช็ก ถ้าดับเบิลเช็กไม่ได้จริงๆ ก็ต้องบอกว่าไม่ได้ อย่ามั่ว หรือบอกไปเลยว่าเราเจอทฤษฎีไหนมาบ้าง วิธีดับเบิ้ลเช็กครั้งหนึ่งคือช่วงที่ทำสารคดีเรื่องยุทธนาวีที่เกาะช้าง ปีพ.ศ. 2484 มีทหารเรือของเรือหลวงชลบุรีที่อยู่ในเหตุการณ์เล่าให้ฟัง เราก็ต้องดับเบิ้ลเช็กด้วยการสัมภาษณ์ชาวบ้านคนอื่นๆ ที่อยู่ในเหตุการณ์ นอกจากนี้การทำสารคดีจะมีประสบการณ์ที่ช่วยสอนเรา วิธีทำให้สารคดีให้มีชีวิตคือ มีคนมาเกี่ยวข้องมันจะไม่นิ่งไม่เนิบ เช่น ทำเซอร์ไพรส์ในฉากจบ เช่น พาคนที่สนิทมาเจอกับทหารเรือคนที่ให้สัมภาษณ์ พอเขาทักกันก็ตัดจบ
วิธีการทำงานสารคดี
พี่ธีร์เล่าให้ฟังว่า ตอนที่ทำงานในสังกัดก็จะรับ assign มา แล้วค้นคว้า คิดประเด็นจากสิ่งที่เราสงสัย เช่น เครื่องสังเค็ด คืออะไร ซึ่งเมื่อได้ค้นคว้าก็ได้ทราบว่าคือสิ่งของที่ทำให้บรรพบุรุษ เริ่มต้นเลือกจากสิ่งที่เราสงสัยก่อน แต่ส่วนใหญ่มักจะเกิดจากการเดินทางไปเห็น เพราะตนเป็นคนเขียนหนังสือในห้องสมุดไม่ค่อยได้ เพราะมันจะน่าเบื่อ ก็มักจะต้องไปที่ไหนก่อน เมื่อไปเห็นแล้วสงสัยจึงไปซ้ำ และทำการบ้านไปก่อนเท่าที่จะทำได้ เช่น ตอนทำเรื่องเชียงตุงก็หาเอกสารยากมาก บางครั้งต้องอาศัยสัมภาษณ์คนในพื้นที่ก่อน แล้วค่อยวางแผนถ่ายทำ แต่เมื่อถ่ายทำแล้วก็จะได้บทเรียนอีกแบบว่า บางทีสิ่งที่วางโครงมาก็ใช้ไม่ได้เลย คือ “ต้องมี theme เป็นเข็มทิศ แต่อย่ากอดมันไว้”
วิธีทำให้งานสารคดีมีจุดเด่น
พี่ธีร์เล่าวิธีการทำงานสารคดีให้มีจุดเด่นวิธีหนึ่งคือ “คิดเป็นภาพ” และสะท้อนให้ได้แบบเพลงล้างจานในงานแต่ง ของศิริพร อำไพพงษ์ ที่เล่าถึงความชอกช้ำใจได้อย่างเห็นภาพ คือ วัฒนธรรมชาวบ้านที่ไปช่วยงานแต่งกัน แต่หญิงสาวคนหนึ่งต้องไปช่วยล้างจานในงานแต่งของแฟนเก่า
ส่วนการเล่าก็ต้องหาวิธีที่แปลกใหม่ ไม่ใช่ขึ้นต้นว่า “สุพรรณบุรีเป็นเมืองเก่า” เรียกว่าขึ้นต้นก็น่าเบื่อแล้ว ต้องคิดหาวิธีใหม่ๆ มาเล่า ช่วงนั้นนวนิยายเรื่อง “แม่เบี้ย” ของคุณวาณิช จรุงกิจอนันต์กำลังดัง คุณวาณิชได้ไอเดียเรื่องแม่เบี้ยจากความกลัวที่ต้องพายเรือผ่านต้นไทรที่เลื้อยเหมือนงูทุกวันไปโรงเรียน จึงเปิดเรื่องเล่าสารคดีด้วยการปล่อยเสียงวอยซ์โอเวอร์ของวาณิชเล่าเรื่องเมืองสุพรรณ พร้อมๆ กับภาพวาณิชพายเรือผ่านต้นไทรนั้น
นอกจากนี้พี่ธีร์ยังเผยว่าแนวสารคดีที่ถนัดคือ แนวที่มีชีวิตคนเข้าไปเกี่ยวข้อง เพราะเรื่องจริงที่ไปพบส่วนใหญ่ยิ่งกว่านิยาย อย่างตอนทำเรื่องชาวกุย ชาติพันธุ์คนเลี้ยงช้าง ช้างเลี้ยงคน ได้ไปเจอตอนทำศพช้าง พังคำแป้นที่ตายทั้งกลม ควาญช้างต้องเฉือนเท้าออกไปทั้งที่ไม่อยากทำ เพราะไม่อย่างนั้นคนจะขุดศพมาเฉือนเอาไปทำเครื่องราง ความผูกพันอันยาวนานของครอบครัวควาญช้างและพังคำแป้นทำให้บรรยากาศเศร้าสลด จึงทำให้เขียนประโยคแรกของสารคดีได้เลยตั้งแต่ช่วงแรกที่เห็น คือ “เสียงร้องไห้ของแม่เฒ่าดังผสานไปกับเสียงแม่น้ำมูล”
องค์ประกอบของภาพประกอบในสารคดี
พี่ธีร์กล่าวว่าตอนแรกเขียนอย่างเดียว ตอนหลังเรียนรู้จากช่างภาพ ซึ่งจะถามเราตลอดว่าอยากเห็นอะไร เช่น เราบอกอยากเห็นฉากไก่ฟ้าพญาลอถีบเปลือกไข่ออกมา เพราะมันคือไก่ประจำชาติของเรา พอเรารู้อยู่แล้วว่าเราอยากเสนอประเด็นไหนก็เลยเริ่มหัดถ่ายเอง กล้องสมัยนี้ง่ายแล้ว ให้พยายามถ่ายภาพเอง จะได้อารมณ์ตรงกับที่เราเขียน เพราะคนไปที่เดียวกันก็คนละอารมณ์กัน
รูปเกิดจากข้อมูล เช่น ภาพถ่ายชาวมอญที่ปูผ้าจากศพไปสู่หน้าต่าง คือ ขอให้พระพรหมมารับ รูปต้องอยู่คู่กับเรื่อง ครั้งหนึ่งบริษัทปฏิทินมาขอซื้อรูป ปรากฏว่าขายได้แค่ 1 รูปเท่านั้น เพราะไม่ใช่ภาพสวยแบบเซตติ้ง แต่มันคือภาพที่มาคู่กับเรื่องเล่า
บ่อยครั้งหามุมถ่ายภาพแต่ได้เรื่องมาแทน เช่น ไปตั้งกล้องถ่ายเทือกเขาหิมาลัย หันมาอีกที ควายเนปาลเตรียมพุ่งชาร์จแล้ว หาทางหนีไม่ได้ก็นิ่ง ควายก็สงบ แล้วค่อยๆ ก้าวหนีทีละก้าวๆ อย่าวิ่ง ถ้าสัตว์ขยับ เราก็หยุด
นอกจากนี้ประสบการณ์ชีวิตหลายอย่างก็ได้จากการเดินทางและบันทึกภาพ บางภาพก็เป็นภาพประวัติศาสตร์ เช่น ภาพตู้เอทีเอ็มเครื่องแรกของพม่าที่ไม่มีใครไปกด เพราะอัตราแลกเปลี่ยนเอาเปรียบประชาชน ซึ่งทุกวันนี้ก็ไม่มีตู้นั้นแล้ว
ต้องเห็นทุกคนมีศักดิ์ศรีเท่าเทียมกัน : หัวใจสำคัญของการทำงานสารคดี
พี่ธีร์กล่าวว่า “ก่อนอื่นต้องเห็นทุกคนมีศักดิ์ศรีเท่าเทียมกัน” ชาวบ้านไม่ได้มีหน้าที่ตอบคำถามคุณ คุณต้องนอบน้อมเคารพเขาก่อน ถ้าคุยกันไม่ได้ไม่รู้เรื่องให้ดู Body หรือ Eyes language เช่น ตอนไปเมืองลี่เจียงแล้วถ่ายรูปเด็ก เจอคนจีนทำมือไม้ห้ามถ่าย แต่เรายังคุยกันได้ คุยด้วยภาษากาย ถ้าเขาบอกถ่ายไม่ได้แล้วเราเดินหนีไป มันก็จบแต่แรก แต่เราไม่จบ ถ่ายไม่ได้ก็เป็นเพื่อนกันได้ สุดท้ายสนิทกันขึ้นเขากลับให้ถ่ายทั้งครอบครัวเลย
นอกจากนี้พี่ธีร์ยังเสริมว่าไปไหนก็ตามให้ท่อง 3 คำ คือ “สวัสดี ขอบคุณ ขอโทษ” และอย่าลืมว่าความเคารพในเพื่อนมนุษย์คือกฎเหล็กในการทำงาน
เรียนรู้ประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมผ่านงานสารคดี
พี่ธีร์เล่าว่าการทำงานสารคดีทำให้เราเรียนรู้และเข้าใจประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมของต่างประเทศมากขึ้น โดยเฉพาะในแถบประเทศเพื่อนบ้าน เช่น กัมพูชา เพื่อนบ้านเราคือแหล่งอารยธรรมของบ้านเรา อย่างการสร้างพระเมรุมาศ พิธียกเสาหลักเมือง พระราชพิธีขึ้นพระอู่ พระราชพิธีพืชมงคลจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ ไปจนถึงราชาศัพท์ เราไม่ได้รับจากอินเดียโดยตรง แต่เอามาจากกัมพูชา โดยเวลาเล่าจะเล่าแบบไม่ได้ยกย่องแต่หยิบด้านดีมาเล่า แม้แต่ประเพณีจกข้าวเหนียวใส่บาตรของลาวก็น่าประทับใจ
ในรัฐฉาน พม่า ก็น่าสนใจ คนไทเขินมีประเพณีถวายทานน้ำอ้อย เป็นกุศโลบายให้ชีวิตรักหวานชื่น แต่มีข้อแม้ว่าต้องทำพระไตรปิฎกถวายวัดด้วย และต้องจ้างคนเขียนภาษาไทเขินเพื่อสืบต่อพระไตรปิฎก ซึ่งก็เป็นกุศโลบายในการสืบต่อพระพุทธศาสนาและภาษาไทเขินให้คงอยู่ต่อไปด้วยพร้อมกัน
ตอนไปทำสารคดีเรื่องนี้ก็ต้องช่วยสนับสนุนเงินเพราะต้องใช้งบประมาณในการจัดหาน้ำอ้อย ได้เห็นเครื่องปั่นน้ำอ้อยแบบโบราณที่ใช้ควายเทียม ซึ่งไม่เคยเห็นมาก่อนแม้จะมีในพิพิธภัณฑ์ที่เชียงราย ได้เจอเจ้าของบ้านซึ่งท่านเคยทำทางรถไฟซึ่งเป็นที่เล่าขานว่า “เช้าเป็น เย็นตาย” ซึ่งก็คือโรคมาลาเรีย แต่ท่านรอดและพบรักกับสาวไทยใหญ่ ดราม่า กลายเป็นสารคดีชีวิตได้อีกตอน
ส่วนเรื่องถวายทานน้ำอ้อยกลายเป็นว่าสนับสนุนเงินไม่มาก แต่คนมากันทั้งเมือง เป็นการชุมนุมทางวัฒนธรรม มีคนไทลื้อมารำดาบในงาน สนุกมาก นอกจากนี้ตนยังตั้งใจให้จัดขบวนเดินผ่านซากวังที่โดนรื้อไปแล้ว เพื่อสื่อว่าพม่าแท้รื้อวังแล้วแต่ชาวไทก็ยังมีตัวตนและชาติพันธุ์อยู่ พม่ามากลืนไม่ได้
พี่ธีร์เสริมว่าสารคดีบางเรื่องบางตอนก็ไม่ได้อยู่ใน theme ที่วางไว้ แต่เมื่อได้เจอสิ่งที่น่าสนใจซึ่งนอกเหนือความคาดหมายของเรา ก็หยิบมาเล่าเลย กลายเป็นสารคดีอีกตอน เช่น ในสารคดีโลกสลับสี ตอนลูกแม่น้ำเว้ ชาวแม่น้ำหอม (perfume river) ที่เว้ ประเทศเวียดนาม ใช้ชีวิตในเรือ เลี้ยงไก่เลี้ยงหมูในเรือก็ต้องผูกขาไว้ สนามเด็กเล่นก็อยู่ที่ดอนกลางน้ำ ไม่ได้ขึ้นบกเลย เรื่องนี้อยู่นอกแผน ไม่ได้วางไว้เลย แต่ในที่สุดได้กลายเป็นตอนประวัติศาสตร์ เพราะรัฐบาลเวียดนามอับอายที่ชาวเมืองมีวิถีชีวิตแบบนี้ จึงบังคับเอาขึ้นบก ทำให้ชาวเรือแม่น้ำหอมต้องมารับจ้างถีบสามล้อ อยู่ก็ลำบากเพราะร้อน ทำการเกษตรปลูกผักอะไรก็ไม่เป็นเพราะอยู่เรือมาตลอดชีวิต ตอนนี้ไม่มีวิถีชีวิตชาวเรือแล้วเพราะรัฐสั่งห้าม
วงการสารคดีในเมืองไทย
พี่ธีร์เผยว่าวงการสารคดีในเมืองไทยเวลานี้ก็คล้ายๆ สื่อสิ่งพิมพ์ไทย ตอนนี้ตนตั้งสำนักพิมพ์เอง ตอนที่เขียนคอลัมน์สายน้ำและความทรงจำในแพรว ตนเป็นคนที่สำนักพิมพ์มาของานไปพิมพ์ แต่ภายหลังมันไม่ใช่แล้ว คนอยากอ่านประเภทว่าถ้าไปสิงคโปร์ต้องไปกินตรงนั้น ไปช็อปปิ้งตรงนี้ ซึ่งไม่ใช่แนวของตน เขาก็ไม่พิมพ์ เราจึงต้องปรับตัวเอง คือ เขียนสั้นหน่อยเวลาลงเฟซบุ๊ก ส่วนเรื่องยาวก็มีกลุ่มเป้าหมายที่ nostalgia คือเป็นแฟนหนังสือเก่า
นอกจากนี้สื่อโทรทัศน์ทุกวันนี้ก็หนักหน่อย เพราะจะทำสารคดีแบบโลกสลับสีไม่ได้ ยี่สิบปีที่แล้วได้สปอนเซอร์ตอนละสี่แสนบาท ฉายครบตอนเสร็จทำเป็นวิดีโอขายได้อีกสี่ล้านบาท จนถึงขั้นขาดตลาด มีของก๊อปมากมาย