เส้นทางสู่การแจ้งเกิดในวงการดนตรี
ไม่ว่าจะกี่ยุคกี่สมัย ความฝันในการเป็น ‘นักดนตรี’ ก็ไม่เคยหายไปจากใจของวัยรุ่นที่รักเสียงดนตรี เส้นทางที่เดินไปอาจจะไม่ได้ง่ายดายนัก เพราะต้องยอมแลกด้วยหลายสิ่งหลายอย่าง ทั้งเวลา การฝึกฝน หรือแม้กระทั่งโชคชะตา จนทำให้หลายคนถอดใจไปกลางทางก็มีไม่น้อย
แต่ด้วยเทคโนโลยีทุกวันนี้ที่ทำให้ ‘โอกาส’ ที่จะประสบความสำเร็จในการเป็นนักดนตรีง่ายขึ้น ตั้งแต่การทำเพลงไปจนถึงการเผยแพร่สู่ผู้ฟังที่สามารถเกิดขึ้นในคอมพิวเตอร์เครื่องเดียวได้ แต่นั่นก็ไม่ได้หมายความว่าทุกอย่างจะราบรื่นไปเสียหมด ลองไปฟังเสียงของนักดนตรีที่ประสบความสำเร็จมาก่อนอย่าง ธวัชพนธ์ วงศ์บุญศิริ หรือ เมื่อย แห่งวง Scrubb และ ปิยะพงษ์ หมื่นประเสริฐดี หรือ พาย ผู้บริหาร Fungjai.com เว็บ Music Streaming ที่เปิดโอกาสให้นักดนตรีไทยนอกกระแสได้มีพื้นที่เผยแพร่ผลงานสู่หูคนฟังในวงกว้าง ซึ่งทั้งสองมาร่วมเสวนาในกิจกรรม “แจ้งเกิด Fest 2015: แจ้งเกิด เปิดโอกาส” ในหัวข้อ “โอกาสใหม่ในวงการดนตรี” ที่จะมาปลุกแรงบันดาลใจในการเป็นนักดนตรีผ่านประสบการณ์อันเข้มข้น
“ต้องบอกว่าวงการดนตรีไทยตอนนี้ครึกครื้นขึ้นเรื่อยๆ มีวงใหม่เกิดขึ้นเยอะมาก ส่วนหนึ่งเพราะว่า เทคโนโลยีทำให้การผลิตเพลงทำง่ายขึ้น สามารถทำเพลงที่บ้านและเผยแพร่ได้ เทียบกับสมัยก่อนที่ต้องหาผู้จัดจำหน่าย ปั๊มซีดีออกมาขาย แต่สมัยนี้สามารถอัพขึ้นยูทูบ Soundcloud หรือ iTunes ได้เลย หรืออย่างฟังใจเองก็รับเพลงทุกแนว แค่ทักมาในเฟซบุ๊ก เราก็จะส่งลิงค์ให้อัพเพลงเลย นอกจากนั้นก็มีการจัดคอนเสิร์ตเล็กๆ มากมาย” พายเริ่มต้นเล่าถึงภาพรวมของวงการดนตรีไทยในขณะนี้ที่กำลังครึกครื้นเพราะเทคโนโลยีที่ช่วยอำนวยความสะดวกสบายมากขึ้น ทางด้านเมื่อยเองก็มีโปรเจกต์พิเศษ ที่เปิดพื้นที่ให้วงเล็กๆ ที่ไม่มีสื่อได้มีโอกาสมีคอนเสิร์ตของตัวเอง แค่มีเพลงที่ทำเองก็ติดต่อเข้ามาร่วมได้เลย ซึ่งทำให้นักดนตรีกลุ่มใหม่เริ่มไม่สนใจสื่อหลัก แต่กลับหันมาสร้างพื้นที่ของตัวเองมากขึ้น
เส้นทางการเป็นนักดนตรีในขั้นต้นจำเป็นต้องผ่านการค้นหาตัวเองว่าอยากจะเป็นแบบไหนมาก่อน รุ่นพี่อย่างเมื่อยได้แนะนำว่า “นักดนตรีมีสองอย่างใหญ่ๆ มีนักดนตรีที่ทำเพลงเองกับนักดนตรีที่ให้คนอื่นทำเพลงให้ ซึ่งไม่มีอย่างไหนผิด นักดนตรีที่ทำเพลงเองจะเล่าเรื่องตัวเอง ส่วนนักดนตรีที่ไม่ได้ทำเพลงเอง แต่อาจเก่งเรื่อง performance ยกตัวอย่างไมเคิล ตั๋ง เคยทำเพลงแล้วออกกับค่ายใหญ่ แต่ไม่ประสบความสำเร็จ เขาให้สัมภาษณ์หนังสือว่าเขาต้องเป็น ก็อปปี้แมน ทุกวันนี้เขาก็มีงานปกติ มันคือจุดเริ่มต้นของการที่เราจะคิดทำอะไร วันหนึ่งเราอาจจะคิดว่าที่เราทำเองมาทั้งหมดอาจจะไม่เวิร์กเลย ให้คนอื่นแต่งเพลงให้ดีกว่า เพื่อให้มีเพลงที่ดีเกิดขึ้นมาก็เป็นได้
“มีน้องๆ หลายวงที่ทำเพลงแล้วมีความคิดเป็นสากล ทำให้คนฟังไม่ต้องรู้ว่าเพลงที่เล่นอยู่เป็นแนวเพลงอะไร แต่ก็สามารถสนุกได้ เวลาไปตามงานต่างๆ ทำไมเพลงที่เราไม่รู้จัก แต่ฟังแล้วลื่นหู มีนักดนตรีประเภทนี้เยอะ ข้อเสียคือกลุ่มนี้จะไม่มีเทคนิคการอัดเพลงในสตูดิโอที่เก่งกาจ แต่จะมีความรู้ในเรื่องการเล่นสดที่ดี ถ้าอยากจะซึมซับต้องตามไปฟังเขาเล่นสด ถ้าไปฟังแค่ยูทูบก็อาจจะประทับใจน้อย แต่ก็จะมีนักดนตรีที่สามารถสื่อการเล่นสดลงไปในอัลบั้มได้ ซึ่งทุกวงก็พยายามทำทั้งสองอย่างให้ดี บางวงเราต้องการแค่ความรื่นรมย์ทางสายตา หน้าตาดี เพลงเพราะ เอ็มวีสวย แต่บางวงก็อยากเล่าเรื่องของตัวเอง ในมุมของตัวเอง ต้องตั้งสติตัวเองให้ดีว่าอยากเป็นแบบไหน”
เป็นที่รู้กันอยู่ดีแล้วว่าโซเชียลเน็ตเวิร์กสามารถช่วยให้เราสามารถแจ้งเกิดได้อย่างไม่อยากเย็น ถือเป็นเครื่องมือสำคัญที่เราต้องใช้ประโยชน์จากมันให้มากที่สุด แต่ขณะเดียวกันมันก็อาจเป็นเพียงปัจจัยหนึ่งเท่านั้น
“น้องๆ ต้องถามตัวเองก่อนว่า จุดประสงค์ในการทำของวงคือเพื่ออะไร เพื่อให้มีเพลงออกมาที่พอใจ จะดังหรือไม่ดังก็ได้ เพราะมันเป็นสิ่งที่เราชอบหรือเปล่า แต่ถ้าเราอยากเป็นอย่าง Bodyslam หรือ Big Ass หนทางที่จะไปสู่จุดนั้นก็ต้องใช้เวลา หรืออย่างต้องการให้มีกลุ่มแฟนเพลงสักร้อยคนพันคนก่อน เราก็เลือกเครื่องมือที่ทำให้ได้อย่างที่ต้องการ จะใช้เฟซบุ๊ก ยูทูบ Soundcloud หรือฟังใจ อยากให้คนมาดูก็ไปหางานเล่น ไปติดต่อคนที่จัดงาน หรือไปเล่นตามร้านต่างๆ” พายกล่าวถึงช่องทางที่เปิดกว้าง ก่อนที่เมื่อยจะเล่าถึงประสบการณ์ที่เคยผ่านมา “สครับบปีนี้เข้าปีที่ 15 ถ้าย้อนไปเมื่อปี 2000 ผมจะมีฮีโร่เป็นโยคีเพลย์บอย พอไปเสนอค่าย เจ้าของค่ายก็ถามว่าเพลงผมประมาณไหน ผมก็บอกว่าโยคีเพลย์บอย เขาพูดกลับมาว่าโยคีเพลย์บอยมีคนฟังกี่คน กลายเป็นบทสนทนาที่คุยอยู่กับคนละลู่เลย เราก็เลยไม่ฝืนที่จะทำต่อ เลยหันมาทำเอง ผมปั๊มเทป 500 ม้วนเพื่อไปฝากขายตามร้าน จริงๆ เหมือนการทำค่ายเพลงเล็กๆ ของตัวเอง เพราะไม่มีใครเอา ทั้งๆ ที่พยายามเสนอทุกอย่างแล้ว แต่ก่อนไม่มีเฟซบุ๊ก เลยเข้าไปโพสต์ขายไว้ในเว็บพันทิป แล้วก็โดนแอดมินเมลมาด่าว่าขายของ แต่พออธิบายเขาก็เข้าใจแล้วทำเป็นแบนเนอร์ให้ นักดนตรีทุกวงมีโอกาสหมดถ้ารู้จักช่วยตัวเอง”
ปฏิเสธไม่ได้ว่ารายได้เป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้นักดนตรีสามารถดำรงชีพอยู่ได้ แต่ปัญหาใหญ่ของวงการดนตรีในบ้านเราคือคนฟังไม่เห็นความสำคัญของการซื้อเพลงแบบถูกลิขสิทธิ์เท่าไรนัก นักดนตรีจึงต้องปรับตัวเพื่อหารายได้ทางอื่นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
“การหารายได้ของศิลปินมีหลายช่องทางมาก อย่างการขายสินค้าของตัวเอง เสื้อยืด รองเท้า ซีดี แต่เราต้องหาคนที่จะยอมจ่ายเงินให้เราด้วย แต่ก่อนที่เขาจะซื้อต้องหาทางทำให้เขารักและอยากสนับสนุนก่อน เป็นความรู้สึกทางใจ อย่าง Stoondio ทำเพลงออกมาเสร็จและปล่อยให้ดาวน์โหลดฟรี แต่คนก็ยังซื้อซีดีหมด เพราะเขาใส่ใจแฟนเพลงมาก มีการคุยกับแฟนเพลงผ่านเฟซบุ๊กตลอด มีการโพสต์ข้อความดีๆ แพ็คเก็จซีดีก็สวย จนเกิดความผูกพันกับแฟนเพลง
“ช่องทางใหม่อย่าง Music Streaming ของฟังใจ ต้องบอกตรงๆ ว่าเงินที่ได้ไม่เยอะ เพราะคือการต่อสู้กับของฟรี การดาวน์โหลด หรือยูทูบที่อัพโหลดแบบผิดกฎหมาย แต่เราชี้ให้เห็นว่าสิ่งที่ศิลปินคนหนึ่งขาดคือแฟนเพลงหรือการทำให้คนรู้จัก ฟังใจเองทุกวันนี้ยังอยู่ไม่ได้ เพราะรายรับที่เข้ามายังไม่พอกับรายจ่าย แต่เราโชคดีที่มีนักลงทุน เรียกว่ารุ่นพี่ใจดีที่มีประสบการณ์การทำธุรกิจที่มองเห็นว่าเรามีโอกาสทำให้วงการเพลงดีขึ้น ทำให้เกิดรายได้ขึ้นในอนาคต จึงเข้ามาช่วยเหลือด้านเงินทุน โดยที่ในอนาคตจะมีแผนต่างๆ ที่ให้ได้เงิน และศิลปินเองก็ได้เงินด้วย โดยรายได้ที่จะจ่ายให้กับศิลปินคือเป็นพวกแบนเนอร์ของเว็บไซต์ของเราในหน้า Steaming และ ฟังใจซีน ซึ่งเป็นออนไลน์แมกาซีนของเราด้วย รายได้ที่เข้ามาจึงเป็นเหมือนกองกลางรวม ซึ่งมีการหักค่าบริการส่วนหนึ่งและส่วนหนึ่งจัดแบ่งให้ศิลปินตามสัดส่วนของเพลงที่ถูกฟัง ถ้าเพลงถูกฟังเยอะก็ได้เยอะ ถูกฟังน้อยก็ได้น้อย เรียกว่าเป็นประชาธิปไตยทางดนตรี เรามอบอำนาจนั้นให้กับคนฟังแล้ว เพลงดีคนฟังเยอะก็ได้เงินเยอะ แต่ก็ขึ้นอยู่กับศิลปินอีกว่า คุณมีพื้นที่ในฟังใจแล้ว แต่คุณต้องแชร์ต่อไปยังแฟนเพลงของคุณ คุณถึงจะได้รับเงินส่วนนี้ เพราะฉะนั้นการจะหาเงินจำเป็นต้องหาเครื่องมืออื่นมาใช้ จะใช้วิธีการเล่นสดแล้วหาเงินค่าจ้างก็ได้ แล้วแต่จะทำในรูปแบบไหน
“ในสังคมปัจจุบันยังคิดอยู่ว่าศิลปินเต้นกินรำกิน ศิลปินต้องหางานประจำแล้วทำเพลงไปด้วย แต่ถ้าในอนาคตสามารถทำให้คนยอมเสียเงินเพื่อให้เกิดศิลปะดีๆ ขึ้นมาได้ ศิลปินจึงจะอยู่รอด เพราะฉะนั้นศิลปินทุกวันนี้จึงทำเพลงเพื่อจุดประสงค์หลักเพื่อให้คนได้ฟังมากกว่า” พายเล่าให้ฟังถึงภาพรวมการหารายได้ของนักดนตรีทุกวันนี้
แม้ว่าในท้ายที่สุด โอกาสแจ้งเกิดในวงการดนตรีทุกวันนี้จะง่ายขึ้นด้วยเทคโนโลยีและโซเชียลเน็ตเวิร์ก แต่จากที่ทั้งสองกล่าวมาทั้งหมดก็ไม่ได้หมายความว่า ความสำเร็จจะได้มาโดยง่าย ทุกอย่างล้วนขึ้นอยู่กับความพยายามและความอดทนบนเส้นทางสายนี้ ซึ่งจำเป็นต้องใช้เวลา เมื่อยได้ทิ้งท้ายจากประสบการณ์ที่สั่งสมมาอย่างน่าคิดว่า
“ดนตรีไม่สามารถเอาเวลามาเทียบไม่ได้ว่า ถ้าทำเพลงหกเดือน แล้วภายในสามเดือนเพลงต้องฮิต เพลงออกไปแป๊กหรือเปล่าก็ไม่มีใครรู้ หรืออย่างเพลงที่เพราะมาก แต่มาผิดเวลาคนก็ยังไม่รับเลย เพลงเป็นเรื่องของอารมณ์ ถ้าคนไม่ฟัง แสดงว่าเพลงเราดีไม่พอ ก็ต้องทำใหม่ เราเชื่อว่าทุกอย่างสร้างได้ แต่ไม่ใช่ว่าสร้างแล้วให้คนรีบมาสนใจเลย อะไรที่คนสนใจภายในข้ามคืนมันก็จะหายไป ประวัติศาสตร์เป็นแบบนี้มาตลอด อย่างเราที่เป็นได้ทุกวันนี้ ก็เคยอยากจะไปทำอย่างอื่น ไม่เล่นดนตรีแล้ว เพราะพิสูจน์มาหลายปี สุดท้ายก็มีคนมาให้ทำ ซึ่งเป็นโอกาสที่มาโดยที่เราไม่ได้ตั้งตัว แต่จริงๆ มันเป็นการลงทุนจากที่เราทำมาก่อนหน้านี้หลายปี น้องๆ ทุกคนมาถามว่า อยากทำเพลงให้ดัง อยากดังเหมือนพี่ เราก็บอกว่า 15 ปีรอได้ไหม”
วิชญ์พล พลพิทักษ์ชัย