อุทยานการเรียนรู้นครภูเก็ต (PK park)
โชว์จุดแข็งด้านไอซีที พัฒนาสองแหล่งเรียนรู้ เชื่อมโยงระบบ “ห้องสมุดมีชีวิต”
หวังเป็นพื้นที่สร้างสรรค์ พัฒนาคนทุกช่วงวัย-สร้างคนรุ่นใหม่รองรับ Smart City
พลตำรวจโท วรศักดิ์ นพสิทธิพร ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เป็นประธานในพิธีเปิดอุทยานการเรียนรู้นครภูเก็ต หรือ PK park อย่างเป็นทางการ ซึ่งจัดตั้งโดย เทศบาลนครภูเก็ต ร่วมกับ สำนักงานอุทยานการเรียนรู้ (สอร.) หรือ TK park หน่วยงานในสังกัดสำนักงานบริการและพัฒนาองค์ความรู้ (องค์การมหาชน) และมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตภูเก็ต ด้วยการพัฒนาแหล่งเรียนรู้สำคัญสองแห่งที่แตกต่างกันตามบริบทพื้นที่ของเทศบาลนครภูเก็ต เชื่อมโยงการทำงานและการบริหารจัดการให้เป็นรูปแบบของอุทยานการเรียนรู้ตามแนวคิดห้องสมุดมีชีวิต เพื่อส่งเสริมให้เกิดพื้นที่สร้างสรรค์ ทั้งด้านการอ่าน การคิด และการแสวงหาความรู้อย่างกว้างขวางให้กับเด็ก เยาวชน ตลอดจนประชาชนทั่วไป ผ่านเทคโนโลยีและนวัตกรรมที่ทันสมัย เพื่อการนำไปสู่การประดิษฐ์คิดค้นเพื่อสิ่งใหม่หรือต่อยอดพัฒนาจากสิ่งประดิษฐ์พื้นฐาน รองรับกับเทคโนโลยี 4.0 รวมทั้งพัฒนาคนและสร้างคนรุ่นใหม่ เพื่อรองรับ Smart City ของจังหวัดภูเก็ตอย่างยั่งยืน
“การพัฒนาอุทยานการเรียนรู้นครภูเก็ต หรือ PK park ครั้งนี้ มาได้อย่างถูกที่ถูกเวลา โดยเฉพาะความคิดริเริ่มที่จะพัฒนาเมืองภูเก็ตไปสู่เมืองที่มีการพัฒนาเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน และกระจายผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจได้อย่างเท่าเทียม ปัจจัยสำคัญ คือ การพัฒนาคนในทุกช่วงวัย ให้มีความพร้อมและสามารถสนับสนุนการเจริญเติบโตของเมืองและของประเทศ ซึ่งการพัฒนาคนหรือทุนมนุษย์ให้มีความเข้มแข็ง จำเป็นต้องสร้างทัศนคติการเรียนรู้ตลอดชีวิตให้กับคนไทยทุกคน มีการเรียนรู้อย่างต่อเนื่อง ทั้งในเรื่องการศึกษา ทักษะการทำงาน และการดำเนินชีวิต” ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี พลตำรวจโท วรศักดิ์ นพสิทธิพร กล่าวในพิธีเปิดงาน
นายอธิปัตย์ บำรุง ผู้อำนวยการสำนักงานบริหารและพัฒนาองค์ความรู้ (องค์การมหาชน) กล่าวว่า การแบ่งปันและกระจายโอกาสในการเข้าถึงแหล่งเรียนรู้ที่ทันสมัยและสอดคล้องกับความสนใจให้กับเด็กและเยาวชนทั่วประเทศ ถือเป็นภารกิจสำคัญของสำนักงานอุทยานการเรียนรู้ (สอร.) โดยจะดำเนินการร่วมกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่มีความพร้อมและมุ่งมั่นที่จะพัฒนาแหล่งเรียนรู้ในรูปแบบของอุทยานการเรียนรู้ หรือ ห้องสมุดมีชีวิต ซึ่งปัจจุบันมีหน่วยงานที่ทำความร่วมมือกับเราแล้วจำนวน 34 แห่ง ใน 24 จังหวัด
สำหรับอุทยานการเรียนรู้นครภูเก็ต หรือ PK park นี้ สอร. ได้ทำบันทึกลงนามความร่วมมือกับเทศบาลนครภูเก็ต และมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตภูเก็ต ตั้งแต่ปี 2557 จากนั้นได้มีการปรับปรุงพื้นที่อาคาร 2 แห่ง ให้เป็นรูปแบบของอุทยานการเรียนรู้ แห่งแรก ได้แก่ Life Long Learning Center ซึ่งพัฒนาจากพื้นที่อาคารห้องสมุดประชาชนเทศบาลนครภูเก็ต เน้นกลุ่มเป้าหมายที่เป็นเด็กและประชาชนทั่วไป มีหนังสือและสื่อการเรียนรู้ที่หลากหลาย และกิจกรรมสำหรับทุกช่วงวัย แห่งที่สอง ได้แก่ Creativity & Innovation Center ปรับปรุงจากพื้นที่อาคารศูนย์พัฒนาทักษะและการเรียนรู้ ICT ภูเก็ต เน้นกลุ่มเป้าหมายที่เป็นเยาวชนและคนรุ่นใหม่ มีหนังสือและสื่อการเรียนรู้ด้านไอที และกิจกรรมที่หลากหลาย รวมทั้งเป็นเวทีสำหรับเยาวชนในการแสดงออกด้านความคิดสร้างสรรค์และนวัตกรรม โดยเชื่อมโยงการทำงานและการบริหารจัดการให้เป็นรูปแบบของอุทยานการเรียนรู้ตามแนวคิดห้องสมุดมีชีวิต
“PK park จึงเป็นอุทยานการเรียนรู้ที่มีความพิเศษ เพราะมีพื้นที่ให้บริการถึงสองแห่งที่เชื่อมโยงกัน แต่มีจุดเน้นที่แตกต่างกัน จึงรองรับประชาชนทุกช่วงวัย ส่งผลต่อการเรียนรู้อย่างยั่งยืนของชาวภูเก็ต”
ในส่วนความร่วมมือ สอร. นอกจากให้คำปรึกษาด้านกายภาพ การพัฒนาบุคลากร การให้คำปรึกษาด้านการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ ระบบห้องสมุดอัตโนมัติ และการเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ ยังได้มอบ สื่อการเรียนรู้อิเล็กทรอนิกส์ และมัลติมีเดียที่เป็นลิขสิทธิ์ของสำนักงานอุทยานการเรียนรู้ ประกอบด้วย สื่อการเรียนรู้ชุด "ขุมทรัพย์ของแผ่นดิน" ชุด "วัตถุเล่าเรื่อง" สื่อการเรียนรู้ในรูปแบบหนังสือเสียง และ "เกมสร้างสรรค์" รวมทั้งการให้บริการห้องสมุดสาธารณะออนไลน์ (TK Public Online Library) ที่มีหนังสือและสื่อจากทั่วโลกให้บริการผ่านแอพพลิเคฃั่น ดาวน์โหลดได้ฟรี ทั้งในระบบ iOS และ Android
นางสาวสมใจ สุวรรณศุภพนา นายกเทศมนตรีนครภูเก็ต กล่าวว่า เทศบาลนครภูเก็ตให้ความสำคัญกับการศึกษา และการมีแหล่งการเรียนรู้ที่หลากหลาย จึงเกิดความร่วมมือ “สร้างสรรค์และส่งเสริมแหล่งการเรียนรู้ชุมชน” ขึ้นภายใต้ชื่อ อุทยานการเรียนรู้นครภูเก็ต หรือ PK park ซึ่งได้พัฒนาจากห้องสมุดประชาชนและศูนย์พัฒนาทักษะและการเรียนรู้ ICT ภูเก็ต ตามบริบทของพื้นที่ของเทศบาลนครภูเก็ต สามารถให้บริการเชื่อมโยงระหว่างอุทยานการเรียนรู้ทั้งสองแห่งได้อีกด้วย อีกทั้งยังมีแหล่งการเรียนรู้ในบริเวณใกล้เคียงกันไม่น้อยกว่า 600 ไร่ ที่นอกจากเน้นการเรียนรู้ผ่านเทคโนโลยีสารสนเทศ ยังมีการค้นคว้า ทดลอง และเล่นเชิงสร้างสรรค์ ในพื้นที่แหล่งเรียนรู้ที่มีความหลากหลาย เช่น แหล่งเรียนรู้ป่าชายเลน สิ่งแวดล้อมและการกำจัดขยะ การส่งเสริมอาชีพประมงพื้นบ้าน ทั้งยังเป็นพื้นที่สันทนาการที่สามารถรองรับประชาชนทุกช่วงทุกวัย ส่งผลต่อการเรียนรู้อย่างยั่งยืน
“เรามุ่งให้ความรู้ด้านนวัตกรรม รวมทั้งการจัดกิจกรรมหลากหลายสำหรับประชาชนทุกช่วงวัย เพื่อให้เริ่มต้นสร้างรากฐาน จากการรู้จักตัวเอง รู้จักตัวตน ผ่านการเรียน ค้นคว้า ทดลอง และการเล่นเชิงสร้างสรรค์ ด้วยกระบวนการ CBL (Creative based learning) ผ่านกิจกรรมของอุทยานการเรียนรู้ มีการจัดอบรม การจัดกิจกรรมตรงความสนใจของนักเรียน และต่อยอดกิจกรรมจากสถานศึกษา เช่น Lego และ หุ่นยนต์ รวมทั้งส่งเสริมให้บุลลากรด้านการศึกษามีการพัฒนาด้านเทคโนโลยี ประชาชนทั่วไปสามารถจัดกลุ่มมาเพื่อเลือกกิจกรรมหรือการอบรมได้ เช่น กิจกรรม ICT4U มีการนำเทคโนโลยีที่นำสมัยมาใช้ในการทำกิจกรรม และนำไปประยุกต์ใช้งานได้ เช่น การอบรมเรื่อง Internet of things, สมาร์ทโฟนเพื่อผู้สูงวัย ตลอดจนมีการจัดกิจกรรมห้องสมุดเคลื่อนที่สู่ชุมชน เป็นต้น”
นายวิโรจน์ ภู่ต้อง ผู้อำนวยศูนย์พัฒนาทักษะและการเรียนรู้ ICT ภูเก็ต และอาจารย์ประจำคณะเทคโนโลยีและสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตภูเก็ต กล่าวว่า การพัฒนาระบบไอทีโดยเฉพาะอินเตอร์เน็ตที่สามารถเชื่อมโยงองค์ความรู้ จากสำนักงานอุทยานการเรียนรู้ (TK park) รวมทั้งภาคีเครือข่ายต่างๆ นับเป็นจุดเริ่มต้นสำคัญในการสร้างแหล่งเรียนรู้ที่มีความทันสมัยและประหยัดงบประมาณ ซึ่งจะทำให้เยาวชนและประชาชนในจังหวัดภูเก็ตสามารถเข้าถึงองค์ความรู้ที่ทันสมัย เช่น Digital Content สื่อมัลติมีเดียและชุดนิทรรศการการเรียนรู้ต่างๆ เป็นต้น ทั้งนี้ อาจกล่าวได้ว่าเยาวชนในจังหวัดภูเก็ตได้มีโอกาสเข้าถึงสื่อการเรียนรู้อิเล็กทรอนิกส์ต่างๆ เช่นเดียวกับการเข้าถึง TK park ที่กรุงเทพมหานคร นอกจากนั้น การพัฒนาระบบไอทีร่วมกันยังสามารถใช้ประโยชน์ในการพัฒนาบุคลากรของศูนย์ฯ รวมทั้งการแลกเปลี่ยนเรียนรู้กิจกรรมของเครือข่าย TK park ที่กระจายอยู่ในภูมิภาคต่างๆ ของประเทศไทยในอนาคตด้วย
“นอกจากห้องสมุดเทคโนโลยีในพื้นที่ชั้น 2 ซึ่งสนับสนุนโดย TK park แล้ว ภายใน Creativity & Innovation Center จะมีพื้นที่ Maker Space ให้เยาวชนได้เรียนรู้ ทดลองและสร้างสรรค์นวัตกรรมตามความสนใจของตนเอง ในพื้นที่ดังกล่าวเยาวชนรุ่นพี่จาก Phuket Maker Club จะเป็นต้นแบบและเป็นพี่เลี้ยงในการสร้างแรงบันดาลใจร่วมกับเจ้าหน้าที่จากอุทยานการเรียนรู้นครภูเก็ตให้กับเยาวชนรุ่นน้องๆ นอกนี้ ทางศูนย์ฯ ยังมีความร่วมมือกับสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช./NATDA), สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัลภูเก็ต (DEPA Phuket), Biz Club Phuket, บริษัท ภูเก็ตพัฒนาเมือง (PKCD) และพลังงานจังหวัดภูเก็ต ในการส่งเสริมการเรียนรู้เพื่อสร้างแรงบันดาลใจในการสร้างนวัตกรรมในเยาวชน”
ทั้งนี้ อุทยานการเรียนรู้นครภูเก็ต (PK park) ประกอบด้วยอุทยานการเรียนรู้นครภูเก็ต (PK park) Life Long Learning Center ซึ่งพัฒนาจากพื้นที่อาคารห้องสมุดประชาชนเทศบาลนครภูเก็ต ตั้งอยู่ที่ ถนนภูเก็ต ตำบลตลาดใหญ่ อำเภอเมือง จังหวัดภูเก็ต และอุทยานการเรียนรู้นครภูเก็ต (PK park) Creativity & Innovation Center ที่ปรับปรุงจากพื้นที่อาคารศูนย์พัฒนาทักษะและการเรียนรู้ ICT ภูเก็ต ซึ่งอยู่ที่ ตำบลวิชิต อำเภอเมือง จังหวัดภูเก็ต
อุทยานการเรียนรู้นครภูเก็ต Lifelong Learning Center ใช้งบประมาณดำเนินงานและบริหารจัดการโดยเทศบาลนครภูเก็ต ในส่วนของอุทยานการเรียนรู้นครภูเก็ต Creativity & Innovation Center อาคารศูนย์พัฒนาทักษะและการเรียนรู้ด้าน ICT ภูเก็ต ร่วมบริหารจัดการโดยมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตภูเก็ต
เป้าหมายสำคัญของการพัฒนาอุทยานการเรียนรู้นครภูเก็ต (PK park) คือการสร้างพื้นที่การเรียนรู้สาธารณะให้เกิดขึ้น เพื่อการสร้างและพัฒนาคนรุ่นใหม่เพื่อรองรับการเป็น Smart City ของจังหวัดภูเก็ตต่อไป
ทั้งนี้ขอเชิญน้องๆ เยาวชนและประชาชนทั่วไป มาร่วมสนุกกับการเรียนรู้ และพัฒนาทักษะด้านต่างๆ ในพื้นที่สร้างสรรค์การเรียนรู้ที่ทันสมัยของอุทยานการเรียนรู้นครภูเก็ต (PK park) ทั้งสองแห่งเปิดให้บริการทุกวัน ยกเว้นวันจันทร์