เปลี่ยนชีวิตจริงเป็นบทละคร
ถ้าพูดถึง “ละคร” ภาพแรกที่เรานึกถึง คือคนทำงานเบื้องหน้าอย่างนักแสดง แต่ละครเรื่องหนึ่งมีหลายองค์ประกอบด้วยกัน และองค์ประกอบสำคัญที่เป็นจุดเริ่มต้นของละคร ก็คือ “บทละคร” จากฝีมือของคนทำงานเบื้องหลังอย่าง “นักเขียนบทละคร” ที่คนดูอาจจะไม่รู้จัก แต่พวกเขานี่แหละคือที่มาของเสียงหัวเราะ รอยยิ้ม และน้ำตาของผู้ชม
อาชีพนักเขียนบทละครเป็นอย่างไร ถ้าอยากเป็นนักเขียนบทละครต้องทำอะไรบ้าง และเคล็ดลับการเขียนบทที่ทำให้ละครเป็นที่นิยมคืออะไร คุณชวนนท์ สารพัฒน์ หรือ พี่หนึ่ง และคุณวรรณถวิล สุขน้อย หรือพี่โอ๊ะ นักเขียนบทละครโทรทัศน์ ช่อง One ที่ฝากผลงานบทละครเรื่องดังไว้มากมาย อย่าง พิษสวาท สงครามนางงาม 1 และ 2 เรือนเสน่หา จะมาบอกเล่าถึงการทำงานในอาชีพนี้ และตอบคำถามที่หลายคนสงสัยเกี่ยวกับอาชีพนักเขียนบทละคร
ก่อนจะเขียนบทละครก็ต้องชอบดูละคร
วัยเด็กของพี่หนึ่งและพี่โอ๊ะมีความคล้ายคลึงกันมาก ทั้งคู่ชอบดูละครและชอบอ่านหนังสือหลากหลายประเภท มีความสุขกับการได้เล่าเรื่องให้เพื่อนๆ ฟัง เรื่องที่เล่าส่วนใหญ่ก็ไม่พ้นละครที่ตัวเองเพิ่งดูมา รู้สึกมีความสุขที่เห็นเพื่อนๆ สนุกเวลาเล่าเรื่อง และหลายครั้งเวลาที่ดูละครก็อยากจะปรับบทให้เป็นอย่างใจตัวเอง บวกกับการเป็นคนชอบเขียนหนังสือ บทละครจึงเป็นสิ่งที่ตอบโจทย์อาชีพของทั้งสองคน
พี่หนึ่งและพี่โอ๊ะเข้าสู่วงการเขียนบทละคร เมื่อประมาณเกือบ 15 ปีที่แล้ว ในตอนนั้นบริษัทเอ็กแซ็กท์ซึ่งผลิตละครโทรทัศน์ได้เปิดคอร์สอบรมนักเขียนบทละครโทรทัศน์ ทั้งบทละครยาวและซิทคอม พี่หนึ่งและพี่โอ๊ะเห็นว่าเป็นโอกาสดีที่จะได้ลองใช้ความชอบทั้งสองอย่าง คืองานเขียนและการดูละคร เลยตัดสินใจสมัครเข้าอบรมคอร์สนี้ และได้กลายเป็นจุดเริ่มต้นของอาชีพนักเขียนบทละครโทรทัศน์ ที่เริ่มจากการเป็นผู้ช่วยเขียนบท ก่อนจะขยับมาเขียนบทเต็มตัว และคิดพล็อตเรื่องละครเอง
อาชีพเขียนบทไม่ได้โรยด้วยกลีบดอกไม้
พี่หนึ่งเล่าว่าก่อนจะทำอาชีพนี้ เคยมีความคิดว่าคนเขียนบทจะได้ทำงานอย่างสงบและสบาย จิบชาอุ่นๆ ในร้านสวยๆ ค่อยๆ คิดพล็อตเรื่องแต่ละตอนอย่างมีความสุข แต่พอได้มาทำอาชีพนี้จริงๆ โลกสวยที่มโนไว้เป็นอันสูญสลาย ทั้งอดหลับอดนอน ออกกอง แก้ปัญหาเฉพาะหน้า ตะลุยหาข้อมูล เรียกได้ว่าไม่สามารถเขียนบทละครเป็นอาชีพเสริมได้ ต้องเป็นอาชีพหลักที่ทุ่มเวลาเกือบทั้ง 24 ชั่วโมงให้กับงาน
การทำงานเริ่มจากรับงานที่ผู้จัดให้มา ว่าต้องการละครที่มาจากนิยาย หรือละครที่ให้คนเขียนบทละครเขียนพล็อตเรื่องขึ้นมาเอง โดยมีกรอบกว้างๆ จากผู้จัดว่าอยากได้ละครแนวไหน เนื้อเรื่องเป็นอย่างไร เช่น เรื่องเรือนเสน่หา ละครที่พล็อตเรื่องมาจากโจทย์สั้นๆ ว่า เป็นละครย้อนยุคที่ร้อนแรง ตัวละครฟาดฟันกัน แต่คนดูต้องอยากเอาใจช่วยทั้งสองฝ่าย คนเขียนบทก็จะต้องสร้างเรื่องราว ตัวละคร และเหตุการณ์ขึ้นเหมือนเขียนนิยายเรื่องหนึ่ง แต่ถ้าละครสร้างมาจากนิยาย ก็จะต้องเขียนเป็นบทละครโทรทัศน์ที่สนุกเข้ากับยุคสมัย
สำหรับการเขียนก็ไม่ใช่แค่เปิดคอมฯ และจินตนาการ แต่จะต้องลงพื้นที่หาข้อมูล สัมภาษณ์ผู้คน เช่น เดินทางไปดูโบราณสถานที่อยุธยาเพื่อเขียนเรื่องของคุณอุบล สัมภาษณ์นางงามเพื่อเข้าใจตัวละครในเรื่องสงครามนางงาม หรืออาจจะต้องอบรมกับวิทยากรเพื่อให้เข้าใจยุคสมัยหรือความคิดของคนในยุคของละครเรื่องนั้น อย่างการอบรมกับผู้เชี่ยวชาญทางประวัติศาสตร์ก่อนเขียนบทละครเรื่องพิษสวาท เพื่อเข้าใจวิธีคิดและการปฏิบัติตัวของคนในสมัยอยุธยาตอนปลาย
บทละครไม่เคยจบในครั้งเดียว
ถึงบทละครจะเขียนจบไปแล้ว แต่เมื่อถึงเวลาถ่ายทำ ก็อาจจะต้องมีการปรับบทกันหน้างานอีกหลายครั้ง จากสถานการณ์หลากหลาย อย่างเช่น นักแสดงแสดงไม่ได้ หรือแสดงบทในตอนก่อนหน้าด้วยการตีความไปอีกแบบหนึ่ง ทำให้ต้องปรับบทตาม รวมไปถึงปรับบทเพื่อหลีกจากการคาดเดาของคนดู เพื่อให้เรื่องสนุกขึ้น
ถ้าเป็นละครซิทคอม คนเขียนบทจะอยู่ในกองถ่ายด้วยเกือบทุกครั้ง เพราะใช้เวลาถ่ายทำไม่นาน และอาจจะต้องมีการปรับบทกะทันหัน แต่สำหรับละครยาวคนเขียนบทละครไม่จำเป็นต้องออกกองทุกครั้ง อาจเข้าไปดูในฉากสำคัญๆ เพื่อทำความเข้าใจกับผู้กำกับและนักแสดง แต่ถึงอย่างนั้น คนเขียนบทต้องเช็คเทปละครทุกฉาก เพื่อให้ทิศทางละครในตอนต่อๆ ไปมีความต่อเนื่องและเกิดความเข้าใจตรงกันระหว่างคนเขียนบท ผู้กำกับ นักแสดง และคนตัดต่อ
คนดู(ในยุคนี้) มีบทบาทมากในการเขียนบท
เทคโนโลยีที่ทันสมัยโดยเฉพาะด้านการสื่อสาร ทำให้คนดูมีบทบาทอย่างมากต่อนักเขียนบทละคร เพราะพวกเขาจะเข้ามามีส่วนร่วมได้ทันทีที่ละครออกอากาศ เช่น ตั้งกระทู้วิจารณ์ในเว็บไซต์พันทิป แชร์ความรู้สึกผ่านทวิตเตอร์ คนเขียนบทเลยเห็นผลตอบรับของคนดูทันที ทำให้มีการบ้านกลับมาคิดต่อว่าจะปรับบทอย่างไรให้คนดูรู้สึกสนุก
และเนื่องจากพล็อตละครไทยมักจะเป็นเรื่องราวซ้ำๆ ที่คนดูรู้ทันหมดแล้วว่าจะมีเหตุการณ์อะไรเกิดขึ้น เหตุการณ์อะไรกำลังจะตามมา การเขียนบทในยุคนี้จึงต้องปรับให้หักมุมแม้จะเป็นพล็อตเดิมๆ ก็ตาม เพื่อให้คนดูสนุกที่เนื้อเรื่องผิดจากการคาดเดา อีกหนึ่งเรื่องสำคัญคือไม่จำเป็นต้องเขียนบทให้ตัวละครพูดสั่งสอนคนดู เพราะคนดูเข้าใจว่าสิ่งไหนดี สิ่งไหนควรทำอยู่แล้ว
สูตรเขียนบท ทฤษฎีนอกตำราเพราะมาจากการทำงานจริง
วิธีการเขียนบทละครโทรทัศน์ อาจหาได้จากวิชาเรียนในมหาวิทยาลัย ทั้งหลักการเขียน การเล่าเรื่องละครแต่ละแนว แต่เมื่อได้ลงมือทำงานจริงๆ บทละครยังมีสูตรที่ต้องเรียนรู้อีกมาก พี่หนึ่งและพี่โอ๊ะได้แบ่งปันทฤษฎีนอกตำราไว้หลายข้อ เริ่มต้นจาก
“การหาแรงบันดาลใจ” ด้วยการไปคลุกคลีกับเรื่องที่จะเขียน อย่าดูถูกคนดูว่าเขาจะดูไม่ออกว่าคนเขียนบทเขียนจากการคิดเอง แต่ต้องหาความรู้ในเรื่องนั้นๆ ให้ครบถ้วน ถึงแม้เวลานำมาทำเป็นบทจะเลือกใช้แค่บางอย่างก็ตาม
“ก่อนเขียนบทต้องดูบริบท” ก่อนเขียนเราต้องมองภาพรวมก่อนว่า นักแสดงเป็นใคร แสดงได้แค่ไหน ละครออกอากาศช่องทางใด เวลาอะไร ถ้าออกอากาศทางช่องปกติในเวลาไพรม์ไทม์ที่มีเยาวชนดู ความแรงของเรื่องก็ต้องลดลง เช่น เรื่องสงครามนางงาม 1 และ 2 ที่ความเผ็ดร้อนของเรื่องต่างกัน เพราะถูกช่วงเวลาในการออกอากาศและช่องทางเผยแพร่ควบคุมเอาไว้
“นึกถึงเส้นศีลธรรมที่ตรึงไว้เสมอ” เป็นกรอบที่กำหนดให้คนเขียนบทไม่ออกไปนอกเส้นด้วยศีลธรรมอย่าง ทำดีได้ดีทำชั่วได้ชั่ว กฎแห่งกรรม คนเขียนจะล้ำเส้นตรงนี้ไปไม่ได้ ต้องอยู่ในกรอบความเชื่อของสังคม
“จัดสรรเวลาให้เป็น” เป็นความยากอันดับต้นๆ ในการทำงาน เวลาจะเป็นตัวบีบในการทำงาน ถ้าเป็นละครยาวจะมีช่วงเวลาพัก แต่ถ้าเป็นซิทคอมคนเขียนบทจะไม่มีช่วงได้พักเลย คนเขียนบทจึงต้องมีวินัยและจัดสรรเวลาให้เป็นเพื่อให้บทเสร็จทันเปิดกล้อง
“ทำงานเป็นทีม” การเขียนบทละครไม่ใช่งานเดี่ยว แต่เป็นงานกลุ่ม มีทีมเขียนบทที่ช่วยกันคิดไอเดียขึ้นมา เพราะฉะนั้นจะเอาความคิดตัวเองเป็นที่ตั้งอย่างเดียวไม่ได้ ต้องฟังเพื่อนร่วมงานด้วย
รักจะเป็นนักเขียนบทละครก็ต้องลองและลุย
สำหรับนักเขียนบทละครมือใหม่ที่อยากให้ผลงานตัวเองเป็นที่ต้องตาคนทำงานด้านนี้ พี่หนึ่งและพี่โอ๊ะแนะนำแบบเดียวกันว่าจะต้องลงมือเขียนและเอางานไปเสนอกับผู้จัดละคร อาจจะทำบทจากนิยายที่ชอบก่อนก็ได้ เพื่อให้เขาได้เห็นทักษะการเขียนบทของเรา นักเขียนทั้งสองยังแอบบอกมาด้วยว่าอาชีพนี้ถึงจะต้องให้เวลากับงานมาก แต่รายได้ดี และมีผู้จัดละครอีกมากที่ต้องการนักเขียนบทละคร ยิ่งในยุคที่สถานีโทรทัศน์มีมากมายหลายช่องด้วยแล้ว อาชีพนักเขียนบทละครยิ่งเป็นที่ต้องการ ถ้ามั่นใจว่าเราต้องการเดินในทางสายนี้ ต้องแสดงฝีมือให้คนอื่นเห็น
เพราะไม่มีใครหรอกที่ไม่อยากทำงานกับคนเก่ง
พี่ตองก้า