เผยเคล็ดลับแต่งเพลงยังไงให้ได้ดั่งใจ
การฟังเพลงคือวิธีการผ่อนคลายอย่างหนึ่ง ทั้งดนตรีและเรื่องราวในเพลงจะช่วยเยียวยาจิตใจของเราให้ผ่อนคลายขึ้น เพลงที่เพราะจึงมีประโยชน์ต่อความรู้สึกอย่างมาก นั่นเป็นเพราะว่าส่วนหนึ่งเป็นผลงานของ ‘คนแต่งเพลง’ ที่สามารถทำหน้าที่ในเพลงนั้นๆ ได้เป็นอย่างดี ทำให้ใครหลายคนที่มีเรื่องราวอยู่ในใจมากมายอยู่แล้ว อยากจะถ่ายทอดออกมาผ่านบทเพลงในฐานะคนแต่งเพลงบ้าง
อุทยานการเรียนรู้ TK park จัดกิจกรรม TK (S)park Learning Festival เฟสติวัลแห่งการเรียนรู้และแลกเปลี่ยนประสบการณ์จากนักคิดหลากหลายสาขา ที่จะมาจุดประกาย ถ่ายทอดเคล็ดลับ เร่งสร้างไอเดีย เฟ้นหาความคิดสร้างสรรค์ใหม่ๆ และในครั้งนี้ก็มาช่วยตอบคำถามที่ว่า อยากแต่งเพลงเริ่มจากตรงไหน? แต่งเพลงง่ายนิดเดียวจริงหรือ? เจอทางตันแต่งเพลงไม่ออกทำอย่างไร? ในกิจกรรม แต่งเพลงยังไงให้ได้ดั่งใจ ที่มาตอบคำถามโดยศิลปินและนักแต่งเพลงมากประสบการณ์อย่าง กอล์ฟ Superbaker (ประภพ ชมถาวร) ศิลปินและนักแต่งเพลงเจ้าของผลงาน ‘Minute of Love’ และ ตั้ม Monotone (สถาปัตย์ ธีรนิตยภาพ) ศิลปินและนักแต่งเพลงเจ้าของผลงาน ‘อยู่ต่อเลยได้ไหม’ ของ สิงโต นำโชค ที่จะมาแบ่งปันประสบการณ์ส่วนตัว เทคนิคการเรียบเรียงความคิด และตัวช่วยที่สร้างความน่าสนใจให้บทเพลง สู่อาชีพนักแต่งเพลงที่สร้างสรรค์ผลงานดีๆ ให้กับคนฟัง
เริ่มต้นสนใจการแต่งเพลงตั้งแต่ตอนไหน
กอล์ฟ: ตอนเด็กๆ ผมจะเก่งเรื่องกลอนมาก เพื่อนจะให้มาช่วยแต่งตลอด จะชอบตามไปดูคอนเสิร์ตตามที่ต่างๆ จนได้ไปดูรายการทีวีที่สัมภาษณ์ พี่แอม เสาวลักษณ์ เกี่ยวกับการแต่งเพลง ก็เลยลองเขียนให้พ่อแม่ดู แต่จำไม่ได้ว่าเป็นเพลงแนวไหน และเริ่มต้นจากการได้รู้จักนักแต่งเพลงที่เก่งๆ อย่างพี่ดี้ นิติพงษ์ พี่จิก ประภาส พี่เต๋อ เรวัต ผมเป็นเด็กที่นั่งหน้าจอเปิดรายการเพลง คือจะไม่สนใจว่าเล่นยังไง แต่จะสนว่าแต่งยังไง การเขียนคำอย่างไร ไปดูหนังสือเพลงว่าใครเป็นคนแต่ง สนใจคนเบื้องหลังมากกว่า
ตั้ม: ผมน่าจะคล้ายๆ กัน การเป็นนักแต่งเพลงจะเริ่มจากการเป็นนักฟังมาก่อน เราจะชอบอะไรบางอย่างของเพลง มียุคหนึ่งที่ชอบวงฝรั่งเท่ๆ แล้วพาตัวเองเข้าไปอยู่ในโลกของเพลงนั้นๆ ตอนเด็กๆ ผมจะเป็นสายวาดเขียน ตอนประมาณม.2 ก็ขอพ่อซื้อกีตาร์ ก็เลยมาหัดเล่นเพลงเพราะๆ ในยุคนั้นอย่างของอัสนี วสันต์ แต่ยังไม่เคยเขียนเลย พอตอนมหาลัยทำละครก็อยากเข้าห้องอัดเพลง แต่สุดท้ายก็ไม่ใช่คนที่เล่นดนตรีเก่ง ร้องเพลงก็ไม่ได้ เลยต้องเขียนเพลง
หลังจากที่เริ่มสนใจแล้ว มีวิธีการศึกษาการแต่งเพลงอย่างไร
กอล์ฟ: ผมจะเป็นแนวศึกษาเพลงดูว่าเขาคิดยังไง ผมจะฟังแล้วดูว่าเขาใช้คำนี้ได้ยังไง ทำไมเทคนิคนี้ถึงดีจังเลย แต่เราจะทำเหมือนเขาหรือเปล่าก็อีกเรื่องหนึ่ง จะมีต่อมที่ว่าฟังเพลงนี้แล้วเพราะจัง และมีต่อมที่วิเคราะห์ว่าทำไมเพลงนี้ถึงเพราะ ถ้ามันดีก็จะฟังไม่หยุดเลย
ตั้ม: เพลงแรกที่ฟังแล้วทำให้อยากเป็นนักแต่งเพลงคือเพลง ‘รอรัก’ ของ เบิร์ดกะฮาร์ท ซึ่งเขาสามารถเขียนเพลงได้ไม่เหมือนในตลาดทั่วไปในยุคนั้น จะใช้วิธีฟังแบบบางทีก็ได้วิเคราะห์ ฟังบางทีก็ได้อารมณ์
จำเพลงแรกที่แต่งจนจบเพลงได้ไหม
กอล์ฟ: ตอนมหาวิทยาลัยมีจุดเปลี่ยนคือการรวมวงกับเพื่อน แล้วผมเป็นนักร้องนำ ซึ่งยุคนั้นนักร้องนำวงของฝรั่งจะแต่งเพลงเองหมดเลย และไอดอลนักแต่งเพลงของเราในตอนนั้นเขาจะบอกว่าใครๆ ก็ทำได้ ผมก็เลยลองดู จนแต่งสำเร็จ ซึ่งเป็นเพลงจีบสาวล้วนๆ ยุคนั้นเป็นยุครุ่งเรืองของการส่งเดโม ก็อัดเดโมใส่เทปส่งไปที่ค่ายแกรมมี่ เขาก็ตอบกลับมาว่าไม่รับ แล้วก็ส่งไปที่ค่ายโซนี่ เพราะว่าพี่ป้าง นครินทร์ กำลังดังมาก ปรากฏว่าวงไม่ผ่าน แต่เขาเห็นว่าเราเขียนเพลงได้ พี่โป-โปษยะนุกูล ก็ให้เขียนเพลงให้ ซาร่า ผุงประเสริฐ เป็นครั้งแรกที่ได้เงินค่าเขียนเพลง
ตั้ม: ตอนนั้นต้องทำเพลงละคร เข้าห้องอัดไปโดยไม่มีเนื้อเลยด้วยซ้ำ คือไปอัดดนตรีก่อนแล้วมานั่งเขียนเนื้อหน้าห้องอัด เพราะยังไงก็ต้องเสร็จ งบประมาณก็จำกัด ด้วยความที่ไม่เคยทำมาก่อน เลยไม่มีกรอบว่าต้องสื่อสารกับใคร โจทย์ก็คือทำให้เสร็จเป็นเพลงก็พอ กรอบเดียวที่มีคือเวลา จากเพลงละครก็เขียนเพลงอื่นๆ ขึ้นมาอีก แต่เมื่อกลับไปฟังเพลงตัวเองแต่ก่อนจะรู้สึกประหลาด ไม่รู้ว่าตอนนั้นคิดอะไรอยู่ คนเราย่อมมีเพลงแรก เพลงต่อไปอาจจะไม่ดี แต่ต้องมีสักเพลงที่ดีแน่นอน หรือมันอาจจะไม่มีอีกแล้วก็ได้ พี่หนึ่ง Sleeper 1 บอกผมไว้แบบนั้น
หลังจากที่เป็นนักแต่งเพลงเต็มตัวแล้ว มีอุปสรรคอะไรบ้างที่ต้องก้าวข้าม
ตั้ม: เคยมีเพื่อนนักแต่งเพลงคนหนึ่งสอนว่า เวลาเรามองของสิ่งหนึ่งจะเห็นด้านครบทุกด้านก็ต่อเมื่อมองมันโดยรอบ แต่เราไม่สามารถเห็นได้ทุกด้านด้วยการมองเพียงครั้งเดียว ก็เหมือนการแต่งเพลง ถ้าคุณเรียกสิ่งนี้ว่าความรักก็สามารถมองได้หลายด้าน แต่เราจะไม่สามารถเห็นหลายด้านได้พร้อมกัน คือไม่ต้องกังวลมากไปว่าจะซ้ำหรือไม่ซ้ำ เพราะว่าพอทำๆ ไปแล้วจะเรียนรู้เอง อย่างวิธีที่จะเปลี่ยนกรูฟหรือปรับโหมดเองได้
กอล์ฟ: พอเรามาเป็น Superbaker แล้ว ทำให้มีสิ่งที่เป็นลายเซ็นอยู่ พอทำอัลบั้มต่อๆ ไป ก็ต้องพยายามให้เป็นรสชาติเดิมซึ่งยาก ผมต้องไปทำการบ้านว่าเป็นความรักเหมือนเดิม แต่ต้องพูดมุมไม่เหมือนเดิม อย่างชุดแรกมีเพลงชื่อ ‘บ้านของหัวใจ’ ถ้าผมพูดใหม่ก็ต้องเปลี่ยนแว่นในการมอง จนได้เพลง ‘เขิน’ ออกมา แต่คนฟังอาจจะรู้ว่าเหมือนเดิม แต่จริงๆ ผมพยายามให้ไม่เหมือนเดิม ด้วยจังหวะดนตรีหรือมุมมอง ซึ่งก็ยากทุกเพลง เพราะคอนเซปต์ของวงและเพลงจะต้องเหมือนเดิมและไม่เหมือนเดิมด้วย
อะไรคือความยากของการแต่งเพลงในยุคนี้
กอล์ฟ: ยุคนี้ไม่ต้องกังวลว่าจะฮิตหรือไม่ฮิตแล้ว เขียนในแบบที่ตัวเองอยากเขียนก่อน เพลงเป็นเรื่องของการเป็นตัวเองแล้วใครทำออกมาได้ดีที่สุดคนนั้นก็สำเร็จ ง่ายที่สุดคือเขียนเรื่องที่เราถนัดที่สุด รู้ที่สุด และล้นอยู่ในใจ ไม่ต้องห่วงว่ามันคมหรือไม่คม เขียนให้เป็นเราก็พอ อย่าง Superbaker จะออกแบบมาเพื่อให้ทุกคนมีความสุข ทำให้ทุกคนยิ้มได้ ไม่ได้จุดพลุเพื่อให้ดัง แต่สามารถฟังได้ตลอดเวลา คู่รักส่งต่อให้กันได้
อยากให้แนะนำเทคนิคเวลาที่แต่งไม่ออกต้องทำอย่างไร
ตั้ม: หลายคนอาจจะเคยเป็นว่า ตอนเริ่มเขียนเพลง จรดปากกาไปแล้ว แต่ยังไม่รู้ว่าจะเขียนอะไร คืออารมณ์มา แต่ไม่มีเรื่องจะเขียน พอตันบ่อยๆ ก็เหมือนสนิมที่เกาะ ทำให้ไหลออกมายาก ผมก็เคยเป็นบ่อยๆ ซึ่งไม่ใช่วิธีที่ถูก วิธีที่ดีคือถ้าคิดอะไรได้ต้องเขียนเลย ให้ตัวหนังสือพาไป เขียนอะไรก็ได้ที่นึกถึงตอนนั้น ยิ่งถ้ามีสมุดบันทึกเรื่องของตัวเองก็ยิ่งไม่มีถูกผิด มีหลายเรื่องที่สามารถดึงมาใช้ แต่ก็ไม่จำเป็นต้องดึงมาทั้งหมด อย่างผมก็แก่แล้ว ทำงานก็มีกรอบของเวลาของโจทย์ที่มาตัดสินเพลงเรา เวลาที่ตันก็ใช้ประสบการณ์ในการแก้ปัญหาไป
กอล์ฟ: ถ้าเป็นเรื่องที่เราอินมากๆ ที่สุดในชีวิต จะทำให้เขียนออกมาง่ายและดีด้วย ขอให้แม่นเรื่องที่เราเขียนไว้ ต้องตั้งเป้าหมายในเพลงว่าสิ่งที่คาดหวังจะเป็นอย่างไร เช่น อยากเขียนเพลงให้เธอคนนั้นมารักเราบ้าง เราก็ต้องคิดให้ได้ว่าสิ่งที่เราสื่อสารพอหรือยัง สามารถจูงใจเธอได้ไหม จะทำให้มีการเช็คโดยอัตโนมัติว่ามันใช่หรือยัง ส่วนตัวถ้าตัน ผมต้องกลับมาให้กำลังใจตัวเอง เพราะเราเริ่มเครียดกับสิ่งที่ทำ ต่อให้เป็นงานที่ชอบยังไง ถ้าต้องเริ่มทำซ้ำๆ ก็อาจจะเริ่มเบื่อ วิธีเดียวคือกลับไปจุดไฟให้ตัวเอง เหมือนผมที่ไปทำวงร็อกก็ต้องเอาให้สุด สิ่งที่ผมทำบ่อยคืออิจฉาคนอื่น ไม่ได้ทำร้ายเขานะ แต่มองว่าทำไมคนนี้ทำเพลงเพราะจัง ทุกคนต้องเป็นนักฟังเพลงก่อนจะแต่งเพลง ผมเชื่อว่า input สำคัญ ต้องฟังเพลงแนวที่อยากแต่งเยอะๆ
มีสูตรสำเร็จในการแต่งเพลงให้ดีไหม
กอล์ฟ: อย่าเพิ่งคิดว่าเพลงนี้จะออกไปสู่สาธาณชน คิดแค่ว่าจะเขียนให้ใครฟัง เช่น ชอบเพื่อนคนนี้มากก็นึกถึงคนนี้ไว้ เนื้อเพลงจะไม่หลุดไปไหน ถ้าเราเขียนได้สุดทางที่เรารู้สึก คนที่อินเรื่องนี้จะชอบเอง ส่วนเรื่องฮิตไม่ฮิต เขียนๆ ไปจะรู้วิธีขัดเกลาเอง วิธีคิดคือถ้าอยากให้ผู้รับส่งถึงกันก็ต้องใส่เศษเสี้ยวนิสัยเราเข้าไปในเพลงด้วย บางเรื่องก็ไม่ได้เริ่มจากเรา แต่ต้องใส่มุมมองส่วนตัวเข้าไปด้วย คิดเผื่อว่าใหญ่พอหรือยังให้คนส่งต่อ สูตรของผมคือเขียนเรื่องใหญ่ๆ เล่าให้เล็กๆ อย่างเพลง ‘ออกซิเจน’ เป็นเรื่องใหญ่ที่ถ้าไม่เจอเธอจะถึงตาย แต่ผมก็เล่าว่าเธอเป็นออกซิเจน เธอเป็นลมหายใจของฉัน แล้วมาประกอบกับทำนองที่มีไว้แล้ว สูตรต่อไปคือ ได้เรื่องแล้วก็ควรคิดท่อน Hook มาก่อน เพราะมันคือเมนไอเดียทั้งหมด เสร็จแล้วค่อยไปท่อน Verse ที่จะต้องดึงคนเข้าหาเพลงให้มากที่สุด ต้องคมและทึ่มแทงที่สุด เหมือนการสร้างบรรยากาศ สุดท้ายจึงไปสู่ท่อน Pre Hook ที่สานต่อ ชงเข้ามาสู่ท่อน Hook ที่เป็นเนื้อหาหลักทั้งหมดของเพลง
ส่วนตัวรู้สึกว่าช่วงเวลาไหนที่แต่งเพลงได้ดีที่สุด
กอล์ฟ: ผมจะเป็นตอนเช้าที่อาบน้ำ ตอนที่น้ำลงหัวเลย เพราะหลังจากที่ตื่นเช้ามาจะลืมว่าเมื่อวานทำอะไรไป ตอนคิดงานจะปลอดโปร่ง นึกคร่าวๆ ได้ก็จะรีบมาเขียน
ตั้ม: เวลาที่ทำแล้วทำไม่ได้ คือจะมีความเครียดขึ้นมา แค่หันไปทำอย่างอื่น เดินไปมุมอื่นบ้าง เปลี่ยนที่ทำงานบ้าง เปลี่ยนบรรยากาศ แต่ถ้าตันจริงๆ ก็ฟังเพลงคนอื่นเพื่อล้างสิ่งที่ตันๆ อยู่ในหัว
ถ้าแต่งเพลงออกมาแล้วรู้สึกไม่ชอบ ต้องทำอย่างไร
กอล์ฟ: ต้องค้นหาสาเหตุของมัน ว่าเกิดขึ้นเพราะอะไร หรือว่าจริงๆ เราชอบแล้ว หรือแค่นึกว่าไม่ชอบ เป็นมายาคติหรือเปล่า ต้องดูว่าคนที่ฟังเชื่อได้ไหม เพราะคนไทยไม่ชอบพูดอะไรตรงๆ
ตั้ม: ต้องกลับมาดูว่าไม่ชอบเพราะอะไร เราก็พยายามอย่าให้เป็นแบบนั้นอีก แต่งานศิลปะไม่จำเป็นต้องดีที่สุด ตอนทำเพลงแรกๆ ก็ให้คนฟังไม่กี่คน ก็จะสามารถชี้วัดบางอย่างได้ สิ่งที่ผมพยายามทำคือถ้าเจอใครที่สนิทก็จะให้เขาฟัง ผมจะไม่ค่อยแคร์ว่าจะดีพอหรือยัง แต่ถ้าถึงเวลาที่ต้องเสร็จแล้วเราทำดีที่สุดก็โอเคแล้ว
วิชญ์พล พลพิทักษ์ชัย