เคล็ดลับในการสมัครงาน เปิดเส้นทางสู่อาชีพในฝัน
นอกเหนือไปจากการได้ทำงานที่ถนัดและรักแล้ว การได้ทำงานในบริษัทที่ดีคือสิ่งที่ทุกคนใฝ่ฝัน แต่การที่จะได้เข้าไปทำงานในบริษัทที่ต้องการได้ จำเป็นต้องผ่านการสมัครงานตามระเบียบขั้นตอนของฝ่ายบุคคลของบริษัท ตั้งแต่การส่งประวัติ ทำแบบทดสอบ ไปจนถึงการสัมภาษณ์งาน แน่นอนว่าไม่ใช่เรื่องง่ายสำหรับใครหลายคน
ในโอกาสฉลองก้าวสู่ปีที่ 11 อุทยานการเรียนรู้ TK park กับ กิจกรรมฉลองครบรอบ 11 ปี TK: Dream Maker จึงได้จัดกิจกรรมเสวนาที่ชื่อว่า Dream for Imaginative Life สร้างความประทับใจ เบิกทางไปสู่อาชีพในฝัน การเสวนาว่าด้วยเคล็ดลับพื้นฐานและการเตรียมตัวที่ควรรู้ในการสมัครงาน โดย คุณบี - ชนาภรณ์ ฉันทประทีป เจ้าของประสบการณ์กว่า 16 ปีในงาน HR บริษัทยักษ์ใหญ่หลายแห่ง อาทิ Kimberly-Clark Thailand, PepsiCo ที่มาร่วมเปิดโอกาสความรู้ใหม่ๆ เพื่อเพิ่มโอกาสประสบความสำเร็จในการสมัครงาน
สิ่งแรกที่คุณบีเกริ่นก่อนจะไปศึกษาขั้นตอนต่างๆ ในการสมัครงาน นั่นคือการค้นหาตัวเอง ต้องรู้ใจตัวเองก่อนว่าอยากทำอะไร เพื่อหางานที่ชอบและอยากจะทำจริงๆ ซึ่งจะส่งผลต่อความสุขในการทำงานต่อไปได้
การเขียน CV ให้ถูกใจ HR
โดยทั่วไปของการรับสมัครงาน องค์กรใหญ่ที่มีการจ้างพนักงานจำนวนมาก จะเลือกแต่คนที่มีความสามารถจริงๆ เท่านั้น จึงมีขั้นตอนการคัดเลือกที่ละเอียด อย่างแรกเลยที่บริษัทจะดูคือ CV (Curriculum Vitae) หรือประวัติส่วนตัว จากประสบการณ์ของคุณบีจะใช้เวลาในการดูแค่ไม่เกิน 5 วินาทีเท่านั้น เพราะรู้อยู่แล้วว่างานนี้ต้องการคนแบบไหน เพราะจำนวนคนสมัครที่เยอะมาก การคัดกรองจาก CV ก็สามารถตัดตัวเลือกไปได้เกือบครึ่งหนึ่งแล้ว ก่อนมาสู่ขั้นตอนการทำแบบทดสอบและสัมภาษณ์ จนได้คนที่เหมาะสมกับงานนั้นจริงๆ
หลายคนอาจกังวลในการเขียน CV ครั้งแรก ว่าจะต้องใส่ข้อมูลอย่างไร มาดูกันว่าสิ่งที่บริษัทต้องการประกอบไปด้วยอะไรบ้าง
1.ข้อมูลทั่วไป
ประกอบไปด้วย ชื่อ นามสกุล, ที่อยู่, เบอร์โทรศัพท์, อีเมล และสัญชาติ ซึ่งสัญชาติมีความสำคัญ เพราะสำหรับคนที่สมัครเรียนต่อต่างประเทศหรือสมัครงานกับกลุ่มบริษัทที่ไม่ ใช่คนไทย จะใช้การพิจารณาจากส่วนนี้
2.ระดับการศึกษา
ประกอบไปด้วยชื่อสถานศึกษา, คณะ, สาขาวิชา, เกรดเฉลี่ย, เมือง, รางวัลและกิจกรรมที่เข้าร่วม โดยเรียงลำดับจากปัจจุบันไปหาอดีต
3.ประสบการณ์ทำงาน
วิธีเขียนประสบการณ์การทำงานให้น่าสนใจมากขึ้น คือแทนที่จะบรรยายว่าเราทำหน้าที่อะไร ให้บอกว่าเราทำอะไรสำเร็จบ้าง และใช้ตัวเลขในการอธิบายยอดต่างๆ เพื่อให้เห็นความสำคัญของงานที่เราเคยทำ เช่น ไม่ควรบอกว่าสร้างยอดขายได้มาก ให้ใส่เป็นสร้างยอดขายได้ 200 ล้านแทน
4.ความสามารถพิเศษ
ประกอบไปด้วยทักษะความสามารถพิเศษต่างๆ ที่เรามี เช่น การใช้คอมพิวเตอร์ขั้นสูง การใช้ภาษาที่สองและสามในการสื่อสารได้ หรือทักษะอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับตำแหน่งงานที่สมัคร
5.งานอดิเรกและความสนใจ
ไม่จำเป็นต้องใส่ทั้งหมด มีเคล็ดลับสำคัญคือถ้าหากใส่งานอดิเรกและความสนใจไปแล้วทำให้เราดูดีมากขึ้น อย่างเช่นเคยประกวดร้องเพลงได้รางวัล ให้ใส่ลงไป เพราะอาจมีผลต่อการพิจารณาในเรื่องบุคลิกและความกล้าแสดงออก แต่ถ้าเป็นแค่ความชอบทั่วไป อย่างชอบเล่นกีฬาเฉยๆ ก็ไม่ควรใส่ลงไป
6.บุคคลอ้างอิง
ถ้ามีคนรู้จักที่เป็นเป็นญาติที่เกี่ยวข้องกับบริษัทหรือเป็นผู้ถือหุ้นก็ ควรใส่ชื่อบุคคลนั้นลงไป แต่ส่วนใหญ่แล้วบริษัทต่างชาติจะไม่สนใจในส่วนนี้ แต่สำหรับนักศึกษาที่เพิ่งจบใหม่ แนะนำให้ใส่ชื่ออาจารย์ หรือคนที่ทำงานมาแล้วอาจใส่ชื่อเจ้านายเก่าก็ได้
เคล็ดลับการทำ CV ให้ดูเป็นมืออาชีพ
- ไม่ต้องใส่ข้อมูลส่วนตัว เช่น อายุ, ศาสนา, ส่วนสูง, น้ำหนัก และสุขภาพ
- อย่าใช้คำว่า ‘I’ หรือ ‘ฉัน’ นำหน้าประโยค
- ไม่ต้องติดรูปถ่าย (ถ้าเป็นบริษัทต่างประเทศจะไม่สนใจรูปถ่ายเลย เพราะว่าถ้าตัวจริงดูแย่กว่าในรูป อาจส่งผลต่อความรู้สึกของผู้ที่รับสมัครได้ แต่บริษัทของคนไทยสามารถติดรูปถ่ายได้)
- ใช้ bullets ในการเขียนหัวข้อ แทนที่การใช้ลำดับเลข
- ห้ามใช้ภาษาผิดไวยากรณ์
- ไม่ควรเขียนยาวเกิน 1 หน้า หรือถ้ามีประสบการณ์การทำงานมาแล้ว ก็ไม่ควรเกิน 1 หน้าครึ่งถึง 2 หน้า
การสัมภาษณ์งานให้ชนะใจ HR
ปกติแล้วบริษัทที่จะรับคนเข้าทำงาน จะไม่ได้มองหาแค่คนที่มีความสามารถเพื่อมาร่วมงานเท่านั้น แต่บริษัทมองหาคนที่มีพร้อมในทุกๆ ด้าน เพื่อตอบสนองหน้าที่ที่ต้องรับผิดชอบให้ได้มากที่สุด มาดูกันว่ามีสิ่งใดบ้าง
1.Brain ประสิทธิภาพของสมอง ว่าสามารถทำงานอะไรได้บ้าง มีความรู้แค่ไหนกับงานที่ทำ มีการวิเคราะห์และแยกแยะเป็นเหตุผลได้ชัดเจนขนาดไหน
2. Choices เป็นตัวเลือกที่ดีที่สุดเสมอ สมมติมีคนสมัครงานอยู่ 2 คน มีความสามารถเท่ากันทุกอย่าง คนหนึ่งบอกว่ามีพ่อแม่ที่อายุมากแล้ว ไม่สามารถกลับบ้านดึกได้ เพราะต้องกลับบ้านไปดูแลพ่อแม่ แต่คนที่สองไม่มีภาระเรื่องใดๆ สามารถทำงานได้อย่างเต็มที่ บริษัทก็ต้องเลือกคนที่สองแน่นอน เพราะบริษัทรู้ว่าเขาต้องการอะไรในชีวิต บริษัทจึงจะตอบสนองได้ ทำให้เขาอยากอยู่ทำงานกับบริษัทไปนานๆ
3.Effectiveness ความคล่องตัวในการทำงานหลายอย่างในเวลาเดียวกัน ทักษะในการตัดสินใจ และความสามารถในการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้า
4.Resume ทำหน้าที่เป็นเพียงสิ่งที่อยู่ในกระเป๋า เพื่อดูว่าเคยทำอะไรมาก่อนเท่านั้น แต่สิ่งที่บริษัทจะดูคือระบบความคิด ความรู้ สิ่งที่ใจต้องการ และสุดท้ายคือทำงานได้จริงไหม
การตอบคำถามขณะสัมภาษณ์เป็นปัจจัยที่ช่วยในการพิจารณารับเข้าทำงานในขั้นสุด ท้าย ซึ่งมีความสำคัญที่สุด ต่อไปนี้คือสิ่งที่คุณบีแนะนำในการคิดและเลือกตอบคำถามอย่างฉลาดและถูกต้อง
อดีตที่เกิดขึ้นของผู้สมัครงาน สามารถทำนายอนาคตที่จะเกิดขึ้นต่อหน้าที่ในงานใหม่ได้ ยกตัวอย่างให้เห็นภาพชัดเจนได้ว่า สมมติเราอยากพนันม้าสักตัวหนึ่ง เราจะรู้ได้อย่างไรว่าม้าตัวไหนจะชนะ เราก็ดูจากสถิติเก่าๆ ของม้าตัวนั้น ว่าชนะมามากขนาดไหน หรือการเลือกมหาวิทยาลัย เราก็เลือกมาจากชื่อเสียงที่สั่งสมมาและผลงานของคนที่เรียนจบมาก่อน เพราะอดีตเคยทำอะไรมา อนาคตก็น่าจะทำคล้ายๆ กัน
การตอบคำถามที่ดีในการสัมภาษณ์คือการเล่าถึงเหตุการณ์ที่เคยเกิดขึ้นมาแล้ว อย่าพูดภาพรวม ให้ยกตัวอย่างมาเล่าว่า เราสามารถแก้ไขปัญหาเหล่านั้นได้อย่างไร ตามเทคนิคที่เรียกว่า STAR technique
Situation / Task เกิดอะไรขึ้น
Action เราทำอะไร
Result ผลเป็นอย่างไร
ยกตัวอย่างเช่น มีผู้สมัครงานคนหนึ่ง เคยตกอยู่ในสถานการณ์ที่โรงงานไฟไหม้ เขาเล่าว่าตอนนั้นพยายามตั้งสติ โทรเรียกรถดับเพลิง แล้วหาทางพาพนักงานทุกคนออกจากโรงงาน ผลก็คือจากค่าเสียหายไฟไหม้ที่น่าจะเสียหายเป็นล้านก็เหลือเพียงแค่หลักแสน และยังช่วยให้พนักงานทุกคนปลอดภัยอีกด้วย บริษัทจะเห็นแล้วว่า ถ้าอนาคตเกิดเรื่องใหญ่เช่นนี้ขึ้น ผู้สมัครงานคนนี้ก็จะสามารถจัดการได้ เพราะเคยผ่านประสบการณ์ครั้งใหญ่มาก่อนแล้ว
เมื่อบริษัทถามว่า “คุณมีข้อดีอะไร ทำไมจึงต้องรับคุณเข้าทำงาน” คนส่วนใหญ่มักจะตอบคล้ายๆ กันว่า “ทำงานเป็นทีมได้ เรียนรู้ไว แก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าได้ดี” ซึ่งในมุมมองของคนสัมภาษณ์อย่างคุณบีจะรู้สึกเฉยๆ กับคำตอบเหล่านี้ ดังนั้นสิ่งที่จะช่วยให้คำตอบเหล่านี้ดูน่าเชื่อถือมากขึ้น คือการยกตัวอย่างให้เห็นว่า เราเคยทำงานเป็นทีมได้จริงอย่างไร เรียนรู้เร็วอย่างไร หรือแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าได้ดีอย่างไร จึงควรเตรียมคำตอบในลักษณะเหตุการณ์ที่เคยผ่านมาแล้วและมีเหตุผลรองรับ จะช่วยให้คำตอบน่าเชื่อถือมากขึ้น
วิชญ์พล พลพิทักษ์ชัย