เส้นทางสู่การแจ้งเกิดบนโลกออนไลน์
‘โลกออนไลน์’ ทุกวันนี้เปรียบเสมือนโลกอีกโลกที่ทุกคนต่างเข้าไปใช้ชีวิตและมีตัวตน ไม่ต่างจากโลกความจริงที่เราอาศัยอยู่ น่าสนใจว่าโลกออนไลน์และโลกความจริงต่างเดินคู่ขนานไปด้วยกันและสร้างผล กระทบซึ่งกันและกันอย่างน่าอัศจรรย์ เพียงแค่เราโพสต์หรือสร้างสรรค์อะไรสักอย่างที่เป็นประโยชน์ขึ้นมาในโลกออ นไลน์ ตัวตนจริงๆ ของเราก็ได้รับผลตอบรับที่ดีไปด้วย ขณะเดียวกันหากเราเผลอไปทำอะไรไม่ดีไว้ในโลกออนไลน์ ตัวตนจริงๆ ของเราก็อาจได้รับผลกระทบในเชิงลบเช่นกัน
หลายครั้ง โลกออนไลน์ได้เป็นที่ปลดปล่อยผลงานสร้างสรรค์ของคนยุคใหม่ให้เข้าถึงผู้คน ได้วงกว้างอย่างทรงประสิทธิภาพมากที่สุด และหากยิ่งผลงานนั้นๆ มีคุณภาพและสร้างสรรค์จริง เจ้าของผลงานอาจสามารถแจ้งเกิดจนประสบความสำเร็จได้อย่างไม่ยากเย็น
เอิ๊ต - ภัทรวี ศรีสันติสุข นักร้องสาวเจ้าของเสียงร้องอันเป็นเอกลักษณ์ในแชลแนล WishesontheEarth ในยูทูบที่โคเวอร์เพลงดังมาแล้วมากมาย ก่อนจะแจ้งเกิดเป็นศิลปินเต็มตัวภายใต้สังกัดแกรมมี่ ซิงเกิลอย่าง ‘Sky&Sea’ มีผู้ฟังและชมกว่า 36 ล้านวิวในยูทูบ
นพ.วิภาส สุภัครพงษ์กุล นายแพทย์หนุ่มเจ้าของแอคเคาต์ในทวิตเตอร์ @guplia หรือ พี่เพลีย ด้วยคารมยียวนในการทวีต จนทำให้มีฟอลโลเวอร์กว่าแสนคน ก่อนจะแจ้งเกิดเป็นเจ้าของพ็อกเก็ตบุ๊ก ‘#เรียนหมอหนักมาก It's Not Easy to Be Doctor.’ ที่เล่าเรื่องราวชีวิตการเป็นนักเรียนแพทย์ตั้งแต่สอบติดจนถึงเรียนจบ
หนุ่มสาวทั้งสองคนนี้คือตัวอย่างของคนรุ่นใหม่ที่สามารถแจ้งเกิดในโลกออ นไลน์ ซึ่งได้มาร่วมเสวนาในกิจกรรม “TK แจ้งเกิด Fest 2015: แจ้งเกิด เปิดโอกาส” ในหัวข้อ “โอกาสใหม่ในโลกออนไลน์” กับ เส้นทางการแจ้งเกิดในโลกออนไลน์ผ่านการใช้ความคิดสร้างสรรค์และตัวตน ที่จะเป็นแรงบันดาลใจให้คนรุ่นใหม่ที่อยากแจ้งเกิดได้เรียนรู้จากประสบการณ์ ของทั้งสอง
จุดเริ่มต้นก่อนที่จะแจ้งเกิดในโลกออนไลน์เกิดขึ้นได้อย่างไร
เอิ๊ต: เมื่อประมาณ 2 ปีที่แล้ว เห็นเพื่อนทำแชลแนลลงในยูทูบ ทำให้อยากลองอัดเพลงแบบไม่หรูหราดูบ้าง ก็เลยเปิดเว็บแคม เปิดคาราโอเกะข้างๆ แล้วอัดร้องเลย เสร็จก็อัพทันที ไม่ได้คิดอะไรเลย หลังจากนั้นก็โพสต์อีกเป็นร้อยเพลง จนเริ่มมีคนรู้จัก
พี่เพลีย: ปกติชอบเล่นเฟซบุ๊ก ชอบเขียนอะไรลงในนั้น แล้วเพื่อนก็ชอบมาอ่าน แล้วเพื่อนคนหนึ่งก็บอกว่าให้ลองย้ายไปลงในทวิตเตอร์ดูบ้าง เพราะเป็นช่องทางที่เปิดกว้างกว่าเฟซบุ๊ก โอกาสที่คนข้างนอกมาอ่านและกดติดตามเราง่ายกว่า เนื้อหาส่วนมากที่ทวีตไม่ได้เกี่ยวกับวิชาทางการแพทย์เลย จะเป็นแนวบ่นมากกว่า เราก็แสดงความคิดเห็นของเรา แล้วก็มีคนตลกๆ มาเล่นมุขตบกันไปตบกันมาในนั้น ตอนแรกก่อนมาเรียนหมอ เราอยากเขียนหนังสืออยู่แล้ว ตั้งแต่สมัยมัธยมเลย พอมีงานวันแม่ก็ชอบประกวดแต่งกลอน วันหนึ่งเราก็ทวีตเล่นๆ ว่า ถ้าเราเป็นหมอแล้ว อีกอย่างหนึ่งที่อยากเป็นคืออยากเป็นนักเขียน พอเราทวีตไปแบบนี้ ก็มีเมนชั่นหนึ่งตอบกลับมาว่า ก็ลองส่งมาสิ ตอนแรกก็สงสัยว่าคนนี้คือใคร ปรากฏว่าคือพี่แบงค์-ณัฐชนน มหาอิทธิดล บ.ก.สำนักพิมพ์แซลมอน ก็เลยเป็นการจุดประกายโอกาสที่จะเป็นนักเขียน
จากทำเล่นๆ แล้วพอต้องมาทำงานจริง ความยากง่ายแตกต่างกันไหม
เอิ๊ต: การทำงานในอินเทอร์เน็ตจะไม่ข้องเกี่ยวกับเวลาเท่าไร ไม่ว่าเราจะโพสต์มาเมื่อ 5 ปีแล้ว คนก็ยังกดหาเจออยู่ แต่การทำงานจริงๆ แล้วก็จะมีเรื่องของเวลาเข้ามาเกี่ยวข้องอยู่พอสมควร สมมติถ้าเราออกเพลงตอนนี้ ตอนที่ทุกคนกำลังโศกเศร้า อาจทำให้สิ่งที่เราตั้งใจไม่สัมฤทธิ์ผล เวลาร้องเพลงเราก็ต้องสนใจคนดูที่อยู่ตรงหน้า ไม่ใช่กล้องที่อยู่ตรงหน้า เป็นเรื่องของการสื่อสารที่แตกต่างกันออกไป
พี่เพลีย: ของผมจะแตกต่างมาก เพราะในทวิตเตอร์เราจะแค่บ่น แล้วคนชอบฟังเรา อยากบ่นอะไร อยากเล่นอะไรก็เล่น แต่การเขียนหนังสือเล่มหนึ่งต้องวางแผน วางโครง วางธีมก่อน ตอนแรกโปรเจกต์ไม่ได้จะเขียนเกี่ยวกับการเรียนหมอ เพราะที่จริงผมไม่ค่อยเหมือนกับหมอทั่วไป เพราะว่าผมเรียนอยู่ที่ศิริราช แต่ไม่ได้อยู่ในโรงพยาบาลศิริราชเลย พอตรวจคนไข้เสร็จก็จะย้ายมาที่สยามทุกเย็น เพราะม.ปลายผมเรียนอยู่เตรียมฯ เลยติดสยามมาก โปรเจกต์แรกเลยอยากลองเขียนเรื่องสยาม ปรากฏว่าเขียนไปเขียนมา ด้วยความที่ต้องหาข้อมูลเยอะ แล้วเราเป็นมือใหม่ทำให้รู้ว่าไม่ได้เขียนง่ายๆ พี่แบงค์ก็เลยบอกว่าเขียนเรื่องหมอสิ ไหนๆ เรียนจะจบแล้ว เพราะตอนนั้นอยู่ปี 6 ผลงานแรกเลยออกมาเป็นหนังสือเล่มนี้
ในโลกออนไลน์ที่ทุกคนอยากแจ้งเกิด มีวิธีไหนที่จะช่วยให้เราโดดเด่นออกมาบ้าง
พี่เพลีย: มันคือคาแรกเตอร์ของเรา ซึ่งผมก็ไม่ได้โชว์ขนาดว่าคาแรกเตอร์นี้จะเป็นยังไง ผมก็ทวีตตามที่ตัวเราเป็น เพราะสังคมจะชอบความเป็นธรรมชาติของเรา มากกว่าที่จะปั้นอะไรขึ้นมา เราเกิดในยุคโซเชียลที่ทุกอย่างอิมแพคกลับมา ทำให้เรารู้ว่ามีคนติดตาม มีคนชอบเราอยู่ ทุกๆ ครั้งที่เราเข้าไปอยู่ในโซเชียล มันต้องเกิดอะไรบางอย่างที่ทำให้เกิดประโยชน์ หรืออย่างน้อยก็มีปฏิสัมพันธ์กับคนอื่นด้วย
เอิ๊ต: เป็น เรื่องของตัวตนมากกว่า เหมือนว่าทุกๆ คนก็มีความเป็นตัวเองอยู่ สมมติถ้าเราหาตัวตนที่เราอยากจะเป็นจริงๆ เจอ ก็น่าจะโดดเด่นขึ้นมาได้ไม่ยาก อย่างในยูทูบเองก็มีหลายคนมากที่เอิ๊ตติดตามตั้งแต่ยังไม่สวยเลย ตอนนี้เขาโด่งดังไปแล้ว จะเกิดความผูกพันที่รู้สึกเหมือนเขาเป็นเพื่อนเรา ถ้าตัวตนของเราเกี่ยวข้องกับเขาก็ทำให้เกิดการติดตามไปเรื่อยๆ เหมือนอย่างตัวเอิ๊ตเองเวลาสอบตกหรืออกหักก็จะเขียนบรรยายข้างล่างไว้ว่า วันนี้แย่มาก จะร้องเพลงที่บอกอารมณ์ของเราในวันนี้ ทำให้เราคอนเนกต์กับคนที่ดูอยู่ ไม่ใช่แค่เพลงอย่างเดียว แต่เป็นเรื่องราวที่อยู่เบื้องหลังด้วย ตราบใดที่เราไม่ได้ทำทุกสิ่งทุกอย่างเพื่ออยากจะดังอย่างเดียว อย่างเช่นโพสต์รูปแล้วคาดหวังให้คนมากดไลค์ ถ้าไม่มีเราจะเศร้า ก็เป็นการข้ามเส้นแล้ว อย่างร้องเพลงโคเวอร์ลงในยูทูบ เราทำด้วยความสนุก ความที่เราชอบดนตรี ชอบร้องเพลง แต่ถ้าเราทำเพื่ออยากได้ยอดวิวหรือยอดไลค์ นั่นแสดงว่าเราได้เสียตัวตนไปแล้ว
เป็นเรื่องปกติที่จะต้องเจอกับนักเลงคีย์บอร์ดในโลกออนไลน์ มีวิธีรับมืออย่างไร
เอิ๊ต: เคยเจอบางคอมเมนต์ที่ถึงกับเกลียดกันไปเลย ว่าเราแย่มากๆ บางอันก็หยาบคาย การรับมือของเราคือพยายามลบทิ้ง แต่ความจริงก็อดคิดถึงไม่ได้อยู่แล้ว เพราะเป็นอะไรที่ทำให้เรารู้สึกแย่ ต้องพยายามทำความเข้าใจว่าโลกโซเชียลกับโลกความจริงไม่เหมือนกันนะ ชีวิตจริงคงไม่มีใครเดินมาบอกเราว่าไม่ชอบเรา ต้องแยกแยะให้ได้
พี่เพลีย: ของผมไม่ได้ออกแนวคอมเมนต์มาก จะเป็นแนวกวนๆ หยาบคายก็มี แต่พอเจอแล้วก็จึ๊กขึ้นมา ไม่เข้าใจ เพราะเราก็ไม่ได้รู้จักเขาเลยนะ แต่ทำไมต้องมาเกลียดอะไรเรา ทำไมถึงเมนชั่นด่าเรา ซึ่งเวลาใครด่าอะไรผมสามารถกดเข้าไปดูไทม์ไลน์เขาได้ ซึ่งก็พบว่าโลกของเขาก็เป็นลบอยู่แล้ว คนประเภทนี้มีอยู่ในสังคม เราก็จะไม่สนใจ ไม่โต้ตอบ ก็ปล่อยไป
มองอนาคตของตัวเองไว้อย่างไร
พี่เพลีย: หมอ กับนักเขียนสามารถเดินคู่กันได้ เพราะสายการทำงานของหมอต้องทำงานเกือบ 24 ชั่วโมง ตอนแรกเรารับไม่ได้นะ นอนนับชั่วโมงได้ บางวันก็ไม่ได้นอน แต่สุดท้ายพอเข้ามาจริงๆ สิ่งที่เราฝึกมา กลายเป็นว่าเราทำงานได้ไม่หยุด นี่คือสิ่งที่เราได้จากการเรียนหมอมา คือตอนนี้อยากทำอะไรก็ทำไป ตรวจคนไข้เสร็จก็เขียนหนังสือต่อเลย บางทีเขียนถึงเช้าก็ทำงานต่อ ความเป็นหมอกับเป็นนักเขียนจะแยกกัน ส่วนข้างนอกในโซเชียลเราก็ปลดปล่อยความเป็นนิเทศของเราเต็มที่ ส่วนในโรงพยาบาลผมก็จะเป็นลุคแบบสงบเสงี่ยมมาก เพราะเป็นหมอต้องวางตัวให้น่าเชื่อถือ
เอิ๊ต: ตอนนี้รู้สึกว่ายังเป็นแค่จุดเริ่มต้นของการทำงานด้านดนตรี ก่อนหน้านี้ก็ทำงานแค่ในยูทูบ ไม่ได้ออกมาเจอคนจริงๆ เท่าไร ซึ่งแตกต่างเหมือนกัน ตอนนี้เป้าหมายเล็กๆ อยากจะมีเพลงออกมาเรื่อยๆ แล้วคนชอบ
อยากแนะนำอะไรให้กับคนที่อยากแจ้งเกิดในโลกออนไลน์บ้าง
เอิ๊ต: เรื่อง ตัวตนสำคัญที่สุด เพราะตอนนี้ทุกคนมีสื่ออยู่ในมือ แค่รอนำเสนอออกมาว่าตัวตนเราเป็นอย่างไร แนะนำว่าให้ใช้ชีวิตเยอะๆ ปิดโซเชียลไปก่อน เล่นกีฬา ทำนู่นทำนี่ สักพักหนึ่งเราจะรู้ว่าเราโอเคกับอะไร ไม่โอเคกับอะไร แล้วมันจะค่อยๆ หล่อหลอมตัวเราขึ้นมา เอิ๊ตเชื่อว่าเราเปลี่ยนแปลงทุกวัน วันนี้กับเมื่อวานมีอะไรที่ทำให้เปลี่ยนเราไป ไม่ใช่ว่าตัวตนของเราจะอยู่อย่างนั้นไปอีกสิบปี ถ้าเราตัดสินใจว่าจะทำแล้ว ก็ให้ทำเลย ถ้าสังเกตคลิปแรกกับคลิปล่าสุดก็ไม่ใช่เอิ๊ตคนเดิม คอมเมนต์ต่างๆ ในยูทูบก็หล่อหลอมตัวเราขึ้นมา เป็นเรื่องดีที่คนจำนวนมากช่วยหล่อหลอมเรา แต่เราก็ต้องแบ่งน้ำหนักให้ดี เรารู้ว่าเราเป็นแบบไหนและเปลี่ยนแปลงอะไรได้บ้าง และอย่าไปคิดว่าเราต้องประสบความสำเร็จแน่นอน ที่เอิ๊ตทำมาตลอดคือการนำความชอบ Passion ของตัวเองที่อยากทำมาใช้ให้หมด
พี่เพลีย: ตอน ที่มาอยู่ในโลกโซเชียลไม่ได้คิดว่าจะมาแจ้งเกิดเลย เราคิดว่าเรามีของของเราก็ทำไป จะเกิดไม่เกิดก็อีกเรื่องหนึ่ง อย่าพยายามคิดเยอะว่าจะทำยังไงให้คนมาติดตาม จะทำให้ไม่เป็นตัวเราแล้ว ถ้าไปอ่านทวีตเก่าๆ ของผมที่ทำมา 4 ปีแล้ว ก็ไม่ได้เป็นเนื้อหาที่ทำให้คนมาอ่าน แต่เราเล่าอะไรก็เล่าไป เหมือนไดอารี่ สุดท้ายถ้าเรามีของจริง แล้วคนนอกมองว่านี่คือของของเรา ทุกอย่างก็จะมาเอง
วิชญ์พล พลพิทักษ์ชัย