เมื่อโลกแห่งเทคโนโลยีหมุนไปอย่างรวดเร็ว แหล่งเรียนรู้อย่างห้องสมุดจะยังคงรักษาบทบาทและศักยภาพในการตอบสนองความกระหายใคร่รู้ของผู้คนรุ่นใหม่ในสังคมได้หรือไม่ อนาคตของห้องสมุดจะเป็นเช่นไรหากปรับตัวไม่ทันต่อความเปลี่ยนแปลง และห้องสมุดในอนาคตควรจะมีบทบาทอย่างไร สำนักงานอุทยานการเรียนรู้ TK park หน่วยงานในสังกัด สำนักงานบริหารและพัฒนาองค์ความรู้ เปิดเวทีเพื่อนำเสนอแนวคิดให้แก่ผู้คนในสังคมไทยเพื่อแสวงหาคำตอบร่วมกัน ในงาน TK Forum 2015 “Library Futures: Challenges and Trends” จัดขึ้นในวันพฤหัสบดีที่ 16 กรกฎาคม 2558 เวลา 8.30-17.00 น. ณ ห้องอโนมาแกรนด์ โรงแรมอโนมา กรุงเทพฯ
นายอารยะ มาอินทร์ รองผู้อำนวยการสำนักงานบริหารและพัฒนาองค์ความรู้ และรักษาการผู้อำนวยการสำนักงานอุทยานการเรียนรู้ กล่าวว่า การจัดประชุมสัมมนาวิชาการครั้งนี้ของทีเคพาร์คเป็นส่วนหนึ่งของการผลักดันให้เกิดสังคมการเรียนรู้อย่างสร้างสรรค์ โดยทีเคพาร์คได้จัดกิจกรรมประชุมวิชาการประจำปีมาอย่างต่อเนื่อง นับตั้งแต่ปี พ.ศ. 2548 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเสริมสร้างความร่วมมือ การแลกเปลี่ยนประสบการณ์และองค์ความรู้ทางวิชาการด้านการอ่าน การส่งเสริมการอ่าน การพัฒนาแหล่งเรียนรู้ โครงสร้างและระบบการเรียนรู้ ให้ผู้กำหนดนโยบาย นักวิชาการ ผู้เชี่ยวชาญ ตลอดจนนักกิจกรรมทางสังคม สามารถนำความรู้ แนวคิดและข้อเสนอแนะจากการประชุมสัมมนา ไปเผยแพร่ต่อยอดขยายผลและผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างเป็นรูปธรรม
ดร.คณิศ แสงสุพรรณ ประธานกรรมการบริหาร สำนักงานบริหารและพัฒนาองค์ความรู้ กล่าวว่า เมื่อความต้องการของผู้ใช้บริการมีความหลากหลายมากขึ้นและไม่หยุดนิ่ง ทำให้ทางรอดของห้องสมุดประชาชนในหลายประเทศคือการปรับรูปแบบการใช้งานพื้นที่เสียใหม่ให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญ เพื่อสร้างนวัตกรรมการจัดการห้องสมุดในฐานะที่เป็นพื้นที่เพื่อการเรียนรู้และสร้างแรงบันดาลใจ เป็นแหล่งแสวงหาความรู้เพื่อเพิ่มพูนประสบการณ์ ทักษะ และพัฒนาคุณภาพชีวิตมิใช่แหล่งรวมและให้บริการทรัพยากรหนังสือแต่เพียงอย่างเดียว
“นี่คือความท้าทายอย่างยิ่งสำหรับห้องสมุดของไทย และเป็นที่มาของการจัดประชุมวิชาการในหัวข้อ “อนาคตห้องสมุด: สิ่งท้าทายและแนวโน้ม” (Library Futures: Challenges and Trends) ในวันนี้”
นายวัฒนชัย วินิจจะกูล หัวหน้าฝ่ายวิชาการ สำนักงานอุทยานการเรียนรู้ TK park มองว่าความท้าทายของห้องสมุดหลายแห่งทั่วโลกคือความสามารถในการปรับตัว รวมถึงการจัดสรรหรือปรับเปลี่ยนพื้นที่ห้องสมุดให้สอดคล้องกับพฤติกรรมของผู้ใช้ เพื่อที่จะรักษาความเป็นพื้นที่เพื่อการเรียนรู้ไว้ให้ได้
“เสิร์ชเอ็นจินบนอุปกรณ์ที่อยู่ในมือของทุกคน คือโลกห้องสมุดที่ทำให้แรงจูงใจหรือความจำเป็นให้คนเดินเข้าห้องสมุดที่เป็นพื้นที่กายภาพน้อยลงเรื่อยๆ ขณะที่ห้องสมุดทางวิชาการ อาทิ ห้องสมุดมหาวิทยาลัย ห้องสมุดเพื่อการอ้างอิง อาจมีความสามารถในการปรับตัวได้ดี เพราะความเฉพาะเจาะจงทั้งในแง่ของเนื้อหาและทรัพยากรห้องสมุด ตลอดจนกลุ่มเป้าหมายหรือผู้ใช้บริการ ตรงกันข้ามกับห้องสมุดประชาชน การตอบสนองต่อความเปลี่ยนแปลงกลับไม่ค่อยทันการณ์ ทำให้มีผู้ใช้ห้องสมุดน้อยลง งบประมาณถูกตัดทอนจนไม่เพียงพอ แม้แต่ในประเทศที่พัฒนาแล้วก็ยังพบว่ามีห้องสมุดประชาชนทยอยปิดตัวลงเป็นจำนวนมาก”
นายวัฒนชัยกล่าวว่า เพื่อไม่ให้เกิดสภาวะดังกล่าว ห้องสมุดประชาชนจะต้องเริ่มต้นคิดและเตรียมปรับตัวก่อนที่ผลกระทบจะมาถึง โดยประเด็นซึ่งต้องคิดวิเคราะห์คือแนวโน้มในอนาคต 2 เรื่องได้แก่ หนึ่ง บทบาทของห้องสมุด สอง รูปแบบและการจัดการพื้นที่ห้องสมุด ส่วนการปรับตัวจะประสบความสำเร็จหรือไม่นั้นขึ้นอยู่กับวิสัยทัศน์อย่างน้อย 3 ประการได้แก่ หนึ่ง ความเข้าใจและเท่าทันต่อความก้าวหน้าในโลกเทคโนโลยีและการกระจายตัวของข้อมูลสารสนเทศ สอง การเข้าใจพฤติกรรมและความต้องการที่หลากหลายของผู้ใช้บริการ และสาม การปรับมุมมองวิธีคิดในการบริหารจัดการพื้นที่ของห้องสมุด
ในงาน TK Forum 2015 “Library Futures : Challenges and Trends” มีหัวข้อการบรรยายและเสวนาที่น่าสนใจมากมาย อาทิ “Futures and the Library: emerging issues, scenarios and visions of the changing library”โดย Sohail Inayatullah (ออสเตรเลีย) “Challenges in transforming libraries from collection centered to user centered organisations” โดย Jens Thorhauge (เดนมาร์ก) “Manchester Libraries - Transformation and Renewal”โดย Neil MacInnes (สหราชอาณาจักร) และ “Learning Space, Community Space, Maker Space แนวโน้มสู่ห้องสมุดอนาคต”โดย พรเทพ ฉัตรภิญญาคุปต์ (มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี) ทิฐินันท์ โชตินันทน์ (บริษัท แอดวานซ์อินโฟร์เซอร์วิส จํากัด) ภานุวัจน์ ทองร่มโพธิ์ (C.A.M.P.) และภัทรพร โพธิ์สุวรรณ (Maker Zoo)