การเดินทางที่มากกว่าการเดินทางของ The Walking Backpack
“อะไรคือเหตุผลที่ทำให้คุณตัดสินใจออกเดินทาง”
คำตอบของแต่ละคนอาจไม่เหมือนกัน แต่สำหรับเด็กหนุ่มคนหนึ่งได้ตัดสินใจออกเดินทางคนเดียว เพียงเพราะแค่อยากไปดำน้ำ แต่ไม่มีใครพร้อมจะไปด้วย เขาจึงออกเดินทางโดยที่ไม่ได้วางแผนอะไรล่วงหน้า ซึ่งผลลัพธ์ที่ทำให้เขามองโลกเปลี่ยนไปอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน
ปั้น - จิรภัทร พัวพิพัฒน์ เจ้าของเพจ The Walking Backpack และหนังสือ The Walking Backpack ออกเดินแล้ว อย่าหันหลังกลับ คือแรงบันดาลใจที่ทำให้ใครหลายคนลืมเหตุผลและข้ออ้างต่างๆ นานา แล้วออกเดินทาง กับเอกลักษณ์ในการถ่ายภาพแบบยืนหันหลังให้กล้องท่ามกลางทิวทัศน์อันสวยงาม อุทยานการเรียนรู้ TK park จึงได้จัดกิจกรรม Inspired by idol by ปั้น-The Walking Backpack ที่ชวนเขาวางกระเป๋าเป้ลงสักครู่ แล้วมาพูดคุยถึงจุดเริ่มต้นถึงการเดินทางอันไม่คาดคิดของเขา รวมไปถึงเบื้องหลังการใช้ชีวิตในประเทศสิงคโปร์และการเรียนรู้ผ่านการเดิน ทางรอบอาเซียน เพื่อต้อนรับประชาคมอาเซียน ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของ นิทรรศการพิพิธอาเซียน ภาค 5 A Journey Through ASEAN part 5 The Final Call อาเซียนโค้งสุดท้ายจุดหมายเดียวกัน
ไม่แน่ว่าการสนทนาในครั้งนี้ อาจทำให้คุณอยากแพ็คกระเป๋าแล้วออกเดินทางทันที!
จุดเริ่มต้นของการเดินทาง
ตอนนั้นผมเรียนมหาวิทยาลัยอยู่ที่สิงคโปร์ ปี 2 ผมคุยกับรุ่นน้องว่าอยากไปดำน้ำ แต่ไม่มีคนไปด้วยเลย เขาก็บอกว่าไปคนเดียวสิ ผมก็บอกว่าบ้าเหรอ ไม่มีใครไปเที่ยวคนเดียวหรอก มีแต่คนติสต์แตกหรือว่าอกหักเท่านั้นแหละ เขาก็บอกว่าลองไปเถอะ ถ้าไม่ชอบก็กลับมา แต่ถ้าชอบก็อยู่ต่อไปเลย ปกติผมอยู่หอจะนอนตื่นสิบเอ็ดโมงทุกวัน แต่วันนั้นตื่นเช้ามาก แพ็คกระเป๋าใส่ของ ขึ้นรถบัสไปเลย ได้ยินว่าเกาะหนึ่งที่มาเลเซียมีจุดดำน้ำสวยมาก ผมก็เลยลองไปเกาะนี้ดู ผมไม่รู้ว่าไปยังไง ที่พักก็ไม่มี ผมคิดแค่ว่าถ้าไปถึงสำเร็จแล้วได้ดำน้ำก็จะเท่มากแล้ว
เหตุผลที่ทำให้ออกเดินทาง
เวลาทำอะไรครั้งแรกคนเราจะไม่รู้ว่าต้องเจออะไร จะรอดไหม จะมีข้าวกินไหม คือต้องลองไปดูก่อน ระหว่างทางที่ออกเดินทางครั้งแรก ผมได้เจอเพื่อนสองคน ชื่อว่า คริส กับ ซาร่า ซึ่งสองคนนี้เป็นคนเปิดโลกการเดินทางให้กับผม คริสเป็นนายธนาคาร ทำงานอยู่ในบริษัทใหญ่มากในอังกฤษ แต่โดนไล่ออกจากงานตอนเศรษฐกิจพังในปี 2008 เขามีเงินอยู่ก้อนหนึ่ง ที่สามารถซื้อรถสปอร์ตได้คันหนึ่งหรือว่าเอาไปเดินทางรอบโลกได้ ซึ่งเขาเลือกไปใช้เดินทางรอบโลก เขาเริ่มต้นจากอังกฤษ ไอร์แลนด์ อเมริกา อเมริกาใต้ ข้ามไปหมู่เกาะฟิจิ จีน ญี่ปุ่น กลับลงมาถึงไทย จนมาถึงสิงคโปร์ ใช้เวลาเป็นปี ผมก็สงสัยว่าเที่ยวมาเป็นปีได้ยังไง เขาก็บอกว่าใครๆ ก็ทำกัน ใช้เงินแบบประหยัดก็สามารถไปได้ ไฮไลต์ของการเดินทางของคริสคือได้ไปนอนวัดเส้าหลินที่ประเทศจีน ตื่นมาตีห้าพระจะให้แบกหินข้ามแม่น้ำ และไปซ้อมมวยอยู่เป็นอาทิตย์ ส่วน ซาร่า เธอเป็นทนายความ มาจากนิวยอร์ก แล้วเริ่มต้นออกเดินทางเหมือนกัน การเดินทางทำให้เราได้เจอกับคนเจ๋งๆ แบบนี้ ซึ่งเป็นเหตุผลหนึ่งที่ทำให้ผมอยากออกเดินทาง
แรงบันดาลใจสำคัญ
ตอนเด็กๆ ผมอ่านหนังสือค่อนข้างเยอะ จนได้ไปเจอประวัติของ เซอร์ริชาร์ด แบรนสัน เจ้าของธุรกิจเครือเวอร์จิ้น กรุ๊ป เขาเป็นนักธุรกิจที่ประสบความสำเร็จมาก ชีวิตของเขามีกฎอยู่ว่า ‘To Live Life for the Fullest’ คือใช้ชีวิตให้เต็มที่ที่สุด เขาจ้างนักเดินทางด้วยบอลลูนให้พาเขาขึ้นไปเที่ยวรอบโลก ชีวิตของเขาคือการทำในสิ่งที่คนไม่เคยทำ ผมว่าเขาเจ๋งมาก ถึงจะเป็นคนที่มีทุกอย่างแล้ว แต่ก็ยังเอาชีวิตไปเสี่ยงอยู่ ไม่เคยหยุดอยู่กับที่ ซึ่งเป็นสิ่งที่ทำให้เขาประสบความสำเร็จ
จุดเริ่มต้นของ The Walking Backpack
ทุกๆ ปิดเทอมผมจะว่าง ผมจึงมีโปรเจกต์ทุกๆ ปิดเทอม ผมเคยมีโปรเจกต์คือสร้างรถโกคาร์ท ไปซื้อเศษเหล็กมาสร้าง แล้วปีนั้นผมเก็บเงินได้ก้อนหนึ่งจึงไปซื้อกล้อง DSLR ตอนนั้นบ้าถ่ายรูปมาก ก็เลยเอาไปลงเฟซบุ๊ก จนมาเปิดแฟนเพจ ตอนแรกก็ไม่รู้ว่าจะตั้งชื่ออะไรดี แต่ผมชอบกระเป๋าเป้ เลยมาตั้งชื่อว่า The Walking Backpack ก็โพสต์รูปมาเรื่อยๆ จนเมื่อสองปีที่แล้ว ผมโพสต์เรื่องที่ผมไปเที่ยวคนเดียวในกระทู้พันทิป และที่พูดถึงกันมากคือภาพถ่ายของผมที่มีเอกลักษณ์คือทุกรูปจะยืนหันหลัง เวลาถ่ายผมจะมีขาตั้งกล้อง แล้วตั้งเวลาไว้สิบวินาที แล้ววิ่งเข้าไปในเฟรมภาพ เพราะผมอยากเป็นแค่ส่วนหนึ่งของภาพ ไม่ใช่องค์ประกอบหลัก เหมือนพาทุกคนไปอยู่ในบรรยากาศนั้นด้วย แต่ทุกการเดินทางก็ไม่ได้สวยอย่างในภาพ ยังมีเรื่องราวความลำบากมากมายที่ไม่ได้เห็นในภาพนั้น
การท่องเที่ยวในแบบ The Walking Backpack
ตั้งแต่เริ่มต้นเดินทางเมื่อประมาณ 3 ปีที่แล้ว ตอนนี้ผมเดินทางมาประมาณ 25 ประเทศแล้ว บางครั้งก็ไปประเทศติดๆ กัน อย่างลาว พม่า เวียดนาม หรืออย่างยุโรปก็ไปวนรอบๆ ประเทศที่ติดกัน เพราะเวลาผมเดินทางครั้งหนึ่งจะเป็นเวลาค่อนข้างยาว ผมไม่ได้มีสไตล์ชัดเจนว่าต้องไปเที่ยวแบบธรรมชาติหรือเมืองใหญ่ แต่ผมชอบประสบการณ์ใหม่ๆ ไม่ชอบอะไรซ้ำๆ ก่อนหน้านี้ผมไปเกาะเต่า ที่สุราษฎร์ธานี ผมอยากจะไปเกาะนางยวนที่อยู่ติดๆ กัน พอเห็นเกาะ ก็คิดในใจว่าคงไม่ไกล ไม่น่าเกินร้อยเมตร ซึ่งค่าเรือไปกลับหกร้อยบาท ผมว่าแพงมาก เลยตัดสินใจชวนเพื่อนอีกคนพายเรือคายักข้ามไป ปรากฏว่าคลื่นแรงจนเรือเกือบจะคว่ำ ใช้เวลาประมาณชั่วโมงกับสิบห้านาทีกว่าจะถึง เหนื่อยมาก เวลาไปเที่ยวผมจะลองผิดลองถูกตลอดเวลา แล้วจะมีคนยุให้ผมทำอะไรแปลกๆ ตลอด ไอเดียขี่จักรยานรอบสิงคโปร์ก็เกิดขึ้นตอนนั่งสอบ รู้สึกเบื่อๆ จึงตัดสินใจลองทำดู ระยะทางรอบเกาะประมาณร้อยกว่ากิโล แต่ผมไปได้ประมาณหกสิบกิโล คือเริ่มต้นจากมหาวิทยาลัยของผม จากทางซ้ายของเกาะไปให้ขวาที่สุดของเกาะ แล้ววนกลับมา ผมมองว่าการทำอะไรแบบนี้เหมือนคนที่วาดรูป มันเป็นงานศิลปะของผม ทำแล้วมีความสุข
เรียนรู้ได้เพียงแค่เปิดใจ
ตอนนั้นผมอยู่ที่เมืองฮานอย ประเทศเวียดนาม ผมนั่งในอยู่หอพักกำลังจะรอกลับสิงคโปร์ ผมไปเจอเด็กคนหนึ่งกับพี่น้องอีกสองคนเป็นชาวดัตช์ พวกเขาวิ่งเล่นกันอยู่ในหอพัก ตอนแรกก็พูดภาษาดัตช์กันเอง แต่พอคนอื่นเดินผ่านมา เด็กกลับสามารถพูดภาษาอังกฤษกับคนอื่นได้ ผมก็สงสัยว่าเด็กอายุเท่านี้ไปเรียนภาษาอังกฤษที่ไหน พ่อแม่เขาเล่าว่า ตอนเด็กเรียนอยู่ชั้นประถมก็พาลาออกจากโรงเรียนหมดเลย พ่อเป็นวิศวกร แม่เป็นหมอ คือพ่อแม่อยากไปเที่ยวรอบโลก แล้วคิดว่าการจะพาลูกไปเที่ยวปีหนึ่ง มันไม่ได้เสียหายอะไร ลูกจะได้เรียนรู้อะไรจากนอกห้องเรียนเยอะมาก ก่อนจะออกเดินทางเด็กพูดภาษาอังกฤษไม่ได้ แต่ได้เรียนรู้จากพ่อวันละคำสองคำจากที่พ่อคุยกับคนอื่นเป็นเวลาหกเดือน จนพูดภาษาอังกฤษได้ ทุกๆ สองเดือนพ่อแม่จะมาที่เกาะช้าง มาเช่าบังกะโลอยู่สองอาทิตย์เพื่อสอนหนังสือให้กับลูก พ่อสอนวิชาคณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ แม่สอนภาษาอังกฤษ ภาษาดัตช์ และสังคมศาสตร์ พ่อกับแม่เป็นครูให้ลูกโดยที่ไม่ต้องเข้าโรงเรียนเลย กับช่วงเวลาหนึ่งปีสิ่งที่ลูกได้รับมันคุ้มค่ามาก เพราะเด็กคนนี้อายุแค่ 7 ขวบ แต่มีประสบการณ์ไปเที่ยวรอบโลกมาแล้ว เป็นเรื่องของคนที่ใช้ชีวิตแตกต่างจากเรา ถามว่าคนไทยทำแบบนี้ได้ไหม ก็คงได้ ผมไม่ได้บอกให้พาลูกลาออกจากโรงเรียน แต่มันคือการใช้ชีวิตที่แตกต่างที่เราสามารถนำมาปรับใช้กับชีวิตเราได้ สิ่งที่ได้เรียนรู้จากการเดินทางคือการเรียนรู้ได้จากทุกคนที่อยู่รอบตัว ถ้าคุณเปิดใจคุยกับเขา จะได้รับฟังเรื่องแปลกๆ ที่ไม่น่าเชื่อว่าจะเกิดขึ้นได้
ความแตกต่างสู่หนึ่งเดียวของประเทศในอาเซียน
ถึงประเทศในอาเซียนจะมีพรมแดนติดๆ กัน แต่ทุกประเทศมีความแตกต่างมาก ไม่ว่าจะเป็นภาษาหรือวัฒนธรรม ผมว่าสิ่งที่แตกต่างที่สุดคือความคิด ปัญหาที่เขาเจอในชีวิตจะแตกต่างจากเราที่อยู่ในกรุงเทพฯ มาก อย่างประเทศพม่า เราเป็นนักท่องเที่ยวจะไม่สามารถเดินทางขึ้นไปเหนือเมืองมัณฑะเลย์ได้ ทุกเมืองจะมีทหารตรวจว่านักท่องเที่ยวอยู่บนรถบัสรึเปล่า เพราะทางเหนือเขายังมีการสู้รบกันอยู่ อย่างในประเทศลาว คำว่า Slow Life คือการใช้ชีวิตจริงๆ ของเขา เขาจะมีความสุขกับสิ่งที่เขามีมาก อย่างอินโดนีเซียเป็นประเทศได้ชื่อว่าเป็นประเทศมุสลิมที่ใหญ่ที่สุดของโลก แต่เกาะบาหลีก็มีคนฮินดูอาศัยอยู่ด้วย เวลาเราเดินทางไปประเทศเหล่านี้จะได้เห็นความคิดของคนที่แตกต่างกัน แม้กระทั่งอยู่ในประเทศเดียวกันก็ตาม เราจึงต้องเดินทางไปให้เห็นว่าแตกต่างกันอย่างไร
ประสบการณ์ใช้ชีวิตในสิงคโปร์
สิงคโปร์เป็นประเทศที่มีความเครียดสูง ทุกคนจะเร่งรีบ แล้วเวลาเรียนจะเครียดมาก ตอนแรกปรับตัวไม่ได้ แต่พอไปอยู่ได้สักพักก็ปรับตัวได้ สุดท้ายก็อยู่จนชิน จนตอนนี้อยู่มาเป็นปีที่ 9 แล้ว เรื่องภาษาก็เป็นปัญหาหนึ่ง ที่สำคัญสิงคโปร์จะไม่มีการเรียนกวดวิชา แต่ข้อสอบยากมาก ถ้าสอบตกต้องมาเรียนซ่อมหลังเลิกเรียน เพื่อให้เด็กสนใจอ่านหนังสือมากขึ้น เรียนๆ ไปก็มีสอบตก มีเครียดบ้าง แต่ทำให้ผมได้เรียนรู้อย่างหนึ่งคือการบริหารความเครียด ซึ่งเป็นความสามารถที่ไม่ได้รับการสอนมาตั้งแต่เด็ก จะมีพ่อแม่ค่อยโอ๋อยู่ตลอด แต่อยู่ที่นั่นคุณต้องเรียนรู้ที่จะปลดปล่อยในสิ่งที่สามารถควบคุมได้ ไม่อย่างนั้นจะเครียดจนอยู่ไม่ได้ พอเรียนจบไฮสคูลก็เรียนต่อวิศวกรรมนาโน เกี่ยวกับการวิจัยพัสดุ เซรามิก พอเรื่องเรียนเริ่มนิ่งผมก็ไปหากิจกรรมอย่างอื่นทำ โดยช่วงหลังก็ออกเดินทาง เขียนหนังสือ
ทุกการเดินทางต้องมีครั้งแรก
ทุกคนที่ทำอะไรครั้งแรกจะยากเสมอ สำหรับการออกเดินทางแล้ว ถ้าได้ไปเที่ยวกับเพื่อนก็ดี แต่การไปคนเดียวก็ได้อีกอารมณ์หนึ่ง จะไม่มีคนคุยด้วย คุณก็จะต้องเปิดตัวเองให้เข้ากับสภาพแวดล้อม อย่างสังเกตคนข้างๆ ว่าอ่านหนังสืออะไร ก็ลองถามเขาดู เราก็จะได้เปิดโลกเรามากขึ้น ครั้งแรกอาจจะไม่ต้องไปแบบลำบากหรือไกลมาก ลองไปแบบใกล้ๆ ดู เพื่อดูว่าคุณเอ็นจอยที่จะอยู่กับตัวเองสักสามวันห้าวันไหม คุณอาจจะได้เรียนรู้อะไรแปลกๆ เกี่ยวกับตัวเอง การเดินทางคือการไปดูสิ่งต่างๆ รอบโลก แต่สุดท้ายมันคือการเรียนรู้ตัวเอง เราชอบอะไรไม่ชอบอะไร เราเป็นคนแบบไหน ทั้งหมดนี้เรียนรู้ได้จากการเดินทาง
วิชญ์พล พลพิทักษ์ชัย