หากใครไปเดินดูงานศิลปะ Blooming Home ย่อมตกหลุมรักภาพทุ่งดอกไม้ ทุ่งหญ้า ทิวเขา และท้องฟ้าสีสดใส ซึ่งเป็นภาพแลนด์สเคปที่แต่งแต้มบนผิวเฟรมผ้าใบ และผิวเฟอร์นิเจอร์ ในนิทรรศการเดี่ยวครั้งแรกของ give.me.museums หรือ ออย-คนธรัตน์ เตชะไตรศร ศิลปินรุ่นใหม่ซึ่งสร้างสรรค์ผลงานศิลปะที่ช่วยสร้างความสดใส เติมเต็มจิตใจผู้คน ไม่ว่าช่วงเวลานั้นจะเศร้า เหงาหงอย หรือว้าวุ่น
ในมุมหนึ่งของนิทรรศการมีชุดเฟอร์นิเจอร์ที่เข้ากับงานศิลปะเสมือนมุมห้องนั่งเล่น หากคุณเข้าไปนั่งบนเก้าอี้ แล้วหันไปทางขวา ก้มหน้าลงไปสำรวจใกล้ๆ จะเห็นหนังสือหลายเล่มวางอยู่ในตู้ลิ้นชัก เรามารู้ในภายหลังว่า หนังสือเหล่านี้เป็นหนังสือที่ศิลปินผู้นี้อ่านตั้งแต่เด็ก จนถึงปัจจุบัน ซึ่งช่วยประกอบร่างให้เธอคือ give.me.museums อย่างทุกวันนี้
มาลองสำรวจหนังสือของเธออย่างช้าๆ ผ่านหนังสือ 4 เล่ม ที่เข้ามาในช่วงเวลาพอดีของชีวิต
Blooming Home นิทรรศการเดี่ยวครั้งแรกของ give.me.museums
เวลาของวัยเด็ก
ออยเล่าให้ฟังว่า เธอเป็นนักอ่านตัวยง สมัยเด็กชอบอ่านวรรณกรรมเยาวชน แม้โตแล้วจะห่างเหินกับวรรณกรรมเยาวชนไป แต่เมื่อจัดนิทรรศการ Blooming Home เธอจึงรื้อหนังสือแล้วกลับมาอ่านหนังสือเล่มเดิมอีกครั้ง
“เราเป็นคนชอบอ่านหนังสืออยู่แล้ว อ่านเยอะมากแล้วแต่ช่วงวัย ซึ่งช่วงหลังอ่านหนังสือ Fiction มากกว่า Non-Fiction ส่วนตอนเด็กๆ อ่านวรรณกรรมเยาวชนทั้งของไทยและต่างประเทศ จริงๆ เริ่มต้นจาก คุณพ่อคุณแม่กังวลว่าเราอ่านหนังสือไม่ออก จะไม่ชอบอ่านหนังสือ เลยเริ่มต้นซื้อพวกนิทานให้อ่าน พออ่านก็เริ่มสนุก ซึ่งตั้งแต่ ป.2 ก็อ่านวรรณกรรมเยาวชนมาเรื่อยๆ เมื่อก่อนอ่านได้วันละเล่มเลย ไม่รู้ทำได้ยังไงนะ ที่ออยชอบจะมีเรื่องส้มสีม่วง เด็กหญิงสวนกาแฟ เด็กหญิงนางฟ้า เด็กกระป๋อง แล้วก็งานของ แจ๊กเกอลีน วิลสัน (Jacqueline Wilson) ออยค่อนข้างชอบมาก อ่านของเขาทุกเล่มเลย”
แจ๊กเกอลีน วิลสัน เป็นนักเขียนวรรณกรรมเยาวชนชาวอังกฤษ ซึ่งส่วนใหญ่มักเขียนงานสะท้อนปัญหาสังคมและครอบครัว เล่มที่ออยหยิบมาแนะนำคือ ‘ถึงแม่เพี้ยนหนูก็รัก’ บอกเล่าเรื่องราวความผูกพันธ์ระหว่างแม่กับลูกภายในครอบครัวแม่เลี้ยงเดี่ยว ที่ผู้เป็นแม่มีพฤติกรรมต่างๆ ไม่ค่อยเหมือนแม่คนอื่นทั่วไป เธอมีรอยสักเต็มตัว มีอาการป่วยทางจิต หลายครั้งก็ทำให้ผู้เป็นลูกสาวทั้ง 2 คน ต้องมาทำหน้าที่ของความเป็นแม่ทั้งๆ ที่เป็นลูก ซึ่งเหตุการณ์ในเล่มเล่าผ่านตัวละครดอลฟินลูกสาววัย 10 ขวบ ก็ล้วนสะท้อนถึงความรักของแม่ที่มีต่อลูก และลูกที่รักแม่สุดหัวใจไม่ว่าแม่จะเป็นแม่แบบไหน
“แจ๊กเกอลีน วิลสัน เป็นนักเขียนในดวงใจ เป็นมานานแล้ว และน่าจะเป็นไปตลอด ซึ่งหนังสือของแจ๊กเกอลีน ส่งผลกับเราค่อนข้างเยอะ ทั้งในแง่ภาพประกอบ และเนื้อหา เขาเล่าปัญหาของวัยรุ่นได้ฉลาด มันเป็นเรื่องที่สังคมทุกวันนี้ให้ความสำคัญ เช่น เรื่องหน้าตา ความมั่นใจ ความเป็นตัวเอง หรือ Body Shaming สำหรับ ‘ถึงแม่เพี้ยนหนูก็รัก’ ถือเป็นตัวแทนของวัยเด็ก ตอนเด็กๆ เราไม่รู้หรอกว่าสิ่งที่เขาสื่อคืออะไร แค่อ่านแล้วสนุกดี แต่เราคิดได้ตอนโต เรื่องที่เขาเล่ามันมีอะไรแฝงไว้ อย่างตัวดำเนินเรื่องจะเป็นน้องสาวที่ไม่มีความมั่นใจ ตัวพี่สาวจะเป็นดาวโรงเรียน ส่วนแม่เขาจะเป็นแม่ที่ทำตัวไม่เหมือนแม่ปกติ ซึ่งพี่สาวเลยไม่ค่อยโอเคกับแม่ แต่ว่าเรื่องมันแสดงให้เห็นถึงแม่ที่รักลูก แม้ว่าแม่จะทำตัวแปลกๆ แต่ที่จริงแล้วแม่เขาก็รักลูก เราอ่านแล้วชอบบรรยากาศ มันดำเนินเรื่องไปเรื่อยๆ อ่านแล้วค่อนข้างอิน อาจจะใกล้เคียงกับชีวิต เพราะแม่ของออยก็ทำผมสีฟ้า ผมสีแดงเปลี่ยนไปทุกอาทิตย์ เลยมองว่าค่อนข้างใกล้เคียงกับเรื่อง อย่างในเรื่องแม่เขาก็ทำผม แต่งตัวเหมือนวัยรุ่น แม้ตัวเองจะมีอายุแล้ว”
เวลาของการเติบโต
เมื่อเติบโตขึ้น ออยมักอ่านหนังสือเรื่องสั้น หนังสือดีไซน์ และหนังสือชีวประวัติ ซึ่งเธอหยิบยกหนังสือรวมเรื่องสั้นที่พูดถึงความตายในหลายแง่มุมมาแบ่งปัน
‘ซัม : สี่สิบเรื่องเล่าหลังความตาย’ เรื่องสั้นแนว Post-Life Possibilities เขียนโดย David Eagleman นักประสาทวิทยาศาสตร์ ภายในเล่มประกอบด้วยเรื่องสั้น 40 เรื่อง ที่ทุกเรื่องเริ่มต้นด้วยการสมมติว่าคุณตาย ชีวิตหลังความตายจะเป็นแบบใด จะปั่นป่วนให้ระทึก กระตุ้นให้ถามใจตัวเอง หรือตอบคำถามอันเวิ้งว้างว่า เราเป็นใคร และเกิดมาทำไม
“เรารู้สึกว่าเรื่องนี้ควรอ่านเหมือนกันนะ เป็นหนังสือที่พูดถึงชีวิตหลังความตายหลายรูปแบบ มันมีความเป็นไปได้อีกเยอะมาก รู้สึกว่ามันค่อนข้างทำให้เรามองโลกในอีกหลายมุมมากขึ้น ตอนแรกคิดว่ามันคงดาร์ค แต่อ่านแล้วรู้สึกว่านักเขียนมีความคิดสร้างสรรค์และเข้าใจโลกประมาณหนึ่ง เขาสมมติว่าชีวิตหลังความตายของเรามีความเป็นไปได้อะไรบ้าง เช่น เราตายมาตั้งนานแล้ว หรือเราไม่ได้มีชีวิตตั้งแต่แรกด้วยซ้ำ มันค่อนข้างเปิดมุมมองในหลายๆ มุม การมองชีวิตเปลี่ยนไปเหมือนกัน อาจจะไม่ได้เปลี่ยนทันที แต่ส่งผลต่อความคิดโดยรวม อย่างตัวเราแค่คนหนึ่งคน ท่ามกลางคนอีกหลายล้านคน จริงๆ ออยอ่านเรื่องนี้มาสักพักแล้ว แต่เพิ่งมารู้สึกว่าชอบมากกว่าเดิม เพราะเมื่อประมาณ 4-5 ปีที่แล้ว คุณพ่อของออยเสีย ออยเลยมาคิดกับชีวิตหลังความตายมากขึ้น หนังสือเล่มนี้ก็ช่วยได้ดีในระดับหนึ่ง”
เวลาแห่งความคิดสร้างสรรค์
เธอบอกเล่าให้ฟังว่า แรงบันดาลใจในการทำงานศิลปะมาจากสภาพแวดล้อมต่างๆ รอบตัว ทั้งการอ่านหนังสือ การเจอผู้คน การสังเกตสิ่งต่างๆ การไปท่องเที่ยว และการชอบสิ่งของที่สีสันเยอะๆ ออยจึงเลือกแนะนำหนังสือดีไซน์จากญี่ปุ่น ‘The Big Bento Box of Unuseless Japanese Inventions’ ซึ่งเกี่ยวกับ Chindogu หรือ ศิลปะของสิ่งประดิษฐ์ไร้สาระ ที่มีกฎง่ายๆ ว่า ของที่ทำต้องมีประโยชน์และไร้ประโยชน์ในเวลาเดียวกัน ภายในเล่มจะรวมสิ่งประดิษฐ์ 200 ชิ้นของ Kenji Kawakami ผู้คิดค้นสิ่งประดิษฐ์แนวนี้ ซึ่งหนังสือเล่มนี้ช่วยสร้างเสียงหัวเราะ และแรงบันดาลใจให้กับเธอเป็นอย่างมาก
“เราชวนให้เพื่อนดูบ่อยมาก อย่างน้อยทุกคนจะหัวเราะ เพราะงานเขาตลก สนุกมาก มันไม่จำเป็นต้องเป็นของที่ใช้งานได้จริงๆ แต่เน้นทำ ถือเป็นหนังสือรวมผลิตภัณฑ์ที่คุณลุงญี่ปุ่นออกแบบไว้ตั้งแต่สมัยหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ซึ่งช่วงนั้นหลายๆ คนไม่มีจิตใจทำงานออกแบบ ใช้จินตนาการ หรือความคิดสร้างสรรค์เท่าไหร่ เพราะสถานการณ์มันค่อนข้างหดหู่ คุณลุงเลยอยากสร้างสิ่งประดิษฐ์ขึ้นมาเพื่อกระตุ้นความคิดสร้างสรรค์ของคน แต่สิ่งประดิษฐ์ที่เขาสร้างมา มันก็กึ่งๆ ว่าใช้งานได้ หรือใช้งานไม่ได้ แต่ที่ออยชอบ คือ หลายสิบปีก่อนคนมองว่ามันตลก แต่ว่ามันสามารถมีได้จริงๆ ในทุกวันนี้ เช่น มีอันหนึ่งเหมือนไม้เซลฟี่ มันคล้ายๆ เอาท่อแป๊ปมาติดกับกล้องคอมแพคแล้วหันมาถ่ายตนเอง มันแบบเฮ้ย น่าทึ่งมาก ล้ำสมัยมาก มันมีจริงแล้วนะตอนนี้ ซึ่งเล่มนี้ทำให้เรารู้สึกว่า วันไหนที่ไม่มีแรงบันดาลใจ คิดอะไรไม่ออก ก็เปิดเล่มนี้ดู มันช่วยคลายเครียดแล้วก็สร้างแรงบันดาลใจไปได้พร้อมๆ กัน”
เวลาแห่งความรักของศิลปิน
ศิลปินที่เธอชื่นชอบคนหนึ่งคือ Vincent van Gogh จิตรกรชาวดัตช์แนวโพสต์-อิมเพรสชั่นนิสม์ ออยจึงยกให้หนังสือ ‘ธีโอ น้องรัก : จดหมายจากวินเซนต์ แวน โกะ’ เป็นอีกเล่มที่ชื่นชอบ ซึ่งหนังสือเล่มนี้บอกเล่าเรื่องราวของจดหมายที่แวนโกะเขียนให้ธีโอ น้องชายผู้เป็นแรงผลักดันให้แวนโกะทำงานศิลปะ ซึ่งพวกเขาเขียนจดหมายคุยกันกว่า 800 ฉบับ
“เล่มนี้ไม่เชิงเป็นชีวประวัติ แต่เป็นจดหมายที่เขาคุยตอบกับน้องชาย ทำให้เรารับรู้ชีวิตของเขาผ่านการเขียนจดหมายคุยกัน เรารู้จักเขามากขึ้นประมาณหนึ่งเหมือนกันนะ ซึ่งจากตอนแรกที่เราชอบแค่ตัวผลงาน แต่พออ่านแล้ว เราชอบเขา เรารู้สึกว่าเขามีความจริงใจในการทำงาน มีความพยายาม เป็นอีกเล่มที่อ่านแล้วมีแรงบันดาลใจในการทำงานเหมือนกันค่ะ”
ช่วงท้ายออยแย้มโปรเจคของ give.me.museums ให้ฟังว่า ในปีนี้จะทำผลิตภัณฑ์ในรูปแบบออนไลน์มากขึ้น เช่น ธีมไลน์ และจะมีนิทรรศการกลุ่มที่จัดกับเพื่อนๆ ศิลปิน อีก 3 นิทรรศการ สำหรับใครที่อยากชมนิทรรศการเดี่ยว blooming home สามารถเข้าชมฟรีได้ถึงวันที่ 25 เมษายน ที่ The Jam Factory ส่วนใครอยากอ่านหนังสือเล่มเดียวกับออย ก็สามารถเข้ามาอ่านได้ที่อุทยานการเรียนรู้ TK Park นะ